อุณหภูมิของประเทศไทยในวันนี้ ร้อนจริงๆ ทั้งทางด้านสภาพภูมิอากาศที่ร้อนจนแสบผิว ทางด้านการเมืองยิ่งร้อนกว่าอากาศรอบข้าง และคงจะร้อนไปอีกหลายเดือนถ้าไม่ยอมลดลาวาศอกกันเสียที
เรามาดูทางการศึกษาของเราบ้าง.. ร้อนไม่แพ้กันครับ โดยเฉพาะเมื่อการประกาศผลการสอบ A-NET, O-NET ออกมาแบบช็อกวงการท่ามกลางเสียงก่นด่ามาจากทั่วทุกสารทิศ จนถึงกับต้องยกเลิกการประกาศผลทั้งหมดถึง 2 ครั้ง 2 ครา เพื่อตรวจข้อสอบใหม่ทั้งหมดและจะประกาศผลอีกครั้งในวันที่ 30 เมษายน ซึ่งก็ต้องรอฟังผลกันต่อไป...
งานนี้ได้แสดงให้เห็นถึง ความไม่พร้อมมาตั้งแต่เริ่มต้น ตั้งแต่ความพร้อมในการจัดตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ ความล่าช้าในการเตรียมการต่างๆ จนในที่สุดเมื่อไฟลนก้น ก็ต้องทำทุกอย่างกันแบบฉุกละหุก ในสนามสอบแต่ละแห่งวุ่นวายตั้งแต่วันแรก ผู้อำนวยการสนามสอบหลายแห่งไม่กล้าตัดสินใจ กว่าจะเริ่มการสอบวิชาแรกได้ก็ล่วงเลยเวลาไปนานโข ในขณะที่ฟากตักศิลา (มหาวิทยาลัย) ก็นั่งตีขิมอมยิ้ม มองดูความวุ่นวายนี้ (จะหัวเราะเยาะซ่อนดาบในรอยยิ้มหรือไม่? ไม่ยืนยัน) เพราะอย่างไรเสีย เขาก็ได้กวาดหัวกะทิไปตั้งแต่สอบตรงกันมากแล้ว และไม่แน่ว่าปี 2550 สนามสอบตรงจะแข่งขันรุนแรงจนไม่มีใครสนใจระบบแอดมิชชั่นว่าจะเป็นไปในทิศทางใด.
ขอวกมาเรื่องร้อนที่สองกันหน่อย สำหรับผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเข้าเรียนในระดับชั้นอนุบาล ป.1 ม.1 และ ม.4 ที่มีการสอบแข่งขันกันผ่านไปเมื่อไม่นานมานี้ และที่ผ่านการจับสลากและมอบตัวไปเมื่อ 2 วันก่อน ก็มีบ้างที่ยังไม่ได้ (ดังใจ) เพราะติดที่ชื่อเสียงของโรงเรียนดังและเหตุผลอื่นๆ แล้วแต่จะยกขึ้นมาอ้าง โดยไม่ยอมมองพื้นฐานของทรัพยากรและจำนวนที่จำเป็นต้องรับให้พอเหมาะ
บางครั้งสิ่งที่คิดว่า แสวงหาให้ลูกอย่างดีที่สุด อาจจะเป็นการทำร้ายลูกไปอย่างไม่ตั้งใจก็ได้ เรื่องเหล่านี้ทุกคนเข้าใจได้ว่า จะก่อเกิดปัญหาในภายหลัง แต่มักจะลืมกันไปเสียแล้ว ตอนนี้จึงได้เห็นผู้บริหารโรงเรียนดังหลายแห่งเดินทางไปอิตาลี (หลบลี้) ผู้ปกครองกันจ้าละหวั่น
ผลกระทบที่ตามมาและหลีกเลี่ยงไม่พ้นคือ พลังขับดันจากการวิ่งเต้นผ่านนักการเมือง และข้าราชการระดับสูง เพื่อสั่งการให้มีการขยายห้องเรียนจากที่ประกาศไว้ 40 คน เพิ่มเป็น 45, 50, 55 และอาจจะไปไกลถึง 60 คน ผลที่ตามมาคือ ความแออัดยัดเยียดในห้องเรียน ความไม่เพียงพอของทรัพยากรพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นโตีะ เก้าอี้ โรงอาหาร ห้องสมุด ห้องปฏิบัติการ และแม้กระทั่งห้องน้ำ-ห้องส้วม (ผู้มีอำนาจเหล่านั้น มองเห็นบ้างหรือเปล่า?)
ผลกระทบไม่จบเพียงเท่านี้ โรงเรียนใหญ่แออัดขาดแคลนครู ในขณะที่โรงเรียนเล็กรอบข้างกลับขาดแคลนนักเรียน และแคระแกร็นลงเป็นลำดับ กลายเป็นปัญหาสะสมยาวนาน นับตั้งแต่เอาปัญหาของคนกรุงเทพฯ มาแก้ไขบังคับใช้กันทั่วประเทศมาหลายปี ก็ไม่รู้จักเปลี่ยนแปลงแก้ไขกันเสียที ไหนว่าให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคลแล้ว ทำไมต้องตีกรอบเขานักหนา จนคิดทำอะไรไม่เป็นเอาเสียเลย ปัญหาเหล่านี้แก้ไขได้ง่ายๆ เพียงปลายนิ้ว ขอเพียงนักการเมืองอย่ามายุ่ง อย่ามาฝาก ปล่อยให้เขาสอบแข่งขันกันอย่างยุติธรรม แล้วระบบจะคลายตัวมันเองโดยอัตโนมัติ
เราได้ยินได้ฟังเรื่อง ปัญหาการขาดแคลนครู มานับสิบๆ ปีแล้ว แต่ไม่เคยแก้ไขได้ ปัญหาบางส่วนก็มีที่มาจากการที่เราปล่อยให้โรงเรียนขยายขนาดโดยไร้ทิศทาง เกิดการกระจุกตัวในบางท้องที่ โรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยลงครูก็มักจะขอย้าย ซึ่งก็มักจะได้ย้ายตามที่ขอ (จะด้วยเหตุผลของนักเรียนลด หรือเหตุผลจากอำนาจอื่นๆ ก็ไม่อยากเดา) หลังๆ มานี้เกิดมีครูเกินแต่ขาดเข้ามาแทรกอีก (จำนวนครูเมื่อหารเฉลี่ยต่อจำนวนนักเรียนเกิน แต่ขาดครูสายวิชาหลัก) ก็เลยยิ่งเละเทะไปกันใหญ่ ยิ่งในช่วงชั้นที่ 3 ที่ 4 ที่มีความต้องการครูที่มีความรู้ตรงกับสายวิชา เพราะมีเนื้อหาเฉพาะมากขึ้น จึงต้องนำครูวุฒิอื่นมาสอนแทน คุณภาพที่ได้จึงไม่อาจหวังผลสัมฤทธิ์ได้ตามที่ปรารถนา โรงเรียนเล็กคุณภาพก็ยิ่งห่างไกลออกไปอีก
โรงเรียนในเมืองไทยไม่มีการควบคุมขนาด เราจึงได้เห็นโรงเรียนที่มีนักเรียนเกินกว่า 3,000 คน บางแห่งเกินกว่า 5,000 คน ซึ่งปริมาณมหาศาลอย่างนี้ เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการบริหารจัดการในภาพรวม เพราะในขณะที่โรงเรียนหนึ่งใหญ่จนล้น แต่อีกโรงใกล้ๆ กับเล็กลงทุกปี ทางแก้จึงอยู่ที่การปฏิรูปกฎหมายการศึกษา กำหนดขนาดโรงเรียน ที่มีจำนวนนักเรียนต่อครูเหมาะสม จำนวนนักเรียนต่อห้องที่ชัดเจนแน่นอน กำหนดภาษีการศึกษาที่ต้องจ่ายให้กับท้องถิ่น และนำมาพัฒนาการศึกษาในพื้นที่นั้นๆ คนที่ไม่ย้ายถิ่นภูมิลำเนาแต่ใช้สิทธิเรียนข้ามพื้นที่ต้องจ่ายภาษีการศึกษาเพิ่มเป็น 2 เท่า (เพื่อให้กับท้องถิ่นของตนและให้กับพื้นที่ที่ข้ามไปใช้สิทธิ แย่งสิทธิของคนในพื้นที่เดิม)
ปัญหาเหล่านั้น คงต้องรอให้ผู้มีอำนาจผลักดันกันต่อไป ที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ก็คือ เรื่องของการนำไอทีเข้ามาใช้งานในวงการศึกษาบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นโครงการคอมพิวเตอร์สองแสนห้าหมื่นเครื่อง ที่เป็นโรคเลื่อนมาตลอด โครงการโน้ตบุ๊คร้อยเหรียญ (ที่เปลี่ยนนายกแล้วจะสานต่ออีกหรือเปล่า?) เหล่านี้ผมค่อนข้างวิตกกังวลมากทีเดียว
เพราะมองลงไปที่โครงการแล้ว เราไม่เคยคิดวางรากฐานการพัฒนาด้านบุคลากร เนื้อหา ข้อมูล กระบวนการใช้งานเพื่อรองรับไว้เลย เรามัวแต่ห่วงเรื่องจัดซื้อฮาร์ดแวร์ให้ได้ให้สำเร็จ (เพราะมันเป็นรูปธรรมชี้ว่าโครงการได้ทำ และอาจจะมีอะไรซ่อนอยู่ให้ดันทุรังทำให้ได้) เราได้ใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาลในการจัดซื้อจัดหาด้านฮาร์ดแวร์ แต่ไม่เคยมีการสรุปติดตามผลโครงการว่ามันได้ให้ผลตามที่ได้ตั้งเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ไว้หรือไม่? นอกจากการได้ใช้งบประมาณไปจนหมดเกลี้ยงแล้ว
หากโครงการใดได้ลงทุนไปแล้วไม่ได้ผลคุ้มค่า หรือเกิดความล้มเหลวในการดำเนินงาน ย่อมก่อให้เกิดผลเสียหายติดตามมา ยิ่งถ้าเป็นการใช้เงินงบประมาณประเภทที่ต้องกู้เขามาอย่าง เงินกู้มิยาซาวา เงินกู้เอดีบี เงินกู้ธนาคารโลก ยิ่งต้องพิจารณาให้จงหนัก และติดตามประเมินผลโครงการอย่างละเอียด ความสำเร็จของโครงการด้านไอที ไม่ได้อยู่ที่การมีจำนวนฮาร์ดแวร์มากมาย แต่อยู่ที่การนำไปใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งต้องมีการพัฒนาทั้งทางด้านบุคลากร กระบวนการทำงานที่ชัดเจน ช่วยลดเวลาและแรงงานลงได้มากกว่าเดิม
โครงการหลายพันหลายหมื่นล้านที่เราดำเนินการอยู่ตอนนี้ไปได้ถึงไหนแล้ว มีการประเมินผลกันออกมาเป็นรูปธรรมแล้วหรือไม่? อย่าง Resource Center มีกี่แห่งที่เป็น Resource Zero การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไปยังโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศใช้งานได้มากน้อยเพียงใด เกิดประโยชน์ต่อการจัดการเรียนการสอนมากน้อยแค่ไหน ผู้บริหารและครูในโรงเรียนมีความรู้ ความเข้าใจในการนำไปใช้ในการปฏิบัติงานหรือไม่? และเราต้องจ่ายเงินไปกับการเช่าสัญญาณดาวเทียม และอินเทอร์เน็ตตลอดเวลา ให้กับผู้ให้บริการทั้งๆ ที่มันใช้งานได้บ้างไม่ได้บ้าง ชนิด 3 วันดี 4 วันไข้ รวมทั้งไข้นานเป็นเดือนๆ ไม่ได้ใช้เลยก็มี เรายังไม่มีคำตอบ...
ผมจึงได้แต่ฝัน ถึงวันเลือกตั้งที่บริสุทธิ ยุติธรรม ไม่ใช่ลากตั้งด้วยเงินตราและบารมีกับอำนาจเถื่อน ถ้าเราได้นักบริหารมืออาชีพ ได้นักการศึกษา ได้นักกฎหมายและได้คนดีๆ (ไม่ใช่นักเลือกตั้งที่อิงแอบกับธุรกิจการเมือง ผู้รับเหมาและนักเลงหัวไม้) รัฐบาลที่มองภาพอนาคตในวันข้างหน้าในระดับมหภาคนั่นแหละ เราจึงจะได้การศึกษาที่ปฏิรูปกันจริงจัง อนาคตของชาติจึงอยู่ในกำมือท่านจงแสดงพลังของมันออกมา ถ้าผู้แทนของเราเป็นอย่างไร? ก็จะสะท้อนว่าผู้เลือกเขามาก็จะเป็นอย่างนั้น... ต้องรีบแก้ไข...
ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 9 เมษายน 2549
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)