foto1
ความงดงามการศึกษาไทย
foto1
เพื่อ?
foto1
ไม่เข้าใจ?
foto1
วิทยากรที่กระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาว
foto1
ท่องทะเลทรายที่ดูไบ UAE


Friendly Links

เรียนรู้ภาษา html
isangate banner
easyhome banner
ipst banner
sakdibhornssup foundation
13 Thai free fonts
speedtest
e mil

Facebook Likebox

No. of Page View

webmaster talk

วันนี้ขอเอา "เรื่องเก่ามาเล่าใหม่" บ่นกันอีกสักรอบ หลังจากที่มีกระแสเสียงมากมายจากผู้ปกครอง และครูทั่วบ้านทั่วเมือง แต่บรรดาผู้บริหารการศึกษา นักวิชาการบนหอคอย กลับยังนั่งฝันคิดว่า สิ่งที่ตนเองคิดนั้นถูกต้อง หลงไหลไปกับการลอกเอาสิ่งที่คนอื่นคิด (อ้างว่าศิวิไลซ์) นำมาใช้โดยไม่ลืมหูลืมตา มองบริบทของสังคมไทย และสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมอันดีงามของบรรพบุรุษ ทั้งๆ ที่ตนเองได้ดิบได้ดีมาก็เพราะสิ่งที่ตนเองมองว่าป่าเถื่อนนั่นแล

student 011ผมเคยบ่นไว้ที่นี่เมื่อปีก่อนว่า การจะพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนให้มีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์นั้น นอกจากครูผู้สอนจะมีกลยุทธ์ วิธีการสอนที่น่าสนใจ มีสื่อการสอนที่ดีพร้อมเหมาะสมแล้ว การพร้อมที่จะเรียนและรับความรู้ ต้องออกมาจากแรงกระตุ้นภายในของตัวนักเรียนด้วย การเรียนจึงจะมีผลซึมซับเอาความรู้และกระบวนการคิดเข้าไปในสมองของนักเรียน

จะมีประโยชน์อะไรกับการที่ต้องไปบ่นอยู่หน้าห้องเรียน ต่อหน้าหุ่นยนต์ที่ไร้จิตวิญญาณของการเรียนรู้ เขามาโรงเรียนเพื่อรับจ้าง (เงิน) รายวันจากผู้ปกครอง ในหัวสมองคิดแต่เรื่องเย็นนี้ จะไปเที่ยวไหนดี จะเดิมพันฟุตบอลคู่ไหน จะดูละครน้ำเน่าช่องใด จะไปดริ๊ง ไปแดนซ์ที่หอพักใด จะโกหกครูในชั่วโมงหน้าว่าอย่างไร? (เพราะยังไม่ได้ทำการบ้าน ยังไม่ได้อ่านเตรียมมาตอบคำถาม)

ครูหนุนฟื้นตกซ้ำชั้น เชื่อช่วยสร้างเด็กมีความรับผิดชอบ

ผมไม่ได้คิดอยู่คนเดียวหรอกครับ ต่อไปนี้ผมลอกมาจากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์เลย และก็ขอแทรกความคิดเห็นของผมเพิ่มเติมลงไปด้วย อ่านดูซิครับ

ครูหนุนฟื้นระบบตกซ้ำชั้น เชื่อช่วยสร้างเด็กมีความรับผิดชอบ ใส่ใจการเรียนมากขึ้น แม้ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นแต่คุ้มค่า ดีกว่าปล่อยเด็กจบออกไปแบบไม่มีคุณภาพ ทางด้านเลขาธิการ กกศ. แนะครูดูแลเด็กเป็นพิเศษ และหารือกับผู้ปกครองเพื่อหาทางแก้ไข "

จากกรณีที่ครูและผู้ปกครองส่วนใหญ่คัดค้าน ระบบการเรียนเลื่อนชั้นโดยอัตโนมัติ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยต้องการให้นักเรียนที่สอบไม่ผ่านเรียนซ้ำชั้น เพื่อเด็กจะได้ตั้งใจเรียน และจบออกมาอย่างมีคุณภาพนั้น ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร เลขาธิการสภาการศึกษา (กกศ.) กล่าวว่า "โดยทฤษฎีของการเรียนหากสอบไม่ผ่านควรจะมีการลงโทษ คือการซ่อมเสริมจนกว่าจะผ่าน และให้เรียนซ้ำชั้น แต่วิธีซ้ำชั้นไม่นิยมและทุกคนก็ไม่ค่อยจะยอมรับ เพราะมีข้อจำกัดมากทั้งต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมากขึ้น เช่น จากเดิมรัฐเคยจ่ายเงินอุดหนุน 12 ปี ก็ต้องจ่ายเพิ่มเป็น 13 ปี

sob tokวิธีแก้ที่ดีคือ ครูควรจะต้องดูแลเด็กที่มีปัญหาเป็นพิเศษว่า   ปัญหาเกิดจาก อะไร และต้องแจ้งผู้ปกครองให้ทราบ เพื่อจะได้หาทางแก้ไขได้ถูกวิธี" เลขาธิการ กกศ.กล่าว

"รัฐเคยจ่ายเงินอุดหนุน 12 ปี ก็ต้องจ่ายเพิ่มเป็น 13 ปี" นี่กำลังคิดแทนรัฐบาลหรือเปล่า? ถ้าเราจะยอมจ่ายเพิ่มอีก 1 ปีเพื่อให้ได้เยาวชนที่เพียบพร้อมออกไปสู่สังคม พร้อมที่จะเรียน พร้อมที่จะทำงาน พัฒนาประเทศชาติรอดพ้นจากความยากจน จะไม่ดีกว่าปล่อยคนสมองว่างเปล่า (ไม่อยากพูดตรงๆ ว่าโง่) ออกไปสู่สังคม สุดท้ายเขาก็ช่วยเหลือตนเองและครอบครัวไม่ได้ เป็นภาระย้อนกลับมาหารัฐบาลอีก อาจจะใช้งบประมาณมากกว่าที่ต้องใช้เพราะการซ้ำชั้นเสียอีก ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาด้านสังคม ปัญหายาเสพติด ปัญหาโจรผู้ร้ายฉกชิงวิ่งราว คนว่างงาน ก็ไม่ใช่เพราะการไม่มีการศึกษานี่ล่ะหรือที่สร้างปัญหาทับถมกันทุกวันนี้ ถามหน่อยเถอะท่าน...????

"ต้องแจ้งผู้ปกครองให้ทราบ เพื่อจะได้หาทางแก้ไขได้ถูกวิธี" นี่ก็อีกประเด็นหนึ่ง ที่ผมอยากจะแย้งแล้วเลยเถิดไปถึงเรื่องการรับนักเรียน ตอนที่มามอบตัวลูกให้เข้าเรียนก็รับคำเป็นมั่นเป็นเหมาะว่า จะดูแลเอาใจใส่ลูกหลาน ประสานกับโรงเรียนมิได้ขาด แต่พอผ่านไปกลับไม่เป็นดังพูด อ้างว่า ยุ่งกับงานไม่มีเวลา บ้านอยู่ไกลคนละอำเภอ คนละจังหวัด (ก็ไหนตอนมาเข้าเรียนเป็นเด็กบ้านใกล้ในพื้นที่ล่ะครับ มันฟ้องปัญหาอะไรอยู่? คิดกันหน่อยนะเจ้านายในกรม ในกระทรวงนั่นนะ) เชิญประชุมผู้ปกครองแค่เทอมละครั้งก็ยังมาไม่ได้ ประชุมก็วันเสาร์วันอาทิตย์แท้ๆ พอเดือนมีนาคม ลูกสุดที่รักรับเละได้ ศูนย์ ไปเกือบ 20 ตัว ไม่รู้มีเวลาว่างจากงานมาจากไหน มานั่งเฝ้าช่วยลูกเรียนได้เป็นอาทิตย์โดยไม่กลัวถูกไล่ออกจากงาน ที่อื่นมีเหมือนที่ผมเจอไหมครับ?

ด้าน ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า ระบบดังกล่าวโรงเรียนทำตามมหาวิทยาลัย ที่ไม่มีการตกซ้ำชั้น ถ้าตกวิชาใดก็ต้องกลับมาลงเรียนในวิชานั้นใหม่ จนกว่าจะสอบผ่าน และต้องรวมเกรดเฉลี่ยผลการเรียนทั้งหมดให้ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดด้วยถึงจะจบได้ แต่โรงเรียนไม่ได้ทำตามทั้งหมด คือเรียนตกวิชาใดก็ให้มาซ่อมเสริม แล้วให้ผ่านในบางครั้งเด็กก็ไม่มีความรู้ ซึ่งควรแยกกลุ่มเด็กออกตามความสามารถในการเรียนรู้ และมีครูเฉพาะทางที่จะมาสอนเด็ก และปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนด้วย (อันนี้ผมเห็นด้วย ต้องแก้ระบบให้เรียนซ้ำ ต้องเรียนทั้งเทอม ไม่ใช่มาเรียน 7 วัน 15 วันแล้วสอบ ผ่านได้เกรด ซ้ำร้ายมีการอนุญาตให้ไปเรียนร่วมกับโรงเรียนอื่นเพื่อให้จำนวนนักเรียนมากใช้ครูน้อย ผลที่ได้มีการหากินกับเด็กที่อยากผ่านเข้าไปอีก ผมไม่ได้ใส่ร้ายใครนะแต่มีจริงๆ ด้วย แล้วการจบควรมีค่าเกรดเฉลี่ยระดับชั้นละไม่ต่ำกว่า 1.5 นะครับ ไม่ใช่ 1.0 และติด ร. ติด 0 อีกกระบุงก็ยังจบได้)

lotto stdขณะที่อาจารย์ผู้สอนอย่าง นางรัตนา อุทก อาจารย์ประจำวิชาสังคมศึกษา โรงเรียนจันทร์ประดิษฐาราม กล่าวว่า เห็นด้วยที่เด็กสอบตกควรจะให้ซ้ำชั้น เพราะระบบเลื่อนชั้นอัตโนมัติเด็กไม่กระตือรือร้น พอสอบไม่ผ่านก็ซ่อมเสริมครูก็ให้ผ่าน ระบบนี้ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้กับเด็กไทยที่ไม่มีความรับผิดชอบ เด็กบางคนจะจบ ม.6 อยู่แล้วยังติด 0 ติด ร เวลาสอบซ่อมครูจำใจให้ผ่านเพราะกลัวเด็กเสียโอกาส

"ดิฉันไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกหมดสิทธิสอบหรือ มส. ที่เดิมกำหนดว่าเด็กคนใดที่ขาดเรียนเกิน 80% จะไม่มีสิทธิเข้าสอบ เพราะเมื่อยกเลิกไปแล้วเด็กก็ไม่สนใจเข้าเรียน เพราะรู้ว่าขาดเรียนเกินก็ได้มีสิทธิเข้าสอบอยู่แล้ว" นางรัตนากล่าว

ด้าน นายณรงค์ สายทอง รอง ผอ.โรงเรียนนางรองพิทยาคม จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นครูมากว่า 30 ปีแล้ว กล่าวว่า เห็นด้วยให้เด็กที่สอบไม่ผ่านต้องตกซ้ำชั้น เพื่อเด็กจะได้รู้คุณค่าของการศึกษา ถึงแม้ว่าการสอบตกแล้วต้องซ้ำชั้นจะทำให้เด็กต้องเสียเงินและเสียเวลามากขึ้น ถือว่าคุ้มค่า ดีกว่าปล่อยให้เด็กเรียนตามอำเภอใจผ่านไปวันๆ จบออกไปก็ไม่มีคุณภาพและเป็นภาระสังคมในอนาคต

นี่คือความเห็นของผมที่บ่นไว้เมื่อ (20 สิงหาคม 2547) "ผมยังยืนว่า ระบบแต่เดิมของเราดี ไม้เรียวสร้างคนมานักต่อนัก (ไม้เรียวของครูไม่เคยฆ่าใคร อย่าไปเทียบกับบางคนที่แฝงมาในคราบครูแล้วสร้างรอยบาป จนไม้เรียวถูกหักไปแล้ว ณ วันนี้) วันนี้นักเรียนของเราเปี๋ยนไป ผมจะไม่พูดถึงเรื่องความประพฤติหรอก เอาแต่เรื่องการเรียนล้วนๆ นี่แหละ ความอุตสาหะ วิริยะ ของเด็กลดลง ด้วยสาเหตุใด?

แรงจูงใจในการเล่าเรียนไม่มีครับ เด็กทุกวันนี้เสพแต่ความสุขเฉพาะหน้าไม่เคยคิดถึงอนาคต ระบบที่ถูกสั่งมาจากเบื้องบน จากนักการเมือง ซ้ำเติมให้ระบบล้มลงไปอีก คนหนึ่งเรียน ขยันขันแข็งแทบตาย ทำงานกิจกรรมการเรียนไม่เคยขาด ได้เกรดแค่ 1 อีกคนไม่สนใจเรียน หลบเลี่ยงตลอด ครูต้องแทบกราบให้มาเรียน (ไม้เรียวไม่ได้ ดุด่าว่ากล่าวตักเตือนไม่ได้) สุดท้ายการประเมินได้ศูนย์ แต่หลังจากนั้นไม่ถึงสัปดาห์เกรดเปลี่ยนเป็น 1 ได้ เพราะคนที่สอนแล้วเด็กติดศูนย์จะถูกเพ่งเล็งว่าไม่มีประสิทธิภาพ จะโดนมาตรการที่ 3 เข้าให้" จริงหรือไม่? ท่านมีสิทธิจะคิดและตรึกตรองครับ

"เด็กไทยในมิติวัฒนธรรม"

งานวิจัยด้านเด็กจากหลายสำนัก ยังสะท้อนพฤติกรรมเด็กไทยเข้าสู่ยุคมืด การดำเนินชีวิตบนความแปลกแยกทางวัฒนธรรม ขาดความรับผิดชอบ เป็นนักบริโภคตัวยง หลงไหลไปกับสื่อโฆษณาของผู้ใหญ่ที่จ้องทำมาหากินกับเด็ก อาทิ

  • เด็กไทยอยู่บนความแปลกแยกจากศาสนาและครอบครัว กลุ่มวัยรุ่นร้อยละ 60 โตในห้างสรรพสินค้า ดูภาพยนตร์ กินอาหารแดกด่วน (Fast food) ร้อยละ 45 ไม่ทำบุญตักบาตร ร้อยละ 65 ไม่เคยฟังพระเทศน์เลย ในเขตกรุงเทพและปริมณฑลพ่อแม่มีเวลาให้ลูกวันละ 1-3 ชม.
  • เด็กไทยอยู่ในวัฒนธรรมดื่ม กิน ช้อป จากการมีเงินไปโรงเรียนรวมกันปีละ 3 แสนล้านบาท และใช้เงินซื้อขนมถึงปีละ 1.6 แสนล้านบาท เท่ากับ 15.7% ของงบประมาณแผ่นดินปี 2547 หรือมากกว่างบประมาณประจำปีของ 6 กระทรวงรวมกัน วัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปีดื่มสุรามากขึ้นถึง 5.6 เท่า ในรอบปีที่ผ่านมา วัยรุ่นชาย-หญิงร้อยละ 52 นิยมซื้อโทรศัพท์มือถือมากที่สุด
  • เด็กไทยกับวัฒนธรรมแห่งเสรีภาพและการแสดงออกทางเพศ ซึ่งวัยรุ่นไทยทำสถิติโลก 4 ประเภท
           - นิยมมีคู่นอนมากกว่า 1 คน ค่าเฉลี่ยสูงที่สุดในโลก คือร้อยละ 52 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกร้อยละ 34
           - เริ่มเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาช้าที่สุดในโลก คือเมื่ออายุ 13.5 ปี ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลก 12.2 ปี
           - มีการใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเซ็กซ์ครั้งแรกน้อยที่สุดในโลก เพียงร้อยละ 23 ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกร้อยละ 57 และ
           - พ่อแม่ไทยมีบทบาทในการสอนเรื่อง เพศ แก่ลูกน้อยที่สุดในโลก คือร้อยละ 1 ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกร้อยละ 12 และยังพบอีกว่า เด็กและผู้หญิงถูกข่มขืนเพิ่มขึ้นปีละกว่า 1,000 ราย ส่วนใหญ่จะถูกกระทำโดยคนในครอบครัวมากถึงร้อยละ 80
  • เด็กไทยท่ามกลางวัฒนธรรมคลั่งหวย รวยลัด วัดดวง (พนัน) ปรากฏว่า คนจำนวนกว่าร้อยละ 49.59 มองว่า การขายหวยบนดินของนักศึกษาเพื่อเป็นรายได้เสริม ไม่เดือดร้อนใคร อีกทั้งเป็นการช่วยเหลือครอบครัวอีกทาง

เราต้องยอมรับกันแล้วล่ะว่า ผลพวงที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนไทยในสมัยนี้เกิดมาจากผู้ใหญ่ การมองข้ามวัฒนธรรมของตนเอง ซึ่งสังคมไทยเป็นสังคมที่มีลักษณะครอบครัวใหญ่มีสายสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวแนบแน่น แต่พอเรารับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามามากๆ มองเห็นการแยกครอบครัวเป็นอิสระ ส่งเสริมให้เขาคิดอิสระเป็นของตนเองโดยไร้ขอบเขต ได้ส่งผลกระทบมามากน้อยเพียงใด เรื่องบางเรื่องเป็นสิ่งที่น่าอับอาย กลับได้รับการเผยแพร่ตอกย้ำโดยสื่อ จนวัยรุ่นเยาวชนมองภาพผิดคิดว่าเป็นช่องทางลัดสู่การมีรายได้ เพื่อจะได้บริโภคตามที่สื่อชักชวนอยู่ทุกวัน

เราจะแก้ไขทันไหมนี่กับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปเร็วอย่างนี้ ถ้าไม่คงกฎระเบียบที่ดีในอดีตเอาไว้ อย่ามองแต่ภาพด้านเศรษฐกิจนิยมอย่างเดียว อย่าตีคุณค่าของทุกสิ่งด้วยเงิน เพราะบางครั้งเงินก็ซื้อความเป็นมนุษย์และจิตใจอันดีงามกลับคืนไม่ได้ ท่านที่มีโอกาสเป็นใหญ่เป็นโต ได้มีส่วนบริหารบ้านเมือง ก็อย่าคิดเอาเองว่า สิ่งที่ตนเองได้กระทำ สั่งการนั้นถูกต้องทุกข้อ ลองกลับมาทบทวนสักนิดแล้วจะเห็นว่าสิ่งที่ครูน้อยอย่างพวกผมบ่นอยู่นี่ มันของจริง 1000% นะครับท่าน!!!

ปิดท้ายด้วยข่าวดีของครูที่เป็นครูมานาน (ก่อนที่ พ.ร.บ.สภาครูประกาศใช้วันที่ 12 มิถุนายน 2546) ทุกสังกัด มีครูอยู่ประมาณ 670,000 คน ซึ่งครูกลุ่มนี้จะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และบุคลากรทางการศึกษาจำนวน 500 บาท หากครูคนใดจ่ายเงินไปแล้วจะให้ทางคุรุสภาคืนเงินให้ภายหลัง และจะให้ยกเลิกขั้นตอนต่างๆ ในขณะนี้ที่ครูจะต้องเสนอขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ โดยทางคุรุสภาจะจัดส่งใบอนุญาตให้ครูในภายหลัง ส่วนงบประมาณที่จะนำมาออกค่าใช้จ่ายแทนครูนั้น จะให้เสนอใช้งบประมาณกลาง (นายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 28 มกราคม) ถึงแม้จะถูกมองว่าเป็นการหาเสียง แต่ผมคิดว่าครูทุกคนมีวิจารณญาณในการเลือกตั้งครับ

ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 29 มกราคม 2548

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

Our Policy