foto1
ความงดงามการศึกษาไทย
foto1
เพื่อ?
foto1
ไม่เข้าใจ?
foto1
วิทยากรที่กระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาว
foto1
ท่องทะเลทรายที่ดูไบ UAE


Friendly Links

เรียนรู้ภาษา html
isangate banner
easyhome banner
ipst banner
sakdibhornssup foundation
13 Thai free fonts
speedtest
e mil

Facebook Likebox

No. of Page View

เมื่อการสอบ "โอเน็ต" เป็นจำอวด

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 5 มีนาคม 2555

onet-onetข้อสอบโอเน็ตปีนี้ ก็เหมือนกับทุกปีที่ผ่านมา คือถูกสื่อต่างๆ นำมาหัวเราะ เยาะเย้ยกันอย่างทั่วถึง และคำอธิบายของผู้รับผิดชอบการออกข้อสอบ ก็เหมือนทุกปีที่ผ่านมา นั่นคือต้องการให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์เป็น ช่างเป็นคนที่อดทน มุ่งมั่นต่ออุดมการณ์อะไรเช่นนี้

แม้จะน่าเยาะเย้ยให้เป็นที่น่าขบขันอย่างไร ความมุ่งหมายของคณะกรรมการออกข้อสอบ ไม่ใช่สิ่งที่น่าเยาะเย้ยแต่ประการใด ซ้ำยังน่าส่งเสริมอีกด้วย เพราะการศึกษาไทยขาดการฝึกให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์เป็นอย่างยิ่ง จะว่าไปการคิดวิเคราะห์เป็นหัวใจของการศึกษาเลยทีเดียวก็ว่าได้ โดยเฉพาะในการศึกษาของโลกปัจจุบัน เพราะข้อเท็จจริงต่างๆ นั้นล้าสมัยไปอย่างรวดเร็วจนกระทั่งไร้ประโยชน์ แต่การคิดวิเคราะห์เป็นต่างหากที่จะติดตัวนักเรียนไปตลอดชีวิต และทำให้เขารู้จักปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงนานาชนิดซึ่งถั่งโถมเข้าสู่ ชีวิตของเขาได้ตลอดไป

ความล้าหลังของการศึกษาไทยก็อยู่ตรงที่ไม่สนใจ จะให้นักเรียนคิดวิเคราะห์เป็นนี่แหละ ความมุ่งหมายของคณะกรรมการออกข้อสอบจึงนับว่าน่าสรรเสริญ แต่ไม่มีทางจะประสบความสำเร็จได้เป็นอันขาด เพราะเครื่องมือที่คณะกรรมการมี คือการออกข้อสอบเป็นแค่ไม้จิ้มฟัน ย่อมไม่อาจไปงัดไม้ซุงความล้าหลังของระบบการศึกษาไทยได้อย่างแน่นอน งัดไปก็เป็นที่ขบขันของคนทั่วไปอย่างที่เกิดขึ้นทุกปี

Onet NoKข้อสอบ เช่น หากเกิดความต้องการทางเพศแล้ว วัยรุ่นควรทำอย่างไร คำตอบมีให้เลือกนับตั้งแต่ เล่นกีฬาไปถึงชวนกิ๊กไปดูหนัง ไม่ใช่สิ่งน่าขำในตัวเอง แต่ไม่ว่านักเรียนจะเลือกคำตอบข้อไหน ก็ไม่มีทางที่ผู้ตรวจจะรู้ได้เลยว่า เด็กคิดวิเคราะห์เป็นหรือไม่ เพราะการคิดวิเคราะห์เป็นกระบวนการคิด ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง (ไม่ว่าจะมีข้อเดียวหรือหลายข้อ) ไม่ว่าจะเลือกตอบข้อไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาสำนึกถึงเงื่อนไขต่างๆ ถี่ถ้วนสักเพียงไร (ในวัยของเขา) และนำเงื่อนไขเหล่านั้นมาคำนวณผลได้ผลเสียจากการตัดสินใจของเขามากน้อยเพียง ไร ฉะนั้นแม้นักเรียนจะตอบว่า ควรพากิ๊กไปดูหนัง พลาดพลั้งจะได้พาเข้าโมเตลให้สิ้นเรื่องสิ้นราวไป ก็อาจแสดงการคิดวิเคราะห์ที่ดีได้ เพราะได้นำเงื่อนไขทุกประเภทมาไตร่ตรองจนรอบคอบแล้ว และสรุปว่าในสถานการณ์ของเขา นี่คือคำตอบที่เหมาะสุด 

เขาคิดอย่างไร สำคัญกว่าเขาเลือกจะทำอะไร

เพลง "สายฝน" ควรจะมีสีอะไรก็เหมือนกัน สีอะไรก็ได้ แต่เขาให้เหตุผลที่สอดรับกับจินตนาการของเขาได้มากน้อยอย่างไรต่างหาก ที่จะเป็นตัววัดความสามารถของเขา แม้แต่ให้สีที่เหมือนกับศิลปินอิมเพรสชั่นนิสม์ ก็ไม่มีอะไรผิด อยู่ที่ว่าเขาใช้วิธีคิดอย่างไร จึงทำให้เลือกสีนั้นๆ ต่างหาก

เห็นได้ชัดว่า ข้อสอบของคณะกรรมการไม่สามารถวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ได้ เพราะคณะกรรมการไปมุ่งที่คำตอบ แทนที่จะมุ่งไปยังกระบวนการคิดวิเคราะห์ ข้อสอบปรนัยที่มุ่งไปทางคิดวิเคราะห์ก็มีเหมือนกัน คือให้เลือกระหว่างเหตุผล ไม่ใช่คำตอบที่ถูก แต่ผมเชื่อโดยไม่เกรงกลัวอาญาสิทธิ์ของนักวิชาการด้านการวัดผลว่า แม้กระนั้น ข้อสอบปรนัยก็จำกัดเพดานความคิดเอาไว้ ให้เลือกได้เฉพาะกระบวนการคิดของผู้ออกข้อสอบ เด็กอัจฉริยะมีแนวโน้มจะสอบตก เพราะเขาสามารถคิดนอกกรอบนั้นได้อีกมาก หรือในทางตรงกันข้าม เขาอาจสอบได้ที่หนึ่ง เพราะเขาอัจฉริยะพอที่จะคิดอะไรให้โง่ลงเท่ากับระดับผู้ออกข้อสอบ นั่นหมายความว่าเขาตกอยู่ในระบบการศึกษาที่จำกัดศักยภาพของเขาไปพร้อมกัน

ดังนั้น อุปสรรคของการออกข้อสอบที่ต้องการการคิดวิเคราะห์จึงไม่ได้อยู่ที่ตัวข้อสอบ แต่อยู่ที่ในทางปฏิบัติ กล่าวคือหากเป็นข้อสอบอัตนัย ที่ต้องตรวจข้อสอบเป็นแสนในแต่ละวิชา ย่อมเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ

ตรงนี้แหละครับที่ต้องการ "การคิดวิเคราะห์"

โอเน็ตมีความสำคัญอย่างไร เท่าที่ผมทราบคือ

  • ต้องการมาตรฐานกลางในระบบการศึกษา
  • จึงเท่ากับประเมินสมรรถภาพของโรงเรียนไปด้วยในตัว ทำให้รู้ว่าต้องเสริมสมรรถภาพของแต่ละโรงเรียนไปทางใด ใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ทำให้นักเรียนที่มุ่งสอบเข้ามหาวิทยาลัยต้องใส่ใจกับวิชาอื่นๆ ซึ่งไม่ได้อยู่ในการสอบเข้าด้วย (ข้อนี้น่าจะไปแก้ที่กระบวนการคัดเลือกคนเข้ามหาวิทยาลัย ไม่ง่ายกว่าและดีกว่าหรอกหรือครับ?)
  • ผมไม่ทราบ


เพื่อบรรลุจุดประสงค์ดังกล่าว มีวิธีอื่นอีกหรือไม่ ที่ไม่ใช่การจัดสอบพร้อมกันทั้งประเทศเช่นนี้ ลองคิดใหม่เถิดครับ ผมเชื่อว่ามี หากผู้ที่เกี่ยวข้องเริ่มคิดจากเป้าหมาย แทนที่จะคิดจากการสอบซึ่งเคยทำมาหลายครั้งแล้ว แต่ผมไม่เชี่ยวชาญพอจะไปเสนออะไรได้

หากในที่สุดยังสรุปมาที่การสอบ ทั้งประเทศเหมือนเดิม ก็น่าจะจัดสอบสักเดือนละสองครั้ง หรือสี่ครั้ง หมายความว่านักเรียนแต่ละคน ไม่ว่าจะมาจากโรงเรียนใด สามารถสมัครเข้าสอบได้เสมอทั้งปี แม้แต่เรียนเลยชั้นนั้นไปแล้ว ก็สามารถขอสอบได้ แต่ผลการเรียนของชั้นที่ผ่านมาแล้วนั้นยังไม่เป็นทางการ จนกว่าจะมีคะแนนของโอเน็ตไปคิดร่วมด้วย รายละเอียดอื่นๆ เช่นคนหนึ่งสอบโอเน็ตได้กี่ครั้ง, ต้องเพิ่มบุคลากรเพื่อการนี้สักเท่าไร ฯลฯ ก็ค่อยคิดกันในภายหลัง

test test


คราวนี้จะออกข้อสอบที่เน้นการคิดวิเคราะห์อย่างไรก็น่าจะทำได้ โดยตรวจวัดกันที่กระบวนการคิด ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง

แม้ สามารถจัดการสอบที่วัดกระบวนการคิดได้แล้วในทางปฏิบัติ โอเน็ตอย่างเดียวก็ยังไม่อาจเปลี่ยนการศึกษาไทยมาสู่การคิดวิเคราะห์ได้อยู่ ดี มีเงื่อนไขอีกหลายอย่างที่ผมคิดว่าจำเป็นอย่างขาดไม่ได้ ในระบบการศึกษาที่เน้นการคิดวิเคราะห์

อย่างแรกคือหลักสูตร หลักสูตรในการศึกษาไทยทุกระดับตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า มีความรู้ที่ขาดไม่ได้อยู่ก้อนหนึ่ง ซึ่งนักเรียนต้องรู้และเข้าใจ วิธีพิสูจน์ว่ามีคือจำได้ และวิธีพิสูจน์ว่าเข้าใจคือทำโจทย์หรือตอบถูก (อันเป็นวิธีพิสูจน์ความเข้าใจที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพนัก เพราะนักเรียนอาจเอาการจำมาใช้ทำโจทย์แทนการคิด)

ถามว่าความรู้อย่าง ที่กล่าวนี้จำเป็นจริงหรือไม่ คำตอบคือจริง แต่จำเป็นเพราะเป็นเพียงเครื่องมือสื่อสารหรือข้อตกลงสำหรับการเรียนอะไร อื่นๆ ที่กว้างและลึกขึ้นเท่านั้น เช่นวิทยาศาสตร์สอนเรื่องความร้อน ไม่ได้สอนเรื่องความเย็น ก็เป็นเพียงข้อตกลงเบื้องต้นว่า เราจะศึกษาพลังงานตัวนี้จากแง่ของอุณหภูมิ (ชื่อก็บอกแล้วว่าคือหน่วยวัดความร้อน) โดยไม่เกี่ยวกับตัวเราผู้ศึกษา สิ่งที่มีอุณหภูมิน้อยๆ เรารู้สึกว่าเย็น แต่นั่นเพราะเราวัดจากความรู้สึกของเรา ไม่ใช่จากสิ่งนั้น จึงตกลงร่วมกันว่าเราจะดูสิ่งต่างๆ จากแง่ของความร้อนเท่านั้น หรือ บวกกับลบเป็นความรู้พื้นฐานของการคำนวณ ที่เหลือคือ กลวิธีที่ทำให้เราเห็นความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนของสิ่งต่างๆ ในเชิงประจักษ์ (ด้วยตัวเลข) เท่านั้น

แต่ก้อนความรู้ดังกล่าวนั้น ถูกพอกให้ใหญ่ขึ้นในเมืองไทย จนกระทั่งไม่เหลือการเรียนรู้อะไรอื่นๆ อีกนอกจากความรู้ก้อนนั้น ดังนั้นการศึกษาที่เน้นการคิดวิเคราะห์จึงต้องทำให้ก้อนความรู้ในหลักสูตร เล็กลง แต่นักเรียนแต่ละคนจะค่อยๆ สร้างความรู้อื่นๆ ไปพอกก้อนความรู้นั้นด้วยตนเอง จบไปแล้วต่างคนต่างมีความรู้คนละก้อน ซึ่งเขาสร้างมันขึ้นมาเอง จึงไม่เหมือนกัน (แม้มีฐานเหมือนกัน)

อย่างที่สองคือครู การฝึกหัดครูต้องเปลี่ยนมาสร้างสมรรถภาพของครูที่จะจัดการเรียนรู้ภายใต้ หลักสูตรใหม่เช่นนี้ กระทรวงศึกษาฯต้องมีกุศโลบายที่จะทำให้ครูเปลี่ยนมารองรับหลักสูตรใหม่ โดยไม่ใช้อำนาจลูกเดียว (นั่นไม่อาจเรียกว่ากุศโลบายได้)

อย่างที่สามคือการบริหารโรงเรียน เพราะครูและเป้าหมายของหลักสูตรใหม่ควรได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขัน ระบบบริหารที่เป็นอยู่เวลานี้ไม่ได้ผล จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไข โดยสร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดมากขึ้นระหว่างเขตการศึกษากับกระทรวง มีเงื่อนไขที่ล่อใจหลายอย่างให้ผู้บริหารโรงเรียน และผู้บริหารเขตการศึกษา อยากร่วมในการปฏิรูปการศึกษา

อย่างที่สี่คือทำให้สื่อการศึกษาที่มีอยู่เวลานี้ น่าสนใจมากขึ้น กว่าการ "ติว" วิชาต่างๆ เพราะถึงอย่างไรในหลักสูตรใหม่ ก็ไม่มีก้อนวิชาตายตัวให้ "ติว" มากนักอยู่แล้ว

อย่างที่ห้าคือเสรีภาพ ไม่มีการศึกษาที่เน้นการคิดวิเคราะห์ใดจะเกิดขึ้นได้ โดยปราศจากบรรยากาศของเสรีภาพ ไม่แต่เฉพาะบรรยากาศในห้องเรียนอย่างเดียว บรรยากาศของการปฏิบัติหน้าที่ของครู, ผู้บริหารโรงเรียน ฯลฯ

หรือแม้ถึงที่สุดคือบรรยากาศของสังคมโดยรวม ก็ต้องเปี่ยมด้วยเสรีภาพ

เสรีภาพ เกิดขึ้นได้ก็เพราะมีกฎระเบียบที่แน่ชัดซึ่งกำหนดสิทธิอันล่วงละเมิดมิได้ ของแต่ละฝ่าย ครูทำอะไรได้บ้างที่ผู้บริหารไม่มีอำนาจเข้ามาแทรกแซง, ผู้บริหารโรงเรียนทำอะไรได้บ้างที่ผู้ใหญ่เหนือขึ้นไปแทรกแซงไม่ได้ จนถึงที่สุดพลเมืองทำอะไรได้บ้าง โดยอาญาสิทธิ์ต่างๆ และอิทธิพลต่างๆ ไม่อาจเข้ามาแทรกแซงได้

เห็นไหมครับว่า เรื่องมันใหญ่กว่าที่คณะกรรมการออกข้อสอบโอเน็ตจะทำอะไรได้ ในขณะที่กระทรวงศึกษาฯของทุกรัฐบาลมักจะถูกมอบหมายให้แก่นักการเมืองที่ไร้ จินตนาการโดยสิ้นเชิง ฉะนั้นคณะกรรมการออกข้อสอบโอเน็ตจึงทำได้เพียงเป็นจำอวดหน้าม่าน ปีแล้วปีเล่าไปอย่างต่อเนื่อง ไว้ปีหน้าค่อยดูตอนต่อไป

ที่กล่าวมานี้ ด้วยความเห็นใจอย่างยิ่งนะครับ....

****************************** CoolCoolCoolCool *************************

จบบทความแล้วครับ มาต่อกันที่ผลกระทบที่น่าจะเกิดขึ้นได้ ถ้า....

มีคนบ้าจี้ตามข่าวนี้ "สพฐ.ปรับโอเน็ตคล้ายโทเฟล มีผลเลื่อนชั้น นร.- ความดีความชอบประจำปี+วิทยฐานะครู" รายละเอียด

"หารือ ก.ค.ศ.ยกร่างเกณฑ์ประเมินโดยนำคะแนน O-NET มาเป็นส่วนประกอบ ความดีความชอบประจำปี+วิทยฐานะครู

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงกรณีที่นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว. ศึกษาธิการ มีนโยบายให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จัดสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ในทุกระดับชั้น ว่า รมว.ศึกษาธิการ ต้องการให้นำผลคะแนน O-NET มาใช้ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง โดยนักเรียนต้องมีความสนใจในการสอบอย่างต่อเนื่อง และครูต้องมีความรับผิดชอบต่อผลคะแนนด้วย เพราะที่ผ่านมาการสอบ O-NET จะจัดสอบเฉพาะช่วงชั้นในชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 ซึ่งเป็นการสอบรวบยอด โดยผลคะแนนจะไม่ได้มีผลสะท้อนกลับมาที่ตัวครูทุกคน เช่น ครูผู้สอนในระดับประถมศึกษา ส่วนใหญ่จะเป็นครูประจำชั้นที่สอนทุกวิชา ซึ่งหากวัดผลเฉพาะ ป.6 ครูผู้สอน ชั้นป.4 และ ป.5 ก็จะไม่ได้รับการวัดผลด้วย เพราะไม่ได้มีการจัดสอบ O-NET ในชั้นป.4 และ ป.5 ดังนั้นการสอบในทุกระดับชั้นจะทำให้ครูทุกคนมีส่วนในการรับผิดชอบกับคะแนน ที่ออกมา และจะทำให้คะแนนดีขึ้น

"รมว.ศึกษาธิการ พยายามดึงทั้ง 2 ส่วนให้มาเชื่อมต่อกันและพูดเสมอว่าต่อไป หากครูจัดการเรียนการสอนแล้วคะแนนเด็กออกมาดี ก็ควรจะได้รับการพิจารณาความดีความชอบประจำปี รวมถึงการประเมินวิทยฐานะด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่างหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะ ที่ต้องนำคะแนน O-NET มาเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการพิจารณา จากนั้นจะเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ต่อไป"

นายชินภัทร กล่าวและว่า หลังจากนี้ต้องมีการหารือกันว่าจะจูงใจให้เด็กทุกระดับชั้นสนใจสอบ O-NET ได้อย่างไร โดยเบื้องต้นมีแนวคิดที่จะให้คะแนนมีผลต่อการจบการศึกษาในระดับช่วงชั้น หรือ Exit Exam แต่คงต้องมาดูว่าจะให้มีผลต่อการจบในช่วงชั้นใด รวมถึงแนวทางที่จะให้เด็กสอบได้หลายครั้งคล้ายๆ กับการสอบโทเฟลเพื่อลดความกดดัน ซึ่งจะต้องจัดทำธนาคารข้อสอบ เพื่อเลือกข้อสอบที่มีมาตราฐานมาใช้ด้วย"

ถ้าบรรดาท่านผู้ใหญ่ได้ยินเด็กนักเรียนบอกกรรมการกำกับห้องสอบว่า "คุณครูครับ ขอแค่กระดาษคำตอบก็ได้ครับ" แล้วจะรู้ทันทีว่า ผลการสอบโอเน็ตที่มันเตี้ยต่ำติดดินมันเกิดขึ้นเพราะอะไร ถ้าอยากจะเอาผลมาใช้จริงต้องเปลี่ยนวิธีการสอบใหม่ ต้องไม่แยกออกมาสอบอย่างปัจจุบัน ต้องแฝงอยู่ในการวัดผลรายวิชาปกติ ส่วนวิธีการจะเป็นเช่นไรค่อยมาว่ากันอีกที

มองอีกที การศึกษาไทยของเรายังไม่ออกนอกกรอบความคิดของ "Industrial Education" มองการจัดการศึกษาของมนุษย์เป็นดั่งระบบอุตสาหกรรม ที่เมื่อป้อนวัตถุดิบ (นักเรียน) ที่มีรูปร่างบิดเบี้ยว (ระดับความรู้ IQ ต่างกัน) ผ่านโรงงาน (โรงเรียน) ที่มีเครื่องจักร (ครู) แล้วผลผลิตต้องออกมาเป็นกล่องสี่เหลี่ยม หรือลูกบอลกลมๆ ไม่มีผิดเพี้ยน เหมือนกันทั้งเหนือ-อีสาน-กลาง-ใต้ (ชนบท ในเมือง หรือมหานคร) มันจริงหรือ? ถ้าจริงก็ทำตามข่าวได้เลย

แต่ในความเป็นจริงกระบวนการศึกษา ของมนุษย์ไม่ได้ให้ผลิตผลแบบอุตสาหกรรม การจะนำเอาผลสอบโอเน็ตมาพิพากษาครูที่อยู่ชายขอบ มีตัวป้อนที่ขรุขระ บิดเบี้ยวเหลือเกิน ว่าสอนไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ควรได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งกระนั้นหรือ เขาผิดหรือที่ไปสอนนักเรียนที่มีปัญหาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่ความยากจน ขาดแคลน ไร้การเหลียวแล ให้กลายเป็นคนดีของสังคมได้ แต่มันสอบโอเน็ตไม่ผ่าน โอเน็ตจะกลายเป็นอาชญากรไปก็ได้นะครับ หยุดคิดสักนิด...

คำถาม-คำตอบแบบบ้านๆ ของเด็กบ้านนอก "ผมจะต้องสอบโอเน็ตให้ผ่าน เพื่อให้ครูได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง แล้วมันจะทำให้ข้าวในนาผมงอกงามขึ้นใช่ไหมครับครู"

เอาไปคิดกันต่อเองนะครับ ผมไม่อยากไปทะเลาะกับใครอีก...

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

Our Policy