ขอลาทีปีเก่า เพื่อต้อนรับศักราชใหม่ 2546 เป็นการล่วงหน้าครับ เพราะจะขอหยุดพักสักหลายๆ วันในช่วงหยุดยาวนี้ พักผ่อนตอนสิ้นปีครับ คงไม่ได้ไปไหนขออยู่พักที่บ้านนี่แหละครับ ขอให้ทุกท่านสุขีมีโชคดีรับปีใหม่ พ้นภัยเศรษฐกิจกันโดยถ้วนหน้าครับ มีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง ปราศจากโรคาพยาธิและอุบัติภัยทั้งหลายด้วยเทอญ...
ส่งท้ายปีก็ขอนำเรื่องราวที่ได้ไปร่วมการประชุมสัมมนาในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามาขยายความให้ฟังกันสักนิดครับ ซึ่งน่าจะเกี่ยวพันกับการสร้างหลักสูตรสถานศึกษาของหลายๆ โรงเรียน ส่วนโรงเรียนที่ได้ทำไปก่อนก็คงจะมองเห็นปัญหาและทำการแก้ไขกันเพื่อใช้ในปีการศึกษาที่จะถึงนี้
มีคำถามว่า "เราเดินมาถูกทางแล้วหรือยัง?..." คำตอบของผม ณ วันนี้ ถูกแล้วครับ แต่...! มีอะไรผิดพลาดที่หลายๆ ท่านลืมนึกถึงอยู่หลายข้อ จนทำให้การดำเนินการสับสนมากในปัจจุบัน ลองยกตัวอย่างกันหน่อยดีไหม? (ถ้าไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไรนะครับ เพราะนี่คือทัศนะของผมเท่านั้นที่เป็นพวกนักวิชาเกิน (พอดี) อยู่ค่อนข้างมาก)
ข้อที่หนึ่ง ครูเรายังไม่ลืมอดีตครับ คือความอยากสอนให้ลูกศิษย์ได้รับความรู้มากๆ (มากจนทะลักคอหอยแล้วครับ) เพราะอะไร เพราะครูเรายังไม่แน่ใจว่าอีก 3 ปีข้างหน้าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะลูกหลานของพวกเขาที่จะต้องเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย
ถ้าจะแก้ไขปัญหานี้ ต้องพูดให้ชัดเจนและพูดออกมาให้ดังๆ ว่าจะปฏิบัติอย่างไร ถ้าลดความหวาดกลัวและเสนอแนวทางให้เขา ทุกสิ่งจะคลี่คลายแน่นอน (เพราะตอนนี้ชีวิตอนาคตของลูกหลานเขายังฝากไว้ที่การเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา) ณ วันนี้มีแต่คนพูดว่าต้องปฏิรูปแต่ไม่รู้ปฏิรูปอะไรเดินหน้าหรือถอยหลัง เอากันให้ชัดๆ ซิครับ
ข้อที่สอง เราไม่มีแก่นกลางครับ เราควรจะมีแก่นกลาง (บางท่านกำลังเถียงผมว่า มาตรฐานนั่นไงแก่น) ไม่ใช่มาตรฐานแน่ครับ ลองไปถามกันดูซิว่ามาตรฐานแต่ละข้อเราแปลตรงกันแค่ไหน มันไม่ใช่มาตรวัดเป็นกิโลนี่ครับ แก่นกลางที่ผมพูดถึงหมายถึงโครงสร้างหลักๆ ต่างหาก ว่าเราจะให้ลูกหลานเรียนอะไรแค่ไหนในแต่ละช่วงชั้น ช่วงที่ 1 เรียนแค่นี้เพื่อเป็นฐาน แล้วเรียนเรื่องถัดไปในช่วงชั้นที่ 2 และ 3 และ 4 บางช่วงชั้นอาจจะตัดทิ้งไปเลยได้ แต่ตอนนี้เรากำลังยัดเยียดแบบไม่รู้จบ เอ๊ะยังไงกัน
ผมขอยกเรื่องการเรียนพระพุทธศาสนามาเป็นตัวอย่างนะครับจะได้เห็นชัดขึ้น
แต่ตอนนี้นักเรียนที่ผมได้สัมผัสทุกระดับช่วงชั้นเขากำลังสำลักประวัติพระพุทธเจ้าครับ เพราะว่าครูในช่วงชั้นที่ 1 อาจจะคิดแบบผม แต่ครูในช่วงชั้นที่ 3-4 กลับคิดว่าพวกเขาคงจะยังไม่ได้เรียนอะไรมาต้องเอาให้รู้ลึกมากๆ (ประวัติพระพุทธองค์มีอะไรลึกกว่านั้นอีก) เกิดอะไรขึ้น? การปฏิรูปการศึกษาตั้งจุดประสงค์ว่า ผู้เรียนต้อง เรียนดีมีสุข แต่ตอนนี้พวกเขากำลังเรียนดีมีทุกข์กันครับ
ถ้ามีแก่นของโครงสร้างกำหนดคร่าวๆ แล้วให้ครูเขาเขียนหลักสูตรเสริมเพิ่มเติมในสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว ใกล้เคียงกับสภาพท้องถิ่น นั่นแหละจึงจะเกิดการปฏิรูปได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่ต่างคนต่างฝันกันอย่างนี้
ข้อที่สาม เราขาดการบูรณาการครับ คำว่า บูรณาการ หมายถึงการประสานกันให้เกิดประโยชน์ ในที่นี่เรารู้อยู่ว่าลูกหลานเราเรียนมากเกินไปครับ (ประเทศที่เขามีการศึกษาก้าวหน้ากว่าเราเขาก็ไม่เรียนหามรุ่งหามค่ำขนาดนี้ ครึ่งวันก็พอแล้ว แต่ของเราตั้งแต่ลืมตาจนหลับอีกครั้ง) ทั้งเรียนในโรงเรียน เรียนพิเศษ ทำการบ้าน กว่าจะได้ล้มตัวนอนก็โน่นเที่ยงคืน อะไรกันนักหนา
ผมอยากให้มีการบูรณาการข้ามวิชาไปเลย เราน่าจะมาพูดคุยกันว่าเราจะให้ผู้เรียนมีกิจกรรมอะไรที่สามารถนำมาผสานประโยชน์กันได้ ไม่ทำให้ผู้เรียนเคร่งเครียดอย่างนี้ โครงงาน คือวิธีการบูรณาการในทัศนะของผม ถ้าเราให้ผู้เรียนได้ออกแบบ/คิด/ทำโครงงานที่สามารถนำมาใช้เป็นผลงาน เพื่อวัดความรู้จากการเรียนได้เกือบทุกวิชา การบ้าน รายงานจะได้ลดน้อยลงเสียที
จะดีขนาดไหน ถ้า... เขาทำโครงงานทดลองวิทยาศาสตร์ที่ต้องคิดคำนวณสถิติ แล้วนำไปเทียบเอาคะแนนจากคุณครูคณิตศาสตร์ พิมพ์รายงานโครงงานด้วยคอมพิวเตอร์ส่งไฟล์ไปเอาคะแนนกับครูมนตรีที่สอนคอมพิวเตอร์ พิมพ์เป็นรูปเล่มส่งไปให้ครูภาษาไทยตรวจให้คะแนน นำผลที่ได้อันเป็นผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมไปเอาคะแนนกับครูสังคมศึกษา วาดภาพประกอบ/จัดรูปเล่มไปเอาคะแนนกับครูศิลปะ ฯลฯ นี่แค่คิดนะครับ ยังมองเห็นรอยยิ้มของเด็กๆ เขาจะได้เรียนรู้จากสถานการณ์จำลอง นี่ซิมันถึงจะปฏิรูปการศึกษา ไม่ใช่ครูแต่ละคนต่างก็ทุ่มการบ้านและรายงานใส่เด็กอย่างทุกวันนี้
ยังไม่ได้คุยเรื่องไปอบรมสัมมนากันเลยครับ (แม้จะมีแนวคิดบางส่วนในเสียงบ่นนี้ปนอยู่) เห็นทีจะต้องขอยกยอดไปอัพเดท ในคราวหน้าครับ ผมยังมีแนวความคิดจากการสนทนากับผู้รู้หลายท่านจะเล่าให้ฟังกันอีกมาก โปรดติดตามนะครับ สวัสดีปีเก่า...
ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 22 ธันวาคม 2545
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)