ในห้วงปลายปีเก่าต่อเนื่องมายังต้นปีใหม่นี้ นับว่ามีข่าวสะท้านสะเทือนวงการครู แบบเขย่าขวัญเลยก็ว่าได้ ผมคิดว่าตัวเองโชคดีที่กระโดดหนีออกมาก่อน ไม่งั้นมีการแผ่รังสีอำมหิตออกมาแน่นอน (ผมนะโดนรังสีเพราะปากโป้งไม่หยุดหย่อน) วันนี้เลยขอวิพากษ์วงการศึกษาเกี่ยวกับข่าวต่างๆ เหล่านี้กันสักเล็กน้อย จากประสบการณ์อยู่ในวงการครูมา 35 ปี ก่อนจะมาเป็นราษฎรเต็มขั้นในวันนี้
เพราะความเป็นประชาธิปไตย ที่รู้จักแต่สิทธิของตนเอง แต่ไม่เคยคิดทำหน้าที่ กอร์ปกับการที่เกิดมีเศรษฐีใหม่ ไฮโซ ไฮซ้อ ที่ไม่เคยสัมผัสชีวิตยากลำบากเยี่ยงบรรพบุรุษ เลี้ยงลูกดุจเทวดา ทำให้เกิดการเรียกร้องแต่สิทธิที่คิดว่าจะทำให้ชีวิตนี้ศิวิไลซ์ แต่หารู้ไม่ว่า นั่นคือทางหายนะในอนาคต ไม่ใช่เพราะผมคิดไปเองนะ แต่มันมีเหตุมีผลของมันอยู่ เพียงแต่เราไม่มอง ไม่หยุดคิดก่อน เพียงเพราะเป็นฐานเสียงของการเมือง จึงทำให้การพูดออกมาในเรื่องของนโยบาย แนวปฏิบัติ ไม่ได้รับการกลั่นกรองมาก่อน เรียกว่าถูกเจาะปากให้พูดออกมาเพื่อประชานิยมโดยแท้
เริ่มตั้งแต่เรื่องทรงผมกันก่อน ผมรู้จะมีคนเถียงสวนมาทันที "จะไว้ผมสั้น ผมยาว มันก็ไม่ทำให้โง่มากขึ้น หรือฉลาดมากขึ้นกว่่ากัน" ครับ มันไม่ทำให้คนไว้ผมสั้นเรียนโง่ลง เพราะถ้ามันโง่เชื่องช้าการพัฒนามันก็ยังช้าอยู่ แม้จะอนุญาตให้ไอ้คนนี้มันไว้ผมยาวลากดินมันก็ไม่ช่วยให้เขาฉลาดขึ้นแน่ๆ มันไม่เกี่ยวกับการเรียนรู้ แต่มันมีความสำคัญในเรื่องของระเบียบวินัย การแยกแยะ การทำให้วิถีชีวิตของคนไทยเราดีขึ้น ผมอยากจะยกตัวอย่างของเด็กอยากเกรียนมาให้อ่านกัน (ลอกมาจากเฟซบุ๊ค ขอบคุณ ผอ.วันชัย (Wanchai Loveking))
บักทึกการตัดพ้อจากเด็กผู้ชายคนหนึ่ง
" ....เขาห้ามไว้ผมเกรียน หากผมจะไม่เคารพระเบียบ อยากจะไว้เกรียน จะได้ไหมครับ ผมว่าเกรียนมันดี ไม่ต้องใช้หวี ไม่ต้องมีน้ำมัน ไม่ต้องสระบ่อย ไม่ต้องเสียเวลาในการจัดทรง แล้วก็มีความเสมอภาคดีมากเลยครับ คนจนคนรวย คนขี้เหร่ คนรูปหล่อ คนดั้งหักคนดั้งโด่ง คนหน้าเกาหลี คนหน้าเต้าหู้ยี้ คนหน้าดำ คนหน้าขาว เกรียนเหมือนกันหมด หน้าก็ไม่ต่างกันมากครับ
เกรียนแล้วผมไปไหน ผู้ใหญ่ก็เอ็นดู มองผมเป็นลูกเป็นหลาน จะแย่งขึ้นรถ เขาก็ว่า "ไอ้หนูเอ็งไปก่อนเลย" เอามอเตอร์ไซค์พี่ไปขี่ไม่สวมหมวกกันน็อค ตำรวจเรียกก็แค่อบรมว่า "ไอ้น้องวันหลังอย่าให้เห็นอีกนะ" ผมเห็นลุงจำลองแก่แล้ว ท่านยังเกรียนเลย
พ่อผมยังบอกว่าอีกว่า สมัยรุ่นพ่อนะ ผมเกรียนตีตั๋วดูหนังเสียแค่ครึ่งเดียว ขึ้นรถเมล์ไปเรียนก็เสีย 25 สตางค์เอง
ผมยังอยากเกรียนจะได้ไหมครับ จะผิดกฏเขาไหม และจะโดนคุณครูหักคะแนนไหมครับ?"
ในอนาคตต่อไป ถ้าเราไม่สามารถแยกแยะได้ว่าใครคือครู ใครเป็นนักเรียน คงได้ยุงแน่ๆ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คงต้องลำบากใจอีกครั้งที่จะต้องออกมาบอกว่า "กฎระเบียบใหม่ของคนเป็นครูต้องทำตัวให้แตกต่างจากนักเรียนอย่างไร?" คราวนี้ล่ะเป็นเรื่องลำบากใจไปทั้งบาง เผลอๆ นักเรียนบางคนอยากลองดีอาจจะแต่งตัว ทำตัวเลียนแบบครูเข้าไปอีก ยุ่งขิงๆ แน่เลย
เห็นไหมล่ะ ว่าการพูดออกมาก่อนโดยไม่คิด จัดทำระเบียบปฏิบัติให้เรียบร้อย เอามาปรึกษาหารือกัน (ถ้าจะให้หรูต้องบอกว่า "ทำประชาพิจารณ์") มองถึงประโยชน์หรือข้อดี ข้อเสียที่ได้จากการเปลี่ยนแปลงนั้น ค่อยป่าวประกาศกันก็ได้ ผมไม่ได้ขวางในการเปลี่ยนแปลง เพียงแต่ต้องมีลิมิตออกมาก่อนว่าจะแค่ไหน อย่างไร เพื่อให้คนปฏิบัติได้ทำให้ถูก(ใจ) ไม่ใช่ต้องมาทนถูกไอ้เด็กเมื่อวานซืนมาท้าวสะเอวเถียงอยู่ปาวๆ อย่างทุกวันนี้
ล่าสุด มาถึงเรื่อง "การบ้าน" ไอ้นี่ก็มาจากต้นเหตุของฐานเสียงเหมือนกันนั่นแหละ ถ้าไปถามพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่เขาไม่ได้คล้อยตามนโยบายนี้เลย มันกำลังสร้างภาระในการต้องจ่าย ต้องหาเงินส่งลูกเรียนพิเศษอย่างขนานใหญ่อีกแล้ว
จริงๆ แล้วการบ้านไม่ได้ทำให้นักเรียนต้องเคร่งเครียดอะไรนักหนา ตัวต้นเหตุมันมาจากพ่อ-แม่ ผู้ปกครองนี่แหละ ที่ต้องการให้ลูกไปเรียนในโรงเรียนดัง ชื่อเสียงฟู่ฟ่า หรือโรงเรียนที่พ่อแม่เคยเรียนมา จะไกลแค่ไหนก็จะส่งไปเรียนให้ได้ แล้วปัญหามันคืออะไร? ปัญหาคือการเสียเวลาครับ เสียเวลาในการเดินทางจากบ้านไปโรงเรียน ต้องตื่นแต่ตีสี่เพื่อให้ทันเข้าเรียนแปดโมงเช้า เลิกเรียนยังต้องไปเรียนพิเศษอีกเลิกหกโมงเย็นบ้าง สองทุ่มบ้าง กว่าจะกลับเข้าบ้านก็ปาไปเที่ยงคืน แล้วจะเอาเวลาที่ไหนมาทำการบ้าน มันเครียดไหมล่ะ
ถ้าเรียนโรงเรียนใกล้บ้าน (เอาล่ะแม้ชื่อเสียงจะไม่โด่งดัง แต่ครูทุกคนก็ตั้งใจสั่งสอนศิษย์แน่ๆ ที่โรงเรียนไม่ค่อยมีชื่อ เพราะตัวป้อนเขาเลือกไม่ได้อย่างโรงเรียนดังนี่ครับ) เราจะไม่เสียเวลาเดินทางมากนัก ไม่กี่นาทีก็ถึงแล้ว เลิกเรียนมีเวลาทำการบ้าน ปรึกษาเพื่อน ปรึกษาครู เผลอๆ ไม่เหลือไปทำที่บ้านด้วยซ้ำ กลับบ้านยังมีเวลาช่วยเหลือพ่อแม่ผู้ปกครองทำงานบ้านได้อีก ครอบครัวเป็นสุขมากมายเห็นๆ แล้วจะโทษใครล่ะ การบ้านหรือพ่อ-แม่ ผู้ปกครองที่ทำให้เวลาของลูกหายไป
อ่านเฟซบุ๊คของท่านอาจารย์ ดร.สุพักตร์ พิบูลย์ แล้วก็เห็นตามนั้นว่า เด็กเขาคิดต่างจากเจ้ากระทรวงศึกษาธิการและเลขา สพฐ. ขนาดไหน ลอกมาให้อ่านดังนี้ครับ "1 ก.พ. 56 ผมไปเก็บรวบรวมข้อมูลโครงการ พัฒนาครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง ที่โรงเรียนแกลง "วิทยสถาวร" จังหวัดระยอง... ผมได้พูดคุย-สัมภาษณ์เด็ก ม.3 5 คน คำสนทนา ดังนี้
---------------------------------------------------------------------------------
ผม : ปัจจุบันการบ้านเยอะไหม...
นักเรียน : เยอะค่ะ
ผม : การบ้านทำให้พวกเราเครียดไหม
นักเรียน : ไม่ละค่ะ เป็นงานปกติ
ผม : ถ้าจะลดการบ้านให้น้อยลง แล้วให้ไปทำโครงงาน หรือศึกษาค้นคว้า สร้างชิ้นงานสำคัญๆ มากขึ้น นักเรียนคิดว่า ดีมั๊ย
นักเรียน : อ้าว... ถ้ายังไม่ได้ฝึกทักษะพื้นฐานที่เพียงพอ แล้ว คุณลุงคิดว่า พวกหนูจะเอาความรู้และทักษะที่ไหนไปทำโครงงานชิ้นสำคัญๆ ละค่ะ
.....โอ้ เด็กๆ คิดได้แหลมคมจริงๆ
---------------------------------------------------------------------------------
ผมขออนุญาตท่าน ผอ.วันชัย อีกครั้ง จากหน้าเฟซบุ๊คของท่าน "ไม่มีการบ้าน ทำเหมือนเด็กนักเรียนเป็นผู้อาวุโส ไร้สมรรถภาพไปได้ ถึง "ไม่ต้องทำการบ้าน" การบ้านไม่ทำไม่ต้องว่ากัน ตัดพ้อ ไม่ได้แล้ว เพราะมีระเบียบรับรองห้ามปรามเป็นกิจลักษณะ
ผมว่า ผมเก่งกว่าเด็กสมัยนี้ เพราะ ตำแหน่งหน้าที่ที่ปรากฏเป็นตัวการันตี ผมว่า ผมรู้อะไรมากกว่าเด็กสมัยนี้ ยกเว้นการรู้มาก ตอนเด็กเด็ก เลิกเรียนแล้วกว่าจะหิ้วกระเป๋ากลับบ้านได้ บางวันต้องไปเรียงตัวท่องอาขยานให้ครูฟังก่อนหน้าโต๊ะครู สูตรคูณก็ท่องดังดังพร้อมกันทั้งห้องทุกเย็น ตะเบ็งแหกปากแข่งกะห้องอื่นอื่นด้วย แม่ 1 ถึงแม่ 12 ส่วนแม่ 13 ขึ้นไป ครูผมวิสัยทัศน์ดี ครูว่าไม่ต้องไปท่องให้เปลืองช่องว่างของสมอง ไปหาดูจากไม้บรรทัด หรือหลังสมุดเอา
เสร็จ แล้วก็ท่องสระทุกสระ และพยัญชนะ ก.ไล่ไปถึง ฮ.นกฮูก หัดสะกดคำ ก็ต้องท่องสระต่างต่างดังดัง พร้อมกัน เช่น ก.ไก่ ก.อะกะ ก.อะกา ก.อะกิ ก.อะกี ก.อะกึ อ.อะกือ ไล่ไปเถอะจนถึง ฮ.นกฮูก
จะยกเว้นบ้าง ก็ตอนถึง ห.หีบ ใหม่ใหม่คุณครูก็ไม่ห้ามปราม พวกไอ้แดง เด็กหลังห้องมันตะโกนลั่นไปทั้งโรงเรียนเลยกระมัง ตอนที่ท่องถึง ห.หีบ ห.อะหะ ห.อาหา ห.อิหิ ห.อี ... ครูก็จะรีบสอดก่อนว่า ข้ามไปเลย ตรง "สระอี" ไม่ต้องออกเสียง
จบแล้วหัวหน้าห้องบอก "นักเรียนทำความเคารพ" พวกเราก็ลุกจากเก้าอี้ ยืนตัวตรง ประสานเสียงลั่นเชียว จะได้กลับบ้านแล้วนิ "สวัสดีครับ คุณครู" ถึงวันนี้ จะไม่มีการบ้านเสียแล้วละครับ คุณครูที่เคารพเอ๋ย"
สมัยผมก็เป็นแบบท่านเหมือนกัน ท่องไม่ได้มีปูหนีบบิดไส้ ตัวงอเป็นกุ้ง หรือท่องผิดท่องถูกจะถูกสั่งให้ไปยืนใกล้เสา ใกล้ขอบวงกบประตู หน้าต่าง ผิดคำไหนต้องมะเหงกลงไปแรงๆ ให้มีเสียงดังไปทั่วห้อง (หลับตานึกสิครับ เสาไม้แข็งขนาดนั้นมันจะมีเสียงได้ไง) แต่ผมก็ไม่เคยนึกคิดโกรธคุณครูนะ กลับจำและระลึกได้ว่า ถ้าไม่มีวันนั้น คงไม่มีผมในวันนี้แน่ๆ ขอบพระคุณคุณครูทุกท่านที่พร่ำสอนผมในวัยเด็กครับ
พอมาเรื่องท่องบทอาขยาน สูตรคูณนี่ ก็นึกไปถึงการทำเวรครับ ไม่ใช่การไปทะโมนก่อกรรมทำเวรนะครับ หมายถึง เวรรักษาความสะอาดห้องเรียน ห้องน้ำ สนามหญ้าในโรงเรียน ซึ่งสมัยนี้ดูจะอ่อนแอ หรือแทบจะไม่มีการทำเวรจริงจังกันอีกแล้ว โดยเฉพาะโรงเรียนในเมืองใหญ่ๆ มีการเรียกเก็บเงินจากผู้ปกครอง มาเป็นค่าทำความสะอาด จ้างแม่บ้าน จึงทำให้ทัศนะคติของนักเรียนเปลี่ยนไป "ฉันจะต้องทำเวรทำไม ในเมื่อพ่อฉัน แม่ฉันจ่ายค่าจ้างแม่บ้านให้ทำความสะอาดแล้ว" ไม่ทำเวรยังไม่พอ ยังช่วยทำความสกปรกไปทั่ว กลายเป็นโรงเรียนสีขาวเพราะเต็มไปด้วยเศษกระดาษ ขยะไปทั่วทุกซอก
ในอดีต บางโรงเรียนอาจทำเวรแบบจริงจัง เด็กๆ อาจมีการแบ่งกลุ่ม แบ่งหน้าที่รับผิดชอบชัดเจน ทำเป็นตารางติดข้างห้อง ตั้งแต่วันจันทร์ยันวันศุกร์ ทั้งในเวลาเช้าก่อนเข้าเรียน ด้วยการลบกระดาน กวาดพื้น เทขยะในถังหลังห้อง เตรียมห้องเรียนให้พร้อมสำหรับการเรียน บางโรงเรียนอาจมีการจัดดอกไม้ใส่แจกันเพิ่มความสดชื่นให้ห้องเรียนด้วย และหลังเลิกเรียนที่อาจต้องมีการปัดกวาดเช็ดถูบ้าง ยกเก้าอี้ขึ้นวางบนโต๊ะบ้าง เก็บข้าวของต่างๆ ที่กองระเกะระกะให้เข้าที่เข้าทาง ปิดประตู-หน้าต่าง หรือนานๆ ครั้งอาจมีการร่วมแรงร่วมใจขัดพื้นห้องให้เงาวับ ถอดรองเท้าเดินได้อย่างสบายใจก็มี
สมัยผมเรียนชั้นประถมเป็นอาคารไม้ พื้นจะต้องมีการลงเทียนพื้นห้องเดือนละครั้ง (ต้มเทียนไขละลายในน้ำมันก๊าด) ไม่ได้มี wax กระป๋องขายอย่างทุกวันนี้ ตอนเย็นๆ ช่วงที่ท่องอาขยานหรือแม่สูตรคูณ เราจะใช้มะพร้าวแห้งผ่าครึ่ง มาขัดพื้น บ้างก็ขึ้นนั่งให้เพื่อนลากไปทั่วห้องได้ความสะอาดมันแว๊บ และได้ประโยชน์จากการท่องจำในความงดงามของภาษา ได้หลักวิธีคิดเลขเร็วในใจโดยไม่ต้องอาศัยเครื่องคิดเลข
การทำเวรเป็นการสร้างสุขนิสัยที่ดี รักความสะอาด มีจิตใจเสียสละ ที่เรียกกันว่า จิตอาสาในปัจจุบัน มันติดเป็นนิสัยจากโรงเรียน กลับไปบ้านก็ได้ช่วยเหลือทางบ้าน ทำความสะอาดบ้าน เอาง่ายๆ แค่ห้องนอนตัวเองก็ไม่รกเป็นรังหนู แต่ในปัจจุบันนี้ จะมีเด็กสักกี่คนที่กวาดบ้านเป็น กวาดบ้านสะอาด (อันนี้ไม่ได้ดูถูกนะ การกวาดบ้านเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ไม่ใช่สักแต่จับไม้กวาดเป็น กวาดทีแทนที่จะสะอาดกลับฝุ่นฟุ้งไปทั้งบ้าน) ก็เพราะพ่อแม่บางคนกลัวลูกเสียเวลาเรียน เสียเวลาทำการบ้าน จริงๆ แล้วถ้าเขาเป็นเด็กฉลาดมีวุฒิภาวะ เขาสามารถจัดสรรแบ่งเวลาในการทำสิ่งต่างๆ ได้แน่นอน ผู้ใหญ่ต่างหากที่ทำให้เขาเป็นคนหยิบโหย่ง ไม่เป็นโล้เป็นพาย เข้าทำนอง "พ่อ-แม่รังแกฉัน" นั่นเชียว
เรื่องของการบ้านพอสั่งให้ลดแล้วโดนต้าน ก็ออกมาเฉไฉว่า ควรแยกเป็นช่วงชั้นประถม มัธยมต้องแตกต่างกัน จะต้องมีการบูรณาการในทุกสาระวิชา พูดนะมันง่ายครับท่าน คิดในกระดาษวางแผนก็ง่ายครับท่าน แต่พอลงมือทำจริงๆ มันยากมาก เพราะอะไรหรือ? เพราะครูเราอัตตาสูง กลัวตัวเองไม่เด่น กลัวคนอื่นจะมาแย่งผลงาน กลัวคนอื่นจะรู้ทันว่าตัวเองมันไม่ประสีประสา บางคนมีแต่คำคุยโวโอ้อวด พอเอาเข้าจริงกับทำอะไรไม่เป็นสักอย่าง แม้แต่เรื่องในหน้าที่ตนเอง มันถึงบูรณาการกันไม่ได้ เคยทำมาแล้ว และเจอมาแล้ว "มอบน้องดูแลทั้งหมดเลยนะ พี่ไม่รู้เรื่อง" พูดง่ายๆ พี่จะเอาแต่คะแนนไปลงสมุด ปพ. เท่านั้นเอง
ในทางทฤษฎี "การบูรณาการ" เป็นเรื่องที่ดี เพราะทุกอย่างเป็นองค์ความรู้ เบ็ดเสร็จเรียน/ทำครั้งเดียว แล้วได้ประโยชน์หลายอย่าง การสั่งงานให้เด็กทำเป็นกลุ่ม เป็นงานกลุ่มก็เป็นสิ่งที่ดีเช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากภาระบีบรัดและการแข่งขันในสังคมเมือง งานกลุ่มจึงเป็นงานของคนคนเดียว ที่รับผิดชอบสูง แล้วใส่ชื่อเพื่อนที่ช่วยออก "สตางค์" เป็นค่ากระดาษ ค่าพิมพ์และค่าเข้ารูปเล่ม ส่วน "องค์ความรู้" ได้เป็นงานเดี๋ยวของคนทำ ซึ่งวิธีการที่ถูกต้อง โรงเรียนจะต้องให้เป็นงานที่ทำในโรงเรียน ค้นคว้าจัดทำกันในช่วงเวลาพัก หรือชั่วโมงศึกษาค้นคว้า จึงจะได้ผลตามที่หวัง และเปลี่ยนการบูรณาการจากครูหลายคน หลายวิชา มาเป็นครูคนเดียว ที่บูรณาการในทุกศาสตร์เข้าไว้ในการสอนของตนเองจะดีกว่า
ขอเป็นกำลังใจให้เพื่อนครูทุกคนครับ เราต้องพร้อมที่จะต่อสู้พูดความจริง ทำความเข้าใจกับพ่อ-แม่ ผู้ปกครองนักเรียน ให้พ่อ-แม่ ผู้ปกครองเข้าใจครู ไว้ใจ และมอบให้เราได้ฝึกอบรมลูกหลานของเขาตามกรรมวิธีของครูมืออาชีพ อย่าให้เขากลัวว่า มาประชุมที่โรงเรียนแล้วต้องโดนรีดไถอีกแล้ว ไหนจะกฐิน ผ้าป่าการศึกษา ให้เขาบริจาคเสียสละตามความสมัครใจเถิดครับ พลังจงสิงสถิตย์อยู่กับทุกท่าน (ออกแนวสตาร์วอร์ไปนิด) สู้ๆ ครับ เราต้องพิสูจน์ให้ฝ่ายการเมืองเห็นว่า การสร้างอนาคตของชาติ ไม่ใช่งานแค่พูดเพียงลมปากแล้วจะพลิกแผ่นดิน แผ่นฟ้าได้ งานการศึกษาไม่ใช่งานประชานิยมที่จะเห็นผลได้ภายใน 4 ปีตามอายุรัฐบาลดอกหนา...
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)