foto1
ความงดงามการศึกษาไทย
foto1
เพื่อ?
foto1
ไม่เข้าใจ?
foto1
วิทยากรที่กระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาว
foto1
ท่องทะเลทรายที่ดูไบ UAE


Friendly Links

เรียนรู้ภาษา html
isangate banner
easyhome banner
ipst banner
sakdibhornssup foundation
13 Thai free fonts
speedtest
e mil

Facebook Likebox

No. of Page View

webmaster talk

ปีใหม่กำลังจะมาถึงอีกแล้ว ปีนี้เราทำอะไรไปบ้างหนอ?

บันทึกฉบับนี้ เขียนที่โรงแรมรอแยลเบญจา สุขุมวิท 5 กรุงเทพฯ ครับ ครูบ้านนอกเข้ากรุงอีกแล้ว เข้ามาครั้งนี้เพื่อแสวงหาความรู้และแนวความคิดใหม่ๆ ครับ หลากหลายเรื่องราวจากวันเสาร์-อาทิตย์ (14-15 ธันวาคม) ที่สถาบันราชภัฏสวนดุสิต รับความรู้เรื่องการวางระบบเครือข่ายขั้นเซียน วันจันทร์-ศุกร์ร่วมกิจกรรมพัฒนาชุดการเรียนการสอนโดยใช้กิจกรรมเป็นหลัก (ใช้อุปกรณ์การทดลอง SCi-BOX ช่วยในการจัดกิจกรรม) และในวันจันทร์เดียวกันนี้ยังต้องแว็บไปอบรมการใช้งาน และรับพระราชทานโปรแกรมควบคุมเครือข่ายในห้องเรียนคอมพิวเตอร์ ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์อีกด้วย

เหนื่อยแต่สนุก และได้รับแนวคิดใหม่ๆ มาเยอะครับ หลังจากที่ต้องงมเข็มในมหาสมุทรมานาน พอมีคนมาชี้ทางสว่างก็สามารถงมเข็มได้เร็วขึ้นทีเดียว นอกจากจะงมเข็มเจอยังได้สิ่งอื่นๆ เป็นของแถมมาด้วย คงจะขยายความให้ฟังในวันหลังครับ

ใกล้จะสิ้นปีก็เลยนึกถึงวันเวลาที่ผ่านมาว่าได้ทำอะไรไปแล้วแค่ไหน ในส่วนตัวผมเองนี่ไม่น่าจะเกิน 50% ของความตั้งใจเมื่อต้นปีหรอกครับ (อาจจะเป็นที่ตั้งใจไว้สูงเกินไปก็ได้ เข้าข้างตัวเองสักนิด) แต่ดูจากงานที่เกิดผลขึ้นมาก็นับว่าประสบผลสำเร็จมากกว่าที่คาดหวังไว้ แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับได้กันกี่มากน้อยเอ่ย อย่าพึ่งท้อเสียก่อนนะครับชีวิตเรายังอีกยาวไกล...

วันนี้ขอคุยเรื่อง "การเรียนภาษาอังกฤษของเด็กไทย" กันหน่อยครับ ผมในฐานะครูผู้สอนวิชาคอมพิวเตอร์นี่จะมองเห็นชัดเจนว่า ความไม่เชี่ยวชาญในเรื่องภาษาอังกฤษ (เอาเฉพาะการอ่านอย่างเดียว) ก็สามารถสร้างความยุ่งยากในการเรียนรู้แล้ว เพราะโปรแกรมคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่สร้างมาจากคนตะวันตก คู่มือการใช้งาน เมนู ความช่วยเหลือต่างๆ ในโปรแกรมล้วนแต่เป็นภาษาอังกฤษทั้งนั้น (เป็นส่วนมาก) ที่เป็นภาษาไทยก็คงจะมีแต่ชุดโปรแกรมสำนักงาน ของค่ายไมโครซอฟท์เท่านั้น (ซึ่งก็ยากแก่ความเข้าใจอยู่ดี ต้องแปลไทยเป็นไทยอีกรอบ)

ผมได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านนี้เมืองนี้ พูดแสดงวิสัยทัศน์ไว้หลายแห่งว่า "...ในโลกปัจจุบันนี้การเรียนการสอนครูไม่ต้องสอนมาก ให้เด็กได้มีโอกาสศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองจากอินเทอร์เน็ตก็ได้..." ผมคิดว่าท่านคงฝันไปและไม่เคยค้นหาความรู้จริงๆ บนอินเทอร์เน็ตด้วยซ้ำ (ไม่ต้องพูดถึงการมีโอกาสเข้าถึงหรอกครับ คนที่มีโอกาสส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ความรู้) เพราะว่านักเรียนไทยส่วนใหญ่ของเราไม่เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษครับ ข้อมูลหรือที่เรียกว่าคลังความรู้ส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษครับ ไม่ใช่ภาษาไทย แล้วพวกเขาจะอ่านออกทำความเข้าใจได้อย่างไร เราจึงได้เห็นเด็กไทยส่วนใหญ่สนใจแต่ "การเล่น" อินเทอร์เน็ต (เล่นจริงๆ นะครับ) เพราะเอาแต่คุยกันเรื่อยเปื่อยไร้สาระที่เราได้ยินกันว่า "ไปแชทกัน" นั่นแหละครับ หรือไม่ก็เล่นเกมหามรุ่งหามค่ำ เพราะสื่อบนอินเทอร์เน็ตไม่มีภาษาไทยให้เขาเข้าใจได้ง่ายๆ

แม้แต่ขุมความรู้ภาษาไทยเราเอง ก็ยังไม่ครอบคลุมเรื่องราวของความเป็นไทย จะค้นหาก็เจอแต่ข้อมูลที่เป็นกระพี้หรือเปลือกเท่านั้น ยังหาที่เป็นแก่นแท้ไม่ได้มากนัก อยากให้เพื่อนครูทั้งหลายที่มีความรู้ความสามารถได้มาช่วยกันผลิตสื่อ หรือฐานความรู้ภาษาไทย เรื่องราวของคนไทยให้มากๆ ครับ เด็กไทยของเราจะได้มีที่ศึกษาค้นคว้าจริงๆ เสียที โดยเริ่มจากสิ่งที่ใกล้ตัว ภูมิปัญญาท้องถิ่น นั่นแหละ เรื่องของศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้านยังมีสิ่งดีๆ อีกมากมายที่ยังไม่มีการเผยแพร่และจัดทำเป็นหมวดหมู่ เรามาช่วยกันเถอะครับเพื่อลูกหลานไทย

ทำไม? ต้องเรียนภาษาอังกฤษ...

เพราะว่า โลกเราไร้พรมแดน ครับ ภาษาอังกฤษจะเป็นภาษาที่เราจะสามารถก้าวทันวิทยาการต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เราจำเป็นต้องติดต่อสื่อสารกับคนชาติอื่นๆ เพื่อการศึกษาค้นคว้า การค้าขายตามกระแสเศรษฐกิจโลก คนที่มีความรู้และเชี่ยวชาญด้านการติดต่อสื่อสารมากกว่า 2 ภาษาย่อมได้เปรียบกว่า

แม้แต่การสอบสัมภาษณ์เข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย หลายแห่งก็เริ่มใช้ภาษาอังกฤษกันแล้ว (ประสบการณ์ตรงจากการสอบสัมภาษณ์เข้าศึกษาต่อในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ของลูกสาวผมเองครับ) การสัมภาษณ์เข้าทำงานในหน่วยงานต่างๆ ยุคนี้ก็ใช้ภาษาอังกฤษ แม้แต่ข้าราชการในหน่วยงานต่างๆ ก็ยังมีความจำเป็นต้องไปศึกษาภาษาอังกฤษเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถสื่อสารได้กับแขกที่มาเยี่ยม หรือนักท่องเที่ยวต่างชาติ (บางหน่วยถ้าบกพร่อง speak ไม่ได้เงินเดือนแป็กเลยนะครับ) หัวหน้าหน่วยงานถือเป็นเรื่องใหญ่ในการวัดประสิทธิภาพการทำงานทีเดียว (ผมเห็นด้วยครับ ครู (สอนภาษาอังกฤษบางคน) เห็นฝรั่งยังเดินหลบเลยครับ (ฮา) ไม่บอกว่าโรงเรียนไหน)

แต่การใช้ภาษาอังกฤษ ผมก็อยากให้ใช้ในการติดต่อสื่อสารกันตามความจำเป็นเท่านั้น ในชีวิตประจำวันของคนไทยด้วยกัน ก็ได้โปรดกรุณาอย่าใช้ภาษาไทยคำ ภาษาอังกฤษคำเลยนะครับ มันน่าเบื่อและแสดงความไม่เข้าท่าอยู่หลายขุมเชียวนะ (เว้นแต่มันไม่มีคำบัญญัติในภาษาไทยเท่านั้น)

หลายวันก่อนได้อ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ทราบว่า ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายปองพล อดิเรกสาร) ได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ไว้น่าฟัง และมีความประสงค์จะให้โรงเรียนทุกแห่ง ในทุกระดับ ได้เร่งรัดดำเนินการในเรื่องการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้มากขึ้น หากลยุทธ์ต่างๆ ในการกระตุ้นให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ และเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ผมว่าเอาสองอย่างแรกนี้ให้ดีคือ ฟังและพูด ส่วนการอ่านและเขียนให้เป็นเรื่องรองลงไป เพราะในปัจจุบันนี้คนไทยเราแม่นไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ เขียน-อ่านได้พอสมควร แต่ฟังกับพูดนี่แย่มากๆ อยู่ครับ เรียกว่านับตัวคนได้ทีเดียวแหละ

ขอยกมือสนับสนุนนโยบายข้อนี้ของท่านรัฐมนตรีร้อยเปอร์เซนต์เลยครับ   อย่ารอช้า... รีบสั่งการไปเลยครับ!...

ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 17 ธันวาคม 2545

 

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

Our Policy