คุณสมบัติของครูยุคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร *
กล่าวกันว่าครูในยุคปัจจุบันควรมีคุณสมบัติที่จัดว่าเป็นนักวิชาการ นักปฏิบัติ และนักจัดการรวมอยู่ในตัวคนเดียวกัน จึงจะสามารถทำหน้าที่บูรณาการความรู้ และกระบวนการเรียนรู้ นำผู้เรียนไปสู่เป้าหมาของการศึกษาได้ นั่นคือ ผู้เรียนที่เก่ง ดี และมีสุข
คุณสมบัติของครูที่พึงปรารถนาและเป็นที่คาดหวังของสังคม ได้แก่
- มีความรอบรู้ในเนื้อหาวิชาที่สอนอย่างลุ่มลึก ครูต้องมีความสามารถ วิเคราะห์สกัดเอาแก่นของความรู้มาเสนอได้อย่างแม่นยำ และสามารถสังเคราะห์ความรู้นำมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับการเรียนการสอน ทำให้ศาสตร์ที่สอนมีความเข้มแข็งและเข้มข้น
- ติดตามความก้าวหน้าในเทคนิควิธีสอนตลอดเวลา ครูจึงต้องเป็นสมาชิกของสมาคมหรือชมรมทางวิชาชีพ เช่น สมาคมครูคณิตศาสตร์ ชมรมครูภาษาไทย หรือชมรมครูทางอินเทอร์เน็ต (อย่าง เพื่อนครูมนตรี นี่ไง) และอีกหลายๆ ชมรม สมาคมที่ครูสนใจ นอกจากนี้การติดตามอ่านวารสารทางการศึกษาจะช่วยให้ครูทราบเทคนิควิธีสอนใหม่ๆ และนำมาใช้พัฒนาการเรียนการสอนของตนในชั้นเรียน
- เป็นแบบอย่างในการคิดการทำ ครูมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของผู้เรียนเป็นอย่างมาก การกระทำของครูจะอยู่ในสายตาผู้เรียนตลอดเวลา ผู้เรียนจะเลียนแบบครูโดยไม่รู้สึกตัว ดังนั้น หากครูต้องการให้ผู้เรียนมีพฤติกรรมอย่างไร คิดอย่างไร ครูควรนำสิ่งเหล่านี้มาสะสมไว้ในตัวครูขณะทำการสอน
- เป็นนักจิตวิทยาการเรียนรู้ ครูต้องรู้จักผู้เรียนเป็นอย่างดี รู้ว่าผู้เรียนมีความรู้ ความสามารถอย่างไร สนใจ และถนัดในเรื่องใด ต้องการอะไร ทำอย่างไรจึงจะกระตุ้นให้ผู้เรียนใฝ่รู้ใฝ่เรียน ก้าวทันความรู้และสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้
- เป็นนักเทคโนโลยีสารสนเทศ ครูต้องเข้าถึงแหล่งความรู้ใหม่ๆ รู้วิธีและใช้เครื่องมือค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งความรู้ต่างๆ ได้ รวมถึงสามารถนำโปรแกรมการศึกษาต่างๆ มาใช้ในการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสม
- เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ ครูปัจจุบันไม่ว่าจะจบการศึกษาระดับใด หรือสาขาวิชาใด ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาอังกฤษ เพราะภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ที่ทันสมัยจากอินเทอร์เน็ตและมัลติมีเดีย หากครูยังคงใช้ตำราภาษาไทยซึ่งแปลความรู้มาจากหนังสือภาษาอังกฤษ เท่ากับครูกำลังศึกษาความรู้เมื่อ 10 ปีก่อน
- เป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต ครูต้องเป็นผู้เห็นคุณค่าและความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทุกวันของครู คือ การเรียนรู้ การเรียนรู้ คือการพัฒนาตนเองและวิชาชีพ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเยาวชนให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพของประเทศชาติ
คุณสมบัติดังกล่าวจะเกิดขึ้นในตัวครู เมื่อครูมีการปรับความคิด และวิธีการทำงานของตนเอง กล่าวคือ ครูต้องคิดว่าเด็กทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ มีการเก็บสะสมพัฒนาการของผู้เรียน และมีการประเมินผลการเรียนตามสภาพจริง ส่วนการทำงานหรือการสอน ครูต้องเริ่มต้นจากการศึกษาศักยภาพของผู้เรียน ค้นหาวิธีจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เหมาะสม จัดทำหรือนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้ได้ผล ต่อไปนี้ ความก้าวหน้าของครูจะขึ้นอยู่กับผลงานในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนอย่างแท้จริง
*ชนาธิป พรกุล. แคทส์ รูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง.
เห็นว่าตรงประเด็นสำหรับเพื่อนครูทั้งหลายเลยนำมาเผยแพร่ไว้ ณ ที่นี้อีกต่อหนึ่ง ถ้าทำได้ทุกข้อคุณก็คือยอดครูแล้ว พยายามเข้านะครับผมก็มีไม่ครบในนั้นหรอกครับมีข้อละนิดละหน่อยพอเป็นกระสายเท่านั้นเอง
ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 14 กุมภาพันธ์ 2546