คราวที่แล้วได้พูดถึงการทำ หลักสูตรจับฉ่าย การจัดทำหลักสูตรของโรงเรียนทั่วประเทศ ที่ไปกันคนละทิศคนละทาง ทำด้วยความเร่งรีบ เพื่อสนองนโยบายปฏิรูปการศึกษา เป็นหลักสูตรที่คว้าโดยไม่ต้องค้น บ้างก็ใช้วิธีถ่ายเอกสาร ขอไฟล์มาแก้แต่ชื่อโรงเรียนก็มีมาก จนส่งผลให้เราเห็นแล้วในวันนี้ (และมีคนยอมรับแบบเหนียมๆ กันบ้างแล้วว่า มันแย่หลงทางมาตลอดจริงๆ )
ภาพที่ยังสะท้อน ระบบการศึกษาของไทย ได้เป็นอย่างดีในครั้งนี้ผมนำมาจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ (11 ธันวาคม 2548) ที่บริเวณชั้น 2 ของโรงหนังสยาม ย่านสยามสแควร์ ได้มีประชาชนร่วม 100 คน มานั่งคอยนอนคอย ต่อเป็นแถวยาวเหยียดที่ด้านข้างโรงหนัง ไปจนถึงบันไดทางลงด้านหลังอาคาร โดยบางรายถึงกับนำเสื่อมาปูนั่งๆ นอนๆ มีการจัดข้าวปลาอาหาร มานั่งรับประทานกันเป็นครอบครัว เพื่อรอรับบัตรเข้าเรียนพิเศษ ที่โรงเรียนกวดวิชาชื่อดัง "บ้านคำนวณ" ในต่างจังหวัดแม้จะไม่ถึงขนาดมานอนรอต่อคิว แต่เรื่องโรงเรียนกวดวิชาก็ไม่แพ้กรุงเทพฯ
ก็ไหนว่า หลักสูตรใหม่จะทำให้การเรียนในโรงเรียนมีความหมายมากขึ้น เพราะมีค่า GPA รองรับ ไม่จำเป็นต้องกวดวิชา เรียนแค่ในโรงเรียนก็เพียงพอสำหรับการศึกษาต่อ แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย โรงเรียนกวดวิชายิ้มร่ากว้างกว่าเดิมด้วยซ้ำเพราะอะไร? เพราะหลักสูตรมันจับฉ่าย ไปคนละทิศ คนละทาง นะซิครับ พอจะสอบวัดความรู้มันต้องสอบกระจายทุกวิชา อันว่าเด็กศิลป์-ภาษาก็ไม่ค่อยชำนาญวิทย์-คณิต เด็กวิทย์-คณิตก็มักจะไม่ค่อยชอบภาษาไทยกับสังคม ทำให้ธุรกิจกวดวิชายังเฟื่องฟูเหมือนเดิม หรือจะรุ่งเรืองกว่าเดิมก็ไม่ทราบได้ ยัง... ยังไม่จบแค่นั้น
ขนาดว่า เราได้หลอมรวมทบวงมหาวิทยาลัยมาเป็นแท่งหนึ่งของกระทรวงศึกษาแล้ว แต่ถามจริงๆ เหอะ เสาหลักของแต่ละแท่งเคยจับเข่าคุยกันจริงๆ หรือเปล่า มหาวิทยาลัยเขาอยากได้ตัวป้อน (นักเรียน) ที่ผ่านการเรียนการสอน กลึงสมองและสองมือให้เป็นท่อนกลม แต่พวกเราชาวขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็ยังหล่อเสาเหลี่ยมอยู่นั่นแล้วมากี่ปีกี่ชาติแล้ว ผลที่ตามคือ เมื่อเขาจะเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา มีมหาวิทยาลัยไหนเขาอ้าแขนรับเสาเหลี่ยมกันอยู่หรือเปล่า สุดท้ายกรรมก็เป็นของเด็กและพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องส่งให้ไปเรียนกวดวิชา (ไปกลึงให้มันเป็นท่อนกลมตามที่มหาวิทยาลัยเขาอยากได้ไง?)
พอพูดถึงการศึกษาต่อในระดับ "มหาวิทยาลัย" ที่เรียกกันติดว่า แอดมิสชั่น ตอนตั้งต้นก็บอกว่า การสอบเอนทรานซ์ในระบบเดิมทำให้เด็กเครียด สอบ 2 ครั้ง การใช้แอดมิสชั่นจะทำให้เด็กไม่เสียโอกาส (ลองย้อนกลับไปหาข่าวเก่าๆ ดูนะครับ) แล้วผลเป็นอย่างไรในวันนี้ ฝ่ายคิดและทำแอดมิดชั่นก็ทำกันไปจนปั่นป่วน แต่มหาวิทยาลัยก็เลือกที่จะสอบคัดเลือกแบบตรงๆ ด้วยเปอร์เซนต์ที่มากกว่า เพราะใครๆ ก็อยากได้หัวกระทิไปสอนกันทั้งนั้น
ผลที่ตามมาเห็นๆ คือ ตลอดเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม ที่ผ่านมา ผมจึงเห็นแต่นักเรียนมาขอลาหยุดเรียนไปตะลอนสอบตรง ทั้งเมืองเหนือ เมืองกรุง เมืองขอนแก่น เมืองโคราชกันจ้าละหวั่น บางคนลาไป 4-5 ครั้ง ถ้าคิดเฉลี่ยการเดินทางไปสอบครั้งละ 5 พันบาท ตอนนี้พ่อแม่ก็จ่ายไปแล้วสองหมื่นห้า (แต่ยังว้าเหว่ไม่รู้ว่าลูกจะสอบติดกะเขาหรือเปล่า? นี่ถ้านับรวมค่าเรียนพิเศษ กวดวิชาด้วยน่าจะหมดไปเป็นแสนแล้วล่ะ) แล้วแอดมิดชั่นจะเหลือไว้ให้ใครล่ะคราวนี้ เหลือไว้ให้กลุ่มที่เอาใจใส่ในหลักสูตร พอใจในค่า GPA หรือเปล่า?
สัปดาห์ที่แล้วนี่ก็เกิดโกลาหลกับการยื่นใบสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพราะสมัครยากสมัครเย็นแสนเข็ญ แสนสาหัสกันจริงๆ เรามาลองดูขั้นตอนการสมัครกันหน่อย
ถ้าดูตามนี้ก็ไม่ยากหรอก คิดแบบพวกห่างไกลกันดารอินเทอร์เน็ต (ไม่เคยใช้มาก่อนมีแต่เขาเล่าว่า) เอาเข้าจริงอินเทอร์เน็ตมันล่มครับ เซิร์ฟเวอร์รองรับปริมาณการเข้าสมัครพร้อมๆ กันไม่ไหว แปดโมงเช้าก็แล้ว เที่ยงก็แล้ว จนเย็นย่ำค่ำดึกดื่น ผ่านไปอีกวันได้บ้างไม่ได้บ้าง บางคนเอาล่อเอาเถิดกันสองวันพอได้แล้วต้องไปจ่ายเงินที่ธนาคารกรุงไทย แล้วคนที่อยู่อำเภอที่มีแต่ ธกส. กับ ออมสิน ต้องตะกายข้ามไปอีกอำเภอเพื่อหากรุงไทยให้เจอ กว่าจะกลับมากรอกเลขใบรับเงินผ่านอินเทอร์เน็ตอีก โห... ทันสมัยตายล่ะ เสียเวลาเสียแรงมากกว่าเดิมอีก
คราวนี้เรามาดูปัญหากันหน่อยว่า ทำไมมันถึงยากเย็นนัก ตามปกติในเรื่องของการรักษาความปลอดภัยให้กับระบบเครือข่าย ผู้ดูแลระบบมักจะตั้งค่าอนุญาตให้มีการร้องขอใช้บริการ จากหมายเลขไอพีเดียวกันได้ไม่เกิน 10 คอนเน็กชั่น เพื่อป้องกันการโจมตีแบบ DOS ของบรรดาแฮกเกอร์ จะมีบางท่านบอกว่าก็เครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องก็มีไอพีคนละเบอร์นี่นา (จริงครับ แต่ไม่ทั้งหมด) เพราะไอพีเครื่องในโรงเรียนจะเป็นไอพีแบบ Private (ภาษาง่ายๆ ก็ไอพีปลอมเฉพาะกลุ่ม) เมื่อเรียกเข้าเครื่องแม่ข่าย จะต้องผ่านเครื่องแม่ข่ายภายใน ที่ทำหน้าที่พร็อกซี่ออกไปเพียง 1 เบอร์ (อย่างในโรงเรียนผมโอกาสที่นักเรียนจะสมัครพร้อมกันได้แค่ 40 คนเท่านั้น เพราะว่ามีพร็อกซี่อยู่ 4 เครื่อง) ทำนองเดียวกันกับร้านอินเทอร์เน็ตจะไฮสปีดบรอดแบนด์ก็ได้ครั้งละ 10 เท่านั้น ส่วนที่หมุนไดอัลผ่านโทรศัพท์ที่บ้าน ก็จะต้องผ่านพร็อกซี่ผู้ให้บริการเดียวกันอีก มาดูเครือข่าย MOENet ยิ่งหนักกว่าเพื่อน เพราะมีพร็อกซี่หลักเดียวกันกับการไดอัลผ่าน 1222, 1224 ของบริษัท ทศท. จำกัด การสมัครครั้งนี้จึงได้รับคำก่นด่ามากกว่าคำชม
สิ่งที่เคยทำในอดีตที่ง่ายกว่านี้ ลงทุนทำแบบฟอร์มใบสมัครส่งไปให้โรงเรียนดำเนินการให้ อยากได้เป็นฐานข้อมูลใช้ตารางคำนวณธรรมดาก็ได้ มีกี่ฟิลด์ โรงเรียนดำเนินการให้นักเรียนกรอกรายละเอียด ชำระเงินกับทางโรงเรียน เพื่อให้เป็นตัวกลางในการจัดส่งไฟล์ข้อมูล และโอนเงินไปให้ปลายทาง เสร็จในแค่พริบตาเดียวค่าใช้จ่ายน้อยกว่าเยอะ ข้อมูลที่ได้ก็นำเข้าไปยังฐานข้อมูลกลางได้อยู่แล้ว ไม่เห็นยากเลย บางครั้ง "ความทันสมัย" มันก็ไร้ประโยชน์ได้เหมือนกันนะ ขอบอก...
โกลาหลกันขนาดไหนในระดับประเทศลองถามครู Google ด้วยคำว่า แอดมิสชั่น เลือกหน้าเว็บในประเทศไทยดูนะครับ ผมค้นเจอที่นักเรียนจากทั่วประเทศเขาไประบายในเว็บบล็อก ในเว็บบอร์ดหลายๆ ต่อหลายแห่ง ผู้มีอำนาจทั้งหลาย ควรจะหัด เข้าไปค้นหาอ่านกันบ้างนะครับ อย่าดีแต่ออกมาพูด ทาง กระทรวงศึกษาธิการ สกอ. สพฐ. ก็ทราบปัญหาได้แก้อย่างนั้นอย่างนี้ แก้ตัวต่อหน้าไมโครโฟนนักข่าว มันไม่ได้เกิดประโยชน์อันใดดอกจะบอกให้ ไปดูที่ต้นตอของปัญหาแก้หรือเกาให้ถูกที่คันดีกว่า
หลังจากบ่นไปไม่ถึงสัปดาห์ ก็เกิดมีปัญหากับเครื่องเซิร์ฟเวอร์ผมจนได้ เมื่อคืนวันเสาร์ (24 ธันวาคม 2548) ผมล็อกอินเข้าไปแก้ไขระบบจัดการเรียนออนไลน์ ATutor ได้สักพักปรากฏว่า เครื่องไม่ตอบสนอง ลองรีโมทเข้าไปรีสตาร์ทเครื่อง ก็ใช้งานได้แต่ติดๆ ขัดๆ พอตอนสายๆ วันอาทิตย์มีโทรศัพท์จากเพื่อนว่าเข้าเว็บผมไม่ได้เลยทั้ง 3 แห่ง (Easyhome, IsanGate, และ Krumontree) เอ๊ะชักยังไงซะแล้ว ผมรีโมทเข้าไปไม่ได้จริงๆ เลยต้องรอจนเช้าวันจันทร์
เมื่อเข้าไปที่บริษัทก็พบกับข่าวร้ายคือ ฮาร์ดดิสก์ของผมที่เก็บเว็บทั้ง 3 นั้นใช้งานไม่ได้ ก็ยังพอใจชื้นอยู่ว่า เราน่าจะกู้ข้อมูลระบบที่สำคัญออกมาได้ จึงดำเนินการติดตั้งฮาร์ดดิสก์ SCSI ลูกใหม่เข้าไป จัดการโอนย้ายหน้าเว็บปกติ และส่วนซอร์สโค๊ดระบบจากโน้ตบุ๊คเข้าไปตามเดิม ฐานข้อมูลที่เป็น Access ใช้กับ ASP ใช้ได้ครับ แต่ตัว MySQL ซึ่งอยู่ในอีกพาร์ทิชั่นหนึ่งซิครับ เอาออกไม่ได้เลย พยายามกู้คืนด้วย RecoveryPro อยู่ 2 วันไม่สำเร็จ สุดท้ายต้องยกธงขาว เฮ้อ...! เหนื่อยใจจริงๆ วันนี้ใช้งานได้แล้วแต่เป็นฐานข้อมูลใหม่ เอวัง นับเป็นบทเรียนของการชะล่าใจครั้งสำคัญจริงๆ ครับ
ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 28 ธันวาคม 2548
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)