foto1
ความงดงามการศึกษาไทย
foto1
เพื่อ?
foto1
ไม่เข้าใจ?
foto1
วิทยากรที่กระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาว
foto1
ท่องทะเลทรายที่ดูไบ UAE


Friendly Links

เรียนรู้ภาษา html
isangate banner
easyhome banner
ipst banner
sakdibhornssup foundation
13 Thai free fonts
speedtest
e mil

Facebook Likebox

No. of Page View

Big Data

ว่าจะไม่เขียนอะไรเกี่ยวกับการศึกษาสักครึ่งปี ก็อดไม่ได้อยู่ดี กับเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นมาในช่วงนี้ กับกระทรวงที่ได้ชื่อว่า "พัฒนาคน พัฒนาชาติ" แต่ก็ไปได้ไม่ถึงไหนสักที กี่รัฐมนตรี กี่เจ้ากระทรวง ทั้งที่มาจากหมอ จากทหาร จากครูเก่า ก็ล้วนแต่มีนโยบายจะพัฒนาการศึกษาก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำ แต่ก็ทำแค่ปรับปรุงเก้าอี้นั่งของข้าราชการในกระทรวง ตั้งโน่น ยุบนี่ เกาไม่ถูกที่คันเลย เพราะที่ท่านทำไม่ได้มีส่วนให้เกิดการพัฒนาการศึกษา มีแต่เกิดพรรคพวก เกิดการแบ่งแยกและโยนงานกันไปมา คนรับกรรมคือ นักเรียน และครูน้อยๆ ในโรงเรียนทั้งสิ้น

แทนที่จะกระจายอำนาจทางการศึกษาลงไปยังหน่วยเล็กๆ ในโรงเรียน พวกท่านกลับไปทำการแบ่งงานการ สั่งจากบนลงล่าง ข้ามสายงานบังคับบัญชา ให้มันเกิดคอขวดเล่นๆ ซะงั้น มีการติติงเรื่องความล่าช้าในการทำงานทีไร ท่านก็อ้างว่าไม่มีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจ สั่งให้กรอกข้อมูลพื้นฐานกันใหญ่ (คือกรอกกันทุกเริ่มปีการศึกษากับข้อมูลเดิมๆ ซ้ำๆ ซากๆ ยังกับที่ดิน หรืออาคารมันจะงอกขึ้นได้เอง มันก็มาจากงบประมาณที่พวกท่านจัดสรรลงมา ตั้งงบประมาณกันเอง แล้วไม่มีข้อมูลกันหรือไร ถึงต้องให้โรงเรียนกรอกซ้ำๆ อยู่นั่น) เพื่อให้ได้ Big Data จนหาอะไรไม่เจอ เป็นงงจริงๆ

local teachers

นี่ไง! การใช้ Big Data ไม่เป็นของคนในกระทรวงศึกษาธิการ ข้อมูลต่างๆ มีเพียบแต่ท่านเอามาใช้ไม่เป็น ไม่เคยทำงานเชิงรุก ทำงานล่วงหน้าตามแผนอะไรเลย ข้อมูลผู้สอบขึ้นบัญชีรายชื่อเพื่อบรรจุแต่งตั้งครูคืนถิ่นมี และทำล่วงหน้ามาเป็นปี ข้อมูลข้าราชการที่จะเกษียณอายุราชการสามารถดูล่วงหน้าได้ 5-10 ปี (ก็มันตาม พ.ศ. เกิดของข้าราชการที่มีในบัญชีเบิกจ่ายเงินเดือน ของบประมาณมันทุกปี จะมีเพิ่มอีกนิดก็คือคนลาออกก่อนเกษียณอายุราชการ ก็ไม่ได้มาก) เอาไปประชุมเพื่อทำกรอบของบประมาณ เกลี่ยอัตราได้ล่วงหน้าได้นานเป็นปี ไม่เห็นต้องรอให้ถึงวันที่ 30 กันยายนเลย โทษใคร? คงต้องโทษที่เสมียนในกระทรวง ที่มีตำแหน่งสูง ระดับซี 7 ซี 8 ที่เดินสวนกันบนกระทรวงนั่นแหละ ที่ไม่มีประสิทธิภาพ เอาเด็กจบ ปวช. ปวส. ไปทำก็ได้มั๊งจะได้ทันการ กระฉับกระเฉงหน่อย

คือ มีความเสียดายเงินเดือนและสวัสดิการสูงๆ เหล่านั้นมาก ถ้าท่านย้ายตัวเองออกไปทำงานในโรงเรียนชนบทในบ้านเกิด หรือใกล้บ้านเกิดของท่าน เอาความรู้ความสามารถไปใช้ในการพัฒนาการศึกษา คงจะดีกว่ามาเป็นเสมียนเดินสวนกันไปมาในตึกใหญ่เป็นแน่ ในขณะที่ภาพความจริงในปัจจุบัน "ครู" ที่อยู่ในชนบทเหล่านี้มีความรู้น้อย ด้อยประสบการณ์ เงินเดือนก็น้อย สวัสดิการก็แย่ แต่ต้องรับผิดชอบต่อ "ความสำเร็จในการจัดการศึกษาชาติ" ที่ยิ่งใหญ่เหลือเกิน แล้วพวกท่านผู้มีความสามารถมากๆ เหล่านั้นก็ได้แต่พร่ำบนว่า "การศึกษาตกต่ำ การศึกษาเน่า การศึกษาไม่พัฒนาไปไหน" ครับดูสภาพพวกเขาเสียก่อน ท่านทำได้แค่เสี้ยวของพวกเขาไหม?

teachers house

ตราบใดที่การบริหารการศึกษาของเราเป็นเช่นนี้ มันไม่มีทางจะไปถึงไหนได้หรอก จนกว่า "โรงเรียนจะเป็นของชุมชน บริหารจัดการด้วยชุมชนเอง" เราเคยส่งคนไปศึกษาดูงานประเทศโน้น ประเทศนี้ ที่เขาว่าจัดการศึกษาดีเลิศ เราก็ได้แต่เอารูปแบบบางส่วนเขามาใช้แบบครึ่งๆ กลางๆ แล้วมันก็ล้มเหลว เป็นได้แค่ตรายาง รอรับการประเมินว่า "มี" แล้ว "ผ่าน" แค่นั้นหรือ?

เราอยากให้เหมือนเขา แต่ไม่เอามาทำทั้งหมด

ยกตัวอย่างได้ไหม? ได้สิครับ ผมก็เคยไปดูงานจัดการศึกษาที่ประเทศออสเตรเลียมาเหมือนกัน (ทุนสมาคมของโรงเรียนส่วนหนึ่ง ออกเองอีกส่วนหนึ่ง เมื่อหลายสิบปีก่อน แต่ยังใช้อ้างอิงได้) การจัดการศึกษาของประเทศไทยเราบางเรื่องก็นำมาจากที่นี่ เรื่อง "คณะกรรมการสถานศึกษา" นั่นไง แต่เราเอามาไม่หมด เอามาแต่ชื่อและบทบาทกระจิ๊ดหนึ่ง เท่านั้นเอง จะเล่าให้ฟังดังนี้...

โรงเรียนในออสเตรเลียที่ผมไปดูมา 2 แห่ง เป็นโรงเรียนเอกชนหนึ่งแห่ง โรงเรียนรัฐบาลอีกแห่ง ทั้งสองที่มีโครงสร้างการบริหารงานคล้ายกันคือ มีคณะกรรมการสถานศึกษา ที่ชุมชนในท้องถิ่น (ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย) เป็นผู้คัดเลือกเข้ามาทำงานเป็นกรรมการมีวาระ 2 ปี (ลักษณะเป็นอาสาสมัครไม่มีค่าตอบแทน แต่รักษาผลประโยชน์ของชุมชน) โรงเรียนเอกชนจะมีทุนจากองค์การหรือมูลนิธิสนับสนุนทางการเงิน ส่วนโรงเรียนรัฐบาลจะมีงบประมาณสนับสนุนบางส่วนจากรัฐบาลส่วนกลางและท้องถิ่น และอีกส่วนมาจากการจัดเก็บภาษีด้านการศึกษาของท้องถิ่น ครูและผู้บริหารโรงเรียนไม่ได้เป็นข้าราชการ ต่างก็ถูกจ้างจากคณะกรรมการสถานศึกษานั้นๆ มีการประเมินเป็นรายปี ครูต้องมีใบประกอบวิชาชีพ ส่วนผู้บริหารนั้นจะมีใบประกอบวิชาชีพทางการศึกษาหรือไม่ก็ได้ (เพราะหน้าที่คือการบริหารการศึกษาให้ได้ตามมาตรฐาน ไม่ได้สอน)

aussie school

คงจะมีคำถามว่า "ครู" จะมีความมั่นคงในอาชีพไหมนี่ เพราะเป็นแค่ลูกจ้างเท่านั้น มั่นคงครับ มั่นคงกว่าบ้านเรามากๆ ด้วย คือมีความมั่นคงแบบอาชีพแพทย์ วิศวกร สถาปนิกเลยทีเดียว แต่ละคนจะมีอัตราค่าจ้างไม่เท่ากัน และอายุการทำงานมานานกว่า ก็ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เงินเดือนสูงกว่าด้วย ครูทุกคนจะต้องมีการสร้างประสบการณ์ในวิชาชีพ มีความสำเร็จในอาชีพ เช่น ทำให้ลูกศิษย์ประสบผลสำเร็จในด้านต่างๆ การันตีความสามารถ ซึ่งชื่อเสียงเหล่านี้จะทำให้ครูคนนั้นเป็นที่ต้องการของโรงเรียนต่างๆ ที่จะเสนอเงินเดือนค่าจ้างให้พร้อมสัญญาจ้างรายปี 3 ปี หรือ 5 ปี และโบนัสหากทำให้ทางโรงเรียนแห่งนั้นประสบผลสำเร็จตามเป้า (ไม่มี ค.ศ. 1-2-3 ใดๆ มาเกี่ยวข้องเลย) เรียกว่า มีการแอบประมูล เสนอเงินเดือน ดึงตัวไปร่วมงานด้วยในทุกๆ ปีกันเลยทีเดียว ความดังของเขาไม่ได้เอาไปสอนพิเศษแบบบ้านเรานะ เพราะแค่สอนในโรงเรียนก็ไม่มีเวลาว่างกันแล้ว

ผู้บริหารการศึกษาก็เช่นเดียวกัน โรงเรียนโดยคณะกรรมการสถานศึกษาจะทำการประกาศรับสมัคร "ผู้บริหารสถานศึกษา" มีการกำหนดแนวทางการพัฒนาโรงเรียนไปสู่เป้าหมายที่ชัดเจน ผู้สนใจจะเป็นผู้บริหารจะต้องไปสมัครและแสดงวิสัยทัศน์ แผนการพัฒนาการศึกษาระยะ 5 ปีสำหรับโรงเรียนแห่งนั้น เมื่อคณะกรรมการสถานศึกษาพึงพอใจ ก็จะมีการยื่นข้อเสนอเรื่องอัตราเงินเดือน ต่อรองจนพึงพอใจทั้งสองฝ่ายก็จะมีสัญญาจ้างงานเกิดขึ้น ผู้บริหารสถานศึกษานั้นก็จะมีส่วนร่วมในการจัดหาครู และประเมินครูผู้สอนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาตามแผนที่วางไว้

แต่... ประเทศไทยเราลอกเขามาแค่ชื่อ "คณะกรรมการสถานศึกษา" เท่านั้น การคัดเลือกกรรมการก็เลือกเอามาจากคนที่มีชื่อเสียง มีทุนที่จะสนับสนุนโรงเรียน ชุมชน ผู้ปกครองนักเรียนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ (บางที่ก็รู้ๆ กันว่ามีส่วนได้ส่วนเสียกับการใช้งบประมาณ หรือการฝากเด็กนักเรียนถ้าเป็นโรงเรียนดัง) ตั้งมาเพื่อเป็นตรายางรับรองแผนปฏิบัติการของโรงเรียนตามที่ "ผู้อำนวยการ" เสนอ ไม่ได้มีบทบาทหน้าที่ในการเลือกผู้บริหารและครูแต่อย่างใด ผลในการพัฒนาโรงเรียนจึงเป็นดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน คือใช้งบประมาณที่มีให้หมดๆ ไป สำเร็จบ้าง ล้มเหลวเยอะ ก็ไม่มีผลอะไรเลย รองบปีต่อๆ ไป หานักเรียนมาเรียนเยอะๆ เพื่อให้ได้เงินรายหัว จนถึงขั้นมีรายชื่อนักเรียนลมๆ ตามที่เป็นข่าวนั่นเอง

หยุดการแจก ทำให้ทุกคนรักเรียน รักงานกันเถอะ

การศึกษาเป็นหัวใจสำคัญของชีวิต การศึกษาเปลี่ยนแปลงชีวิตเราได้ เปลี่ยนความโง่เขลาให้เป็นความเฉลียวฉลาด นอกจากจะทำให้เราเอาตัวรอดได้จากสภาวการณ์แวดล้อมที่โหดร้าย ทำให้ได้เรียนรู้ รู้จักรับผิดชอบชั่วดี บาปบุญคุณโทษ มีคุณธรรม อยู่ร่วมกันได้ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ก็ยังมีบางอย่างที่บอกกับเราว่า "การศึกษาไทยยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน" โดยเฉพาะเมื่อพบกับคำกล่าวนี้

คนพม่าบอกว่า เมืองไทยหางานง่าย เพราะคนไทยขี้เกียจ ทำงานแค่ปีสองปี ก็ส่งเงินกลับบ้านไปซื้อไร่ซื้อนาได้แล้ว "

เพราะสังคมเป็นอย่างไรการศึกษาก็เป็นอย่างนั้น การศึกษาเป็นอย่างไรสังคมก็เป็นอย่างนั้น เพราะการศึกษาเป็นหุ้นส่วนของชีวิตและชีวิตขึ้นอยู่กับสังคม การศึกษาจึงเป็นตัวสะท้อนความเป็นไปของสังคม หรือเพราะการศึกษาไทยสร้างคนให้เป็นขอทาน เด็กไทยรอคอยการแจก ทำให้คนไทยชอบของฟรี รัฐมีโครงการแจกของมากมาย แจกหนังสือ แจกคอมพิวเตอร์ แจกเสื้อผ้า แจกอาหาร แจกนม แจกชุดนักเรียน ฯลฯ ทั้งรัฐและเอกชนมีโครงการให้ทาน คือ แจกของให้แก่ผู้ยากไร้ รัฐมีโครงการต่างๆ แจกให้แก่โรงเรียน แม้จะดูดีแต่ได้ปลูกฝังสิ่งที่เลวร้ายไว้กับชีวิตเด็กและสังคมอย่างหยั่งรากลึกซึ้งยาวนาน

konjon ka

นักการเมืองให้ปลา พระราชาให้เบ็ด "

ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ใช้ "การแจก" เป็นนโยบายหลักเพื่อเอาใจประชาชน การแจกสิ่งของ แจกเงิน รวมทั้งแจกวันหยุดก็ด้วย จนประเทศไทยเป็นประเทศที่มีวันหยุดมากในลำดับต้นๆ ของโลก (ประมาณ 20 วัน/ปี) วันหยุดอย่างเดียวไม่พอ ยังต้องมีวันชดเชยวันหยุดเพิ่มขึ้นให้อีก (ได้เป็น 3 วันติดต่อกันเลย) สิ่งที่แถมให้กับเด็กโดยไม่รู้ตัวก็คือ เด็กไปโรงเรียนน้อยวัน แต่ละวันเด็กเรียนรู้น้อย เด็กไทยจึงไม่ได้รับการศึกษาเต็มกำลังในช่วงวัยเรียน เด็กไทยจึงเรียนจบออกไปโดยอ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ เด็กรับรู้ว่า "วันหยุดเป็นสิ่งที่ดีที่สุด" ทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นคนขี้เกียจ เป็นคนไม่ขยัน เอาเปรียบคนอื่น ชอบเรียกร้องสิทธิในความเป็นไทย อยากได้ อยากมี อยากเป็น และชอบของฟรี

จบปริญญาตรี ว่างงานนับแสนคน

ารศึกษาของประเทศเรานั้นผิดพลาดมานานแล้วครับ เรามุ่งแต่จะให้คนมีการศึกษาสูงๆ จบปริญญากันให้มากๆ โดยไม่สนใจว่า สาขาไหนมีความต้องการในตลาดแรงงานจริงๆ มีการงานทำแน่ๆ ไม่ส่งเสริมการผลิตคนเข้าสู่อาชีพที่มีความต้องการกันเลย เด็กๆ เลือกเรียนในสาขาที่เขาว่าฮิต เท่ อินเทรนด์ ตามเพื่อนที่ไปเรียน หรือตามที่พ่อ-แม่ ญาติพี่น้องอยากให้เป็น และอีกจำนวนมากเรียนแบบไร้จุดหมายเพียงเพื่อไม่อยากอยู่บ้านช่วยพ่อแม่ทำงาน ไปเรียนเพื่อรับเงินรายเดือน และไม่อยากเรียนใกล้บ้านด้วยนะ เพราะจะได้ค่าใช้จ่ายน้อย ทางบ้านเห็นความประพฤติ (ดีน้อย) แล้วโดนบ่นด่าทุกวัน

สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรเดือนกันยายน 2562 พบว่า ผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปมีจำนวน 56.64 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมจะทำงานจำนวน 37.72 ล้านคน ประกอบด้วยผู้ที่มีงานทำจำนวน 37.21 ล้านคน, ผู้ว่างงาน 3.9 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 1.2 แสนคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานหรือผู้ที่ไม่พร้อมทำงาน 18.92 ล้านคน

worker 2562
ข้อมูลจาก สำนักงาสถิติแห่งชาติ

ขณะที่ตัวเลขการทำงานของคนไทยพบว่า เดือนกันยายน 2562 มีผู้ว่างงานกว่า 3.85 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราส่วนการว่างงานร้อยละ 1.0 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2561 พบว่าจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 1.2 หมื่นคน และหากเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม 2562 พบว่าจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นถึง 3,000 คน นั่นหมายความว่า ภาคครัวเรือนที่ประสบปัญหากับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ลูกหลานที่เรียนจบมาไม่มีงานทำ ส่งผลให้ตัวเลขคนว่างงานเพิ่มสูงขึ้นมาก

ว่างงานเพราะไม่มีงานจริงหรือ? ในขณะที่มีผู้จบการศึกษาจำนวนมากที่ตกงาน แต่บรรดาบริษัทต่างๆ ที่ต้องการแรงงานกลับขาดแคลนมาก เมื่อก่อนการจะรับสมัครคนเข้าทำงานนั้นมักจะมีเงื่อนไข "มีประสบการณ์อย่างน้อย 1 ปี" แต่ในปัจจุบันเด็กจบใหม่ก็รับ ถ้า... มีความสามารถและคุณสมบัติตามต้องการ รับมาแล้วทำงานได้ทันที ไม่ใช่รับมาแล้วต้องมาฝึก มาเทรนงานกัน 3 เดือน 6 เดือน ซึ่งบริษัทเสียหาย เพราะพอฝึกเป็นงานหน่อยก็ลาออกไปทำงานที่อื่นกันหมด อย่างงานด้านไอทีนี่ขาดแคลนมาก คนจบด้านนี้มาก็มาก แต่จบมาแบบไม่มีความสามารถ นักเรียน นิสิต นักศึกษาในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นพวกเรียนเพื่อให้ผ่านๆ จบๆ ไป ทำได้ทุกวิถีทาง ตั้งแต่การลอกงานคนอื่น ซื้องานหรือจ้างทำโปรเจกต์เพื่อให้จบ บางคนก็ท่องจำเก่งมาก สอบข้อเขียนเข้าทำงานนี่ผ่านฉลุย แต่พอให้ทำภาคปฏิบัติใบ้กินทำไม่ได้ เพราะไม่เคยทำเอง

เพิ่งเรียนจบจะมีประสบการณ์มาจากไหน?

การรับคนงานที่มีประสบการณ์จึงเป็นเงื่อนไขที่บริษัทต่างๆ กำหนดขึ้น ก็มีคำถามมาว่า เพิ่งจะเรียนจบจะมีประสบการณ์มาจากไหน? อ้าว! ไปอยู่ไหนกันมาล่ะ เดี๋ยวนี้ภาคการศึกษา วิทยาลัย มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาต่างๆ เขามี "ระบบทวิภาคี" กันไม่รู้เหรอ เรียนไปฝึกงานไปในสถานประกอบการ บริษัท โรงงานต่างๆ จบมาได้ทั้งวุฒิบัตรและใบผ่านงาน นี่ไงประสบการณ์การทำงานที่มีพร้อมการจบการศึกษา ส่วนใครที่เรียนๆ ลอกๆ ไปเพื่อปริญญาบัตรไม่เคยไปสมัครเข้าฝึกงานที่ไหน คุณพลาดแล้วล่ะ! ต้องวิจัยฝุ่นนานแน่ๆ ถ้าไม่เจ๋งจริง

ฝากถึงครูแนะแนวในโรงเรียนครับ "การศึกษาเพื่ออนาคต" ไม่จำเป็นต้องมหาวิทยาลัย เรียนในสิ่งที่ตลาดแรงงานต้องการเถอะ ด้านวิชาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการในปัจจุบันนี้คือ "สายวิทยาศาสตร์ประยุกต์" อย่างด้านช่างกลโรงงาน ไฟฟ้ากำลัง ระบบราง ลอจิสติกส์ ไอที โปรแกรมเมอร์ ไม่ใช่สายสังคมศาสตร์อีกแล้ว และต้องหาที่ฝึกงานในสถานประกอบการช่วง 2 ปีสุดท้ายก่อนจบการศึกษา ซึ่งมีหลายคนที่เรียนจบแล้วถูกบริษัทที่ไปฝึกงานรับเข้าทำงานเลย ถ้าเรียนรู้และฝึกงานจนมีผลงานเข้าตานายจ้าง

 workers 2

ภาพข้างบนคงเป็นคำตอบได้ดีสำหรับในยุคปัจจุบันนี้ "คนไทยตกงาน แต่ต่างชาติมีงานทำ" เพราะอะไร? จงอภิปราย 10 คะแนน ผมไม่อยากเขียนอยากบ่นให้อีก ทุกคนคงมีคำตอบในใจอยู่แล้ว หรือลองไปอ่านความคิดเห็นต่างๆ กันในกระทู้เด็ดพันทิพกระทู้นี้ก็ดีครับ

ล่าสุดมาอีกแล้ว Big Data

สพฐ.แจ้งครูและบุคลากรทางการศึกษา กรอกข้อมูลในระบบฐานข้อมูลกลาง (Big Data) ของกระทรวงศึกษาธิการ "

สํานักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ขอความร่วมมือมายัง สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แจ้งให้ครู บุคลากรทางการศึกษา และบุคลากรอื่นในสังกัด ดําเนินการตรวจสอบและบันทึกข้อมูลของตนเอง ตามรายการมาตรฐานที่กําหนดไว้ในฐานข้อมูลกลางของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรายจังหวัดและภาค ผ่านเว็บไซต์ edc.moe.go.th โดยเริ่มบันทึกข้อมูลตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2562 - 9 พฤศจิกายน 2562 พร้อมทั้งให้หน่วยงานแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อดําเนินการตรวจสอบข้อมูลครู บุคลากรทางการศึกษา และบุคลากรอื่นในสังกัด เพื่อให้ฐานข้อมูลกลาง (Big Data) ของกระทรวงศึกษาธิการ มีความถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์ ทันสมัย สอดคล้องตามนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ

bigdata

ก็ได้แต่หวังว่า มันจะเป็น Big Data ที่มีประโยชน์ในการบริหารจัดการได้ ไม่ใช่บิ๊กซะจนหาอะไรก็ไม่เจอ แล้วก็มาขอให้กรอกใหม่อีก ที่ห่วงอีกอย่างคือ วิธีการกรอกกับความเร็วที่เข้าสู่ระบบในเขตชนบทนั่นแหละจะพอได้ไหม หรือตัวระบบเองสามารถรองรับการเข้าระบบพร้อมๆ กันได้แค่ไหน จะล่มหรือหมุนติ้วๆ อยู่หรือเปล่าก็ไม่ทราบได้ เพราะเรื่องการทำงานไม่ได้แล้วหมุนติ้วๆ นี่มีให้เห็นบ่อยๆ ในระบบฐานข้อมูลของหน่วยงานทางการศึกษา ที่บรรดาครูได้บ่นอุบพร้อมกับสวดชยันโตให้ผู้ดูแลระบบอยู่บ่อยๆ

ผมก็ได้แต่แปลกใจกับวิธีคิดของหน่วยเหนือจริงๆ ทำไมไม่ใช้วิธีการสร้างตารางฐานข้อมูลที่มันง่ายๆ เช่น Excel ให้แต่ละโรงเรียนไปกรอกรายละเอียดให้ครบ สำนักงานเขตนำมาหลอมรวมเป็นของเขต แล้วส่งไปยังส่วนกลางเพื่อ import ข้อมูลเข้าในระบบ มีอีเมล์แจ้งกลับเป็นรายบุคคลพร้อมชื่อบัญชีและรหัสผ่านไปให้ เพื่อตรวจสอบ/เพิ่มเติม/แก้ไขข้อมูล ซึ่งจะง่ายกว่ามากก็ไม่รู้ (ครูไทยไม่เก่งไอทีทุกคนนะ แม้จะคุยว่าทุกคนรู้และทำได้ ผมไม่ค่อยเชื่อเลย จะใช้อีเมล์เป็นไหม ขนาดรหัสผ่าน Facebook/Line ตัวเองก็ยังจำไม่ได้ สมัครใหม่ทุกที ผมละมีเพื่อนชื่อเดียวกันเป็นสิบคนแนะ จริงไหม?)

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

Our Policy