ผ่านไปแล้วกับความโกลาหลสุดๆ ที่ยังคงค้างคาใจและมีเรื่องเล่าต่อไปอีกยืดยาวไม่รู้จักจบสิ้น อาจจะมีการตรวจสอบแก้ไข ติดตามต่อเนื่องไปอีกไม่รู้ว่าใครจะโดนแจ๊คพอทงานนี้ไปบ้าง ถ้าจะถามว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้ใครควรรับผิดชอบบ้าง ก็คงต้องพูดกันตรงๆ เลยว่า ทุกคนใน สทศ. นั่นแหละที่ก่อเหตุ บกพร่องต่อหน้าที่ ละเลยการปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ ที่วางไว้ การดำเนินงานขาดความเป็นมืออาชีพ ฉุกละหุก ทุกคำตอบว่าพร้อมล้วนมาจากความเกรงใจกัน ไม่กล้าพูดความจริง มาจากแรงบีบจนกลายเป็นแรงต้าน แต่ผลกระทบกลับไปตกอยู่กับเยาวชนหลายแสนคนในวันนี้
ช่วงแรกของการเกิดข้อผิดพลาดก็โยนความผิดไปให้เด็กๆ ว่า "ทำไม่ถูก ไม่เขียนชื่อ ไม่กรอกรหัสให้ถูกต้อง" พอต่อมาเมื่อพบความจริงว่า "เด็กไม่ได้ผิดพลาดอะไรนักหนา" ก็โยนความผิดต่อไปอีกไปให้เครื่องคอมพิวเตอร์ ให้โปรแกรม พอคนเขียนโปรแกรมออกมายืนยันพิสูจน์ว่า โปรแกรมทำงานได้ถูกต้อง คราวนี้ไม่รู้จะโยนความผิดให้ใคร ก็ปิดปากเงียบพูดอ้อมๆ แอ้มๆ กันไป สุดท้ายผลที่อยู่ตรงหน้าในขณะนี้จำนวนมากมาย ทั้งการสลับกันของกระดาษคำตอบต่างวิชา ตอบถูกไม่ได้คะแนน พบแล้วก็ไม่ยอมแก้ไขคะแนนต้องรอการโวยเสียก่อน คนทำงานในกระบวนการตรวจนี่ต่างหาก ที่ผิดแล้วยังไม่ยอมปรับปรุงเสียที เหมือนกับมีการเมืองภายในสำนักงาน ที่จ้องจะคอยล้มใครบางคน โดยไม่มีการคำนึงถึงผลร้ายที่เกิดขึ้น แล้วก็เป็นจริงเมื่อ รักษาการผู้อำนวยการ และประธานบอร์ดต้องประกาศรับความผิดชอบไปแบบเต็มๆ (แต่ไม่ควรจบลงตรงนี้ ต้องสอบสวนให้กระจ่างกับคนทำงานใน สทศ. ทั้งหมดใครควรได้รับโทษอย่างไร? ในความบกพร่องก็ต้องว่ากันไป)
สงสารแต่ ดร.ภาวิช เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ที่โดนถล่มทั้งๆ ที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องอะไรเลย จะพลาดหน่อยก็ตรงที่ไปรับประกันการทำงานของ สทศ. ว่าไม่มีปัญหาในตอนแรกนั่นแหละ พอตอนหลังมาเจอของจริงด้วยตนเอง จนถึงกับต้องบอกว่า สทศ. ทำงานเละที่สุด ในความจริง กกอ. เปรียบเหมือนเจ้าของโรงสี (ระบบแอดมิชชั่น) ที่รอรับข้าวเปลือกจากทุกสารทิศที่มีการนำไปผ่านตลาดกลาง (สทศ.) แล้วบรรทุกมาส่งต่อให้โรงสี แต่รถขนส่ง (ระบบสอบ O-NET, A-NET) ดันเสียกลางทาง ซ่อมได้สักพักวิ่งไปก็เสียอีก ซ่อมแล้วซ่อมอีกก็ยังไม่ดีเสียที ผู้คนกลับรุมด่าทอโรงสีว่า สีข้าวมาไม่ดี ซึ่งมันเป็นคนละเรื่องเลย เพราะโรงสี (แอดมิชชั่น) ยังไม่ได้เริ่มเดินเครื่องด้วยซ้ำ
... ก็คงรอดูผลกันต่อไปว่าจะออกหัวหรือออกก้อย ...
เคยเขียนแสดงความเห็นเรื่อง โน้ตบุ๊ค 100 เหรียญ ไว้นานแล้ว ว่าการนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงทางการศึกษาของประเทศกำลังพัฒนานั้น อาจจะเป็นไปได้ยาก ด้วยข้อจำกัดของตัวเครื่องเอง สื่อการเรียนรู้ที่จะนำมาใช้ร่วมด้วย นี่ยังไม่ต้องไปพูดถึงระบบการสื่อสารผ่านเครือข่ายไวร์เลสที่มีอยู่ ในเรื่องที่ยังมืดมน ขนาดมีสายยังไปไม่ทั่วถึง แล้วมันจะมีระบบไร้สายไปอยู่ในป่าดอยได้อย่างไร?
เอาล่ะเราอาจจะใช้สื่อการเรียนอีบุ๊คไปให้ดาวน์โหลด อ่านในเครื่องนี้กันก็ได้ แต่เชื่อผมเหอะพิมพ์เป็นเอกสารกระดาษให้อ่านยังจะง่ายกว่าเยอะ ลงทุนก็ต่ำกว่าการลงทุนซื้อเครื่องแน่นอนแหละ [ อ่านเรื่องเกี่ยวข้อง ]
แต่วันนี้ผมอ่านข่าวไอทีพบว่า หลายๆ รายกำลังโดดลงมาร่วมพัฒนากันแล้ว ล่าสุดคือ Intel ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดในโลก เปิดตัวคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลแบบพกพาภายใต้โค้ดเนม "Eduwise" ซึ่งได้รับการติดตั้งอุปกรณ์เชื่อมต่อเข้าสู่เครือข่ายไร้สายมาพร้อมกันด้วย โดยมีราคาเครื่องละ 400 เหรียญสหรัฐ และผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะรันระบบปฏิบัติการวินโดวส์ หรือลินุกซ์ได้ด้วย
พอล โอเทลลินี่ ผู้บริหารระดับสูงของอินเทลกล่าวว่า "สิ่งที่เราทำคือการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อทุกคนบนโลกด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ผมเชื่อว่าไม่มีใครต้องการก้าวไปสู่ยุคดิจิตอลด้วยอุปกรณ์รุ่นเก่าๆ อย่างแน่นอน" กลุ่มเป้าหมายของผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์รุ่น Eduwise ได้แก่ นักเรียนและครู ด้วยซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นเป็นการพิเศษ ช่วยให้นักเรียนสามารถเปิดงานนำเสนอต่างๆ ได้ อีกทั้งยังช่วยในด้านการสอนอื่นๆ ได้ เช่น การสอบย่อย การเรียนผ่านเครือข่ายหรือติดต่อกับครูผู้สอนโดยใช้เครือข่ายไวร์เลส ฯลฯ เป็นต้น
ไม่เพียงแต่อินเทลเท่านั้น แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมไอทีหลายราย ต่างก็ริเริ่มทำโครงการที่คล้ายคลึงกันขึ้นมา เช่น เอเอ็มดี (ผู้สนับสนุนโครงการ Laptop 100$) หรือไมโครซอฟท์ และกลุ่มเป้าหมายของบริษัทเหล่านี้ก็คือ ประเทศกำลังพัฒนาด้วยเหมือนกัน
สตีฟ บอลเมอร์ ซีอีโอของไมโครซอฟท์ก็ได้เคยกล่าวถึง โลกแห่งเทคโนโลยีที่กำลังจะเกิดขึ้นว่า "โลกที่เราจะก้าวไปข้างหน้าในอีก 5-15 ปีคือโลกแห่งเทคโนโลยี ซึ่งถือว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาในเชิงบวกเป็นอย่างสูง คอมพิวเตอร์จะกลายเป็นอุปกรณ์ที่มีความทันสมัย สามารถรับรู้ ได้ยิน และเข้าใจได้ อีกทั้งคอมพิวเตอร์จะเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยให้ประชากรโลกสามารถอยู่ร่วมกันได้ในวิถีทางใหม่"
ที่นำข่าวนี้มาเล่าสู่กันฟังก็เพื่อเปิดประเด็นว่า "ต่อไปนี้ ไอที ได้เดินทางมารอที่หัวบันไดบ้านแล้ว ครูไทยจะทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นไม่ได้อีกต่อไป" อนาคตกำลังไล่ล่าคุณ ถ้าไม่เตรียมตัวให้พร้อมแน่นอนว่า เราจะถึงทางตันในไม่ช้านี้ เราคงต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่จะรับสถานการณ์ และนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด
วันพรุ่งนี้เช้า (7 พ.ค.) ผมจะเดินทางไปร่วมการประชุมระดมความคิด ในการจัดการเรียนการสอนวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ กับกลุ่มสมาชิกวิทยากรแกนนำและครูแกนนำที่ผ่านการอบรม จาก สสวท. ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 8 - 10 พฤษภาคม ได้ผลประการใดจะเอามาเล่าสู่กันฟังอีกครั้งครับ เปิดเทอมใหม่ก็ขอให้กำลังใจกับทุกท่านได้มีกำลังใจที่ดี สุขภาพกายที่ดีเพื่อเริ่มต้นการทำงานในปีการศึกษาใหม่ด้วยใจมุ่งมั่นกันทุกคนครับ
ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 6 พฤษภาคม 2549
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)