การศึกษาไทยได้เวลาต้องปฏิวัติได้แล้ว หลังจาก ที่พยายามปฏิรูปกันมานานนับ ๑๐ ปีแล้วไม่เกิดมรรคผลใดๆ นอกจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหาร ตำแหน่งและแย่งเก้าอี้กันจนชุลมุน การศึกษาไทยเข้าสู่ยุคแห่งความตกต่ำ ปรากฏผล จากการประเมินของหน่วยงานทั้งภายในประเทศ และองค์กรนานาชาติเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เอาแค่ในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน เมื่อก่อนไทยเราดูเหมือนจะเป็นผู้นำก้าวล้ำกว่าใคร แต่วันนี้กลับไปรั้งท้ายๆ เป็นไปได้อย่างไร?
แล้วเราก็จะได้เห็นเจ้ากระทรวง ผู้บริหารระดับสูงในกระทรวง นักวิชาการจากสำนักต่างๆ ดาหน้าออกมาโทษครู ต้องอบรมพัฒนาครูแบบเข้มข้นเพื่อยกผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ยังไม่เห็นสักคนเลยที่มองว่า ความผิดพลาดล้มเหลวทั้งหลายที่เกิดขึ้น ล้วนมาจากการบริหารงานโดยผู้บริหารที่ทำงานล้มเหลว... จริงหรือเปล่า? โปรดคิดพิจารณา วิเคราะห์ ก่อนตอบนะครับ...
ผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียนนั้นมาจากแม่พิมพ์ที่บิดเบี้ยว แม่พิมพ์ที่บิดๆ เบี้ยวๆ นั้นล้วนเกิดมาจากนโยบายที่พลิกผัน ทุกครั้งจากการเปลี่ยนเสนาบดีที่ต้องการผลงานเพียงข้ามวัน ถ้าทุกคนจะรู้จักยืดอกยอมรับความจริงที่ว่า ทุกๆ คนล้วนเป็นสาเหตุให้นักเรียนเป็นแบบนี้ แล้วร่วมมือกันแก้ปัญหาที่สาเหตุ ทุกอย่างก็น่าจะคลี่คลาย ไม่ใช่ทำเหมือนเห็นหมาตายลอยน้ำมา ลอยไปหน้าบ้านใครก็ผลักไสไปทางอื่น ไม่ยอมเก็บกวาดเอาไปฝัง สุดท้ายก็เน่ากันทั้งคลอง!! เน่าเหมือนการศึกษาไทยในวันนี้ (ขอบคุณน้องKittin Phansena สำหรับย่อหน้านี้)
อยากจะบอกกับคุณครูทุกๆ ท่านว่า การศึกษาแห่งอนาคตมีแค่ ๓ เป้าหมาย (สรุปมาจากวีดิทัศน์ช้างล่าง ที่อยากแนะนำให้ดู) คือ
{youtube}3Ld3sPaLxks{/youtube}
วันนี้ขอนำเอาบันทึกของท่านอาจารย์ ดร.สุพักตร์ พิบูลย์ มาให้อ่านกันหน่อย น่าสนใจและน่าจะเอาไปดำเนินการโดยเร็วครับ ดังนี้...
ในช่วงนี้ (ยุค คสช. 22 พ.ค.57) ได้มีข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการศึกษาหลายลักษณะ ประเด็นหนึ่งที่เห็นตรงกัน คือ การปฏิรูปครูและกระบวนการจัดการเรียนการสอน... ในการนี้ พบว่า คณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ และนักวิชาการ หลายท่าน ได้ร่วมกันแสงทัศนะในแง่มุมที่คล้ายคลึงกัน.... ผมเองคิดว่า ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องรับผิดชอบร่วมกัน อย่ามองไปที่โรงเรียน/สถานศึกษา แล้วเสนอแนะให้ปฏิรูปการเรียนการสอนกันเพียงแง่มุมเดียว ถ้าจะปฏิรูปครูและการเรียนการสอน ผมคิดว่าควรทบทวนและปฏิรูปในประเด็นต่อไปนี้
เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา พลันที่ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นางสุทธศรี วงษ์สมาน ได้หยิบยกเอาเรื่อง สมุดบันทึกความดี (มาเปลี่ยนชื่อเสียหรูว่า "พาสปอร์ตความดี") ว่าจะนำมาใช้กับนักเรียน นักศึกษาทุกระดับ ให้บันทึกความดีของตน บันทึกความดีสิ่งที่ทำในทุกวัน ซึ่งเด็กทุกคนจะเขียนความดีที่ตัวเองได้ปฎิบัติในแต่ละวันว่า มีอะไรบ้างลงในสมุดพกความดี โดยมีผู้อำนวยการโรงเรียนหรือครูผู้สอบเซ็นรับรองให้ และคิดจะนำไปใช้ประกอบเป็นส่วนหนึ่งในเกณฑ์รับเข้าเรียน หรือศึกษาต่อด้วย เสียงกระหึ่มไม่เห็นด้วยในสังคมออนไลน์ฟังกันแทบไม่ทันเลย ต้องบอกว่าหูชาเชียวละ ลองมาดูวีดิทัศน์นี้เสียก่อนครับ ผลงานของนักเรียนเขาคิดอย่างไร? ดูให้จบแล้วจะเข้าใจทำไมเสียงค้านถึงมากมายขนาดนั้น จะขอบคุณมาก... ถ้าจะมีใครนำไปให้คุณป้าปลัดกระทรวงได้ดูด้วย
{youtube}HtXqJ8-X6wE{/youtube}
ตรรกะง่ายๆ ครับ การทำความดีนั้นเป็นการกระทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ เป็นการกระทำอัตโนมัติที่ไม่คิดหวังผลตอบแทน จึงไม่ต้องมีการบันทึกสิ่งเหล่านี้แต่มันจะปรากฏขึ้นเองให้สังคมเห็นว่า เขาคือคนดี เขาคือคนที่ควรยกย่อง ถ้าใครก็ตามที่กระทำสิ่งใดลงไปแล้วเอาไปตีฆ้องร้องป่าวเขาเรียกว่า "ทำบุญเอาหน้า" "หน้าไหว้หลังหลอก" ครับท่าน กระแสสังคมเขาถึงไม่ยอมรับกัน
ด้านซ้าย - ปลัดกระทรวงศึกษาฯ ผู้เสนอให้ยัดหลักสูตรคุณธรรมจริยธรรมตามแบบ คสช. และสมุดพกความดีเข้ามหาวิทยาลัย ส่วนด้านขวา - โดโลเรส อัมบริดจ์ (อดีต) รักษาการ ผอ.ฮ็อกวอตส์ จากกระทรวงเวทมนตร์ (เครดิตภาพ: Ophat Taerattanachai)
เมื่อ ๕ หรือ ๖ ปีก่อน มีการพิมพ์แจกครูให้บันทึกความดีเพื่อแลกเอาสองขั้น (ผมอดีตครู สพฐ. ได้เห็นแต่ไม่เขียน เล่มหน้าปกสีเขียว ใครจำได้บ้าง) ได้เวลาส่งไปกองรวมกันในห้องประชุมพิจารณา ไม่เห็นมีใครดู (ยืนยันได้เพราะผมก็เป็นกรรมการ) มีแต่ ผอ.ถามหัวหน้างานว่า "ปีนี้จะให้ใคร" อ้าว! แล้วค่าน้ำหมึกล่ะ เขียนมาตั้งเยอะ ปรากฏว่า คนที่ได้สองขั้นปีนั้นบันทึกอยู่สองวัน (๒ หน้า) คนที่บันทึกมากมาย พื้นที่ไม่พอความดีเยอะมาก จนต้องติดกระดาษ A4 เสริมเข้าไป เอาไปหนึ่งขั้น ฮ่วย!
พอให้เด็กเขียนคราวนี้ก็จะมีความดี แบบกระจอกๆ (เก็บเศษกระดาษห่อขนมนิดหนึ่ง เอาถังขยะไปเท ไปซื้อข้าว/น้ำที่โรงอาหารให้ครู) หรือไม่ก็ไประดมเขียนในวันใกล้จบการศึกษา ลอกๆ สลับกิจกรรมนิดหนึ่ง หอบไปให้ครูรับรอง (แล้วครูจะฝันเห็นความดีนั้นไหม?) ครูบางคนอาจจะไม่รับรองให้ (ครูไหวใจร้าย) แต่ก็จะมีคุณครูที่รำคาญมากๆ ทนไม่ไหวรับรองให้ส่งเดช เขียนด้วยมือก็ไม่ไหวต่อไปก็ตรายาง หนักๆ เข้าเอ็งปั๊มเองเลยบนโต๊ะนั่น แล้วจะวัดอะไรได้ครับถามจริง...
หลายๆ โรงเรียนเขาก็ให้นักเรียนบันทึกกัน แต่ไม่ใช่บันทึกความดีที่ว่า เป็นบันทึกการร่วมกิจกรรมจิตอาสา (หลายหน้ากระดาษ) การเข้าร่วมฟังการประชุม สัมมนาทางวิชาการ การเสวนาปัญหาของชุมชนในท้องถิ่นตน สรุปข้อคิดจากการอ่านหนังสือ ๑๐๐ เล่มต่อปี ร่วมกิจกรรมในวันสำคัญทางพุทธศาสนา เป็นต้น อย่างนี้ซิดีด้วยใจอันเป็นกุศล มีประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น นักเรียนเอาไปใช้ประโยชน์ทำเป็นข้อมูลส่วนตน (Profile) สำหรับการสัมภาษณ์เข้าเรียนในบางคณะวิชาระดับมหาวิทยาลัย แต่บันทึกแบบข้างล่างนี่ก็ไม่ไหวนะ
ขอบคุณภาพจากเจ้าของภาพทุกท่านนะครับ แหม่ๆ เด็ดๆ ทั้งนั้นเลย
นาทีนี้... สิ่งที่ควรส่งเสริมให้นักเรียนไทยเขียนคือ เรียงความ ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ หรือย่อความ จากหนังสือความรู้ สารคดีที่สนใจ ที่อ่านมาแล้ว ส่วนสมุดความดีนั้นควรส่งให้ สส. (นักการเมืองทั้งระดับชาติ ระดับท้องถิ่น ส.อบจ. ส.ท. ส.อบต.) เขียนเถอะ อ้อ... หรือคุณป้าปลัด ศธ. จะลองเขียนดูทุกวันก็ได้นะ เชื่อผมเหอะ! ปิดท้ายด้วยความเห็นของหลวงพี่ที่ถูกใจเหลือเกิน
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)