วันนี้ได้อ่าน รายงานปฏิรูปการศึกษาไทย ฉบับที่ 57 ประจำวันที่ 15 กันยายน 2545 แล้วก็เลยอยากเขียน อยากระบายความคิดความในใจสู่กันฟังอีกรอบครับ ตามประสาครูบ้านนอกที่ไม่ได้เป็นนักวิชาการ ออกจะไปทางนักวิชาเกินเสียมากกว่าครับ ชอบใจประโยคนี้ของท่านนายกรัฐมนตรีมากครับ
... การปฏิรูปการศึกษาจะต้องมีการปรับเปลี่ยนทุกกระบวนการ ครูต้องกล้าและเต็มใจที่จะเปลี่ยนตัวเอง ต้องหลุดออกจากกรอบวิธีคิดเดิมๆ หลักสูตร การเรียนการสอนต้องเปลี่ยนไป เด็กไทยที่ได้รับการศึกษาแล้ว ต้องคิดเป็น มีการบูรณาการทางความคิด มีนิสัยใฝ่รู้และรักการเรียนรู้ตลอดชีวิต..."
ทิศทางการปฏิรูปการศึกษาอย่างที่ท่านกล่าวถึงนั่นถูกแล้ว แต่ในทางปฏิบัติของครูปัจจุบันกลับยังสลัดคราบเก่าๆ ไม่หลุดครับ จะสอนให้เด็กคิดเป็น ครูต้องคิดเป็นก่อน แต่ตอนนี้มีครูกี่เปอร์เซนต์ที่เริ่มคิดถึงวิธีการจัดการ การเปลี่ยนบทบาทของครูที่ยืนถือไม้เรียว หรือหนังสือเก่าๆ คร่ำคร่า อีกมือหนึ่งถือชอล์ก ถ้าไม่เขียนตามคำบอกก็ให้ลอกบนกระดานดำ มาสู่การเป็นที่ปรึกษา ชี้แนะทิศทาง และสรุปประเด็นเพื่อความถูกต้องให้กับผู้เรียน วางหนังสือเก่าๆ เล่มนั้นมาเงยหน้าดูความเปลี่ยนแปลงของสังคม ปรับความรู้ให้สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้
ครูอาจารย์ทั้งหลายส่วนหนึ่งของชีวิตหรือการคาบเกี่ยวของชีวิต คือ เหยื่อของระบบการศึกษาที่ล้มเหลว ฉะนั้นถ้าท่านจะเป็นแม่พิมพ์การปฏิรูปการศึกษาแผนใหม่ ท่านต้องกล้าและเต็มใจที่เปลี่ยนตัวเอง อย่ายึดอดีต อย่าภูมิใจในอดีตของตัวเอง (ส่วนใหญ่มักจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ เวลาพูดกับนักเรียนก็มักจะเอ่ย สมัยครูยังเป็นเด็ก (สมัยยังไม่มีวิทยุโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ตไม่ต้องพูดถึง) ครูตั้งใจเรียนกว่าพวกเธอตอนนี้มาก) จนเอามาเป็นตัวอย่างของอนาคตมากจนเกินไป เพราะต้องปรับเปลี่ยนไปมาก เราต้องหลุดออกจากกรอบเดิมๆ ของวิธีคิดและมองไปข้างหน้า แล้วเอาสิ่งที่มีอยู่ที่เป็นการเรียนรู้มาปรับใช้กับความเป็นจริงในปัจจุบันของวันนี้จะดีกว่า ความรู้บางเรื่องต้องเรียนเพื่อรู้ แต่บางเรื่องต้องรู้เพื่อรักษาชีวิตไว้ให้ได้
การเรียนของเด็กไทยวันนี้จะต้องเปลี่ยนไป นอกจากจะคิดเป็นยังต้องรู้จักการบูรณาการความรู้เพื่อนำมารับใช้ในการดำเนินชีวิตปัจจุบันให้เป็นสุข มีนิสัยที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต อย่าคิดว่าเรียนแล้วได้ปริญญาหรือประกาศนียบัตรคือความสำเร็จ ความสำเร็จต้องดูว่าได้ปริญญาแล้วยังไม่เลิกเรียน ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เข้าเรียนแต่ยังสนใจใฝ่รู้ ใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต ต่างประเทศวันที่รับปริญญาถือเป็นวันเริ่มต้น ยังต้องเรียนใหม่อีก ยังไม่พอ แต่ของเราฉลองสำเร็จการศึกษา คือเลิกการศึกษาแล้ว
ขณะนี้เรามีการนำร่องเรื่องการจัดทำหลักสูตรการศึกษาพื้นฐานในโรงเรียนหลายร้อยโรงเรียนทั่วประเทศ ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา กำลังจะผ่านไปหนึ่งภาคเรียนผลสะท้อนที่กลับมายังไม่เป็นที่ประทับใจของทุกฝ่าย เพราะต่างคนต่างทำไม่มีกรอบที่ชัดเจน ขาดความต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน เพราะหลักสูตรแบ่งเป็นท่อนๆ ในแต่ละช่วงชั้น ความคาดหวังที่ว่า เรียนดีมีสุข ดูจะกลายเป็น การเรียนดีมีทุกข์ มากกว่า เรากำลังยัดเยียดอะไรให้เขากันบ้าง นี่ยังไม่ได้มองไปที่การสอบ Entrance ของระดับมหาวิทยาลัยว่าจะเป็นอย่างไร? ความวิตกกังวลของผู้ปกครองและนักเรียนมีมากขึ้น เราจะสอบ Entrance เพื่ออะไร เพื่อการคัดเลือกคนที่ฉลาดไปพัฒนาใช่หรือไม่ แล้วคนที่โง่กว่าเราพัฒนาหรือไม่ คนฉลาดน้อยกว่าเราจะไม่พัฒนาเขาแล้วหรือ คนโง่จะต้องตกเป็นตะกอนของสังคมหรือเปล่า?
เรื่องที่บ่นวันนี้ก็เก็บตกมาจากรายงานปฏิรูปการศึกษาไทยนี่แหละครับ ผมเห็นด้วยในหลายเรื่อง และอยากให้เพื่อนครูของผมได้นำไปคิดต่อว่า เราจะช่วยกันได้อย่างไร? เรื่องนี้คงต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายอย่างจริงจัง มีเรื่องหนึ่งที่ผมคิดได้ตอนน้ำท่วมนี่คือ เขตบริการการศึกษาของโรงเรียนครับ ทำไม? น้ำท่วมนอกเขตโรงเรียนแท้ๆ แต่โรงเรียนที่ผมทำงานต้องปิดด้วย นั่นแสดงว่าเขตพื้นที่ต้องกว้างไกลครอบคลุมข้ามไปหลายจังหวัด
ผมคิดถึงเรื่องภาษีการศึกษาครับ "ทุกคนควรจ่ายภาษีการศึกษาให้กับท้องถิ่นที่อยู่หรือภูมิลำเนา หากไปเรียนข้ามเขตต้องจ่ายภาษีสองเท่าให้กับพื้นที่เดิมและพื้นที่โรงเรียนใหม่" เหตุผลเพราะ เขาเหล่านั้นเอาเปรียบคนในท้องถิ่นอื่นด้วยการเข้าไปแย่งที่นั่ง (จะด้วยวิธีการสร้างกลไกเอาเปรียบด้วยการย้ายเฉพาะชื่อในทะเบียนบ้าน แต่ตัวเองยังอยู่ที่เดิมเพื่อให้เกิดสิทธิ หรือการอาศัยอำนาจอิทธิพลฝากเข้าเรียน ก็ตาม) คนเหล่านี้ต้องจ่ายเพิ่มเป็นสองเท่าทั้งในที่เดิมและในที่ใหม่ ท่านนักการเมืองและผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายลองเอาไปตรองดูนะครับ
ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 25 กันยายน 2545
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)