หลังจากที่ได้เอ่ยถึง "การปฏิรูปการศึกษา" เส้นทางที่ยาวไกลไปในคราวก่อนไม่นานนัก ก็มีข้อมูลของการศึกษาวิจัย "การเรียนรู้ของเด็กไทย" ออกมาเผยแพร่กันแล้ว ซึ่งไม่วิจัยก็คาดเดาได้อยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร ยิ่งมีผลออกกมาสู่สาธารณชนก็เท่ากับเป็นการตอกย้ำ ถึงความล้มเหลวไม่เป็นท่าของการดำเนินนโยบายปฏิรูปการศึกษา
เราคงจะต้องหันมาใช้กลยุทธ์เดิมๆ ครั้งปู่ย่าตายายเคยใช้น่าจะเหมาะสมกับสังคมไทย ผมยังหวนนึกถึงการท่องอาขยาน และสูตรคูณ ตอนหลังเลิกเรียนทุกวันในอดีต เช้าๆ ท่องคำศัพท์ทั้งไทยและอังกฤษอีกวันละ 10 คำ ก็ทำให้ผมและหลายๆ ท่านที่เป็นนักวิชาการยิ่งใหญ่ได้ไปเรียนเมืองนอกเมืองนาจ นได้ดิบได้ดีกัน ก็ไม่ใช่เพราะหลักสูตรดั้งเดิมนี่หรอกหรือ? วิธีการดีๆ ที่สร้างคนมานักต่อนักควรจะนำไปประยุกต์ใช้ ให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด พยายามลดความเชื่อในทฤษฎีฝรั่งลงบ้างเสียเถิด เพราะบริบทและสภาพทางสังคมของเรากับของเขานั้น แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ตั้งแต่การเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน เราถูกสอนมาให้เชื่อฟังผู้ใหญ่ จนบางครั้งเกิดความกลัวเข้าขั้นหงอ ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นใดๆ แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำนั้นผิด ก็ไม่กล้าทักท้วง แจ้งเตือนหรือขัดขืน มันจึงมีปัญหาตามมามากขึ้นทุกวัน
การท่องจำ ไม่ใช่สิ่งผิด ถ้าการท่องและจำนั้นเขารู้ว่า สิ่งที่เขาท่องออกมานั้นคืออะไร และจะเก็บไว้เป็นฐานข้อมูลในสมองของเขาได้อย่างไร จะนำมาใช้ประโยชน์เมื่อไหร่? คิดถึงแม่สูตรคูณที่เราเคยท่องจำกันในอดีต ตอนนี้มันทำให้เราคิดเลขได้เร็วขึ้น ไม่ต้องมองหาเครื่องคิดเลข แต่จะตอบออกมาได้แทบจะฉับพลันทันที ในขณะที่เด็กยุคใหม่ต้องอาศัยเครื่องคำนวณเป็นหลัก
สิ่งที่เราจะต้องสร้างพลังให้กับเด็กอีกอย่างคือ การอ่านและคิดวิเคราะห์ ในปัจจุบัน เยาวชนไทยอ่านหนังสือกันน้อยลง นอกจากจะอ่านน้อยแล้วยังไม่พินิจหรือคิดวิเคราะห์กันอีก จับประเด็น แยกแยะรายละเอียดกันไม่ได้ การอ่านของพวกเขาจะเป็นแบบฉาบฉวย ผ่านหูผ่านตาไปแล้วก็ลืม จะสังเกตว่าหากมีการให้ใบความรู้เรื่องใดๆ ไปให้อ่านและทำกิจกรรม มีคำแนะนำให้ศึกษาจากแหล่งเรียนรู้อื่นๆ เพิ่มเติมจะเป็นหมันทันที พวกเขาพร้อมที่จะคว้า (ลอก) แต่ไม่พร้อมที่จะค้นหาความรู้อื่นๆ อีก จะจบอยู่ที่กระดาษแผ่นนั้นเพียงแผ่นเดียวเท่านั้น
สมัยนี้ยิ่งสอนยากสอนเย็น ประโยคที่ครูชอบพูดกันว่า พูดเข้าหูซ้ายทะลุออกหูขวา จะนำมาใช้ในยุคปัจจุบันไม่ได้อีกแล้ว เพราะมันไม่เข้าไปสักหูเลยครับ โดนปิดกั้นด้วยหูฟังเครื่องเล่น MP3 และโทรศัพท์มือถือ เรียกว่า ต่อให้ครูใช้เครื่องเสียงกระเป๋าหิ้ว กระเป๋าหาม ก็ไม่มีวันทะลุเข้าไปได้แล้ว นี่คือผลกระทบจากเทคโนโลยีโดยแท้ เยาวชนของเราถูกสอนให้กลายเป็นผู้บริโภคสมบูรณ์แบบ โดยขาดการพิจารณาไตร่ตรองอย่างสิ้นเชิง พวกเขามาโรงเรียนเพื่อการเรียนตามหน้าที่ หรือเพื่อการรับค่าจ้างรายวัน หรือเพื่อให้พ้นจากเสียงบ่นด่าจากทางบ้าน พวกเขามีความพร้อมเพียงใดในการมารับความรู้หรือเป็นเพียงมาพบเพื่อนพูดคุย
ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย Admission ที่ผ่านมา ผมยังนึกดีใจที่มีการสอบแบบอัตนัยให้มีการเรียงความ ย่อความ พรรณาความเพื่อแสดงความสามารถทางภาษา เป็นการทำให้ผู้เรียนได้สนใจการอ่าน การเขียนมากขึ้นและจะเป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้นเมื่อไปเรียนในระดับที่สูงขึ้น แต่แล้วในปีนี้มีข่าวแว่วๆ ออกมาว่า จะงด จะด้วยเหตุผลที่ตรวจยาก การให้คะแนนไม่ยุติธรรมได้ แต่ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งในการจำแนกความแตกต่างของ ผู้เรียนที่มองเห็นได้ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เราน่าจะหาวิธีการที่จะตรวจให้ได้อย่างเป็นกลาง อาจจะบังคับในวิชาสังคมศึกษา วิชาที่เกี่ยวข้องกับภาษาก่อน เพื่อวัดความสนใจและทัศนะต่างๆ ที่มีต่อเหตุการณ์ปัจจุบันและสังคมรอบข้าง
หลายๆ เรื่องก็ทำได้แต่เพียงบ่นหรือเล่าสู่กันฟัง เพราะเราไม่มีอำนาจไปจัดการตรงนั้นได้ บางเรื่องก็อยากตะโกนดังๆ ให้ได้ยินอย่างเรื่อง การลงทุนทางการศึกษา คิดได้อย่างไรว่า การจัดการศึกษามีกำไรขาดทุนยังกะโรงงานอุตสาหกรรม มนุษย์เรากำลังจะถูกกำหนดให้เป็นวัตถุดิบในโรงงานที่พร้อมเข้าเบ้าหลอม ปั๊มผ่านแม่พิมพ์ออกมาเหมือนๆ กันหมดหรือไร? แล้วมนุษย์เรานี่ถ้าเปรียบเป็นดิน เป็นหิน เป็นทราย มันก็มาจากคนละแหล่งแห่งที่ไม่เหมือนกัน อาจจะร่วนไปนิด เหนียวไปหน่อย แข็งไปบ้าง หรือกลมเกลี้ยงต่างกัน จะให้หลอมออกมาเป็นเด็กชายดีสมองเด่นกันทุกคนคงจะไม่ได้ แต่เชื่อไหม? ว่ามีคนเขียนโปรแกรมไปให้โรงเรียนคิดกำไร-ขาดทุนในการลงทุนเข้าให้แล้ว (จะบ้าตาย)
อยากจะเขียนถึงหลายๆ เรื่องในเหตุการณ์บ้านเมืองขณะนี้ รวมทั้งความโกลาหลวุ่นวาย (ของตำแหน่งแห่งที่) ในวงการครูเรา แต่พอพิจารณาว่า มันอาจจะสุ่มเสี่ยงไปหน่อยก็เลยขอเก็บเงียบๆ ไว้ก่อน ขอบ่นในใจคนเดียวเงียบๆ
ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 8 สิงหาคม 2549
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)