หลังจากที่สุขใจได้ไปเวียนเทียนบนบุโร พุทโธ อธิษฐานจิตกันแล้ว คณะของเราก็เดินทางด้วยรถบัสคันเดิม กลับเข้าสู่ย็อกจาการ์ต้า ระหว่างทางผ่านตลาดชุมชนที่ขายผลไม้ประจำถิ่น คือ สละ แหล่งปลูกใหญ่อยู่ที่นี่ มีผลใหญ่เปลือกบาง เนื้อหนา เมล็ดเล็ก รสชาติดีมากครับ หวานอมเปรี้ยวนิดๆ ใครมีกระเป๋าน้ำหนักน้อยๆ สามารถซื้อหาเป็นของฝากกลับเมืองไทยได้ เขามีชะลอมไม้ไผ่ใส่ให้สามารถโหลดขึ้นเครื่องได้ขนาด 5-7 กิโลกรัม ราคาแค่กิโลกรัมละหมื่นเอง (ไม่แพงถ้าคิดกลับเป็นเงินไทยประมาณ 30 บาท) ไม่รู้ชาวบ้านเขาจะกำไรหรือขาดทุนนะครับเพราะลงไปชิมกันเยอะ
จากนั้น เราเดินทางต่อเข้าสู่ตัวเมือง แวะชมวังสุลต่าน องค์ที่ 10 กัน ที่นี่เป็นที่พำนักของสุลต่าน ซึ่งประกอบไปด้วยส่วนบ้านพัก (ไม่ได้เข้าชม) ส่วนท้องพระโรง (ที่ประชุม) ส่วนต้อนรับอาคันตุกะ ที่เก็บของที่ระลึกจากอาคันตุกะ ที่มาเยือนในยุคต่างๆ อายุนับร้อยๆ ปี
สุลต่าน (อังกฤษ: Sultan, อาหรับ: سلطان Sulṭān) เป็นชื่อตำแหน่งในหมู่ชนอิสลาม ซึ่งมีความหมายในทางประวัติศาสตร์มากมาย รากคำมาจากภาษาอาหรับซึ่งมีความหมายว่า "ความแข็งแกร่ง" "อำนาจ" หรือ "การปกครอง" มาจากคำนามกริยาว่า سلطة sulṭah หมายถึง "อำนาจ" ต่อมาใช้เป็นชื่อตำแหน่งของผู้ปกครองประเทศมุสลิม ซึ่งมีอำนาจปกครองอย่างเบ็ดเสร็จ (ไม่จำเป็นต้องเชื่อฟังผู้ปกครองอื่นใดที่เหนือกว่า) บางครั้งก็ใช้เรียกผู้ปกครองแว่นแคว้น ที่มีอำนาจภายในระบอบการปกครอง ต่อมายังพัฒนาความหมายไปอีกมากมายในหลายบริบท ราชวงศ์หรือดินแดนที่ปกครองโดยสุลต่าน จะเรียกชื่อว่า sultanate (อาหรับ: سلطنة)
ปัจจุบัน สุลต่าน ในอินโดนีเซียมีบทบาทในฐานะผู้นำชุมชน เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านเท่านั้น แต่ก็มีบทบาทในการให้ความเห็นในการบริหารเมือง เสนอชื่อผู้ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารเมืองได้ ในอดีตอินโดนีเซียจะมีสุลต่านในเมืองต่างๆ มาก แต่ในปัจจุบันเหลือเพียง สุลต่านในย็อกจาการ์ต้าพระองค์นี้เท่านั้นที่ยังมีบทบาทอยู่ เนื่องจากคุณธรรม จริยาวัตรที่ปฏิบัติมาตั้งแต่องค์ก่อนๆ นั้นสร้างความเลื่อมใสศรัทธาต่อผู้คน ชาวเมืองเป็นอย่างมาก
ยามใดที่มีภัยพิบัติ องค์สุลต่านจะช่วยเหลือบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่ผู้คนไม่เลือกชั้นวรรณะมาโดยตลอด มีความซื่อสัตย์ และความสามารถในทางบริหารบ้านเมือง (ซึ่ง สุลต่าน องค์ที่ 9 นั้นเคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นถึงรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ดูแลด้านเศรษฐกิจของประเทศ) ตำแหน่ง สุลต่าน จะสืบทอดโดยสายเลือดเป็นทอดๆ โดยลูกชายคนแรก แต่สุลต่านองค์ปัจจุบันไม่มีทายาทชาย (มีลูกสาว 5 คน แต่งงานไปแล้ว 4 คน ยังเหลืออีกหนึ่ง แต่ไม่ได้พบว่า คนสุดท้องนี่หน้าตาเป็นอย่างไร) ตำแหน่งสุลต่านองค์ที่ 11 คงจะเป็น น้องชายของพระองค์ บรรยากาศในวังสุลต่านนั้นเย็นสบาย มีต้นไม้ร่มรื่น ภายในวังก็ไม่ได้เคร่งครัดอะไรเหมือนบ้านชาวบ้านหรือคหบดีทั่วไป
ในตอนเช้าเราไปชมศาสนสถานยิ่งใหญ่ของชาวพุทธ บุโรพุทโธ ตอนบ่ายได้เวลาไปชมความยิ่งใหญ่ของ ศาสนสถานของพราหมณ์-ฮินดูกัน นั่นคือ ปราสาทพรัมบานัน (Prambanan) คือเทวสถานในศาสนาฮินดูที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย ตั้งอยู่ในเขตชวากลาง ห่างจากเมืองยอกยาการ์ตาไปทางตะวันออกประมาณ 18 กิโลเมตร ตัววัดนั้นสร้างขื้นเมื่อราวปี พ.ศ. 1390 แต่หลังจากสร้างเสร็จได้ไม่นาน ตัววัดก็ถูกทอดทิ้งและถูกปล่อยให้ทรุดโทรมตามกาลเวลา จนเมื่อถึงปี พ.ศ. 2461 (ค.ศ. 1918) จึงได้มีการเริ่มบูรณะวัดขึ้นมา การบูรณะของสิ่งก่อสร้างหลักสิ้นสุดลงเมื่อปี พ.ศ. 2496 (ค.ศ. 1953)
ต่อมา (27 พฤษภาคม 2006) เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.9 ริกเตอร์ ทำให้ปราสาททั้งหมดพังลงมา และได้รับการบูรณะอีกครั้งหนึ่ง (ยังไม่เสร็จสิ้น) ในปัจจุบัน พรัมบานันถูกยกย่องให้เป็นมรดกโลก และนับได้ว่าเป็นหนึ่งในศาสนสถานในศาสนาฮินดูที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ ตัววัดโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมและความใหญ่โตของปรางค์ซึ่งมีความสูงถึง 47 เมตร (ลักษณะปราสาทต่างจากในเขมรที่สร้างด้วยหินทราย ที่นี่จะเป็นหินภูเขาไฟ)
หลัง จากการชมปราสาทเสร็จ ทางออกก็จะผ่านแหล่งขายของที่ระลึก (เหมือนบังคับเข้าทางเดียว ออกทางเดียว) ซึ่งจะมีคนขายที่คอยตามตื้อแบบน่ารำคาญมากๆ ทั้งขายตุ๊กตาแกะสลักจากไม้ จากหิน เสื้อยืดที่ระลึก ผ้าพันคอ รูปภาพ/หนังสือ/ดีวีดี พอรู้ว่าเราเป็นกรุ๊ปทัวร์ไทยก็จะส่งเสียง ร้อยบาทๆ กันเซ็งแซ่เลย ที่นี่ต้องต่อรองแบบหักคอเลยนะครับ เพราะจากการนำเสนอ 4 อันร้อยบาท อาจจะปิดการขายที่ 12 อันร้อยบาทได้เลย ทุกที่ในอินโดนีเซียเป็นแบบนี้ เขาเรียกกันว่า ตลาดปราบเซียน (ไม่รู้ใครหมู ใครเซียน จะรู้ก็ต่อเมื่อขึ้นบนรถแล้วเอามาอวดกันนั่นแหละ กติกาของกรุ๊ปเราคือ จะเอาของที่ระลึกออกจากถุงบอกราคาได้ก็ต่อเมื่อรถบัสเคลื่อนตัวออกจากสถาน ที่นั้น ไม่งั้นมีโดดลงไปซื้ออีก)
เรา พักค้างคืนที่ย็อกจาการ์ต้าหนึ่งคืนที่ Jogjakarta Plaza Hotel ที่นี่เป็นโรงแรมเก่าดูที่ไหน ดูจากต้องจ่ายค่าใช้งานอินเทอร์เน็ตครับ คืนนี้จ่ายไป 50,000 Rp กับ 2 ชั่วโมง สัญญาณไม่ดีเท่าไหร่ในห้อง เลยต้องลากเก้าอี้มานั่งใช้อยู่หน้าห้องพักเลยล่ะ เพื่ออัพรูปขึ้นเฟซบุ๊ค รุ่งเช้าบินกลับบาหลีอีกครั้ง โดยสายการบินอินโดนีเซียแอร์เอเซีย (เป็นทริปที่นั่งเครื่องบินในประเทศ 2 เที่ยว ระหว่างประเทศ 2 เที่ยว ไฮโซมาก)
ถึงบาหลีเราเดินทางไปชมแหล่งผลิตผ้าบาติก (Bali Bidadari Batik) ชมขบวนการผลิตที่ซับซ้อน ได้เห็นฝีมือการเขียนลวดลายด้วยขี้ผึ้ง (Wax ชาวบาหลีเรียก klowong) ลงบนผ้าอย่างชำนิชำนาญ ไม่มีการร่างลวดลายลงบนผ้าก่อน ผ้าบาติกที่ได้แต่ละผืนจึงเป็นหนึ่งเดียวในโลก แม้จะลวดลายเหมือนกันแต่การเขียนด้วยมือสดๆ จึงไม่เหมือนกันแบบที่ใช้กระบวนการพิมพ์ลายด้วยเครื่องจักร การเขียนลายจะเป็นการถมพื้นที่ที่ไม่ต้องการให้ติดสีด้วยขี้ผึ้ง จากนั้นนำไปย้อมสีเคลือบสีป้องกันไม่ให้สีอื่นมาติดแล้วเขียนลายทับอีกครั้ง หากผืนผ้ามีหลายสีก็เขียนลายทับหลายครั้ง
สีที่เป็นเอกลักษณ์ของผ้าบาติกบาหลีจะมี สีน้ำเงิน น้ำตาล และสีเหลืองสด เป็นหลักซึ่งถูกเรียกว่า สีแห่งชีวิต แต่ก็อาจมีการเขียนลายสีอื่นๆ ตามความต้องการของลูกค้าเพิ่มเติมได้
จากนั้นเราเดินทางไกลขึ้นไปทางตอนเหนือของ เกาะบาหลี เพื่อไปรับประทานอาหารกลางวัน ที่ปากปล่องภูเขาไฟ ชมทะเลสาป ที่ภูเขาไฟบาทูร์ (Mt. and Lake Batur) การเดินทางผ่านทางแคบๆ ลัดเลาะขึ้นไปสู่ยอดเขา สองข้างทางยังอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้ ไร่พืชผลทางการเกษตรต่างๆ ผ่านหมู่บ้านที่เป็นสไตล์บาหลีแท้ๆ (ชั้นเดียว มุงหญ้า มีรั้วเป็นเอกลักษณ์ และมีวัดเล็กๆ ในทุกบ้าน (เหมือนบ้านเรามีศาลพระภูมิ เจ้าที่ หรือที่สักการะทุกบ้าน) มีวัดของหมู่บ้านใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมส่วนรวม
ตามรายทางจะเห็นร้านขายแท่นที่บูชา รูปแกะสลักหิน พระพุทธรูป รวมทั้งงานแกะสลักไม้เป็นระยะๆ รวมทั้งโรงงานแกะสลักบานประตู หน้าต่าง แผ่นใหญ่ๆ มากมายด้วยความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ อยากได้มาแต่งบ้านแต่สู้ราคาค่าขนส่งกลับเมืองไทยไม่ไหว (ราคาเฉพาะไม้แกะสลัก เทียบกับเมืองไทยแล้วถูกมากอย่างขนาดบานประตูในเมืองไทยน่าจะอยู่ที่ เจ็ด/แปดหมื่นบาท ที่โน่นอยู่หมื่นต้นๆ เอง แต่การขนส่งมาเมืองไทย การขออนุญาตนำเข้ายุ่งยากและราคาคงพอๆ กับบ้านเราเลยทีเดียว) แต่ที่อยากได้เป็นพวกรากไม้ที่แกะสลักเป็นรูปสัตว์ เช่น ม้า กวาง ทำได้สวยท่วงท่าสง่างามมาก (ถ่ายภาพไม่ทัน เพราะรถบัสไม่จอด ถนนแคบถ้าจอดแล้วกีดขวางทางมาก)
ภูเขาไฟบาทูร์ที่เราไปนี่ยังไม่ดับนะครับ เคยปะทุมาครั้งหนึ่งเมื่อปี 2006 จนเกิดเป็นปล่องใหม่ที่เห็นในภาพ จากนั้นเรากลับลงมาผ่านวัดชื่อ Pura Tirtha Embul ที่ว่ากันว่ามีบ่อน้ำพุศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างโดยพระอินทร์ จึงมีคนมาเคารพกราบไหว้ รวมทั้งมาอาบน้ำที่บ่อศักดิ์สิทธิ์นี้กันคับคั่ง ทางออกจากวัดเหมือนเดิมครับ "ตลาดปราบเซียน" อีกแล้วครับท่าน
ช่วงเย็นก็ไปรับประทานอาหารทะเลตำหรับ บาหลีอีกแล้วที่ Jimbaran beach อาหารคล้ายกันกับที่ทานาล็อท แต่จะดีกว่าหน่อยในเรื่องความสด และบรรยากาศที่นั่งบนชายหาดกันเลยทีเดียว กรุ๊ปทัวร์ของเราไม่อดตายเพราะขนอุปกรณ์สำหรับการตำส้มตำไปครบครัน ทำให้ลื่นคอขึ้นเยอะทีเดียว คืนนี้พักที่บาหลีโรงแรมเดิม Best Western Kuta ที่นี่ Wi-fi ฟรีครับ
รุ่งเช้า เราไปชมระบำบาร็อง (The Barong and Kris Dance) ซึ่งเป็นเรื่องราวของการต่อสู้ระหว่างความเลว (Rangda = a mythological monster) กับความดี (Barong = a mythological animal) ลักษณะเป็นละครประกอบดนตรีพื้นเมือง เครื่องดนตรีลักษณะจะเป็นฆ้องราง ทำหน้าที่กำเนิดเสียงแบบอังกะลุงที่เราเห็นในเมืองไทย (ซึ่งน่าจะมีรากหรือที่มาจากแหล่งเดียวกัน) ไม่ค่อยประทับใจในการแสดงมากนักครับ
จากนั้นเราเดินทางไปเยี่ยมชมโรงเรียน SMP Negeri 9 Denpasar เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่เปิดสอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้น (เกรด 9) โรงเรียนในอินโดนีเซียโดยทั่วไปก็จะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กแบบนี้ มีนักเรียนประมาณพันกว่าคน ครูประมาณ 40-70 คน เปิดสอนสัปดาห์ละ 6 วัน (จันทร์ - เสาร์) แต่เรียนจากแปดโมงเช้าถึงแค่บ่ายโมงเท่านั้น การเรียนการสอนเหมือนกับบ้านเราในอดีต (สมัยไม่มีกลุ่มสาระการเรียนรู้) จะสอนภาษาอินโดนีเซีย ภาษาอังกฤษ เป็นหลัก แล้วมีภาษาที่สามเป็นทางเลือก (เฉพาะในบาหลีจะเพิ่มภาษาถิ่นบาหลีอีกหนึ่ง) พอรู้ว่าคณะเรามาจากเมืองไทย เด็กๆ สามารถทักทายด้วยคำว่า "สวัสดี" ได้เหมือนกัน
เรื่องการแต่งตัวของเด็กก็อย่างในภาพนะ ครับ ทรงผม (อันนี้ต้องพูดถึง เพราะเป็นประเด็นไร้สาระในการศึกษาไทยมาก) เด็กชายก็รองทรง เด้กหญิงถ้าไว้ผมยาวก็รวบ มัดหรือถักเปียอย่างในรูป สำหรับเรื่องเกกมะเหรกเกเรก็ไม่ต่างจากบ้านเราหรอก ยังไม่เลิกเรียนก็หาทางไปหลอกยามประตูหนีเรียนเหมือนกัน (โรงเรียนมีทางเข้าทางเดียว กำแพงสูงออกทางอื่นไม่ได้) ส่วนใหญ่เด็กๆ จะใช้จักรยานปั่นมาโรงเรียนกัน คุณภาพการศึกษาของเขาก็ไม่เท่าไหร่ครับ โรงเรียนส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาพขาดความพร้อมพื้นฐาน (ได้ทราบจากทางผู้บริหารโรงเรียนว่า ขาดแคลนในเรื่องวัสดุอุปกรณ์ทางการศึกษา สื่อ และปัจจัยมากทีเดียว) เรามีเวลาค่อนข้างจำกัดครับประมาณ 1 ชั่วโมง ต้องรีบไปรับประทานอาหารกลางวัน เพื่อเช็คอินกลับประเทศไทยในช่วงบ่าย
สำหรับท่านที่สนใจจะไปเที่ยวให้สนุก ผมแนะนำว่า ไปกันเป็นกลุ่มเล็กดีกว่าครับ 6-8 คน มีคนที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีสักหนึ่งคน จองที่พัก พาหนะเดินทาง และมัคคุเทศน์ท้องถิ่นที่พูดภาษาอังกฤษได้ (เท่าที่ค้นหายังไม่เจอที่พูดไทยได้ครับ) เดินทางจากประเทศไทยไปบาหลี แล้วเที่ยวตามโปรแกรมที่ผมเดินทางได้ครับ กรุ๊ปเล็กเราจะสามารถแวะในที่ที่เราสนใจได้ดีกว่ากรุ๊ปใหญ่ๆ หรือจะจองเฉพาะที่พักและเครื่องบินแล้วไปซื้อทัวร์ที่โรงแรมที่โน่นก็ได้ จะมีบริการเที่ยวแบบวันเดียววัฒนธรรม ดำน้ำ เล่นเซิร์ฟ หรือประเภทขาลุยก็มีบริการครับ ไปเปิดหูเปิดตาพักผ่อนบ้างก็ดีนะครับ อย่าโหมกับงานจนเสียโอกาสแสวงหากำไรในชีวิต...
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)