ต่อจากคราวก่อนที่เสนอข้อมูลในเรื่องเป้าหมายและยุทธศาสตร์ของการนำเอา ICT มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน ด้วยการพุ่งเป้าหรือให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ผมบอกว่าเป็นความฝันของกระทรวงศึกษาธิการ
แล้วทำไมผมต้องบอกว่า รอวันฝันเป็นจริง มีสาเหตุและที่มาครับ เรื่องการนำเอา e-Learning เข้ามาใช้มีการคิดและฝัน ทำมาแล้วหลายสิบปีนะครับในต่างแดน จนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครกล้าพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าสำเร็จแล้ว 100% ในประเทศไทยเราเองก็มีนักการศึกษาไทยที่ได้มีโอกาสข้ามน้ำข้ามทะเลไปศึกษายังต่างแดน ได้พบเห็นและเรียนรู้มาบ้างก็นำมาขยายความคิด และทดลองกัน ก็ล้มลุกคลุกคลานกันมาตลอดจนทุกวันนี้ ถ้าเราทำได้จริงภายในสี่ห้าปีข้างหน้าก็นับว่าเป็นปาฏิหารย์ที่จะทำให้ความฝันนั้นเป็นจริงได้ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
นึกถึงภาพของนักเรียน/นิสิต/นักศึกษานั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ซึ่งเชื่อมโยงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเข้าสู่ศูนย์การเรียนรู้ของโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เพื่อเรียกเอาบทเรียนรายวิชาต่างๆ มาศึกษา อ่าน ฟัง และตอบคำถาม ทำแบบทดสอบต่างๆ คำตอบจะถูกส่งไปเก็บในเครื่องที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ครูผู้สอนสามารถนำผลมาประเมินและตัดสินผลการเรียนให้ใบประกาศนียบัตรได้ หากไม่ผ่านเกณฑ์ผู้เรียนสามารถติดต่อกับผู้สอนผ่านทางระบบสื่อสาร (อีเมล์ กระดานข่าวหรือโทรศัพท์เพื่อขอเรียนเสริมและสอบซ่อม) จนกว่าจะได้ผลการเรียนผ่านต่อไป
ถ้าดูตามเหตุการณ์นี้ระบบการสอนอย่างในปัจจุบันจะหมดความสำคัญไป ผู้เรียนเรียนได้ตามความสามารถและระยะเวลาที่ต้องการ ไม่ต้องมีห้องเรียน หรือโรงเรียนรูปแบบเดิมนี้อีก ฝันไปไกลจริงๆ แต่ในความเป็นจริงจะทำได้หรือ? ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์จะหมดไป (เพราะครูของเขาคือกล่องสี่เหลี่ยมหน้าตาแปลกๆ) มีใครเคยคิดต่อไปอีกไหมว่า ถ้ามีนักเรียน/นิสิต/นักศึกษา ต่างต่อเชื่อมระบบเข้าไปเรียนพร้อมๆ กัน รวมกับครูผู้สอนอีกจำนวนหนึ่ง (คิดประมาณ 5 ล้านคนพร้อมกัน) เครือข่ายอินเทอร์เน็ตของประเทศเราพร้อมที่จะรับปริมาณข้อมูลไหวไหม? อย่าลืมว่าข้อมูลของ e-Learning ที่เราฝันนั้นมันเป็นระบบมัลติมีเดีย มีทั้งภาพ เสียง ภาพยนต์ หรือวีดิทัศน์เคลื่อนไหวด้วย ซึ่งเป็นข้อมูลปริมาณมหาศาลขนาดนั้นไหลอยู่ในเครือข่าย ระบบจะล้มครืนหรือเปล่า (เอากรณีตัวอย่าง แค่ในวันปีใหม่มีคนส่ง e-Card, SMS กันระบบยังอืดเป็นเรือเกลือทีเดียว ไม่ต้องพูดถึงระบบโทรศัพท์มือถือนะครับ ล่มไปเลย ผมได้รับข้อความที่ส่งเมื่อก่อนห้าทุ่มวันที่ 31 ธันวาคม เอาในเที่ยงวันที่ 2 มกราคม อะไรจะขนาดนั้นคิดดู)
เอาล่ะ! สมุติว่าประเทศเราทำได้ (ทำเป็นลืมๆ ว่านายกเราเป็นเจ้าของดาวเทียมสื่อสารไปก่อน) มีคำถามต่อไปอีกว่า ท่านมีทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับเจ้า e-Learning นี่กันมากน้อยแค่ไหน (กระทรวง ทบวง กรมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งครูมนตรีนี่ด้วย) ทรัพยากรที่ว่านั่นมีอะไรบ้าง?
ซอฟแวร์สำหรับช่วยในการสร้างบทเรียน เรามีหรือยัง? มีครับแต่กระท่อนกระแท่น มีนั่นนิดนี่หน่อยแต่ไม่ครบถ้วน เคยมีคนทำแต่ใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว ตอนนี้ดูเหมือนจะมีที่รามคำแหงจะก้าวหน้ากว่าเพื่อน (แต่ซื้อมาใช้งาน ไม่ทราบต้นทุน แต่คงไม่น้อย) เท่าที่ทดสอบดูน่าจะไม่รอดเพราะกินกำลังเครือข่ายมากทีเดียว หมุนโมเด็มต่อเข้าไปทำนี่รอกันเหนื่อยเลยเหมือนกัน ไม่อยากพูดถึงต่างประเทศนะครับ เพราะหนึ่งทุนเขามากกว่าในการพัฒนา สองระบบเครือข่ายพื้นฐานเขาไปไกลกว่าเรามากทั้งเรื่องราคาและความเร็ว
ครูและอาจารย์ที่จะมาสร้างบทเรียนออนไลน์ นี่แหละเรื่องใหญ่เลยครับ ครู-อาจารย์ของเราเคยเตรียมการสอนแค่โน๊ตสั้นๆ แล้วก็ไปยืนร่ายยาวต่อหน้าห้องได้เลย ทุกอย่างอยู่ในหัว (สมอง) ของครู แต่การทำบทเรียนออนไลน์ครูจะต้องถ่ายทอดคำพูดออกมาเป็น บทบรรยาย ป้อนข้อมูลลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ รูปภาพประกอบ/แผนที่/แผนภูมิต่างๆ จะต้องสแกนลงเป็นไฟล์นำไปประกอบในเนื้อหา ทำจุดเชื่อมโยงที่เกี่ยวข้องไปยังแหล่งอ้างอิง (พูดง่ายๆ ครู-อาจารย์จะต้องออกแบบและสร้างเว็บเพจเป็น) ต้องสวย ดูดี ดึงดูดใจได้ด้วย (กรรมมาเยือนแล้วคุณครู)
นี่ถ้าอยากได้ภาพเคลื่อนไหวครูต้องเรียนรู้การสร้างภาพด้วยโปรแกรมต่างๆ ถ้ามีโปรแกรมช่วยให้ครู-อาจารย์ทำได้ง่ายๆ ก็ดีซิ บางท่านอาจจะบอกว่า จ้างให้เด็กรุ่นใหม่ๆ ทำซิ (งบประมาณมาจากไหนครับ จากกระเป๋าคุณครู มีครูใจถึงบ้าบิ่นแบบครูมนตรีกี่คนล่ะครับ ความจริงผมมีแต่ใจกับปากเท่านั้นแหละครับ กล่อมคนนั้นทีคนโน้นทีให้พร้อมใจมาช่วยแบบไม่ลังเล ความสามารถเฉพาะตัวห้ามเลียนแบบ) อย่าถามหางบประมาณจากภาครัฐนะครับ รออีกนาน...... มากทีเดียว
ซอฟแวร์สำหรับจัดหลักสูตร จัดบทเรียน เก็บสถิติการเรียน เก็บผลคะแนนและเก็บผลการประเมินต่างๆ ตัวนี้มีใครทำหรือยังไม่ทราบเหมือนกัน ถ้าจะทำต้องลงทุนเท่าไหร่ ใครจะเป็นคนเริ่ม (ควรจะมีระบบเดียวเป็นของชาติเลย เพื่อจะได้มีความเชื่อมโยงผลการศึกษาได้ อย่าต่างคนต่างทำแล้วก็เหลวไม่เป็นท่า ประสานกันไม่ได้ สิ้นเปลืองงบประมาณเปล่าๆ ส่วนใหญ่มักจะเป็นอย่างนี้เสียด้วยประเทศนี้)
พอมาถึงตรงนี้ หลายท่านอาจจะเริ่มท้อใจ และมองไม่เห็นอนาคตข้างหน้า ปัญหามันยังมีมากกว่านี้นะครับ เพราะการสอนแบบนี้มันจะต้องมีความพร้อมในหลายๆ ด้านอย่างที่กล่าวมา แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องคิดให้หนักคือ คุณธรรมและจริยธรรม จะมาจากไหน อย่างไร? อย่าลืมว่าเราจะขาดการเรียนการสอนแบบเผชิญหน้า (Face to Face) นั่นคือจะขาดการอบรมบ่มนิสัย ครอบครัวจะต้องรับภาระนี้ไป (ถ้าไม่ล่ะ? ก็มอบให้ครูไปแล้ว) อะไรจะเกิดขึ้น? เพราะถ้าผู้เรียนขาดคุณธรรม ขาดใจใฝ่รู้ มุ่งแต่จะเอาผลคะแนนความสำเร็จและใบประกาศนียบัตร ผลจะเป็นอย่างไรคงไม่ต้องบรรยายนะครับ
ปัญหาต่อมาคือ ปัญหาของครูผู้สอน อย่างท่าน อย่างผมนี่แหละ เราจะทำอย่างไร ต้องเริ่มฝึกหัดกันใหม่ใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตมากไหม? เราเคยแต่สอนหน้าชั้น เด็กไม่สนใจก็มีลูกเล่นลูกฮา เรียกความสนใจได้ แต่นี่เรามองไม่เห็นหน้านักเรียนไม่รู้ว่าหลับไปหรือยัง อ่านหรือเปล่าไม่รู้ หรือรวมหัวกันหาวิธีเอาคะแนนอยู่? เห็นทีจะต้องคลิกไปอ่านหน้าต่อไปแล้วล่ะครับ จะร่ายยาวให้จบเลยกำลังติดพัน (มันในอารมณ์ครับ)
คุณสมบัติของครูในฝันของระบบการเรียนแบบ e-Learning ครูจะต้องมี...
งานใหญ่จริงๆ เพราะเราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าผู้เรียนของเราคือใคร มีนิสัยอย่างไร มีความอยากรู้อยากเรียนแค่ไหน ในชั้นเรียนปกติเรายังมองเห็นว่าใครง่วง ใครไม่สนใจ ยังหาวิธีตะล่อมให้เข้ามาเรียนได้ด้วยความสามารถเฉพาะตัวของครูแต่ละคน เลยมีคำถามตามมาว่า เรากำลังละทิ้งความรู้ความสามารถในการจัดการสอนของครูอาจารย์แต่ละท่านที่ได้สั่งสมมานานนับ 10 ปีหรือเปล่า? แล้วเรามาบังคับให้เขาเป็นหุ่นยนต์ที่มีหน้าที่เพียงการประเมินผลการเรียนเท่านั้น
ในความเป็นจริงของประเทศเรานั้น มิอาจจะใช้ระบบการเรียนการสอนแบบ e-Learning นี้ทดแทนครูได้หรอกครับ เหมือนกับที่เราไม่สามารถจะบันทึกการสอนของครูด้วยสื่อวีดิทัศน์แล้วไปเปิดเพื่อสอนแทนครูได้ผลเหมือนกับการสอนจริงสดๆ เราจะใช้ e-Learning เพียงเป็นสื่อเสริมการจัดการเรียนการสอนแบบปกติ ในเนื้อหาที่ค่อนข้างจะเป็นเรื่องจริง ข้อเท็จจริง (Fact) เมื่อศึกษาแล้วสามารถสืบค้นไปยังแหล่งอ้างอิงข้อมูลอื่นๆ ซึ่งอาจไม่สามารถทำได้ครอบคลุมในชั่วโมงเรียนปกติ หรืออีกนัยหนึ่ง จัดเพื่อให้เป็นการศึกษาเพิ่มเติมในภายหลังสำหรับผู้เรียนที่ช้าไม่ทันเพื่อนในเวลาอันจำกัด จะได้ศึกษาทบทวนในภายหลังได้
เอาล่ะ ถ้าเราจะใช้กันจริงๆ มีความจำเป็นขนาดไหนที่จะต้องจัดหาซอฟท์แวร์ในการสร้างบทเรียนออนไลน์ ซอฟท์แวร์ระบบวัดผลประเมินผล ช่องทางการสื่อสารความเร็วสูงที่ผู้เรียนและผู้สอนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ทันใจ รอให้มีหน่วยงานผลิตสื่อ/บทเรียนหรือจัดตั้งกรมผลิตสื่อ e-Learning ซึ่งอาจจะต้องลงทุนหลายร้อยหลายพันล้าน (จะเอามาจากไหนยังนึกไม่ออก) คงจะไม่ทันการแล้วครับ ทางออกของเราตอนนี้ที่สามารถทำได้เลยทันทีก็คือ
เราจะใช้ครู-อาจารย์ที่มากด้วยความสามารถและประสบการณ์ในการสอนนี่แหละ มาเรียนรู้การทำเว็บเพจด้วยภาษาเอชทีเอ็มแอล (HTML) กัน จะนำขึ้นบนเซิร์ฟเวอร์ใช้เรียนบนอินเทอร์เน็ตจริงๆ ก็ได้ หรือจะเขียนบันทึกลงบนแผ่นซีดี (ต้นทุนไม่กี่บาท) ให้นักเรียนยืมไปศึกษาที่บ้านก็ได้ การเรียนในชั้นเรียนยังคงมีเหมือนเดิม ครูยังคงมีบทบาทในชั้นเรียน ใช้สื่ออื่นๆ ตามปกติเหมือนเคย เพียงแต่เพิ่มการศึกษาเพิ่มเติมผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (ถ้ามี) หรือด้วยแผ่นซีดี แล้วมาทำการวัดและประเมินผลด้วยการรายงานหรือการสอบตามปกติ เท่านี้แหละ e-Learning เราก็พร้อมที่จะก้าวเดิน เมื่อครูพร้อม ผู้เรียนพร้อม รัฐพร้อมที่จะจัดหาสื่อและอุปกรณ์ รวมทั้งสามารถสร้างเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน
วิธีการนี้เรียกว่าการก้าวเดินอย่างช้าๆ แต่มั่นคง ลงทุนไม่มาก ไม่ต้องรอให้มีโปรแกรมซอฟท์แวร์คุณภาพสูง ไม่ต้องมีซูเปอร์คอมพิวเตอร์หรือเครือข่ายความเร็วสูง ใช้เพียงคอมพิวเตอร์ธรรมดาที่ตอนนี้เริ่มมีกันเป็นเครื่องใช้ภายในบ้านบ้างแล้ว มาใช้ในการเรียนรู้แทนการเล่นเกมและร้องคาราโอเกะ เท่านี้เองครับ
e-Learning ที่เราฝันก็จะถึงวันเป็นจริงได้ มาช่วยกันซิครับ...
ตัวอย่างนี้มีเพื่อนส่ง e-Learning มาให้ เขาถามกันในเมืองจีนว่า 64=65? จริงไหมครับ?
ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 31 มกราคม 2546
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)