foto1
ความงดงามการศึกษาไทย
foto1
เพื่อ?
foto1
ไม่เข้าใจ?
foto1
วิทยากรที่กระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาว
foto1
ท่องทะเลทรายที่ดูไบ UAE


Friendly Links

เรียนรู้ภาษา html
isangate banner
easyhome banner
ipst banner
sakdibhornssup foundation
13 Thai free fonts
speedtest
e mil

Facebook Likebox

No. of Page View

queues header

queues 01ทำไมคนญี่ปุ่นเข้าแถว (ไม่แซงคิว) แม้ขณะนั้นกำลังประสบภัยพิบัติจากสึนามิ แต่พวกเขาก็ยังเข้าแถวรอ ในการปันส่วนน้ำ และอาหาร แต่คนไทยกับแย่งชิงกันแค่ตั๋วหนังฟรีหนึ่งใบ นั่นคือคำถามที่เกิดขึ้นมากมาย หลังเกิดเหตุการณ์ "มอบคืนความสุขคนไทย" ด้วยการให้ดูภาพยนตร์ "ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 5 ยุทธหัตถี" ฟรีในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ แล้วโกลาหลอลหม่านทั่วไทย แก่งแย่งกันแบบโรงแตกสุดจะบรรยาย

queues 09ยิ่งก่อนหน้านี้ มีข่าวกระจายไปในสังคมออนไลน์ ก่อนหน้าเทศกาลดูหนังฟรีของคนไทย (วันที่ 12 มิถุนายน 2557) ชาวเน็ตสิงค์โปร์ฮือฮา เมื่อมีการแชร์ภาพของ นายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ ขณะกำลังยืนเข้าคิวเพื่อรอซื้อไก่ทอดที่ ฮอกเกอร์เซ็นเตอร์ (ฟูดคอร์ดที่ไม่ติดแอร์ หรืออยู่กลางแจ้ง) เป็นเวลานานถึง 30 นาที เช่นเดียวกันกับประชาชนทั่วไป ชาวเน็ตต่างแสดงความชื่นชมยกย่อง นายลี เซียน ลุง ที่ปฏิัติตัวเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปในการเข้าคิวซื้ออาหาร ทั้งที่ตัวเองเป็นถึงนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำประเทศ (ทำให้แอบคิดถึงภาพบรรดา ฯพณฯ ท่านทั้งหลายในเมืองไทยที่มักจะแย่งคิว ไล่ที่ เคลียร์พื้นที่เสียก่อน ไม่มีทางมาทำตัวบ้านๆ ให้เราเห็น)

วันนี้ก็เลยขอเสนอบทความเกี่ยวกับ "การฝึกระเบียบวินัย" การสร้างลักษณะนิสัยในการเข้าคิว การให้เกียรติผู้อื่นของคนญี่ปุ่นกันหน่อยครับ แล้วลองพิจารณาว่าเราจะจัดการกับลูกหลานคนไทยยุคใหม่ และพ่อ-แม่ ผู้ปกครองรุ่นเก่าของเราอย่างไร ต้องแก้ไขพร้อมกันนะครับ จะสร้างเด็กรุ่นใหม่โดยที่คนรุ่นเก่าแสดงความเอารัดเอาเปรียบให้เขาเห็นต่อหน้า หรือทำให้เห็นในทางที่ผิดย่อมไม่ส่งผลดีแน่นอน โรงเรียนฝึกฝนนักเรียนรู้จักการเข้าแถว เข้าคิว ในโรงอาหาร รับบริการต่างๆ แต่พอตอนเย็นผู้ปกครองกลับไปแซงคิวจ่ายเงินในร้านเซเว่นให้เด็กเห็น หรือไสส่งให้เด็กทำ ความสำเร็จในการสร้างวินัยในชาติย่อมไม่เกิดแน่นอน

queues 02

 

ทำไมคนญี่ปุ่นเข้าแถว (ไม่แซงคิว)

โดย ฮารา ชินทาโร่
อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

มเองก็ไม่ทราบครับว่า "ทำไมคนญี่ปุ่นเข้าคิวทุกครั้ง และแทบจะไม่มีใครกล้าแซงคิว"

มันเป็นหัวข้อที่น่าสนใจสำหรับงานวิจัยด้วย

สาเหตุหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ มันเป็นวัฒนธรรมในสังคมญี่ปุ่น ซึ่งถูกสอนมาตั้งแต่สมัยอนุบาลศึกษา ทั้งพ่อแม่ ครู และทั้งบรรดาผู้ใหญ่จะดุเด็กๆ ที่แซงคิวหรือไม่เข้าคิว ดังนั้น ตั้งแต่สมัยเด็ก เราก็เข้าใจว่า การแซงคิวนั้นเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ที่นี่ขอตั้งข้อสังเกตว่า นี่ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับดีหรือไม่ดีครับ แต่อยู่ที่ว่า ทำได้หรือทำไม่ได้ เนื่องจากว่า ทุกครั้งพยายามจะแซงคิว เด็กๆ จะโดนผู้ใหญ่ดุ และไม่มีผู้ใหญ่ที่แซงคิว ทำให้เด็กรู้ว่า ฉันก็ทำไม่ได้

อีกอย่าง คนที่แซงคิวถูกมองว่าเป็นคนที่ไม่มีคุณค่า เพราะคนนั้นเป็นคนที่เห็นแก่ตัว ไม่เกรงใจคนอื่น และทำให้คนอื่นรอนานเพราะความเห็นแก่ตัวของตนเอง ในที่นี่ขอตั้งข้อสังเกตว่า ชาวญี่ปุ่นเน้นความตรงต่อเวลามาก (ไม่ได้หมายความว่าทุกคนเป็นแบบนั้น แต่โดยส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้น) ดังนั้น การแซงคิวหมายความว่า คนที่แซงนั้นไม่ให้เกียติต่อเวลาของคนอื่น เมื่อคนใดคนหนึ่งไม่เห็นคุณค่าในเวลาของคนอื่น คนนั้นก็ถูกมองว่าคนที่ไร้คุณค่า อีกนัยหนึ่ง เราก็กลัวว่า ถ้าเราแซงคิว เราจะถูกมองว่าเป็นคนที่ไม่มีคุณค่า ดังนั้นเราก็ไม่ทำ

queues 03

อีกสาเหตุหนึ่ง น่าจะเกี่ยวข้องกับสิทธิและความเท่าเทียมกัน แม้ว่าคนที่อยู่ข้างหน้าของแถวนั้นเป็นคนใดก็ตาม เราก็รู้สึกว่า เขามีสิทธิมากกว่าเรา แม้ว่าเราจะมีอำนาจสูกว่า มีเงินมากกว่า มีการศึกษาสูงกว่า ตำแหน่งที่สูงกว่าก็ตาม ในแถวนั้น คนที่มีสิทธิมากที่สุดก็คือคนที่มาเร็วที่สุด คนนั้นเป็นใคร ไม่ใช่เรื่องสำคัญ

สังคมเราก็ยังเชื่อว่า การเข้าแถวต่อคิวนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน เพราะถ้าไม่มีคิว คนที่ได้เปรียบที่สุดก็คือ คนที่ไม่รู้จักคำว่า "อาย" เราก็ไม่อยากจะให้สังคมของเราเป็นสังคมที่คนที่ไม่รู้จักคำว่า "อาย" ได้เปรียบ ทุกคนก็ยอมรับที่จะเข้าแถว แม้ว่าแถวนั้นจะยาวเป็นหลายกิโลก็ตาม

ในสังคมบางสังคม (ขอโทษด้วยนะครับ รวมถึงสังคมไทย) ในขณะที่เราเข้าแถว ผู้ใหญ่มาถึงที่นั้น มักจะมีคนที่ต้อนรับท่านผู้ใหญ่และบอกว่า "เชิญทางนี้นะค่ะ/ครับ" หลังจากนั้นก็จะให้บริการแก่ท่านผู้ใหญ่คนนั้นก่อนคนที่เข้าแถวเป็นเวลานาน

ถ้าในประเทศญี่ปุ่น อาจจะมีคนที่ต้อนรับท่านผู้ใหญ่ (แม้ว่าหายาก) แต่คนที่ต้อนรับท่านผู้ใหญ่นั้นก็ต้องบอกว่า "ขอบคุณครับท่าน ขอโทษนะครับ วันนี้ คิวมันจะยาวหน่อยครับ"

queues 04

queues 05เป็นไงครับ? นั่นคือความจริง ผมไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น เมื่อต้นเดือนเมษายน (1-8 เมษายน) ไปกันเองกับครอบครัว จึงไม่ได้รีบร้อนแบบไปกับกรุ๊ปทัวร์ เลยได้เห็นและเรียนรู้ในวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นค่อนข้างมาก การเข้าแถวรอคิวอย่างสงบ ค่อยๆ เลื่อนตามกันไปต่อเนื่อง แม้จะต้องรอนานเป็นชั่วโมงก็เหมือนจะไม่มีใครบ่น และเดินมาแซงคิวเลย ทั้งในการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ สวนสนุก การเดินทางด้วยรถยนต์ รถไฟ ทั้งๆ ที่ทุกคนต่างก็รีบร้อนกันทั้งนั้น การเดินบนถนน ขึ้นบันไดเลื่อน จะไม่มีการเดินเรียงหน้ากระดานคุยกันหรอกครับ จะเดินชิดขวา เพื่อให้มีที่ว่างด้านซ้าย สำหรับคนที่รีบร้อนได้เดินแซงไป (สังเกต บนพื้นจะมีลูกศรแสดงทิศทางเคลื่อนที่ไว้)

คราวนี้ก็มาดูกันว่า เราจะฝึกระเบียบวินัย ปลูกฝังสิ่งที่ดีงามนี้ได้อย่างไร ติดตามบทความที่สองครับเก่าหน่อยตั้งแต่ปี 2553 โน่นแนะ แต่มันช่างเหมาะเจาะกับสถานการณ์เวลานี้มากครับ จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ 19 มกราคม 2553

5 เทคนิคฝึก "ระเบียบลูก" สไตล์ญี่ปุ่น

ชิจิดะ โก"ชิจิดะ โก" อีกหนึ่งคุณพ่อชาวญี่ปุ่น ที่ชื่อของเขาเริ่มเป็นที่คุ้นหูในเมืองไทย กับตำแหน่งประธานสถาบัน Shichida Educational และแนวทางการฝึกสมองทั้งสองด้านของลูก ตั้งแต่ยังเป็นทารก ซึ่งในวันที่เขาบินลัดฟ้ามาถึงเมืองไทย ได้มีโอกาสพูดคุย และเก็บเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับการอบรมสั่งสอนลูกสไตล์คนญี่ปุ่น ผ่านจิตใจภายใน ของคนเป็นพ่อแม่ ผู้อาศัยอยู่ในประเทศที่ขึ้นชื่อว่า มีระเบียบวินัยเคร่งครัด ให้ความสำคัญประโยชน์ส่วนรวมมาก่อนประโยชน์ส่วนตน และยังคงยึดมั่นในขนบธรรมเนียมดั้งเดิม เอาไว้อย่างเหนียวแน่น โดยคุณโกได้เผยถึง 5 จุดเด่น ที่เห็นได้ชัดของชาวญี่ปุ่น และเทคนิคในการฝึกลูกเอาไว้ดังนี้

1. เลี้ยงลูกให้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ

ในจุดนี้ คุณโกกล่าวว่า หากเป็นไปได้ คนญี่ปุ่นจะนิยมเลี้ยงลูกอยู่นอกเมือง เพื่อให้ลูกได้ใกล้ชิดธรรมชาติ ได้สัมผัสกลิ่นดิน กลิ่นทราย มากกว่าการมีบ้านอยู่ในตัวเมืองใหญ่ โดยพ่อแม่จะเป็นผู้เดินทางเข้ามาทำงานในเมืองเอง เพื่อให้เด็กยังคงมีความเป็นเด็ก ไม่ถูกสังคมเมืองหล่อหลอมจนหลงไหลในวัตถุเร็วเหมือนเช่นที่เกิดกับเด็กในอีกหลาย ๆ ประเทศ

"เด็กที่อาศัยอยู่นอกเมืองจะมีเพื่อนเล่นในวัยเดียวกัน และมีช่องว่างกับชุมชนน้อยกว่า ทำให้เด็กมีความผูกพันกับชุมชน และได้ใช้เวลาในวัยเด็กอย่างคุ้มค่า ต่างจากเด็กที่ต้องอาศัยอยู่ในตัวเมือง เพราะต้องเผชิญกับความเครียด ความกดดันตลอดเวลา"

(ครูมนตรีขอเสริม : การคมนาคมสาธารณะ (รถไฟ) ของญี่ปุนนั้นสะดวก ตรงเวลา ครอบคลุมเป็นโครงข่ายไปทั่วทำให้สะดวกในการเดินทาง ราคาไม่แพง ไม่จำเป็นต้องมีรถยนต์ส่วนตัว ถ้ามีก็จะเป็นรถยนต์ขนาดเล็กๆ ที่เรียกกันว่า City car เพราะไปตามตรอกซอกซอยสะดวก แต่ค่าที่จอดแพงนะครับ นิยมใช้จักรยานจากบ้านไปจอดที่สถานีรถไฟ ใช้รถไฟโดยสารและใช้จักรยานอีกคันไปที่ทำงานถ้าไกลจากสถานีหน่อย)

2. สร้างจิตสาธารณะ

เมื่อเด็กมีความผูกพันกับชุมชน และสังคมที่เขาอาศัยอยู่แล้ว การสร้างจิตสำนึกให้เด็กเห็นแก่ผลประโยชน์ของส่วนรวมมาก่อนผลประโยชน์ส่วนตน ก็ตามมาในลำดับต่อไป โดยในข้อนี้ สังคมที่เด็กอาศัยอยู่จะร่วมกันกล่อมเกลาเขาอย่างช้าๆ โดยถือว่าเป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องร่วมกันทำ

"เรื่องของจิตสาธารณะ ผมมองว่า เราอาศัยแต่ครอบครัวอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ทุกคนในสังคมต้องช่วยกันทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ยกตัวอย่างการเสียสละประโยชน์ส่วนตน เห็นประโยชน์ของส่วนรวมมาก่อน หากทุกคนทำได้ก็จะช่วยให้การทำงานต่างๆ ของทุกฝ่ายลุล่วง สำเร็จลงด้วยดี เมื่อส่วนรวมได้ประโยชน์ ความสุขเหล่านั้นก็สะท้อนกลับมาสู่ครอบครัวในที่สุด"

queues 07

การเห็นประโยชน์ส่วนรวมมาก่อนประโยชน์ส่วนตนที่เห็นได้ชัดเป็นอันดับต้นๆ ของชาวญี่ปุ่นคือ การต่อแถวอย่างเป็นระเบียบ ไม่มีการแซงคิวให้เป็นที่ระอาใจของผู้อื่น หรือการทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง ไม่ทิ้งขยะเกลื่อนกลาด การร่วมแรงร่วมใจกันในงานกิจกรรมของชุมชน ฯลฯ

(ครูมนตรีขอเสริม : ตัวอย่างที่น่าทึ่งในฟุตบอลโลกปีนี้ ทีมญี่ปุ่นแพ้แต่แฟนๆ ชาวญี่ปุ่นก็ไม่ได้เอะอะโวยวายทำลายข้าวของ แต่ช่วยกันเก็บขยะในสนามจนสะอาด ค่อยเดินทางออกจากสนามกลับที่พัก มันอยู่ในสายเลือดจริงๆ)

3. ตรงต่อเวลา

สำหรับการสอนให้ลูกตรงต่อเวลานั้น คงเป็นเรื่องยากหากสังคมโดยรวมไม่ยอมรับกติกาข้อนี้ แต่สำหรับในประเทศญี่ปุ่นนั้น กิจการใหญ่ๆ เช่น การเดินรถไฟของญี่ปุ่นทั้งแบบชินคันเซ็น หรือแบบโลคอล (วิ่งเฉพาะในเมือง) ต่างก็บริหารจัดการ "เวลา" กันอย่างเต็มประสิทธิภาพ มีการวางกำหนดเวลาแน่นอน หรือแม้แต่รถประจำทางเองก็ตรงต่อเวลา ไม่ผิดเพี้ยนแม้แต่น้อย การสร้างสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ให้เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวันของเด็ก คุณโกระบุว่า เป็นการปลูกฝังให้เด็กๆ กลายเป็นคนเห็นคุณค่าของ "เวลา" ไปโดยปริยาย

4. ไม่ปกป้องลูกเมื่อทำผิด

สิ่งที่พ่อแม่ที่ต้องการอบรมสั่งสอนให้ลูกเติบโตขึ้นเป็นคนดี มีจิตสำนึกต่อส่วนรวม ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน พึงตระหนักอีกข้อหนึ่งคือ หากพบว่าลูกไปสร้างความเสียหาย ทำความเดือดเนื้อร้อนใจ หรือละเมิดผู้อื่น พ่อแม่ต้องตักเตือนในทันที และถ้าเป็นพ่อแม่ที่ดีก็ต้องหาทางทำให้ลูกหยุดพฤติกรรมดังกล่าวให้ได้ โดยคุณโกระบุว่า พ่อแม่ที่ไม่ดี ก็คือพ่อแม่ที่เห็นการกระทำดังกล่าวของลูกแล้วเพิกเฉย นั่นเอง

queues 08

5. ให้กำลังใจลูก

การเลี้ยงดูเด็กในยุคนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความเครียดต่างๆ รายล้อมอยู่รอบตัว พ่อแม่จึงควรใช้การพูดคุย ให้กำลังใจลูกๆ ยามเผชิญหน้ากับความเครียด ซึ่งความเครียดของเด็กญี่ปุ่นใน พ.ศ. นี้ หนีไม่พ้น การแข่งขันด้านวิชาการ เพื่อจะได้สอบเข้าในโรงเรียนดีๆ มหาวิทยาลัยดีๆ เพื่อให้มีการงานดีๆ ทำ

"อาจมีเด็กบางคนไม่สนใจเรียน และทำให้พ่อแม่ต้องผลักดันลูกให้มากๆ เพื่อที่ลูกจะได้เป็นคนเก่ง แต่ในจุดนี้อยากให้พ่อแม่เข้าใจธรรมชาติของเด็กว่า ไม่ได้สมบูรณ์แบบทุกคน และควรใช้การสอน หรือการให้กำลังใจในการกระตุ้นลูกมากกว่า"

"ความคาดหวังของพ่อแม่เป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่อยากให้บังคับลูกมากเกินไป เพราะถ้าบังคับให้เรียน เด็กจะรู้สึกถึงภาระหนักอึ้ง วันหนึ่งเขาอาจจะปฏิเสธได้ แต่ถ้าเรียนไปตามธรรมชาติ เด็กก็จะเหมือนฟองน้ำที่ดูดซับความรู้เข้ามาได้เอง จึงไม่รู้สึกกดดันหรือเครียด นอกจากนั้น ควรให้เด็กได้มีประสบการณ์ในด้านอื่นบ้าง เช่น รู้จักช่วยเหลือสังคม หรือคนรอบข้างด้วย" คุณโกกล่าวทิ้งท้าย

queues 06

ต่อไปก็คงต้องเป็นหน้าที่ของครู พ่อ-แม่ ผู้ปกครองที่เป็นผู้ใหญ่ทั้งหลายจะต้องจัดการอบรม สั่งสอนให้ลูกหลานของเราได้ซึมซับในวัฒนธรรม สิ่งดีๆ ที่คนไทยมีอยู่ เช่น การนอบน้อมถ่อมตน การเคารพต่อผู้ใหญ่ ผู้มีพระคุณ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีน้ำใจ จิตสาธารณะ เสียสละ เคารพในสิทธิของผู้อื่น (ที่ไม่ละเมิดต่อสังคมส่วนรวม) และความเป็นระเบียบวินัยนี้ให้มาก จนเป็นลักษณะนิสัยเอกลักษณ์ของไทยเราต่อไปในอนาคต เลิกคิดและไม่ใช้คำว่า "Thailand Only" ที่แสดงให้เห็นการด้อยค่าของเราในสายตาผู้อื่นอีกเลย ขอร้องล่ะครับ...

 queues 11

ทริปญี่ปุ่น 1-8 เมษายน 2557

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

Our Policy