ช่วงนี้ โรงเรียนส่วนใหญ่ปิดภาคเรียนกันแล้ว นักเรียนหยุดเรียนในโรงเรียน (แต่ในเมืองใหญ่ยังคงคึกคักสำหรับการเรียนพิเศษกันอยู่เหมือนเดิม) สำหรับครูเราก็ยังคงทำงานกันไปจนกว่าภารกิจการรับนักเรียนจะเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งอาจจะใช้เวลานานเข้าช่วงต้นเมษา จะได้หยุดกันจริงๆ ก็คงจะเป็นสงกรานต์โน่นแหละ
แต่ก็มีหลายคนที่ไม่ได้หยุด เพราะต้องพัฒนาตนเอง ในการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมในศาสตร์ และสาขาต่างๆ เพื่อใช้ในการพัฒนาวิชาชีพของตนให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งมีหลายหน่วยงานจัดการอบรมความรู้ด้านต่างๆ สนใจก็เข้าร่วมโครงการกันไปอย่าท้อถอยครับ ส่วนตัวผมก็ทำหน้าที่เป็นวิทยากรหลายงานทีเดียว ทั้งที่จัดเองในช่วงต้นเดือนเมษานี้ และอีกครั้ง ปลายเมษายนต่อไปถึงต้นพฤษภาคม ต้องทำหน้าที่เป็นวิทยากรและหัวหน้าศูนย์อบรมครูของ สสวท. ที่อุบลฯ ซึ่งเป็นการจัดอบรมครูผู้สอนวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา
การพัฒนาตนเอง เป็นคำที่เราได้ยินได้ฟังกันค่อนข้างบ่อย มีเพื่อนหลายคนค่อนขอดมาเหมือนกันว่า จะให้พัฒนาไปถึงไหนกัน? ผมไม่อยากใช้คำว่า พัฒนา แต่อยากจะบอกว่าเราควรเติมเต็มความรู้ให้แก่ตนเอง อย่างน้อยๆ ก็เพื่อให้เรารู้รอบด้าน มองภาพกว้างไกลออกไปจากรั้วโรงเรียน ได้รู้ได้เห็นมากขึ้น การเติมเต็มนั้นสามารถทำได้หลายวิธีการ ตั้งแต่การเข้าร่วมประชุม สัมมนา การฝึกอบรม การพูดคุยเสวนากับผู้รู้ การติดตามข่าวสารจากวิทยุ/โทรทัศน์ และการอ่าน ซึ่งพวกเราที่เป็นครูน่าจะเป็นแบบอย่าง และเป็นผู้นำสำหรับเด็กและเยาวชน
ผมขอแนะนำให้หาหนังสือชื่อ "The world is flat : ใครว่าโลกกลม" มาอ่านกันครับ (ฉบับภาษาไทย พึ่งออกเล่ม 1 รอเล่ม 2 วางแผงอยู่เหมือนกัน) พอดีผมไปได้ฉบับภาษาอังกฤษมาอ่านจบแล้ว ก็ได้มองเห็นภาพกว้างความเป็นไปของโลกมากมายทีเดียว ชนิดที่บางเรื่องผมเองก็คาดไม่ถึงทีเดียว ได้แนวคิดในการทำงาน การดำรงชีวิตในโลกยุคใหม่ ได้เรื่องคุยกับนักเรียน กับเพื่อนร่วมงานได้มากขึ้น และเป็นการเติมเต็มชีวิตได้อีกแบบหนึ่ง
การที่ผู้เขียนให้ความเห็นว่า โลกแบน ไม่กลมอย่างที่ทฤษฎีดั้งเดิมบอกไว้ ก็เนื่องจากว่า คำว่าโลกแบนในทัศนะของผู้เขียน หมายถึง การที่โลกปัจจุบันมีข้อจำกัดต่างๆ น้อยลงๆ มีการผสมรวมกัน (integrate) มากขึ้น อาจเปรียบเทียบได้กับโลกที่ถูกกดให้แบนด้วยแรงต่างๆ ทำให้ภูเขาสูงที่บดบังวิสัยทัศน์ และปิดกั้นโอกาสต่างๆ ได้ถูกทำลายลง ผู้คนบนโลกต่างมีโอกาสแข่งขันกันได้มากขึ้น
อินเดียและจีนสองยักษ์ใหญ่ของโลกด้วยประชากร 1,000 ล้านคน และ 1,300 ล้านคน ตามลำดับ เป็นแหล่งของ outsourcing (การจ้างไปผลิตบางส่วนของสินค้า หรือการจ้างให้ทำบริการ) และ offshoring (การจ้างผลิตสินค้าทั้งชิ้นนอกประเทศ) ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา บางประเทศในยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฯลฯ
อินเดียในแต่ละปีมีคนจบมหาวิทยาลัย 2.5 ล้านคน (มีวิศวกรอยู่ 350,000 คน) จบ MBA 90,000 คน นัก IT ของอินเดียชั้นยอดอยู่ที่นี่ ส่วนใหญ่จบจาก India Institute of Technology ที่มีชื่อเสียงซึ่งเข้าเรียนได้ยากเย็นแสนเข็ญ เพราะมีที่นั่งจำกัด แต่มีคนเก่งนับล้านคน ต้องการเข้าเรียน ในแต่ละปี หนึ่งในสามของคนที่จบจะไปเป็นวิศวกรในสหรัฐอเมริกา
ที่เมืองบังกะลอร์ของอินเดีย (อยู่ใกล้เมืองที่ผู้นับถือท่านไสบาบาเขาไปกัน) เป็นแหล่งของ outsourcing และ offshoring โดยเฉพาะในเรื่อง IT มีบริษัทใหญ่ของสหรัฐอเมริกาไปตั้งเคียงข้างบริษัทท้องถิ่น ที่คนอินเดียร่วมทุนกับต่างประเทศ หรือคนท้องถิ่นเป็นเจ้าของเองอยู่มาก
จีนนั้นมีเมืองต้าเหลียน ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของปักกิ่ง เดินทางโดยเครื่องบินใช้เวลาหนึ่งชั่วโมง ต้าเหลียนตั้งอยู่ใกล้ญี่ปุ่น มีผู้พูดภาษาญี่ปุ่นได้จำนวนพอควร มีสถาบันอุดมศึกษา 22 แห่ง มีนักศึกษา 200,000 คน หนึ่งในสามของนักศึกษาเรียนภาษาญี่ปุ่น ต้าเหลียนเป็นเมืองที่กำลังรับงาน outsourcing ในด้านบริการจากญี่ปุ่นมากขึ้นทุกวัน ตัวอย่าง outsourcing และ offshoring อันเป็นผลจากความแคบลงของโลกมีดังนี้
ถ้ามองถึงงานเหล่านี้แล้ว คนไทยเราก็ทำได้ แต่ด้วยที่พวกเราไม่สันทัดในภาษาอังกฤษ หรือภาษาต่างประเทศของเหล่านายจ้างเหล่านี้ ทำให้ขาดโอกาสเป็นอย่างยิ่ง ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะมุ่งพัฒนาและเติมเต็มความรู้ด้านภาษาให้กับเด็กและเยาวชนของเราให้มากยิ่งขึ้น ถ้าครูเราไม่เริ่มเติมเต็มก่อน แล้วจะไปรินไหลใส่สมองเด็กลูกศิษย์ของเราได้อย่างไร? ผมมีไฟล์ PDF สรุปความรู้ที่ได้จากหนังสือเล่มนี้ลองเอาไปอ่านกันได้ครับ คลิกเลย ต้องขอบคุณ ดร. ภาณุภาคย์ พงศ์อติชาต เป็นคนอ่านและสรุปครับ
วันนี้ผมได้รับอีเมล์ฉบับหนึ่งจาก นักศึกษาไทย ระดับปริญญาเอก ในอเมริกา มีข้อความว่า "หนูกำลังทำงานวิจัยสำหรับวิชาเรียนในเทอมนี้ค่ะ เรื่องความต้องการในการพัฒนาตนเองสำหรับครูวิชาเคมีค่ะ โดยการเก็บข้อมูลทางแบบสอบถามค่ะ แต่เนื่องจากหนูอยู่ต่างประเทศ จึงไม่สามารถส่งเอกสารทางจดหมายได้ ต้องการส่งทางอีเมล์ หนูได้อีเมล์ของ อ.วิชาเคมี มาน้อยมาก จาก สสวท. (ประมาณสิบท่านค่ะ) แล้วเมล์ก็โดนตีกลับด้วย
หนูจึงเรียนขอคำปรึกษาค่ะ ว่าหนูจะหาอีเมล์จาก อ.วิชาเคมี ได้ที่ไหนคะ หนูต้องการอาจารย์ เข้าร่วมตอบแบบสอบถาม ประมาณหนึ่งร้อยท่าน ภาคละประมาณยี่สิบท่าน หรือถ้ามีคำแนะนำอื่นๆ ให้หนูยินดีค่ะ ตอนนี้รู้สึกเดือดร้อนใจมากค่ะ"
อ่านจบและตอบอีเมล์น้องเขาไปแล้ว ทำให้ต้องมามองเพื่อนครูเราอีกรอบครับ จะทำอย่างไรหนอให้ครูเราได้พัฒนาและเติมเต็มความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสารให้มากกว่านี้ รู้จักและสนใจใช้อีเมล์ให้มากกว่านี้ (ผมว่าน่ากลัวน้อยกว่า อีแมว ที่บ้านอีกนะ) ท่านใดที่เป็นครูผู้สอนวิชาเคมี ต้องการจะช่วยน้องเขาในการศึกษาก็กรุณาส่งอีแมวของท่านไปหาผมบ้างนะครับ เป็นวิทยาทานเถอะ
ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 15 มีนาคม 2550
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)