วานนี้ มีเอกสารที่ต้องกรอกข้อมูลบางประการย้อนหลัง เลยต้องกลับมาค้นกล่องกระดาษที่บ้าน เจอเอกสารที่ต้องการและเจอหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 มกราคม 2548 ที่ผมตัดไว้ด้วย พออ่านแล้วก็เห็นว่า นี่มันผ่านมาตั้งห้าปีแล้ว แต่ปัญหานี้ยังคงอยู่ และดูเหมือนจะกระหน่ำซ้ำเติมเพื่อนครูเราหนักหน่วงยิ่งขึ้น จึงได้ตั้งหัวข้อเรื่องว่า "วิบากกรรมยังไม่สิ้น" ในวันนี้นั่นเอง
คำให้การของครู "เออร์ลี่รีไทร์"
โดย สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทความนี้คือ คำให้การของครูที่จะมาไขข้อข้องใจ ซึ่งน่าจะเป็นกระจกสะท้อนให้กับรัฐมนตรี ข้าราชการระดับสูง นักวิชาการ ผู้ปกครองนักเรียน ได้รับรู้ถึงสภาวะของจิตใจครูที่คับข้องกับระบบที่เป็นอยู่ จนต้องตัดสินใจขอ "เออร์ลี่รีไทร์" ทั้งๆ ที่รักในวิชาชีพครู รักนักเรียนอย่างถึงที่สุด
- ครูนั้นมีหน้าที่หลักและสำคัญยิ่งคือต้องสอนหนังสือตามคาบเวลา ไม่น้อยกว่า 20-25 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตรวจงานเด็ก Home Room ดูแลความประพฤติเด็ก ครูเวร และอื่นๆ แต่เชื่อหรือไม่ว่า ครูต้องทำหน้าที่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นงานด้านการเงิน บุคลากร ตารางสอน งานพัสดุ ฝ่ายปกครอง แผนงานโรงเรียน งานสารสนเทศ โสตทัศนศึกษา เครื่องเสียงไมโครโฟน สหกรณ์โรงเรียน และอื่นๆ อีกมากมาย
นอกจากนั้น ยังมีหน้าที่กรรมการกว่า 25-30 กรรมการ เพื่อเข้าประชุมสัมมนาในเชิงวิชาการ นี่คือตัวอย่างการเป็นกรรมการบ้าบอคอแตก ที่ใช้เวลามากมาย กรรมการทอดผ้าป่า เทศน์มหาชาติ คุมสอบ วันแม่ สื่อวัฒนธรรม นิทรรศการ วันไหว้ครู จัดชั้นเรียน ประเมินภายใน ภายนอก ฝ่ายหาเงิน รักการอ่าน ยาเสพติด รับสมัครนักเรียน ฯลฯ
ภาระงานนี้ กลายเป็นงานหลักที่เปลืองเวลาของครูมาก เหน็ดเหนื่อย และบ่อยครั้งยังถูกนโยบายภาคการเมือง ให้มาต้อนรับผู้ใหญ่ กระทรวงมาดูงานตรวจเยี่ยม ถูกบังคับให้ช่วยแบกป้ายรณรงค์ ครูยุงลาย ไข้หวัดนก เอดส์ สารพัดที่สั่งรับและด่วน จนครูต้องลนลานทำแทบไม่ทัน สอนในชั่วโมงได้ไม่เต็มที่ ฝากงานสอน หรืองดสอนก็เกิดขึ้นเสมอๆ
ทำไมเราไม่ลดภาระงานที่ไม่ใช่การสอนลง หาบุคลากรมาช่วยหรือทำงานแทนไปเลย ครูจะได้ทุ่มเทกับการสอนและนักเรียนได้อย่างเต็มที่ตลอดเวลา (ผ่านมาห้าปีก็ยังคงทำไม่ได้ ครูยังคงเป็นครู หมอ ตำรวจ หลวงพ่อ.... อยู่ต่อไป)
- ครูต้องแข่งขันเพื่อรางวัล ตำแหน่งหน้าที่และการเพิ่มซีของตนเอง ระบบดังกล่าวส่งผลต่อบุคลิกภาพของครูเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย
ครูจำนวนหนึ่ง ตั้งหน้าตั้งตาเขียนผลงาน เพื่อโปรโมตตัวเองอย่างเอาเป็นเอาตาย ข้ามหัว ข้ามอาวุโส อยากชนะ อยากได้รางวัล อยากได้ประกาศนียบัตร ได้รับการยกย่องเป็น ครูเกียรติยศ ครูแกนนำ ครูแห่งชาติ ครูต้นแบบ อาจารย์ 3 ระดับ 9 จนสุดท้ายมีครูจำนวนมากที่ตั้งใจสอน ทำงานเพื่อเด็ก กลายเป็นครูตกยุค ครูเฉา ครูละเหี่ย ครูแปรปรวนและครูอื่นๆ ครูจำนวนไม่น้อยเริ่มท้อแท้กับการแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตาย เป็นบ้าเป็นหลัง กับระบบกัดกร่อนนี้เข้าไปทุกที
ครูล่ารางวัลจะแบกกล้องถ่ายรูปไปทุกที่ ถ่ายรูปกับวิทยากร ให้ติดตัวหนังสือหัวข้อประชุมสัมมนา ทำท่ายืนพูดบนโพเดี่ยม ทำกิจกรรมอย่างโดดเด่น ทุกอย่างถูกรวบรวมเป็น ข้อมูล เอกสาร รูป แหล่งอ้างอิง จนกลายเป็นผลงานเพื่อแสดงความก้าวหน้า ถามว่าหลังจากได้ตำแหน่งและรางวัลแล้ว เกิดประโยชน์อะไรกับเด็กบ้าง คำตอบคือน้อยมาก
นี่คือ ระบบซื้อคุณค่าวิชาชีพครูจอมปลอม ด้วยการเอาตำแหน่งระดับซี และรางวัลมาล่อครู อย่างน่าอดสูเป็นที่สุด
- นักวิชาการร้อนวิชาสร้างศัพท์เทคนิคใหม่ๆ ให้ครูต้องเรียนรู้และตามให้ทัน มีสารพัดตัวย่อที่ล้วนต้องทำเพื่อนำโรงเรียนไปสู่ความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็น ISO (ไอ้โซ่ ครูเรียกว่า ไอ้เซ่อ) NSO แบบประเมินคุณภาพครู SSR แบบประเมินตนเอง SBM โรงเรียนเป็นฐาน และยังมีตัวอื่นๆ ทยอยเข้าโรงเรียนแทบทุกเดือน SDQ, PBB, EIS, KAP, SAT, GAT, GPA, และ NT (National Tast) (และล่าสุด พ.ศ. 2553 คือ UTQ online)
ครูส่วนใหญ่มึนงง วุ่นวายสับสน ปรับตัวถี่กับการร้อนวิชาของนักวิชาการในมหาวิทยาลัย และของกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนใหญ่ยอมรับว่าเข้าใจยาก ตามแทนไม่ทัน แม้นจะเข้าอบรมสัมมนา พอเริ่มคลำทางศัพท์ย่อตัวหนึ่งได้ เปลี่ยนอีกแล้วเริ่มตัวใหม่กันอีก วนเวียนจนแทบไม่ต้องทำอะไร
พวกนักวิชาการน่าจะหยุดกันบ้างก็ดี พวกชอบลองของใหม่ แต่ไม่ดูสภาพข้อเท็จจริงของครูวัย 40-50 ปี หรือการทำได้จริงในโรงเรียน ที่ขาดความพร้อมแทบทุกด้าน (ทุกวันนี้ครูส่วนใหญ่เดือดร้อน อดตาหลับขับตานอนเพื่อมานั่งหน้าจอล็อกอินเข้า ระบบ UTQ online ตอนเที่ยงคืนหรือรอจนถึงช่วงตีสี่ตีห้า เพื่อรอการนับถอยหลังซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อก่อนนับ 60 วินาทีมีครูบ่นก็เลยลดลงมาเหลือ 5 วินาทีแต่หลายรอบจนอ่อนใจ สุดท้าย ก็มีมือปืนรับจ้างคอยเข้าระบบทำ Pre-test/Post test และกิจกรรมอื่นๆ ให้ เพื่อแลกกับเหล้าหรือเบียร์เป้นรางวัล แล้วนี่มันจะวัดหาพระแสงของ้าวอันใด)
- การเปลี่ยนหลักสูตรใหม่ทำให้ครูป่วน ความไม่แน่นอนของหลักสูตรที่ใช้ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามอารมณ์ และความต้องการของรัฐมนตรีบ้าง การเข้าใจผิดของนักหลักสูตรในกระทรวงศึกษาธิการ ล้วนสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้า วันดีคืนดีครูต้องมาเป็นนักผลิต นักสร้างหลักสูตรทั้งๆ ที่เป็นผู้ใช้ ผู้บริโภคหลักสูตรมาโดยตลอด ต่อมามีหลักสูตรท้องถิ่น หลักสูตรแกนกลางให้โรงเรียนช่วยกันทำ
เวลาผ่านไปปีเศษจัดทำใกล้เสร็จ บางแห่งทดลองใช้ ส่วนกลางบอกให้ยกเลิก ให้ยึดหลักสูตรที่กระทรวงทำขึ้น 70:30 สอนหนังสือเช้าบ่ายทำกิจกรรม และอื่นๆ วันนี้ ขณะนี้ ครูยังไม่รู้เลยว่าหลักสูตรดีๆ ที่จะใช้เล่มไหนเป็นหลัก วุ่นวายสับสนซะไม่มี จนยึดอะไรแทบไม่ได้
- ครูเบื่อหน่ายกับการจัดทำเอกสารที่กองเป็นภูเขาเลากา เพื่อตัดสินคุณภาพ ยุคสมัยที่มีการประเมินคุณภาพครู คุณภาพโรงเรียน ด้วยการสร้างหลักฐาน เพื่อความเจริญรุ่งเรืองความก้าวหน้าที่ มีทั้งเรื่องจริงปนเท็จอันมากมาย
"ครู จำนวนไม่น้อยเรียนรู้การมีเทคนิคที่แยบยลอย่างเป็นระบบ จนสามารถสร้างความน่าเชื่อถือ และตบตาคนภายนอกที่มาดูหรือตรวจผลงานอย่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่ง" นับแต่เทคนิคการสร้างภาพ ผลัดกันถ่ายในเวทีประชุมสัมมนา เทคนิคการบันทึกข้อมูล ทำบ้างไม่ทำบ้าง แต่มีบันทึกและการลงชื่อกำกับว่า มีคุณภาพและปฏิบัติแล้ว (การทำอาจารย์ 3 เป็นตัวอย่างหลายคนที่ทำให้ครูต้องมีเทคนิคชั้นสูง ทุ่มเทจนร้อนรุ่ม วุ่นวาย เครียดเป็นที่สุด) มีเทคนิคการหาบุคคลอ้างอิงเพื่อเพิ่มน้ำหนักข้อมูล
ผู้เขียนเองโดนบ่อยๆ ทั้งถ่ายรูปด้วย เขียนคำนิยม เขียนรับรองผลงาน และอื่นๆ เทคนิคการนำเสนอข้อมูลจะมีคณะกรรมการมาประเมินทั้งภายในและภายนอก ครูบอกว่า หลังการประเมินผ่านไป ทุกอย่างจะกลับเข้าสู่สภาพเดิม เป็นเพียงละครจัดฉาก ผักชีโรยหน้า เอกสารเก็บเข้าตู้รอเวลาหอบมาเสนอใหม่เมื่อจำเป็น ระบบการศึกษาไทยยังไม่มีวัฒนธรรมการประเมินคุณภาพ และไม่เคยนำผลการประเมินมาใช้ปรับปรุงโรงเรียนเลยแม้แต่น้อย สูญเปล่าเหลือคณานับจริงๆ
นี่คือความในใจ คำให้การบางเรื่องบางราวของครู ที่ทำหน้าที่อย่างดีอย่างเต็มที่ แต่เหลืออดเหลือทนกับงานภาระหน้าที่นอกเหนือจากงานสอนปกติ นอกจากมากมายมหาศาลยังเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง ต้องเข้าสู่ระบบแข่งขันทั้งที่ไม่ชอบ รีบเร่งกับการทำงานที่วุ่นวายสับสนกับเรื่องใหม่ๆ ที่ครูต้องเป็นหนูทดลอง เจอกับนักเรียนพันธุ์ใหม่ที่ทำให้ครูปวดหัว และเหนื่อยหน่าย ต้องเสนอเขียนข้อมูลขัดกับความเป็นจริง ได้ผู้บริหารเปลี่ยนไปที่ทำเพื่อตัวเอง แสวงหาความก้าวหน้า ไปโรงเรียนใหญ่กว่า เจริญกว่า มีศัพท์ใหม่ๆ ของนักวิชาการที่ป้อนใส่ครูจนตามไม่ทัน เบื่ออารมณ์และนโยบายของนักการเมือง และข้าราชการระดับสูงที่สั่งงานด่วน งานเร่ง งานจิปาถะที่ฉาบฉวยและอื่นๆ
งานครูเป็นอุดมคติ แต่ชีวิตจริงล้วนทำงานหนักเยี่ยงทาสของระบบ ที่ล้วนชี้นิ้วสั่งการตรงดิ่งมายังครูแทบทั้งสิ้น
คัดมาจาก นสพ.มติชน 17 มกราคม 2548
บทความข้างต้นนั้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ผ่านมา 5 ปี การศึกษาไทยของเราก็ยังคงไม่ก้าวไปทางไหน ย่ำเท้าอยู่กับที่ แม้จะมีนโยบายสำทับว่าจะเดินไปสู่สากล เอาให้มันรอดจากปลักโคลนจอมปลอมนี้ก่อนเถอะครับ ค่อยว่ากันต่อไป เฮ้อ... เหนื่อยหน่ายในหัวใจจริงๆ ขอเป็นกำลังใจให้เพื่อนครูไทยทุกท่านนะครับ...
บทสรุปของผม (2556)
ตอนนำบทความนี้มาลงในเว็บก็ไม่คิดหรอกว่า วันหนึ่งเราก็จะเป็นหนึ่งในผู้เกษียณตัวเองก่อนกำหนด ผมลาออกจากราชการมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 เหตุผลเดียว คือ เบื่อระบบราชการมากๆ อายุราชการ 33 ปีที่ทุ่มเทเอาใจใส่ สร้างสรรค์งานให้กับโรงเรียน 2 แห่งมามากมาย แต่สุดท้ายกลับไม่มีความสุขในยุคปัจจุบัน ที่ดูเหมือนทุกคนจะตั้งหน้าตั้งตาแสวงหาประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง ผู้บริหาร 5 คนก็ดูเหมือนจะหันหน้าไปคนละทาง สร้างดาวกันคนละดวง (เหมือนตราหน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา เมื่อในอดีต ที่หัวลูกศรมันไปคนละทาง เลยคิดอยากให้ทำหัวลูกศรเข้ามาหากันดีกว่า) ทำให้ครูน้อยพลอยอึดใจในการทำงาน และกำลังถูกมองและเชิงบังคับว่าจะเลือกข้างใคร อยู่ไปก็ไม่มีความสุขครับ