สัปดาห์ที่แล้ว (20-23 มกราคม 2556) มีโอกาสเดินทางไปบาหลี-ย็อกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ได้รับประสบการณ์หลายอย่างจากการเดินทางมาเล่าสู่กันฟัง ทั้งเรื่องราวของการเดินทาง วิถีชีวิตของผู้คน อาหารการกิน ศิลปะ วัฒนธรรมต่างๆ เผื่อใครคิดจะเดินทางไปเที่ยวบ้างจะได้เตรียมตัวถูก
ผมออกเดินทางจากอุบลราชธานี โดยรถยนต์ครับ เพราะหาเที่ยวบินที่สามารถต่อไปยังบาหลี โดยไม่ต้องรอนานไม่ได้เลยมีแต่เกินครึ่งวันทั้งนั้น เดินทางตอนหกโมงเย็น ของวันที่ 19 มกราคม ถึงสนามบินสุวรรณภูมิตอนตีสี่เศษๆ ล้างหน้าล้างตาเปลี่ยนเสื้อผ้า เช็กอินที่เคาท์เตอร์สายการบินไทย มีกำหนด ออกเดินทาง 08.05 น. แต่โดนพนักงานภาคพื้นการบินไทยประท้วงเลยดีเลย์ไปเกือบชั่วโมง ถึงเดนปาซาร์ บาหลีตอน 14.30 น. (เวลาที่บาหลีเร็วกว่าเรา 1 ชั่วโมง)
อินโดนีเซีย ประกอบด้วยหมู่เกาะที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาช้านาน แต่ต่อมาต้องตกอยู่ภายใต้การปกครอง ของเนเธอร์แลนด์ อยู่ประมาณ 301 ปี ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2485 ซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นบุกอินโดนีเซีย และทำการขับไล่เนเธอร์แลนด์ เจ้าอาณานิคมของอินโดนีเซียออกไปได้สำเร็จ จึงทำให้ผู้นำอินโดนีเซียคนสำคัญในสมัยนั้น ให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่น แต่ไม่ได้ให้ความไว้วางใจกับญี่ปุ่นมากนัก เพราะมีเหตุเคลือบแคลงคือ เมื่อผู้รักชาติอินโดนีเซีย จัดตั้งขบวนการต่างๆ ขึ้นมา ญี่ปุ่นจะขอเข้าร่วมควบคุมและดำเนินงานด้วย
เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม และประกาศยอมจำนนต่อฝ่ายพันธมิตร อินโดนีเซียได้ถือโอกาสประกาศเอกราช ใน พ.ศ. 2488 แต่เนเธอร์แลนด์เจ้าของอาณานิคมเดิม ไม่ยอมรับการประกาศเอกราชของอินโดนีเซีย จึงยกกองทัพเข้าปราบปราม ผลจากการสู้รบปรากฏว่า เนเธอร์แลนด์ไม่สามารถปราบปรามกองทัพอินโดนีเซียได้ จากนั้น อังกฤษซึ่งเป็นพันธมิตรกับเนเธอร์แลนด์ จึงเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยเพื่อให้ยุติความขัดแย้งกัน โดยให้ทั้งสองฝ่ายลงนามในข้อตกลงลิงกัดยาติ (Linggadjati Agreement) เมื่อ พ.ศ. 2489 โดยเนเธอร์แลนด์ยอมรับอำนาจรัฐของรัฐบาลอินโดนีเซีย ในเกาะชวาและสุมาตรา
ต่อ มาภายหลัง เนเธอร์แลนด์ได้ละเมิดข้อตกลง โดยได้นำทหารเข้าโจมตีอินโดนีเซียทำให้ประเทศอื่นๆ เช่น ออสเตรเลีย และอินเดีย ได้ยื่นเรื่องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เข้าจัดการ สหประชาชาติได้เข้าระงับข้อพิพาท โดยตั้งคณะกรรมการประกอบด้วย ออสเตรเลีย เบลเยียม และสหรัฐอเมริกา เพื่อทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยประนีประนอม และได้เรียกร้องให้หยุดยิง แต่เนเธอร์แลนด์ได้เข้าจับกุมผู้นำคนสำคัญ ของอินโดนีเซีย คือ ซูการ์โน และฮัตตา ไปกักขัง ต่อมาทหารอินโดนีเซียสามารถช่วยเหลือ นำตัวผู้นำทั้งสองออกมาได้ ในระยะนี้ทุกประเทศทั่วโลกต่างตำหนิการกระทำของเนเธอร์แลนด์อย่างยิ่ง และคณะมนตรีความมั่นคงได้กดดันให้เนเธอร์แลนด์ มอบเอกราชแก่อินโดนีเซีย
ใน วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2492 อินโดนีเซียได้รับเอกราช แต่ความยุ่งยากยังคงมีอยู่ เนื่องจากเนเธอร์แลนด์ไม่ยินยอมให้รวมดินแดนอิเรียนตะวันตกเข้ากับ อินโดนีเซีย ทั้งสองฝ่ายจึงต่างเตรียมการจะสู้รบกันอีก ผลที่สุดเนเธอร์แลนด์ ก็ยอมโอนอำนาจให้สหประชาชาติควบคุมดูแลอิเรียนตะวันตก และให้ชาวอิเรียนตะวันตกแสดงประชามติว่า จะรวมกับอินโดนีเซียหรือไม่ ผลการออกเสียงประชามติปรากฏว่า ชาวอิเรียนตะวันตกส่วนใหญ่ต้องการรวมกับอินโดนีเซีย สหประชาชาติจึงโอนอิเรียนตะวันตกให้อยู่ในความปกครอง ของอินโดนีเซียเมื่อเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2506
ประเทศอินโดนีเซีย มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุข และทำหน้าที่ปกครองประเทศ
ประเทศไทย และอินโดนีเซีย มีความสัมพันธ์ทางการทูตที่ดีต่อกันมาโดยตลอด และให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อินโดนิเซียเป็นสมาชิกสมาคมอาเซียนเหมือนประเทศไทย และมีสำนักงานใหญ่ขององค์การอาเซียนตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงและศูนย์กลางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย
บาหลี ที่ผมเดินทางไปถึง เป็นเกาะรูปร่างเหมือนไก่ สนามบินที่เดนปาซาร์ ที่เราบินไปถึง จะอยู่ที่ขาไก่พอดี หลังจากผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองแล้ว ก็ได้รับการต้อนรับจากไกด์ท้องถิ่น ด้วยมาลัยดอกจำปาคล้องคอ เดินทางออกจากสนามบินเพื่อเข้าที่พัก ด้วยรถบัสโดยสารขนาดเล็ก ถามไกด์ว่าทำไมใช้รถหลายคันจัง ไกด์ก็ตอบมาแบบใจเย็นว่า พอพ้นสนามบินก็จะทราบเหตุผลเอง เป็นซะงั้น
แล้วก็ถึงบางอ้อครับ ถนนในเกาะบาหลี ส่วนใหญ่ (มากกว่า 70%) เป็นถนนที่แคบ คดโค้งไปตามแหล่งชุมชน มุมหักเลี้ยวแคบมาก ถ้ามีรถคันใหญ่ๆ สวนมาต้องแอบชิดขอบทาง หรือบางครั้งอาจต้องถอยหลบเลยทีเดียว ที่นี่จึงเห็นรถขนาดเล็กมากที่สุดเช่น ซูซูกิ โปรตอน วีออส (แบบอีโคคาร์บ้านเรา) และรถมอเตอร์ไซค์เยอะมากที่สุด ถึงโรงแรมที่พักด้วยใจระทึก เพราะคนขับรถที่นี่ขับเก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องใจถึงด้วยเพราะมีแยกวัดใจเยอะมาก (มีไฟจราจร แต่ไม่เปิดใช้งาน เลยต้องกล้าได้กล้าเสียหน่อย)
เรา พักที่ Best Western Kuta Hotel (น่าจะอยู่ระดับ 3 ดาว) ได้รับการต้อนรับด้วย Welcome Drink เป็นน้ำฝรั่งสด อาบน้ำอาบท่าแล้วก็ออกไปเที่ยวกัน (ตัดบางโปรแกรมออก เพราะเรามาถึงช้า จากการดีเลย์ของสายการบินไทย) เริ่มต้นที่วัดในศาสนาฮินดูที่ทานาลอท ที่อยู่ริมทะเล มีคนไปเยอะมากและพระอาทิตย์กำลังจะลับฟ้า เลยได้ภาพบรรยากาศมาฝากกันนิดหน่อย บริเวณนี้จะมีหินและหน้าผาทำให้มีคลื่นแรงมาก ไม่มีชายหาดสวยงามอย่างบ้านเรา ทรายจะเป็นสีดำระยิบระยับด้วยแร่ธาตุที่มาจากภูเขาไฟ
เรามารับประทานอาหารเย็นกันที่นี่ ท่ามกลางบรรยากาศเสียงคลื่นลม ไกด์บอกว่าเป็นอาหารทะเลตำหรับเฉพาะของคนบาหลี (ในใจผมก็คิดไปไกลล่ะครับ น่าจะได้อร่อยกับซีฟู๊ดแน่ๆ รวมทั้งบรรดาคอทองแดงที่ไปด้วยกัน) เดี๋ยวจะมีภาพให้ดูว่ามันน่าดีใจหรือผิดหวัง
อาหารทะเลตำหรับบาหลีในภาพข้างบนประกอบ ด้วย หอยแมงภู่ย่างราดเครื่องแกง (2 ฝา) ปลาหมึกย่าง 2 ไม้ กุ้งผ่ากลางย่าง 2 ตัว ปลาย่าง 1 ตัว (ไม่ทราบปลาอะไร ก้างเยอะมาก และไม่สด สมกับอยู่ชายทะเลเลย) และมีผักบุ้งลวกมาอีก 1 จานพร้อมน้ำจิ้ม 3 ชนิด เปรี้ยว/หวาน/เผ็ด และข้าวสวยอีกโถใหญ่ เสร็จจากการรับประทานอาหารก็กลับที่พัก เพราะเหนื่อยมาทั้งวันจากการเดินทาง (รุ่งเช้า ได้ยินมาว่า บางท่านในคณะได้สัมผัสมาม่าที่อร่อยที่สุดในบาหลีนี่เอง) กลับมานอนฝันเป็นเศรษฐี เพราะเป๋าตุงมีเงินเป็นล้าน (30 บาทเราแลกได้ตั้งหมื่นรูเปียสแนะ)
รุ่งเช้าเราบินจากบาหลีไปย็อกจาการ์ต้า โดยสายการบินอินโดนีเซียแอร์เอเซีย ใช้เวลาบิน 1 ชั่วโมง เวลาในย็อกจาการ์ต้าเท่ากับไทยช้ากว่าบาหลี 1 ชั่วโมง แล้วต่อด้วยรถบัสไปอีก 40 กิโลเมตร เพื่อไปชมมรดกโลก ชื่อ บุโรพุทโธ (ภาษาอินโดนีเซียจะเรียก โบโรบูดูร์ BoroBudur) เป็นศาสนสถานของศาสนาพุทธนิกายมหายาน ถ้าไม่นับนครวัดของกัมพูชา ซึ่งเป็นทั้งศาสนสถานของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธ บุโรพุทโธจะเป็นศาสนสถานของศาสนาพุทธที่ใหญ่ที่สุดในโลก ท่ามกลางแดดเปรี้ยง อุณหภูมิของที่นี่ร้อนกว่าบ้านเรามากเพราะใกล้เส้นศูนย์สูตร แต่ในอากาศก็มีความชื้นสูงทำให้ต้นไม้ใบหญ้าเขียวขจีตลอดปี
บุโรพุทโธสร้างขึ้นโดย กษัตริย์แห่งราชวงศ์ไศเลนทร์ เป็นสถูปแบบมหายาน สันนิษฐานว่าสร้างราวคริสต์ศตวรรษที่ 7-9 หรือ พุทธศักราช 1393 ตั้งอยู่ทางภาคกลางของเกาะชวา บนที่ราบเกฑุ ทางฝั่งขวาใกล้กับแม่น้ำโปรโก ห่างจากยอกยาการ์ตา ทางตะวันตกเฉียงเหนือ 40 กิโลเมตร บุโรพุทโธสร้างด้วยหินภูเขาไฟประมาณ 2 ล้านตารางฟุตบนฐานสี่เหลี่ยม กว้างด้านละ 121 เมตร สูง 403 ฟุต เป็นรูปทรงแบบปิรามิด มีลานเป็นชั้นลดหลั่นกัน 8 ชั้น และใน 8 ชั้นนั้น 5 ชั้นล่างเป็นลาน 4 เหลี่ยม 3 ชั้นบนเป็นลานวงกลม และบนลานกลมชั้งสูงสุดมีพระสถูปตั้งสูงขึ้นไปอีก 31.5 เมตร เป็นมหาสถูปที่ระเบียงซ้อนกันเป็นชั้นๆลดหลั่นกันไป
จากนั้นเราก็เดินทางต่อ เพื่อกลับเข้าไปในตัวเมืองย็อกจาการ์ต้าอีกครั้ง เพื่อเข้าชมวังสุลต่าน และปราสาทพรามบานัน (Prambanan) คงต้องแยกเป็น 2 ตอนแล้วครับ เพราะยังมีเรื่องไปดูโรงเรียนที่บาหลีด้วยอีกแห่ง...
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)