หลายคนให้ความสำคัญกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ดุจดังวันแห่งความศักดิ์สิทธิ์และอภินิหารของความรัก เขตบางรักก็จะมีสถิติในการจดทะเบียนสมรสกันมากที่สุดในรอบปี (ส่วนการจดทะเบียนหย่าของคู่ที่สมหวังในวันที่ 14 หลังจากวันวาเลนไทน์จืดจางลง ไม่ได้มีการสำรวจและแจ้งไว้) แต่ที่แย่ร้ายไปกว่านั้นคือ จะเป็นวันเสียสาวของวัยรุ่นกระเตาะ ที่ยอมพลีกายให้กับซาตานโดยไม่ฟังคำทัดทานใดๆ สุดท้ายมีมารหัวขนจนเสียการเรียน เสียอนาคต บางทีถึงกับเสียชีวิตด้วยซ้ำไป จนผู้ใหญ่หลายต่อหลายท่านประสานเสียงเซ็งแซ่ บอกว่าแย่แล้วสังคมไทย ทำไมไม่มีใครเหลียวแลกันบ้างเลย
วาเลนไทน์ มีได้ทุกวัน... ถ้าเราคิดจะมอบความรักให้แก่กัน สังคมไทยมักแก้ปัญหากันที่ปลายเหตุ เกิดเหตุแล้ว วัวหายแล้ว ค่อยคิดจะมาล้อมคอกกัน ล้อมคอกไม่ทันก็หันมาใส่ความครูว่า ไม่สั่งไม่สอน เดือดร้อนกันไปทั่ว ทั้งสารวัตรนักเรียน ตำรวจ กระทรวงวัฒนธรรม ไปจนถึงม่านรูด... (เพราะไม่มีแขกมาใช้บริการด้วยสาเหตุที่ตำรวจมาตั้งด่านตรวจกันซึ่งหน้า)
เราจะโทษคนอื่นได้อย่างไร? ในเมื่อทุกคนมีส่วนในการรับผิดชอบในเรื่องนี้ ในอดีตเมื่อการสื่อสารไม่ก้าวหน้า การโฆษณาอยู่ในวงจำกัด คนที่รู้จักวันวาเลนไทน์มีกันไม่กี่คน แต่พอสถานีวิทยุ-โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ตมันเข้าถึงทุกตรอก ซอกซอย บวกเข้ากับแรงพลังมหาศาลของระบบการบริโภคนิยม ประโคมโหมโฆษณาอย่างหนักหน่วง ถูกพูดกรอกหูอยู่ทุกวัน ครูภาษาต่างประเทศของเราก็พลอยเป็นเหยื่อ จัดกิจกรรมสนับสนุนเพื่อการเรียนการสอน (แต่ลืมดูเงาสะท้อนของอีกด้านหนึ่ง) จึงบังเกิดผลให้ลูกหลานไทยเราตกอยู่ในวังวนของการบริโภคนี้ด้วยอย่างจัง
ฝรั่งเขาเข้าใจคิดวิธีการเผยแผ่ศาสนา ด้วยการผูกเรื่องราวให้เข้ากับความเชื่อและศรัทธาของผู้คน ในขณะที่ประเพณีดีงามของเรากลับไม่เป็นเช่นนั้น วันมาฆบูชา วิสาขบูชา หรือวันอื่นๆ ของเราจึงไม่อยู่ในความทรงจำของผู้คน เช่นเดียวกับการท่องเที่ยว ผมเคยถูกหลอกไปดู บ้านกัปตันคุ๊ก ที่ออสเตรเลีย (จงใจให้หลอก เพราะอยากรู้ว่าเขามีวิธีการอย่างไรในแง่ธุรกิจท่องเที่ยว) มันก็กระท่อมไม้ธรรมดานี่แหละ ไม่มีใครยืนยันได้ว่าใช่หรือไม่? แต่เขาผูกเรื่องราวการท่องเที่ยวไว้ที่ การเดินทางมาสำรวจทวีปออสเตรเลียของ กัปตันเรือ คนหนึ่ง ที่ได้มาตั้งรกรากในถิ่นนี้ จึงจำลองกระท่อม เครื่องใช้ไม้สอย สวนพรรณไม้สวยงาม และจัดเป็นไฟต์บังคับให้กับกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวที่ต้องมาชมให้ได้ นัยว่าเป็นการมาถึงออสเตรเลียจริงๆ
เหมือนกับการท่องเที่ยวจีน ที่ต้องมีการบังคับกรุ๊ปทัวร์เข้าไปชม การแพทย์แผนจีน เพื่อขายสมุนไพร ชมแหล่งผลิตของแบบ OTOP บ้านเรา แล้วต้องซื้อผลิตภัณฑ์ติดไม้ติดมือกลับไป ถ้ากรุ๊ปทัวร์ไหนไม่เข้าไปชม โอกาสของการนำทัวร์มาเมืองจีนอีกครั้งก็จะปิดสนิท บ้านเรามีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย มีผลิตภัณฑ์สินค้าพื้นบ้านคุณภาพจำนวนมาก แต่กลับไม่มีใครสนใจปล่อยให้กรุ๊ปทัวร์ไหลผ่าน ไปชมบ้านป่าขาดอนในประเทศเพื่อนบ้านซะนี่ ทำไมเราไม่ผูก นิทานพื้นบ้าน (Make a story) เข้ากับแหล่งท่องเที่ยวให้มีชื่อดังกระฉ่อนอย่างเขา คิดแล้วน่าเสียดายจริงๆ เท่านั้นยังไม่พอ ผมเดินทางผ่านเห็นหลายจังหวัดทำศูนย์รวมสินค้า/ผลิตภัณฑ์ มีแต่คนขายแต่ไม่มีคนซื้อ บางแห่งลงทุนหลายสิบล้านเหลือแค่ป้ายเป็นอนุสรณ์ (ไม่ทราบใช้สมองส่วนไหนคิดทำ) ทำไมต้องลงทุนกันขนาดนั้น...
ลองนึกดู ถ้าคุณไปเที่ยวที่ไหนสักแห่ง ซื้อของที่ระลึกไปฝากญาติพี่น้องเพื่อนฝูง คุณจะซื้อที่แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นผู้ผลิตโดยตรง หรือจะซื้อจากพ่อค้าคนกลางใน ศูนย์รวมติดแอร์ อะไรจะให้คุณค่าในการระลึกถึงวันวานที่คุณเคยไปเยี่ยมเยือนมาแล้ว จะซื้อผ้าทอกาบบัวที่หมู่บ้านฝีมือชาวบ้านที่ทออยู่ตรงหน้า ซื้อเครื่องทองเหลือง ที่ข้างเตาเผาในหมู่บ้านปะอาว หรือจะซื้อที่ศูนย์รวมสินค้าโอท็อป เมื่อวันเวลาผันผ่าน สินค้าจากแหล่งผลิตจะบอกเล่าเรื่องราว และย้อนรอยความทรงจำได้มากกว่าเสมอ... เออ ขึ้นต้นวันวาเลนไทน์ลงท้ายที่โอท็อปได้ไงเนี่ย...
ที่เล่ามายืดยาวนั้น ก็เพื่อจะให้ทุกท่านได้มองเห็นวิธีคิด และการจัดการศึกษาของเรา ที่มันย่ำเท้าอยู่กับที่ก็เพราะ เรารู้จักแต่บริโภค เอาแต่เปลือกมา ดังเช่นที่เขาเล่าเป็นเรื่องตลกในวงเหล้าว่า "เรียนจบปริญญาตรี พูดน้อยทำงานเก่ง พอไปเรียนปริญญาโทมา พูดมากทำงานน้อย พอจบดอกเตอร์ พูดมากไม่รู้เรื่องแล้วยังทำอะไรไม่เป็นเสียอีก ได้ใบปริญญามาคุยโว จัดประชุมสัมมนาใหญ่โต แล้วมันก็ไปเชิญอาจารย์ของมันมาพูด" เสียดายเงินภาษีของชาวนาที่ส่งมันไปเรียนจังเลย...
อย่างเรื่องปฏิรูปการศึกษานี่ก็เหมือนกัน ลอกเขามาแต่เอามาไม่หมด เพราะถ้าเอามาหมดก็จะอดคว้าชิ้นปลามัน กลายเป็นหัวมงกุฎท้ายมังกร หรือไส้เดือนของอาตี๋ก็ไม่รู้ (ไม่ต้องมีเจ็ดหัว ไม่ต้องคาบแก้ว ไม่ต้องมีเกล็ด เฮ้อ!) ถ้าอยากจะปฏิรูปไม่ต้องทำอย่างอื่นหรอก ง่ายๆ เลย รีบทำเสียด้วย
ในวัยเยาว์เหมือนผ้าขาวที่รอการแต้มแต่งสีให้สดใส หากเราช่วยประคองสองมือให้เรียนรู้ในสิ่งที่ดีงาม อนาคตย่อมสดใสแน่นอน เว้นแต่ พ่อแม่ ครู-อาจารย์นี่แหละที่จะผลักดันเปลี่ยนแปลงเขาจนเลยวัย ดูอย่างในวันเด็ก หรือในวันครบรอบอันสำคัญ ที่ต้องมีการแสดงในวัยอนุบาล ทำไมเราไม่คิดใส่ความดีงามด้วยการแต่งกายสมวัย ด้วยเอกลักษณ์ไทยที่สุดสวย แต่กลับไปเขียนหน้าทาปาก แต่งตัวชะเวิ๊บชะว๊าบอย่างหางเครื่องหมอลำซิ่ง หรือดนตรีลูกทุ่ง ออกท่าเต้นเด้งหน้าเด้งหลัง มันน่าเอ็นดูตรงไหน ใครเป็นคนทำลายวัยเยาว์อันแสนงามของเขาไป หากไม่ใช่ครูและผู้ปกครอง ทำให้เขาเห็นดีเห็นงามในวันนั้น แล้วสิบปีต่อมา...
เมื่อมี "ดาราวัยรุ่น" แต่งตัวเหมือนไม่สวมอะไรเลย มาปรากฏต่อหน้าสาธารณชน แล้วถ่ายทอดสดไปยังผู้ชมรายการโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ รุ่งเช้าวันใหม่สื่อทั้งหลายประโคมพร้อมเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันขรม ผมไม่อยากจะตำหนิเธอ แต่อยากจะตำหนิผู้มีส่วนผลักดันเธอในวัยเด็ก อย่างกรณีตัวอย่างของเด็กวัยอนุบาลข้างต้นก็อาจเป็นไปได้ เธออาจจะคิดว่า นั่นคือความกล้าแสดงออก ที่น่าจะได้รับการยกย่องชื่นชมเหมือนเมื่อครั้งวัยเด็ก แล้วเราจะโทษใครดี?
ขอเพียงแต่ให้ทุกคนได้ทำหน้าที่ของตนอย่างสุดกำลัง เป็นครูสอนก็สอนอย่างเต็มที่ เป็นเจ้าหน้าที่ก็ให้ทำรายงานของตน การปฏิรูปการศึกษาของเราจะก้าวไกลไปเอง ด้วยพลังเฟืองขับที่มีตามธรรมชาติ ผู้บริหารให้มีหน้าที่เพียงแต่ช่วยทำหน้าที่ประสานหล่อลื่น เข้าเกียร์ ประคองพวงมาลัย เหยียบคันเร่งนิ่มๆ ก็เพียงพอแล้ว
ในการทำงานยุคปัจจุบัน (ในความรู้สึกของผม) เหมือนกับว่า พระลูกวัด (ครูน้อย) จะต้องคอยถือตาลปัตรและสวดยถา สัพพี ทีโย... ไม่เห็นเจ้าอาละวาดเลย พอสวดเสร็จสักพักเจ้าอาวาสดันมาขอยืมตาลปัตรไปถือแล้วถ่ายภาพ ก่อนจะหันหน้าไปหาไมโครโฟนนักข่าวเสียนี่... ทำไมไม่มาถือแต่แรก สวดไม่เป็นผมก็จะช่วยสวดให้ดอก แต่อย่ามาทำหลอกๆ เอาตอนนี้เลย เซ็งจริงๆ ขอรับ ไม่รู้ที่อื่นเป็นไหม?
ก็บ่นให้ฟังตามประสา ก่อนจะบ้าไปเสียก่อน... ถึงวันนี้ แม้จะท้อก็ไม่ถอยครับ ผมยังมีความสุขใจที่ได้ทำงานรับใช้บ้านเมืองและประเทศชาติ ทำให้คุ้มค่ากับเงินเดือนที่ได้รับมาจากภาษีของทุกคนบนผืนดินไทย (ใกล้วันยื่นชำระภาษีอีกแล้วเลยต้องกล่าวถึงเสียหน่อย) แม้ว่าเพื่อนครูท่านอื่นๆ จะมีแรงกดดันในการทำงานอย่างไรก็อย่าพึ่งท้อนะครับ ผมขอเป็นกำลังใจให้กับเพื่อนครูทุกท่าน แล้วเราจะร่วมเดินทางไปด้วยกันครับ อย่าพึ่งงงกับหน้าแรกของเว็บผมนะ เพราะนั่นคือกำลังใจที่ผมมีอยู่ ณ เวลานี้ ที่ต้องสู้ต่อไป...
ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 13 กุมภาพันธ์ 2550
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)