ผมได้มีโอกาสไปเข้าร่วมกิจกรรม "การพัฒนากล่องสมองกลเพื่อกิจกรรมการเรียนการสอน" ระหว่างวันที่ 9-12 กรกฎาคม 2546 ที่ โรงแรมรอแยลเบญจา สุขุมวิท 5 กรุงเทพมหานคร งานนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
งานนี้ไม่หมูเลยนะครับ ออกจะเป็นการทรมานคนแก่ (เรียกโก้ๆ ว่า สว = สูงวัย) ไม่น้อยทีเดียว เพราะต้องทำตั้งแต่การทำลายปรินท์เซอร์กิต (กัดแผ่นทองแดงให้ได้ลายวงจร เจาะรูสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กันเองเลยทีเดียว) จากนั้นต้องมาใส่อุปกรณ์ไอซี ทรานซิสเตอร์ ตัวต้านทาน ตัวเก็บประจุ บัดกรี ทดสอบด้วยการเขียนโปรแกรมควบคุมอีก (ที่ไม่หมูเพราะบรรดานักทดสอบต่างก็มีอายุวัยรุ่นตอนปลายกันทั้งนั้น สายตาเริ่มฝ้าฟางแล้วครับ)
บรรยายโดย อาจารย์ยืน ภู่วรวรรณ และลงมือช่วยกันบัดกรี (วิทยากรก็ลุยด้วย)
แค่ดูภาพก็รู้ว่าลุงๆ (สว) จะแย่แล้วสายตาไม่ดี ที่เห็นใส่แมสก์ไม่ได้กลัวโรคซาส์หรอก (กลัวไอตะกั่ว)
คงมีคำถามกัน เราสามารถนำกล่องสมองกลตัวนี้ไปประยุกต์ใช้ได้มากมายครับ เพราะกล่องสมองกลก็คืออุปกรณ์ที่เรียกว่า ไมโครคอนโทรลเลอร์ ที่นำไปใช้ในโครงงานวิทยาศาสตร์เช่น การตรวจวัดด้วยเซนเซอร์ การเก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ควบคุมการปิดเปิดกระแสไฟฟ้า (หลอดไฟ มอเตอร์ ปั๊มน้ำ ฯลฯ) พัฒนาต่อไปเป็นหุ่นยนต์อย่างง่าย เพื่อการแข่งขันด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า เป็นอุปกรณ์ประกอบการสอนการเขียนโปรแกรมควบคุมของนักคอมพิวเตอร์รุ่นเยาว์ ซึ่งอีกไม่นานคงจะสำเร็จออกมาเป็นชุดสำหรับการเผยแพร่ (ชุดทดลองที่ทำต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 600 บาท ถ้าซื้อชุดสำเร็จที่มีขายอาจถึง 1,200 บาท แต่ขาดการคิด ออกแบบและองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำงานไป)
ผลจากการไประดมสรรพกำลังทั้งสมอง และสองมือทำในครั้งนั้นก็ถูกต่อยอดไปเป็นกล่อง IPST Box ในกาลต่อมานั่นเอง
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)