foto1
ความงดงามการศึกษาไทย
foto1
เพื่อ?
foto1
ไม่เข้าใจ?
foto1
วิทยากรที่กระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาว
foto1
ท่องทะเลทรายที่ดูไบ UAE


Friendly Links

เรียนรู้ภาษา html
isangate banner
easyhome banner
ipst banner
sakdibhornssup foundation
13 Thai free fonts
speedtest
e mil

Facebook Likebox

No. of Page View

farang mong thai

โดย ไมเคิล ไรท์

ระบบการศึกษาไทย ปัญหาเกิดตรงไหน ?

ความนำ

student 01ผมเขียนเรื่องนี้มานานแล้วว่า ระบบการศึกษาในประเทศไทยคือ ระบบการศึกษาสำหรับอาณานิคม ที่มุ่งหมายปราบปรามความคิดเสรี และคิดสร้างสรรค์

ฝ่ายบ้านเมืองที่คิด "ปฏิรูปการศึกษา" ทั้งข้าราชการหัวเก่าและนักการเมืองหัวพ่อค้า, ล้วนคิดแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เช่น การปกครองระบบ, การเปลี่ยนหลักสูตร, การล้างสมองครู ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องยากๆ ทั้งสิ้น

แม้กระทั่ง "การศึกษาที่เด็กเป็นแกนนำ" (Child Centred Education) ถูกบิดเบือนจนกลายเป็นการล้างครู คว่ำสังคมจนไม่มีใครรับได้

ผมยิ่งพิจารณาก็ยิ่งสงสัยว่า ระบบการศึกษาของไทย (และที่อื่นๆ) ไม่เลวทั้งหมด แม้จะมีปัญหาขลุกขลักบ้าง ซึ่งเป็นธรรมดาทั่วโลก ในระดับอุดมศึกษา มัธยมศึกษา และประถมศึกษา ระบบไทยสามารถป้อนความรู้ที่จำเป็นสำหรับนักเรียนนักศึกษาได้ดีพอสมควร ใช่ว่าจะเลวสิ้นดี

ดังนั้น นักปฏิรูปไม่ควรคิดปล้ำระบบทั้งหมดให้วุ่นวายจนเททิ้งของดีไปพร้อมกำของเน่า

อย่างไรก็ตามปัญหาหลักๆ ยังมีอยู่ คือ ระบบการศึกษาไทย

  1. ไม่เชิดชูหรือส่งเสริมความอยากรู้อยากเห็นอันเป็นสันดานแท้ๆ ของเด็กทุกคน
  2. ไม่ชวนให้เด็กสงสัยหรือซักถามซึ่งเป็นสิทธิของเด็กทุกคน และ
  3. ไม่เปิดโอกาสให้เด็กคิดสร้างสรรค์หรือจินตนาการตามที่เด็กเกือบทุกคน (อาจจะ) ทำได้

ผมยิ่งคิดก็ยิ่งเห็นว่า จุดกำเนิดปัญหาไม่ได้อยู่ที่ห้องเรียนในมหาวิทยาลัย โรงเรียนมัธยม หรือโรงเรียนประถม แต่เกิดในชั้นประถมตอนต้นหรือก่อนหน้านั้นเสียอีก ขอยกตัวอย่างที่ชวนผมให้คิดเช่นนี้ :-

ปริศนาสารานุกรมที่เด็กไม่ดู

ผมเหมือนเด็กฝรั่งส่วนใหญ่ โตขึ้นมากับ "สารานุกรมสำหรับเด็ก" (Children"s Encylopedia หรือ Child"s Book of Wonders) เรื่องดวงดาว, โลกรอบตัว, พืชและสัตว์, คนเผ่าต่างๆ การทำงานของเครื่องจักร ฯลฯ โตขึ้นมาหน่อยก็ย้ายไปใช้ Encyclopedia Britanica แล้วใช้มันวันยังค่ำจนทุกวันนี้

saranukrom thaiราวสิบปีที่แล้วผมทำงานกับสถาบันที่มีห้องสมุด ที่เปิดให้เด็กค้นคว้าเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม ในห้องสมุดนั้นมี "สารานุกรมสำหรับเยาวชน" ที่ในหลวงทรงมีพระราชปรารภให้สร้างขึ้นมา

วันหนึ่ง ผมมีข้อสงสัยจึงขอดูสารานุกรมฉบับดังกล่าว ผมพลิกดูแล้วรู้สึกมหัศจรรย์ว่า ทำไมจึงสะอาดสะอ้านเหมือนใหม่?

ผมทักกับบรรณารักษ์ว่า "เด็กไทยนี้นิสัยดีจัง ถึงรักษาสารานุกรมให้สะอาดหมดจด ไม่เปื้อนมือ, ผิดกับสารานุกรมฝรั่งที่มักมอมแมมด้วยฝีมือเด็กสกปรก"

บรรณารักษ์ยิ้มแล้วตอบว่า "เปล่าหรอกค่ะ ในสิบปีตั้งแต่ซื้อสารานุกรมมา ไม่มีเด็กคนใดมาขอค้น ทุกฉบับจึงงามสะอาดดังเมื่อออกจากแท่นพิมพ์"

ท่านผู้อ่านคิดอย่างไรกับหลักฐานข้อนี้ ? ผมไม่เชื่อว่า เด็กไทยเกิดมาใจตายด้าน ไม่มีความอยากรู้อยากเห็น (Curiosity) ชะรอยเธอต้องถูกสั่งสอนตั้งแต่ต้นให้ระงับใจ เลิกจินตนาการแล้วเชื่อผู้ใหญ่ แทนที่จะสงสัยด้วยตนเอง

ปัญหามีอยู่ว่า เด็กไทยถูก "หักปีก" เมื่อไร ? และด้วยวิธีใด ?

ผมได้พบคำตอบในหนังสือ Partners in Learning ของ Maureen Wickremasighe (ISBN 955-97827-5-4) ว่าด้วยบูรณาภาพ (Continuity ?) ระหว่างวัยทารกกับวัยเริ่มเข้าเรียนหนังสือ

ความสงสัยและจินตนาการในทารก

student 05หนังสือดังกล่าวขึ้นต้นด้วยทารกเริ่มคลาน ว่ามีความอยากรู้อยากเห็นสูงมาก ย่อมสำรวจรอบตัวจับหัวแมวหางหมาว่ามีสรรพคุณอะไรบ้าง คว้าขี้ดิน ด้ามร่มเข้าปากว่ากินอร่อยแค่ไหน ต่อมาพอเดินได้ ทารกจะเริ่มเล่นและมักจะเล่นสกปรกมอมแมม เช่น เล่นทราย สาดน้ำ ปั้นดินเป็นขนม (Mud Pies) ออกขายกันสมมติเป็นตลาด ฯลฯ

ต่อมาเมื่อเด็กโตขึ้นมา ครูชั้นประถมตอนต้นควรใช้พลังสงสัยอยากรู้อยากเห็นนี้เป็นเครื่องมือในการ สอนให้เด็กเรียนรู้อักษรและเลขด้วยความสนุกสนาน อยากรู้อยากเห็น

สำหรับคนที่มีสุขภาพจิตสมบูรณ์ มีจินตนาการและคิดสร้างสรรค์ การละเล่นไม่มีวันสิ้นสุด เมื่อสุนทรภู่แต่ง "พระอภัยมณี" ท่านกำลังเล่น   เมื่อ Einstein คิดทฤษฎีครอบจักรวาล ท่านกำลังเล่น   เมื่อ จิตร ภูมิศักดิ์ วิเคราะห์คำว่า ไทย ลาว ขอม ท่านกำลังเล่น ฯลฯ, ฯลฯ, ฯลฯ

ที่จริง การเล่น หรือ การเรียนรู้ และการเรียน ก็ควรจะเป็น การละเล่น ต่อเนื่องกัน แต่ในโลกทัศน์ของผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ การเล่นและการเรียนเป็นคนละเรื่องไม่เกี่ยวกันเลย ในทางตรงกันข้าม การเล่นเป็นการเสียเวลาเปล่าๆ และเมื่อจะเข้าเรียน เด็กๆ ต้องเลิกเล่น!

นี่เป็นความเข้าใจผิดระดับพื้นฐานที่เป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จของการศึกษาไทยโดยทั่วไป ทำให้การศึกษาเป็นเรื่องทุกข์ทรมานสำหรับครูและเด็กพอๆ กัน

ทำลายความอยากรู้อยากเห็นและจินตนาการของเด็ก และอาจจะอำนวยให้เด็กเกเร นักเรียนอาละวาด หรืออย่างน้อยก็ซึมเศร้าหดหู่ใจ ไม่อยากคิดไม่อยากอ่าน และ ไม่อยากเปิดสารานุกรม ที่ดีที่หนึ่งระดับโลกที่ในหลวงทรงมีพระราชอุตสาหะให้สร้าง

ทั้งหมดนี้ชวนให้ผมเข้าใจว่า ปัญหาที่แท้จริงของระบบการศึกษาไทยอาจจะมีจุดกำเนิดในระดับก่อนเข้าเรียน (Pre-school) และระดับประถมขั้นต้น

การละเล่น จินตนาการ และความอยากรู้อยากเห็นในโรงเรียน

ผมไม่มีความรู้ภาคสนาม คือผมไม่เคยเป็นเด็กไทย ไม่เป็นผู้ปกครองของเด็ก และไม่เคยเป็นครูชั้นประถม ความเห็นของผมจึงอาจจะผิดพลาดโดยสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม ผมเคยเป็นเด็ก (ฝรั่ง) ที่ถูกระบบการศึกษา (อังกฤษ) ทรมานพอสมควร ผมจึงขอถือสิทธิออกความคิดเห็นแทนเด็กๆ ทั่วโลกที่ประสบว่า โรงเรียนคือนรกน้อยๆ

ใครไม่เห็นด้วยโปรดเขียนมาทักท้วง ผมจะได้ชื่นใจ แต่กรุณาอย่าเพิ่งเผาพริกเผาเกลือ เสียดายของ

ผมเห็นปัญหาเด็กก่อนเข้าเรียนและเริ่มเข้าเรียนนั้น มีสองระดับชั้นคือ 1) ชนชั้นผู้ดีและชนชั้นกลางในเมือง, และ 2) ชนชั้นกรรมาชีพและชนบท

  1. ชนชั้นผู้ดีและชนชั้นกลางในเมือง (ที่เรียนแบบชีวิตผู้ดี) มักควบคุมลูกๆ จนมากไป, คือคุมทารกไม่ให้เล่นสกปรกมอมแมมตามประสาเด็กสามัญชน ผลก็คือ ทารกรู้จักระเบียบความเรียบร้อย และความสะอาดสะอ้าน ตั้งแต่น้อย แต่ขาดโอกาสที่จะสำรวจเรียนรู้โลกรอบตัว
    ดังนั้น ความอยากรู้อยากเห็นที่เป็นสันดานเดิมของเด็กจึงหดเหี่ยว และจินตนาการไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เมื่อลูกผู้ดี/ชนชั้นกลาง เข้าเรียนชั้นประถม ก็เข้ากรอบเหล็กอีกชั้นหนึ่ง อักษรและเลขไม่ได้เป็นเรื่องสนุกสนานที่เด็กจะสำรวจ เล่น ค้นหา ได้ด้วยตนเอง แต่เป็นสูตรสำเร็จรูปที่คุณครูบังคับให้ท่องจำ อย่าให้สงสัยหรือทักถามว่า "ทำไม ?"
  2. คนกรรมาชีพและชาวชนบท มักให้ลูกๆ เล่นตามอัธยาศัย (เช่น ขี่ควาย, เล่นดิน เล่นน้ำ) หรือเรียนรู้โลกรอบตัวให้บังเกิดความอยากรู้อยากเห็นและจินตนาการพอสมควร เด็กตามชนบทจึงน่าจะเรียนดีกว่าเด็กในเมือง แต่ที่ไหนได้ ?
    พอเด็กในชนบทเข้าเรียนชั้นประถมก็เจอะโครงเหล็ก คือระบบการศึกษาของราชการแบบอัตณานิคม ที่บังคับให้ล้มปัญญาเดิม พื้นเมือง แล้วสอนความรู้ใหม่จากนอก ใช่ว่าความรู้ใหม่จากนอกนี้จะผิดหรือชั่ว, แต่ระบบการศึกษาไม่เปิดโอกาสให้ถกเถียง, ไม่ให้ทางเลือก, และบังคับให้เชื่อว่าวิถีชีวิตเดิมไม่มีคุณค่า
    ดังนี้ เด็กชนบทจึงถูกแยกออกจากอดีตและบริบทของตนจนลอยตัว, ไม่มีที่มาหรือที่ไป จึงไม่อาจจะคิดสร้างสรรค์ได้เสรีเช่นกัน

ความส่งท้าย

ดูเหมือนกับว่ารัฐบาลคุณทักษิณ เชื่อว่า ปัญหาการศึกษาไทยแก้ได้ด้วยการเพิ่มเทคโนโลยีให้โรงเรียนทุกแห่งมีเครื่องคอมพิวเตอร์

ผมไม่เถียง แต่สงสัยว่าเราจำเป็นจะต้องกลับไปดูเบื้องต้นการศึกษา เมื่อทารกปั้นดิน, สาดน้ำ, จับหัวแมว

การจะแก้ระบบการศึกษาในระดับมัธยมหรืออุดมศึกษา เป็นการสิ้นเปลือง, ยุ่งยากและแพง

เรากลับไปแก้ระบบการศึกษาในระดับก่อนการเรียน (Pre-school) และระดับประถมขั้นต้นจะไม่ดีกว่าหรือ ?

children

PLAYING TO LEARN

Playing is every child"s right. It is a necessary part of their life and learning. At persent there is much talked and written about "Children"s Rights". Play is a very Basic Right of all children, because it is through Play that children learn the most valuable lessons of Life.

จาก มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2547 ปีที่ 24 ฉบับที่ 1256
นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

Our Policy