วันนี้อยากจะพูดคุยเรื่อง การเรียนของเยาวชนสมัยนี้ ที่ส่วนใหญ่หลงทิศหลงทางกันไปเยอะ เรียนตามเพื่อน เรียนตามที่พ่อ-แม่กำหนด หรือเรียนไปตามดวง (คือมันเลือกไม่ได้ ติดอะไรก็เอา แบบเหวี่ยงแห) ขอให้ได้เรียนเป็นพอ อย่างน้อยๆ ก็ได้เงินรายเดือนจากพ่อ-แม่เป็นค่าใช้จ่าย แล้วยังมีเงินกูยืมจาก กยศ. ติดปลายนวมให้ได้ฟุ้งเฟ้อได้อีก เพลิดเพลินเจริญใจ เรียนไปไม่มีกำหนดจบ (ยังกับเรียนรามคำแหง 8 ปีเลยทีเดียว) หลายคนได้รับปริญญา 2 ใบ ใบแรกได้จากสถาบันการศึกษา ใบที่สองปริญญาชีวิต เอาไปให้พ่อแม่ได้ช่วยเลี้ยง (หลาน) นี่เป็นการเอาเรื่องจริงมาพูดเล่นนะครับ
ก่อนจะว่ากันไปต่อก็ไปเจอบทความที่เขียนโดย อ.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์ ฉบับวันที่ 30 เมษายน 2555 ตามลิงก์นี้ http://www.thairath.co.th/content/edu/256792 อ.วิริยะ ท่านจั่วหัวไว้ว่า เรียนอย่างไร? ในยุคปริญญาล้นประเทศ เนื้อหามีดังนี้ (** ที่เป็นตัวเอียงสีน้ำเงินเป็นความเห็นของผมที่แทรกเข้าไปครับ)
ประเทศเราทุกวันนี้จะมีคนจบปริญญาตรีประมาณปีละ 600,000 คน มีบัณฑิตจบใหม่มากมายที่หางานทำไม่ได้ เพราะส่วนมากจะจบจากคณะสาขาด้านศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ (ปีละมากกว่า 400,000 คน) ซึ่งเกินความต้องการของตลาดแรงงาน ในบ้านเราหลายคนตกงาน บางคนเรียนต่อ ที่รองานไม่ไหวก็ต้องไปทำงานไม่ตรงวุฒิ หรือต่ำกว่าวุฒิ (จาก การประกาศรับสมัครงานของบริษัทขายวัสดุก่อสร้าง 2 แห่งที่ไปเปิดแถวบ้านผม พบว่า มีผู้สมัครงานมากมายจริงๆ ร้อยละ 5 เท่านั้นที่มาตรงสายงาน เช่น การเงิน/บัญชี การตลาด นอกนั้นไม่ตรงเลยแม้แต่น้อย จบสายครูก็เยอะ)
ส่วนที่จบด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ก็จะมีโอกาสหางานได้ง่ายขึ้นมาหน่อย แต่ก็ต้องมีความสามารถจริง เพราะจำนวนที่จบด้านนี้ก็ประมาณ 2 แสนคน ซึ่งล้นตลาดเช่นเดียวกัน สาขาที่จะมีตลาดงานรองรับแน่นอน จะมีเฉพาะบัณฑิตในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ น้องๆ ที่จบจากคณะ แพทย์ เภสัช ทันตะ เทคนิคการแพทย์ พยาบาล สาธารณสุข หางานไม่ยาก เพราะที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยต่างๆ มีการเปิดรับน้อย ช่วงนี้จึงมีคนที่จะจบด้านนี้รวมกันทั้งประเทศ ก็แค่ปีละไม่เกิน 30,000 คน
ดังนั้น น้องๆ ที่กำลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย คงต้องปรับตัวกันบ้าง อย่าไปเข้าใจผิด คิดว่าจบแล้วจะเอาปริญญาไปเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สมัครงานทำได้ง่ายๆ เหมือนสมัยก่อน ในยุคปริญญาล้นประเทศอย่างนี้ เราจึงควรใช้เวลาที่เรียนอยู่อย่างมีเป้าหมาย เป้าหมายของเรา ไม่ใช่..
แต่เป้าหมายเราที่ควรจะเป็น คือ เรียนเพื่อพัฒนาคุณค่าในตนเอง เพราะถึงแม้ว่าปริญญาจะล้นประเทศ แต่บัณฑิตที่มีคุณค่านั้นขาดแคลนจริงๆ ผมมีคำแนะนำง่ายๆ ให้ลองไปปรับวิธีคิด เปลี่ยนวิธีดำเนินชีวิต เพื่ออนาคตของเราเองครับ ลองมาลงทะเบียนหลักสูตร พัฒนาคุณค่าของเราเอง เป็นหลักสูตรที่เราคิดเอง เรียนรู้เอง และให้เกรดตัวเอง หลักสูตรนี้มี 4 วิชา
คือชอบอะไรสนใจอะไรก็แบ่งเวลาไปทำในเรื่องที่ตนเองชอบ อย่ามัวแต่เรียน สอบ และ เที่ยวไปวันๆ สิ่งที่เราชอบ ถ้าชอบมันจริงศึกษาจริง บางทีมันจะเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานในอนาคต มีรุ่นน้องคนหนึ่งเรียนสังคม ภูมิศาสตร์ แต่ชอบถ่ายรูปมาก ถ่ายจริงจัง พอจบมาก็ไม่ได้ไปทำงานด้านที่เรียน แต่ไปเป็นช่างภาพนิตยสาร ตอนนี้กลายเป็นช่างภาพ National Geographic กลายเป็นช่างภาพระดับโลก มีนักศึกษามาคุยกับผมทาง Facebook บอกว่าเรียนไม่ดี เพราะเอาเวลาไปเล่นหมากรุก มาปรึกษาเรื่องเรียนต่อ ผมก็แนะนำไปว่าให้ศึกษาจริงจังเรื่องหมากรุก ก็จะมีช่องทางหารายได้เลี้ยงตัวได้ คนนี้ก็ได้เป็นนักกีฬาทีมชาติไปแล้วกำลังจะไปแข่งซีเกมส์ที่อินโดนีเซีย และก็รับสอนหมากรุก มีรายได้ มีความสุขทั้งๆ ที่ยังเรียนไม่จบ อาชีพใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความรู้ ความถนัดทางหมากรุกอาจเกิดขึ้นอีกมากมาย เช่นไปอยู่ในทีมทำเกม (คนเล่นหมากรุกจะมีความถนัดในด้านเกมที่ใช้ความคิด) ไปอยู่บริษัท Board game online (เช่น หมากต่างๆ ไพ่บริดจ์) หรืออนาคตอาจเป็นนักหมากรุกอาชีพระดับโลกก็ได้ (จะมีสักกี่คนที่ชอบเล่นเกมเป็นบ้าเป็นหลัง จะคิดที่จะเป็นคนออกแบบ และสร้างเกมขึ้นมาจำหน่ายบ้าง ถ้าทำได้นี่อนาคตสดใสเชียวนะ)
ใครที่เรียนคณะสาขาที่หางานง่ายอยู่แล้ว ก็อาจไม่ต้องใส่ใจในวิชานี้ แต่ใครที่เรียนในสาขาที่จบแล้วหางานทำยาก ต้องรีบหาวิชาชีพกันตั้งแต่ตอนนี้แล้ว เช่น แบ่งเวลาไปสนใจกิจการครอบครัว ใครไม่มีธุรกิจ ที่บ้านไม่ได้ค้าขาย ก็ควรหาทางไปฝึกงานที่ตนเองมีความชอบ อย่ารอจนจบ มันช้าไป ใครสนใจเรื่องทำขนม ทำผม ก็เริ่มเรียนได้เลย อย่างน้อยก็มีอาชีพแน่ มีงานแน่ ถ้าไม่มีใครรับเข้าทำงานก็สามารถหาเลี้ยงตนเองได้ (เรื่องจริง ที่น่าจะคิดมีอาชีพช่างเคาะ ปะผุ พ่นสีรถยนต์ เป็นอาชีพที่น่าสนใจอีกอาชีพหนึ่ง เพราะรถยนต์จำหน่ายมากมายในแต่ละปี มีอุบัติเหตุเฉี่ยวชนก็เยอะ แต่หาช่างที่ดี มีจรรยาบรรณในวิชาชีพน้อยมาก โอกาสที่เป็นนายตัวเอง เป็นเถ้าแก่แต่เยาว์วัยมีเยอะทีเดียว)
คือ ภาษาอังกฤษ จำเป็นที่สุด เพราะตลาดงานที่ใช้ภาษาอังกฤษนั้นกว้างมากและรายได้ก็สูง โอกาสที่เราจะได้ไปทำงานในบริษัทข้ามชาติมีสูงขึ้นทุกวัน หลายบริษัทในยุโรป อเมริกา หันมาจ้างคนอินเดีย คนจีน และคนในเอเซียที่มีความรู้ และสามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ ในบ้านเราก็มีบริษัทข้ามชาติมากมาย และจะมากขึ้นเรื่อยๆ เขตการค้าเสรีอาเซียนก็เป็นอีกโอกาสที่เราจะมีงานดีๆ ถ้าเราใช้ภาษาอังกฤษได้ พวกเราต้องฝึกฝนตนเองให้สามารถอ่านได้ พูดได้ เขียนได้ เริ่มตั้งแต่วันนี้ได้เลย ดูหนังซับไตเติ้ลเป็นภาษาอังกฤษ ดูบอลก็เสียงพากย์ภาษาอังกฤษ เข้าเว็บ อ่านข่าว ให้เป็นภาษาอังกฤษ จะได้ผลดีกว่าไปลงทะเบียนเรียนภาษา การที่เราสามารถใช้ภาษาอังกฤษในการอ่านเขียน พูดคุยและค้นหาความรู้จะช่วยให้เราเป็นบัณฑิตที่มีคุณค่าเพิ่ม อย่างนี้หางานทำได้แน่ (ตัวอย่างใกล้ตัว เลยข้อนี้ ลูกชายชอบภาษาอังกฤษ ได้งานพาร์ทไทม์จาก TOEIC ตั้งแต่เรียน ม.5 และได้งานทำที่ Emirates Airline เพราะความชอบและใฝ่รู้ในภาษาอังกฤษจริงๆ ลองอ่านจากบล็อกของเขาได้)
วิชาสุดท้ายของหลักสูตรเพิ่มคุณค่าให้ตนเองนี้ คือสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุด ทุกวันนี้เจ้าของกิจการมักจะบ่นเรื่อง เด็กจบใหม่ไม่สู้งาน เด็กจบใหม่ขาด Royalty (ความจงรักภักดีต่อองค์กร) ขาดความรับผิดชอบ ชอบเบี้ยวงาน เอาตัวรอดไปวันๆ ดังนั้น จึงอยากบอกพวกเราว่า คนจะประสบความสำเร็จได้ ต้องเป็นคนที่มีคุณธรรม ความซื่อสัตย์ ความอดทน การมีน้ำใจ ความกตัญญู ความรับผิดชอบ สิ่งเหล่านี้จะต้องฝึกฝน จนเกิดผล เมื่อเกิดผลเราจะยิ่งมั่นใจ และทำต่อไป จนเป็นนิสัย และสุดท้ายกลายเป็นบุคลิกภาพของตัวเรา ใครๆ ก็อยากได้ ลูกน้องที่รับผิดชอบ ใครๆ ก็ยกย่องหัวหน้าที่ซื่อสัตย์ คนโกงอาจดูเหมือนจะได้เปรียบ อาจคล้ายๆ จะชนะ แต่มันก็เหมือนในหนังนั่นแหละคือ ตอนจบคนดีความดีชนะทุกที
จบบทความของอาจารย์วิริยะแล้ว ผมขอเสริมเพิ่มอีกหน่อยว่า สังคมในปัจจุบันนี้เปลี่ยนไปจากเมื่อหลายสิบปีก่อน เทคโนโลยีการสื่อสารได้ขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว จนยากที่จะหยุดยั้ง และผลกระทบจากสังคมการสื่อสารนี่เอง ที่ทำให้คนส่วนใหญ่หลงไปในลัทธิบริโภค นิยม การขายสินค้า การโฆษณา การขายตรงทะลุทะลวงลงไปในสังคมชนบท วิทยุ-โทรทัศน์เข้าไปมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนมากขึ้น เรียกว่า เข้าไปอยู่ในห้องนอน ห้องน้ำ กันเลยทีเดียว มันจึงส่งผลกระทบเข้าไปในเรื่องการศึกษาของคนในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
พ่อ-แม่มีอาชีพชาวนามาแต่กำเนิด ตั้งแต่ครั้งปู่ย่า-ตาทวด พอมีลูกก็ไม่อยากให้ลำบากเหมือนตัวเอง ส่งให้ไปเล่าเรียนเมื่อก่อนโน้น (สมัยผมยังเด็ก) ก็อยากให้เป็นเจ้าคนนายคน รับราชการนั่นแหละ โลกของคนยุคนั้นก็เห็นแต่ครูนี่แหละในโรงเรียนใกล้บ้าน ผมก็เลยถูกส่งให้ไปเรียนในเมือง การเรียนก็ในขั้นดีนะ สามารถไปเรียนอาชีพอื่นได้ แต่ปู่บังคับให้เรียนครูในวิทยาลัยครู เพราะหวังว่า จบมาจะได้เป็นครูอยู่ใกล้บ้าน (นั่นคือจุดเปลี่ยนของชีวิตผม) ในยุคสมัยนี้ก็ไม่ต่างกันมากนัก ที่ต่างก็คือ พ่อ-แม่สมัยนี้รับรู้มากขึ้นว่า มีอาชีพต่างๆ อีกมากมายที่น่าสนใจ และไม่จำเป็นต้องรับราชการอย่างสมัยก่อน
ที่ต่างอีกอย่างคือ เด็กสมัยนี้เรียนมากเกินไป ไม่เว้นแม้วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เด็กจึงขาดมุมมองในชีวิต ไม่เคยสัมผัสชีวิตการทำงานของพ่อ-แม่ ยิ่งถ้าเป็นอาชีพเกษตรกรรมนี่ไม่มีโอกาสสัมผัสเลย พ่อ-แม่บางคนถึงกับบอกว่า ลูกไม่ต้องมาทำงานช่วยพ่อ-แม่หรอก ตั้งใจเรียนเถอะ (จริงๆ นอกจากจะไม่ช่วยแล้วมันยังไม่เรียน แถมไปติดเกมโน่น) เปลี่ยนความคิดใหม่เถอะครับ ให้เด็กได้เรียนรู้ชีวิตและการทำงานไปด้วย จะได้รู้คุณค่าของหยาดเหงื่อ (เงิน) ที่พ่อ-แม่สู้ทนหามาส่งเสียให้ได้เล่าเรียน
ยุคนี้ต้องเรียนให้ได้ (ทุ่มเท ขวานขวาย ใฝ่รู้ ค้นคว้า อ่านและฝึกฝนให้มาก) แต่ไม่ต้องเรียนจนเครียด เรียนดะไปหมด ไม่มีจุดหมายเหมือนหุ่นยนต์ที่ทำไปตามขั้นตอน บางคนไปเรียนตามเพื่อนไม่รู้เรื่องตามเขาไม่ทัน แต่ก็ไปเรียนไปนั่งเบลอๆ หลับไป เพราะถ้าไม่ไปก็อายเพื่อนเดี๋ยวจะหาว่าโง่ ที่สำคัญพ่อแม่จ่ายเงินให้แล้วตั้งเยอะไม่รู้เรื่องได้ชีทมาอ่านก็ยังดี ดียังไงนะอ่านก็ไม่รู้เรื่องอีก เฮ้อ!!!!
ควรพักการเรียนบ้าบอนี้ แล้วหันไปทำกิจกรรมจิตอาสาดูบ้าง นอกจากจะเป็นการพักผ่อนแล้วยังเป็นการเรียนรู้ชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง ได้ช่วยเหลือเผื่อแผ่ไปยังสังคมรอบข้าง รวมทั้งการขอเข้าฝึกงานในสถานประกอบการ นอกจากจะเป็นการหารายได้เสริมช่วยพ่อ-แม่ได้อีกทางหนึ่งแล้ว ยังเป็นการเสริมประสบการณ์ในวิชาชีพที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคต
หลายท่านอาจจะบอกว่า ผมก็เขียนไปตามสถานการณ์เอามันเข้าไว้ มีตัวอย่างอ้างอิงไหม? มีครับ ผมยกตัวอย่างใกล้ตัวนี่แหละ คือลูกผมเองทั้งสองคน ผมไม่เคยบอกลูกว่า ต้องเรียนพิเศษอะไรเลย ให้เขาตัดสินใจเลือกเรียนเองตามความต้องการของเขา ลูกสาวคนโตแน่วแน่ที่จะเป็นสถาปนิกตั้งแต่เริ่มเรียน ม.4 เขาจึงเลือกเรียนคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และขอไปเข้าค่ายเตรียมความพร้อมสถาปัตย์ของรุ่นพี่ๆ ที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศิลปากร ในช่วงปิดภาคเรียน และก็สามารถสอบเข้าศึกษาต่อในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้ (หลายแห่ง แต่เลือกเรียนที่ธรรมศาสตร์) ปัจจุบันทำงานเป็นผู้จัดการบริษัทรับเหมาก่อสร้างและควบสถาปนิกในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง
ส่วนลูกชายนี่เคยขอไปเรียนพิเศษในเทอมแรก แต่เรียนได้สักเดือนก็ไม่เรียนอีกเลย เพราะเขาบอกว่า คุณครูที่เตรียมอุดมศึกษาสอนให้เขาเข้าใจพอแล้ว จึงหันไปทำกิจกรรมทั้งในและนอกโรงเรียนแทน เช่น การทำค่ายสอนภาษาอังกฤษให้เด็กและเยาวชน ทำกิจกรรมโครงการเด็กไทยรักในหลวง ซึ่งได้ทำหน้าที่เป็นพิธีกรประจำบูธนิทรรศการต่างๆ ในนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี (ที่เมืองทองธานี 26 พฤษภาคม - 4 มิถุนายน 2549) สมัครเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ที่ Swensens เพื่อเรียนรู้งานบริการ (ได้ค่าแรงชั่วโมงละ 27 บาท) ทำงานพาร์ทไทม์กับสถาบัน TOEIC สอบเข้าเรียนต่อที่คณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย สมัครเข้าฝึกงานที่ บริษัท การบินไทย จำกัด ปัจจุบันทำงานที่สายการบินเอมิเรตส์ ซึ่งไม่ตรงกับสาขาที่เรียน แต่ตรงกับความชอบ และประสบการณ์ที่ผ่านมาจากการทำกิจกรรมและฝึกงาน
เทียบกับหลานชายอีกคน เรียนพิเศษมากมายจนเบลอ สอบเข้ามหาวิทยาลัยไหนก็ไม่ได้ หันไปเรียนรามคำแหง ตอนเลือกเรียนถามแล้วถามอีกว่า จะเรียนอะไร อยากมีอาชีพอะไร ก็ไม่ตอบ ขอไปเรียนและพักอยู่กรุงเทพฯ 4 ปีผ่านไปเจอกันถามว่า จบหรือยัง? เรียนอะไรมาล่ะจะได้มองหาตำแหน่งงานให้ เงียบ... ไม่มีคำตอบ จนผ่านไปอีก 4 ปี ก็จบตามกติกาภาคบังคับเรียนจนครบ 8 ปี ระหว่างที่เรียนพ่อ-แม่ลำบากอยากให้หางานทำไปด้วย ก็ไม่ทำ ไม่สนใจ ตอนนี้จบมาก็ได้งานแค่รับจ้างขายของในตลาดนัด ไปสมัครงานที่ไหนๆ เขาก็บอกแต่เพียงให้ทิ้งเบอร์โทรไว้แล้วจะติดต่อกลับ จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีบริษัทไหนติดต่อกลับมา คงเป็นเพราะเมื่อไปสมัครงานแล้วสัมภาษณ์งานไม่สามารถบอกประสบการณ์ชีวิตใดๆ ที่พอจะบ่งบอกว่าจะทำงานสู้ทนได้เลย
บริษัทไหนๆ ก็อยากได้พนักงานที่ผ่านงาน มีประสบการณ์ในการทำงานมาบ้าง ฝึกเพิ่มเติมนิดหน่อยก็ทำงานได้ดี และถ้ามีประสบการณ์ในสายงานนั้นมาก่อนทำงานได้ทันทีก็ยิ่งวิเศษมาก เขาคงไม่อยากเอาคนที่ไม่รู้อะไรเลยมาฝึกหัดแล้วจ่ายค่าจ้างแพงๆ หรอกครับ
ประสบการณ์ชีวิตการทำกิจกรรม การทำงานพาร์ทไทม์ต่างๆ ล้วนมีส่วนต่อการประสบผลสำเร็จในชีวิตอนาคตเป็นอย่างมากทีเดียว บทความนี้คงจะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนครูแนะแนวและคุณครูท่านอื่นๆ บ้างนะครับ ยิ่งได้ยินมาบ่อยๆ ว่า ครูแนะแนวรู้แต่ว่าสอบเข้ามหาวิทยาลัยเมื่อไหร่? แต่ไม่เคยแนะนำให้เด็กได้รู้มาก่อนเลยว่า จะเรียนอย่างไรและไปประกอบอาชีพอะไรดีที่เหมาะกับนักเรียน เขาว่ากันมานะครับ.... (ผมไม่ได้ว่าเองนะ) อาชีพทุกวันนี้มีหลากหลายเกิดใหม่ตลอด เราจึงต้องเรียนรู้และศึกษาให้มากเพื่อที่จะได้ก้าวเข้าสู่สายอาชีพที่ มั่นคงได้
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)