foto1
ความงดงามการศึกษาไทย
foto1
เพื่อ?
foto1
ไม่เข้าใจ?
foto1
วิทยากรที่กระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาว
foto1
ท่องทะเลทรายที่ดูไบ UAE


Friendly Links

เรียนรู้ภาษา html
isangate banner
easyhome banner
ipst banner
sakdibhornssup foundation
13 Thai free fonts
speedtest
e mil

Facebook Likebox

No. of Page View

webmaster talk

วันนี้ขอนำบทความซึ่งท่านผู้ไม่ประสงค์ออกนามท่านหนึ่ง (คนนิรนาม) เขียนขึ้น และผมได้พบเห็น อ่านแล้วหลายรอบ ก็อยากให้ท่านได้อ่านบ้าง ส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่ก็แล้วแต่วิจารณญาณของท่านครับ

ประกาศปฏิรูปการศึกษา (ฉบับคนนอก)

เป้าหมาย : เพื่อพัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการ กระบวนการคิดของเยาวชน ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดสำหรับ การพัฒนาประเทศชาติในอนาคต และการบริการการศึกษาอย่างทั่วถึง สำหรับทุกกลุ่มความต้องการ (ขั้นพื้นฐาน)

ปัญหาและการแก้ไข :

1. การยกเลิกการสอบเข้าในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ที่ ๑ และมัธยมศึกษาปีที่ ๔ เพราะทำให้ไม่สามารถแยกระดับมันสมองของเด็กได้ เป็นการนำเด็กที่ระดับมันสมองต่างกันมาผสมกันทำให้ยากแก่การพัฒนา เห็นควรให้มีการสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียนมัธยมชื่อดังเหมือนเดิม ไม่เห็นควรให้สามารถเดินเข้าโรงเรียน (เข้าเรียนโดยกฎพื้นที่บริการ) ได้ แม้บ้านจะอยู่ติดกับโรงเรียนก็ตาม

การแก้ปัญหาเด็กไม่มีที่เรียนใกล้บ้าน เห็นควรให้รัฐ เปิดโรงเรียนรองรับในพื้นที่ต่างๆ ให้มากขึ้น สร้างแรงจูงใจให้ครูเก่งๆ ออกไปสอนต่างจังหวัด (แรงจูงใจ อาจเป็นในเรื่องผลของประโยชน์ด้านต่างๆ เช่น มีสวัสดิการที่ดี หรือเงินเดือนสูงกว่าครูในกรุง หรือมีส่วนลดภาษี)

ประเด็นนี้สำคัญมากๆ เพราะมีที่เรียนไม่เพียงพอต่อความต้องการของเยาวชน ทำให้ต้องมีการสอบวัดคุณภาพ เพื่อรับนักศึกษา ทางออกที่เหมาะสมคือ ควรเปิดมหาวิทยาลัย ที่สอนเนื้อหาวิชาที่เกี่ยวกับการทำงานโดยตรง เรียนง่าย หน่วยกิต และค่าเทอมราคาถูก เรียนจากประสบการณ์จริง สามารถแก้ปัญหาในชีวิต ผู้สอนไม่เอาเปรียบผู้เรียน ไม่เครียด เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่พลาดจากการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย

การเรียนการสอนนอกระบอบ (การศึกษานอกโรงเรียนทั้งระดับมัธยมและมหาวิทยาลัย อาจดำเนินการด้วยวิธีการศึกษา จากศูนย์การศึกษานอกระบบหรือการเรียนจากอินเตอร์เน็ต) ระบบนี้ต้องถูกปรับปรุงมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพที่อยู่ในมาตรฐานเดียวกันกับการศึกษาในระบบ เห็นด้วยว่าไม่ควรมีการกำหนดอายุผู้เรียน ถ้าคนไหนเก่งพอคนนั้นก็แก่พอที่จะเรียน (ได้ข่าวว่ามีเด็กอัจฉริยะชาวอเมริกัน ได้ปริญญาเอกในสาขาวิชาเลขทั้งๆ ที่อายุ ๑๔-๑๕ แค่นั้นเอง) เช่นเดียวกันกับไม่มีใครแก่เกินเรียน

และควรสร้างแรงจูงใจให้สถานกวดวิชาชื่อดัง ที่เข้าใจถึงขั้นตอนการเรียนรู้การถ่ายทอด เข้ามาเปิดเป็นโรงเรียนจริงๆ ที่ไม่ใช่แค่โรงเรียนกวดวิชา ให้พอเพียงต่อความต้องการเพื่อรองรับเด็กที่ไม่มีที่เรียน หรือมีที่เรียนแต่ไม่อยากเรียนเพราะไม่ใช่โรงเรียนชื่อดัง เชื่อว่าเด็กปัจจุบันหลายๆ คน อยากเรียนกับอาจารย์ที่สอนเก่งๆ ตามที่กวดวิชามากกว่าโรงเรียนชื่อดัง เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่าจะชื่อดังแค่ไหนก็มาเรียนพิเศษอยู่ดี รวมถึงแม้กระทั่งเด็กวิชาการโอลิมปิก ก็เรียนพิเศษในชื่อ ค่ายวิชาการโอลิมปิก

การยกเลิกการสอบเข้าเรียนมัธยมศึกษาปีที่ ๑ และมัธยมศึกษาปีที่ ๔ เป็นต้นเหตุของความล้มเหลวทางการศึกษาในปัจจุบัน โดยไม่ค่อยมีนักวิชาการท่านใดกล่าวถึงและให้ความสำคัญนัก การใช้ชีวิตที่ไม่มีการแข่งขัน จะเป็นชีวิตที่ไม่สามารถทำให้เราสามารถแสดงศักยภาพที่มีซ่อนอยู่ในตัวเราออกมาได้ เช่น ข้าราชการบางส่วนเช้าชามเย็นชาม ซึ่งต่างจากลูกจ้างบริษัทเอกชนที่มีโบนัสเป็นเครื่องกระตุ้น ต้องยอมรับว่าแต่ละโรงเรียนในประเทศไทย มีมาตรฐานต่างกัน ที่ควรทำคือส่งเสริม ให้คนมีความสามารถไปปลุกการเรียนการสอนตามต่างจังหวัด ให้ดีขึ้นมา เช่น ถ้าโรงเรียนประจำจังหวัดกาญจนบุรี มีนักเรียนสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้มาก หรือสอบได้ที่ ๑ ของประเทศ ๕ ปีซ้อนเชื่อว่าเด็กเมืองกาญคงไม่ตื่นตี ๔ เพื่อนั่งรถตู้มาเรียนที่กรุงเทพฯ หรอกครับ

2. โรงเรียนมัธยมชื่อดัง (ที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการและกิจกรรม) จะเป็นแกนหลักสำคัญในการศึกษา จะเป็นพี่เลี้ยงทางวิชาการและกิจกรรมของโรงเรียนในพื้นที่เขตการศึกษาเดียวกัน เช่น รวมตัวกันไปพัฒนาชุมชนเดือนละครั้ง (โดยหลักการเดียวกับโรงเรียนในฝัน ในแต่ละตำบลที่จะเป็นพี่เลี้ยงของโรงเรียนอื่นๆ) มีการรับนักเรียนใหม่ และจำหน่ายนักเรียนที่ไม่สามารถแบ่งเวลา ไม่สามารถรับผิดชอบออกตอน ม.๓

ควรสร้างภาพลักษณ์ และคุณภาพทางการศึกษาของแต่ละโรงเรียนให้ต่างกันไปตามความเหมาะสม เช่น เด็กสวนกุหลาบเก่งคณิต เด็กเตรียมฯ เก่งชิวะ ฟิสิกส์ เคมี เด็ก "จักรคำฯ" (โรงเรียนทางภาคเหนือ จังหวัด ลำพูนได้เหรียญทองชีวะโอลิมปิกมาแล้ว ๒-๓ เหรียญ ผู้เขียนจำข้อมูลที่ชัดเจนไม่ได้) เด็กที่สนใจวิชาเหล่านี้เป็นพิเศษ ก็ควรสอบเข้าเรียนโรงเรียนเหล่านี้ให้ได้ โดยโรงเรียนที่มีชื่อในด้านนั้นๆ จะเน้นวิชาที่เขามีชื่อให้มากหน่อย

ที่สำคัญในการรับนักเรียนแต่ละชั้นเรียน ควรจำกัดนักเรียนแค่ ๒๕ คนเท่านั้น (สำหรับโรงเรียนที่เน้นสร้างคุณภาพเด็ก ซึ่งทำให้จำเป็นต้องแบ่งเกรดของแต่ระโรงเรียน) เพื่อให้ครูสามารถดูแลนักเรียนให้ทั่วถึงได้ ทั้งด้านการเรียน และจิตใจ สังเกตได้ว่าปัจจุบัน โรงเรียนบางแห่งเข้าใกล้กับชุมชนแออัดขึ้นทุกที นักเรียนเยอะเกิน ครูควมคุมและดูแลได้ไม่ทั่วถึง มีการไถเงิน มีความเสี่ยงทางเพศ ยาเสพติด ปัญหาทางจิตใจ ฯลฯ

ทั้งหมดนี้เพราะกระทรวงศึกษาธิการไม่ได้เน้นถึงคุณภาพ มองถึงปริมาณมากกว่า ส่วนบางคนบอกว่า เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเฉพาะโรงเรียนในตัวเมืองที่เจริญแล้วเท่านั้น ในโรงเรียนที่ไกลปืนเที่ยง ครูหนึ่งคนสอนหลายวิชา และดูแลเด็กหลายห้องในเวลาเดียวกัน ทางแก้ไขเป็นไปในรูปแบบเดียวกับข้อ ๑ คือสร้างแรงจูงใจให้มืออาชีพมาเปิดโรงเรียนให้มากขึ้น

3. จัดให้มีการแข่งขันทางวิชาการมากขึ้นโดยภาครัฐ เช่น ควรจัดให้มีการสอบแข่งขัน คณิตศาสตร์, ฟิสิกส์, เคมี, ชีวะ นอกจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัยอย่างน้อยปีละ ๒ ครั้ง โดยมีรางวัลให้สำหรับผู้เป็นเลิศทางวิชาการ เช่น ที่หนึ่งได้รางวัล หนึ่งแสนบาท ที่สอง เจ็ดหมื่น ที่สาม ห้าหมื่น มีรางวัลชมเชย และอื่นๆ (จัดระบบการให้รางวัลที่เหมาะสม เพราะจะมีเฉพาะบางคนจะอ้างว่าคนที่ได้รางวัลก็หน้าเดิมๆ ซึ่งความจริงถ้ามีความสามารถก็สมควรได้ หรืออาจจะให้รางวัลเป็นไปในรูปของทุนเรียนฟรี หรือให้คะแนนตามเกณฑ์คะแนนที่ผู้แข่งขันทำได้ ก็เป็นเรื่องที่ดีนะครับ) จะเป็นการกระตุ้นให้เยาวชนหันมาให้ความสำคัญกับการเรียนมากขึ้น

และรวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนจัดให้มีการสอบแข่งขันทางวิชาการให้มากขึ้นด้วย (อาจตอบแทนเอกชนด้วยมาตรการลดหย่อนภาษี) รวมถึงจัดให้มีทุนการศึกษามากขึ้นทั้งภาครัฐ และเอกชน (เอกชนอาจให้ทุนแก่นักเรียน ซึ่งพอถึงสิ้นปีสามารถนำไปลดภาษีได้) เช่น ทุนธนาคารแห่งประเทศไทย ทุนมิสเตอร์โธมัส ทุนมหาวิทยาลัยต่างๆ เมื่อก่อน มักจะมีคนพูดว่าไม่มีคนให้โอกาสเด็กที่มีความสามารถทางวิชาชีพการแสดง แต่ปัจจุบันนี้ เอกชนหันมาให้โอกาสกับเวทีประกวดนางงาม เวทีประกวดดนตรี เวทีประกวดการทำอาหาร เวทีนักเต้น ฯลฯ แต่เวทีวิชาการทุกวันนี้กลับให้การสนับสนุนน้อยลง ต้องกระตุ้นนะครับ

4. ส่งเสริมให้มีการเขียนตำราทางวิชาการให้มากขึ้น โดยอาจยกเลิกภาษีกระดาษและสิ่งพิมพ์ทางวิชาการ เผยแพร่ข้อสอบต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้น เช่น ข้อสอบ ก.พ. ข้อสอบทุนคิง ข้อสอบเหล่านี้ยังไม่มีการเผยแพร่สู่สาธารณะชนมากนัก และที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ อยากให้การทรวงศึกษาธิการ ต้องเขียนกรอบหลักสูตรการศึกษาในทุกรายวิชาให้นักเรียนทั่วประเทศ สามารถรู้ถึงขอบเขตหลักสูตรการศึกษาของแต่ละชั้นเรียน รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ถึงนักเรียนด้วย จะทำให้สามารถพิสูจน์ได้ชัดๆ ว่าข้อสอบเอ็นทรานซ์ที่นักเรียนบอกว่ายากแท้จริงแล้ว มันเกินหลักสูตรไหม?

ทุกครั้งที่อ้างการปฏิรูปการศึกษา ข้อสอบก็ง่ายขึ้นเรื่อยๆ ลองไปถามผู้ใกล้ชิดกับการสอนและสัมผัสข้อสอบอย่างใกล้ชิด เช่น อาจารย์ตามสถาบันกวดวิชาก็ได้ว่า ข้อสอบเอ็นทรานซ์ง่ายขึ้นจริงไหม? เช่น เลข ช่วงปี ๓๖-๔๐ ยากกว่า เลขช่วงปี ๔๑-ปัจจุบัน

5. ระบบการจัดเก็บสถิติคะแนนและการจัดเก็บข้อสอบในแต่ระโรงเรียน ต้องจัดเก็บไว้ให้ตรวจสอบได้ ระบบการจัดเก็บสถิติและข้อสอบในประเทศไทยยังล้าหลังมากๆ ข้อสอบในแต่ละโรงเรียนต้องสามารถให้เด็กโรงเรียนอื่นๆ ดูได้ ลองเอาไปทำได้ มีเฉลยหรือการแนะนำวิธีคิด และในโรงเรียนเองต้องจัดเก็บข้อสอบไว้ในห้องสมุดของแต่ละโรงเรียน หรือสื่ออินเตอร์เน็ตเพื่อให้นักเรียนไปค้นคว้าและดูแนวข้อสอบ ได้จัดเก็บไว้เลยย้อนหลัง ๓๐ ปี ๔๐ ปีเลยครับ

ซึ่งเรื่องนี้บางโรงเรียนที่เป็นเลิศด้านวิชาการได้ทำอยู่แล้ว เช่น โรงเรียนเตรียมอุดม จะมีข้อสอบของโรงเรียนย้อนหลัง เด็กที่สนใจสามารถไปขอข้อสอบเก่าๆ มาทำได้ และนักเรียนในชมรมต่างๆ เช่น ชมรมคณิต ชมรมวิทย์ ควรจัดทำตำราหนังสือขึ้นมาเอง โดยการค้นคว้าของพวกนักเรียนเอง สืบทอดความรู้ต่อกันไปเรื่อยๆ จากพี่สู่น้อง และเผยแพร่สู่สาธารณะด้วย เป็นการช่วยลดภาระด้านการเรียนพิเศษลงมาก เชื่อว่าถ้าส่งเสริมข้อนี้มากๆ การเรียนพิเศษแทบจะหมดความจำเป็นไปเลยสำหรับนักเรียนระดับมัธยม

เป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษาไม่ใช่เพื่อการกำจัดสถาบันกวดวิชา หรืออาจารย์สอนพิเศษ แต่เป็นการจัดการแนวทางการศึกษาให้ดีขึ้น มีคุณภาพขึ้น เข้าถึงความต้องการของผู้เรียนทุกกลุ่ม ถ้าทุกอย่างดีแล้วการสอนพิเศษ จะลดลงไปเอง การลดการสอนพิเศษไม่ใช่เป้าหมายหลัก แต่เป็นสิ่งที่มาควบคู่กันเอง เมื่อการจัดการด้านการศึกษาดีขึ้น โรงเรียนกวดวิชาไม่ใช่ศัตรูของการศึกษา แต่เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งของนักเรียน เพื่อรองรับเด็กที่ไม่ประสบความสำเร็จกับสื่อการสอนในห้อง ผมเห็นว่าเด็กที่ตั้งใจเรียนรู้ในห้องเรียน กับเด็กที่ตั้งใจเรียนรู้นอกห้องเรียนควรได้รับสิทธิ ในการคัดเลือกเท่ากัน (หมายถึง ผมไม่เห็นด้วยกับ ระบบ G.P.A. ในทุกๆ กรณี)

6. ความล้มเหลวของกิจกรรมแนะแนวทางการศึกษาของโรงเรียนต้องได้รับการแก้ไข เช่น นักเรียนไม่รู้ว่าจะมีสิทธิ์สอบชิงทุน ก.พ. ต้องได้เกรดเฉลี่ยเกิน ๓.๐๐ จะมีสิทธิ์สอบทุนคิงต้องได้เกรดเกิน ๓.๕๐ เด็กหลายคนเก่งแต่เผลอตัวเผลอใจเที่ยว พอมารู้ตัวอีกทีก็สายเสียแล้ว อยากสอบแต่พอรู้ตัวก็หมดสิทธิสอบแล้วครับ เด็กบางคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่ามีทุนเรียนฟรี ต้องประชาสัมพันธ์ถึงทุนต่างๆ และควรทำให้เด็กรู้ได้รู้จักความถนัดของตัวเอง อาชีพที่ควรจะเป็น ให้ข้อมูลเขามากที่สุด ก่อนจะให้เขาเลือกว่าความฝันของเขากับความจริงของเขาไปด้วยกันได้ไหม?

ที่สำคัญจะต้องบอกให้เด็กรู้ว่าเรียนสาขาวิชานี้มีตลาดงานขนาดไหน รัฐบาลส่งเสริมขนาดไหน ซึ่งบนพื้นฐานของปรัชญาทางการศึกษารัฐบาลต้องส่งเสริมในการเรียนทุกๆ สาขาวิชา เพียงแต่ให้ความสำคัญมากน้อยต่างๆ กันไป

7. สถาบันวิชาชีพต่างๆ ต้องเน้นถึงการนำไปใช้ ต้องหาทางให้เขาเข้าถึงแก่นของวิชาชีพ และพัฒนางานของเขาได้ เคยดูรายการ "ทีวีแชมป์เปี้ยนของญี่ปุ่น" เห็นแล้วยอมรับว่าช่างฝีมือหรือ ช่างวิชาชีพของญี่ปุ่นสุดยอดมากๆ ช่างซ่อมจักรยานสามารถออกแบบจักรยานเองได้ ทำจักรยานขึ้นมาขายได้ ถึงขั้นที่ผู้ชนะเลิศจะได้รับการขอซื้อลิขสิทธิ์จักรยานที่เขาออกแบบขึ้นมา

อยากให้กระทรวงศึกษาเป็นเจ้าภาพ ร่วมมือกับเอกชน ผลิตรายการในรูปแบบนี้ขึ้นมา เพื่อพัฒนาทักษะ สร้างตลาด สร้างรายได้ให้เด็กสายวิชาชีพ ที่สำคัญรัฐต้องรองรับการผลิตนักศึกษาเหล่านี้ เพราะนักเรียนทุนหลายคนโดนกล่าวหาว่า เป็นพวกสมองไหล ไม่รักชาติ เรียนจบวิศวะอวกาศ มีความสามารถมีความฝันแต่ไม่มีตลาดงานในเมืองไทยรองรับ จะให้เขามาทำงานอะไรในประเทศนี้ครับ?

8. ภาครัฐควรจัดให้มีการศึกษาสามทาง คือ ๑. การศึกษาในระบบ ๒. การศึกษานอกระบบคือการศึกษานอกโรงเรียน ๓. การศึกษาตามอัธยาศัย หมายถึงผู้เรียนศึกษาด้วยตนเองและมีศูนย์สอบปรับวุฒิการศึกษา และทั้งสามระบบข้างตนต้องไปมาหาสู่กันได้ รัฐควรจะจัดการหาอาชีพรองรับการผลิต นักศึกษา เช่น

เรียนวิศวะอวกาศ เรียนดาราศาสตร์ เรียนคณิตศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ ชีวะ ชั้นสูง หมายถึง วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ จบมาจะให้ทำอาชีพอะไรในเมืองไทยครับ ภาครัฐต้องรองรับการผลิต ด้วยการผลักดันให้ไทยก้าวไปสู่สังคมแห่งการผลิต วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ดัชนีชี้วัดความล้มเหลวทางการศึกษาไทยได้เป็นอย่างดีอันหนึ่งคือ นักศึกษาไทยส่วนใหญ่จบมาแล้ว ประกอบอาชีพไม่ตรงกับสาขาที่เรียนมา จบวิศวะมาขายสินค้าตรง จบทนายมาขายประกัน หรือว่าเศรษฐีจำนวนมากในไทยร่ำรวยมาจากธุรกิจการสั่งสินค้าน้ำเข้าแล้วนำมาขายต่อให้คนไทย ซึ่งความร่ำรวยที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการศึกษา แต่เกิดจากเส้นสายในวงราชการ และการคอรัปชั่น

9. การบริหารทางการศึกษารับผิดชอบโดยนายกรัฐมนตรี ผ่านมาทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ต้องมีจริยธรรม ไม่ปฏิรูปตามใจฉัน ควรมีการศึกษาแนวทางและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นก่อนที่จะลงมือปฏิบัติ การปฎิรูปทางการศึกษาในปัจจุบัน ดูเหมือนจะหลงทาง เพราะว่ามุ่งเน้นเพียงการจัดการระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย และเน้นการบริการการศึกษาให้เยาวชน จนบางทีทำลายคุณภาพทางวิชาการไปโดยไม่รู้ตัว........

การสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยไม่ใช่เวทีการประกวดมารยาทดี มีน้ำใจ ทำกิจกรรม เข้ากับผู้คนได้มี E.Q. สูง หรือให้โอกาสเด็กด้อยโอกาสในการเรียน ที่ไม่มีสื่อการสอนที่ดีหรือครูที่ดี ให้มีที่เรียนมากขึ้นนะครับ (ที่สำคัญควรแก้ปัญหาความด้อยโอกาสของเด็ก ด้วยการกระจายการศึกษาไปสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น ไม่ควรสนับสนุนให้การด้อยโอกาสทางการศึกษามีอยู่ต่อไปด้วยการให้สิทธิ์คุ้มครองความด้อยโอกาส)

อีกหน่อยคนสมองไม่ดี ขอย้ำนะครับ ดีแต่ไม่ถึงมาตรฐานหมอ หรืออาจมีพรสวรรค์ทางด้านอื่น ที่เขาไม่รู้ว่าตนเองถนัดซ่อนอยู่แต่อยากเป็นหมอ ก็ไปเก็บขยะประจบคุณครู บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม ประจบ ผ.อ. ยัดเงินผู้มีอำนาจในการให้เกรด หรือไม่ก็คนในกระทรวงศึกษาเพื่อให้ตนเองได้ G.P.A สูงๆ เพื่อจะได้มีโอกาสเรียนหมอ ถ้าตัวคุณอดิศัยหรือญาติคุณอดิศัยป่วยจะให้หมอนักเก็บขยะ เข้ากับสังคมได้ บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมแต่วิเคราะห์โรคคนไข้ไม่ค่อยจะถูก รักษาคนไข้ตายมาเป็นสิบๆ รักษาไหมครับ?

นี่คือการศึกษานะครับ ถ้าอยากขยายโอกาสให้เด็กต่างจังหวัด ก็สนับสนุนให้มีการเปิดมหาวิทยาลัย หน่วยกิตถูกๆ ให้ทั่วประเทศซิครับ สร้างมาตรฐานขึ้นมา เรื่องการศึกษาต้องสร้างมาจากรากฐาน คือ ตัวหลักสูตรและคุณภาพเด็กครับ ส่วนยอดจะช่วยได้ในส่วนของนโยบาย แต่ต้องไม่ใช่นโยบายเพื่อดึงคะแนนสะสมของเด็กทั่วประเทศขึ้น โดยเป็นคะแนนที่แลกมาด้วยการทำลายคุณภาพทางการศึกษาแบบนี้ครับ ต้องสร้างโรงเรียน มหาวิยาลัยให้พอเพียงต่อความต้องการของเด็กครับ แล้วโรงเรียนและมหาวิทยาลัยก็ต้องมีหลายมาตรฐานด้วย ไม่ใช่มหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนที่เขาดีๆ อยู่แล้วก็ดึงให้มันต่ำลงมาเท่ากัน โลกเราไม่มีอะไรเท่ากันหรอกครับ อย่าเอาสถิติมาคัดคุณภาพของคนเลยครับ การสอบเข้าเป็นวิธีการคัดคน ที่ให้ผลกระทบต่อทุกคนน้อยที่สุดแล้วครับ

ผมสมมติว่า ประเทศ ก มีประชาชน ๒ คน คุณทักษิณมีรายได้สุทธิ ๙๙๙,๙๙๙ บาทต่อปี คุณอดิศัยมีรายได้สุทธิ ๑ บาทต่อปี สรุปว่าประเทศ ก มีรายได้สุทธิเฉลี่ย ๕๐๐,๐๐๐ เห็นไหม ครับภาพรวมๆ ดูเหมือนไม่มีผลกระทบ แต่ในเชิงคุณภาพแล้ว คุณอดิศัยคงไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อยากปกติสุข นะครับ คนจีนพูดว่า "คนโง่อ่านหนังสือ ๓ ปีเป็นคนฉลาด คนฉลาดอ่านหนังสือ ๓ ปีเป็นอัจฉริยะ" ส่งเสริมในเรื่องนี้ดีกว่าครับ

เอาระดับศีลธรรม ความขยัน มาตีเป็นคะแนน อันตรายนะครับ "เมื่อใดก็ตามที่ศีลธรรมถูกตีเป็นราคาได้ ศีลธรรมเท่ากับผลประโยชน์ ศีลธรรมก็จะไม่ใช่ศีลธรรมอีกต่อไป" อย่าสร้างค่านิยมแบบนี้ให้เด็กไทย คนไทยเลยครับ เรื่องนี้ผมขอเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการรับผิดชอบในเชิงจริยธรรม และศักยภาพในการบริหารด้วยนะครับ เพราะไม่สามารถจัดการ และบริการการศึกษาได้ทั่วถึง ทำให้เกิดกระแสเด็กกรุงเทพฯ เด็กต่างจังหวัดขึ้น ซึ่งแผลในใจข้อนี้จะเป็นอคติ จะฝังรากลึกในจิตใจของเยาวชนรุ่นนี้ไปอีกนาน อาจถึงตลอดชีวิตของเขานะครับ

การแก้ปัญหาที่สำคัญมีอยู่ ๒ ประเด็น คือ

  1. ปรับปรุงมาตรฐานการสอนในห้องของครู เรื่องคุณภาพของครูต้องพูดกันยาวครับ ขอข้ามประเด็นนี้ไปก่อน เอาลดจำนวนเด็กนักเรียนต่อ ๑ ห้องเรียนให้น้อยลง เพราะโรงเรียนนะครับไม่ใช่ชุมชนแออัด ทุกวันนี้ไม่ใช่แค่ปัญหาการเรียน ยังมีเรื่องเด็กไถเงิน ความเสี่ยงทางเพศ เด็กขาดความอบอุ่นจากครอบครัว ความจริงเด็กไทยที่เก่งและอัจฉริยะยังมีอยู่อีกมากครับ แต่เพราะการจัดการบริหารที่ไร้ประสิทธิภาพ ทำให้เขากลายเป็นแค่คนธรรมดาไปนะครับ

    ผมคิดว่า ถ้าเบ็คแคมนักเตะระดับดาราของอังกฤษ มาอยู่ในเมืองไทยคงเป็นได้แค่กรรมกร เพราะเราไม่ได้มีทางเลือกให้เยาวชนมากพอ แต่ทุกวันนี้เขาเป็นบุคคลที่สำคัญระดับประเทศ ของอังกฤษเลยนะครับ ฯลฯ

    สรุปว่า ครูดูแลนักเรียนไม่ทั่วถึง การสื่อสารในห้องเรียน และการเรียนรู้ในห้องเรียนล้มเหลวนะครับ การเอ็นทรานซ์ควรมีต่อไปครับ เพราะเป็นระบบที่ยุติธรรมที่สุดแล้วครับ ไม่มีฝาก ไม่มีเส้น และเป็นการวัดมาตรฐานของคนได้ดีที่สุดในเชิงวิชาการ อยากให้มีข้อสอบเข้าในวิชาที่หลากหลายขึ้น เช่น เด็กอยากเป็นโปรแกรมเมอร์ (และมีพรสวรรค์ในด้านนี้) แต่ไม่เก่งเคมี ไม่เก่งฟิสิกส์ เราควรให้โอกาสเขา โดยการสอบความถนัดพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์

    เห็นด้วยกับการเอ็นทรานซ์ที่มีวิชาทดสอบที่หลากหลาย เพราะมันก็คือการรับนักศึกษาโดยตรงจากมหาวิทยาลัย ที่นักเรียนเสียเวลา เสียค่าเดินทาง เสียค่าสมัครสอบน้อยที่สุด และนักเรียนมีโอกาสเลือกมากที่สุด (เงื่อนเวลาเรื่องวันสอบตรงกัน) จึงไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิกระบบเอ็นทรานซ์ ที่สำคัญคนเรามีข้อดีข้อด้อยที่ต่างกัน บางคนเกิดมาเพื่อคิดค้นศาสตร์ใหม่ๆ วิทยาการใหม่ๆ ให้แก่โลก ซึ่งเขาต้องเรียนหนัก รู้ลึกรู้จริง

    ถ้ารัฐสนับสนุนระบบ G.P.A. เท่ากับเป็นการตอนการศึกษาค้นคว้าวิชาการนะครับ ยกตัวอย่างง่ายๆ คุณทักษิณบอกว่า สงสารคนจน ผมมีเงินมากผมพอแล้ว และประเทศไทยมีรายได้ส่วนใหญ่ กระจุกตัวอยู่กับคนไม่กี่กลุ่มผมจะให้โอกาสคนจน ผมจะออกกฎหมายภาษีใหม่ คนรวยที่มีรายได้สุทธิเกิน ๔ ล้านบาทต้องเสียภาษี ๘๐% ส่วนคนทีมีรายได้สุทธิไม่ถึง ๑๐๐,๐๐๐ บาทเสียภาษี ๐.๑ % ดีไหมครับ ผมว่าถ้ามีนโยบายนี้ ออกมาคนส่วนใหญ่ทั่วประเทศ เห็นจะด้วยแน่นอนครับ

    ท่านอย่าบอกว่า ท่านไม่เห็นด้วย เพราะไม่กระตุ้นให้เกิดการลงทุน ไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาบ้านเมืองนะครับ เพราะท่านต้องการให้โอกาส ไม่ได้ต้องการคุณภาพ ไม่ต้องการการแข่งขัน (หลักคิดนี้ใช้ตรรกะเดียวกับคุณอดิศัย ผู้สนองนโยบายนายก นะครับ) บางคนเกิดมาเพื่อเป็นกุ๊กฝีมือดี บางคนเกิดมาเพื่อ เป็นผู้ให้ความบันเทิงแก่สังคม ซึ่ง G.P.A. ให้คำตอบเราไม่ได้หรอกครับว่า ใครถนัดทางไหน  

  2. ต้องเปิดโรงเรียนมัธยมและเปิดมหาวิทยาลัยเปิดที่ "หน่วยกิตราคาถูก" รองรับนักเรียน รวมถึงการศึกษานอกระบบและการเรียนทางอินเตอร์เน็ตแค่นั้นเองครับ เด็กต้องยอมรับว่าทุกคนไม่เท่ากัน เรากำหนดชีวิตเราเองได้ครับ ถ้าเราขยันพอเราเก่งพอ เราก็เข้าเรียนมหาวิทยาลัยมีชื่อได้ครับ ถ้าเราอยากขยันแต่พอประมาณแต่อยากทำกิจกรรมนอกห้องเรียนให้มาก เราก็ควรยอมรับที่จะเรียนในมหาวิทยาลัยเปิด (หน่วยกิตราคาถูก) ที่รัฐเปิดหรือสนับสนุนให้เปิดนะครับ

    เรื่องนี้เป็นธรรมชาติของคนนะครับ ต้องมีกิเลส ต้องมีการแข่งขันเพื่อพัฒนาตนเอง และดึงศักยภาพของตนเองที่มีอยู่ออกมาครับ เรื่องศีลธรรมเป็นเรื่องของภาคสังคมครับ ทุกหน่วยงานต้องช่วยกัน เช่นจะปลูกฝังนิสัยการมีเหตุผล การยอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกัน การเสียสละ ผู้ใหญ่โดยเฉพาะคุณอดิศัยควรเป็นตัวอย่างของการยอมรับความคิดเห็น เสียสละอคติที่มี ลองมาคุยกับเด็กๆ ซิครับท่าน รายการถึงลูกถึงคน ๒ ครั้งที่ผ่านมา ท่านไม่กล้าแม้แต่จะมานั่งฟังเขาพูด มานั่งคุยกับเขา แล้วท่านบอกว่าจะทำเพื่อเขาๆ จะเชื่อท่านไหมครับ...???

เป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษาคืออะไรครับ ให้เด็กต่างจังหวัด หรือด้อยโอกาสทางการศึกษามีที่เรียนมากขึ้น? ใช่ครับ แต่ไม่ใช่ด้วย การทำลายมาตรฐานการศึกษา เพื่อให้เด็กมีคะแนนเฉลี่ยสูงขึ้นในการสอบเอ็นท์ เพื่อเป็นผลงานของท่านรัฐมนตรี? "ถ้าใช่" คุณอดิศัยต้องปรับปรุงระดับจริยธรรมโดยด่วนเลยนะครับ มุ่งผลงานโดยไม่คำนึงถึงอนาคตของชาติ เพื่อลดระดับความเข้มข้นทางวิชาการ? ไม่ดีแน่และไม่ใช่แน่ๆ เพราะนายกบอกว่า ถ้าไม่ปฏิรูปจะแพ้เด็กเวียดนาม ถ้าปฏิรูปแบบนี้อย่าว่าแต่เวียดนามเลยครับ เดี๋ยวพี่ลาวก็แซงหน้าครับ

เพื่อลดความเครียดของเด็ก? ไม่จริงแน่เพราะเด็กจะต้องเรียนรู้การใช้มารยา เล่ห์มนุษย์ตั้งแต่เด็กเพื่อไต่เต้า อาจเป็นต้นเหตุให้ครูกับศิษย์มีความสัมพันธ์ที่แปลกจากเดิมในทางที่ไม่ดี เช่น ครูหนุ่มเห็นนักเรียนสวย ขอจับหน้าอกเพื่อแลกเกรด ๔ เพื่อลดการเรียนพิเศษ? ไม่ใช่แน่ๆ การเรียนพิเศษต้องเพิ่มขึ้น ต้องเรียนกับครูที่โรงเรียนเพื่อเอา G.P.A. เรียนกับสถาบันกวดวิชา หรือ ครูผู้รู้จริงเพื่อเอาไปสอบเอ็นทรานซ์ หรือสอบเข้ามหาวิทยาลัยโดยตรง เป้าหมายของการปฏิรูปที่แท้จริงไม่ใช่เพื่อการกำจัดการเรียนพิเศษ

ถ้าการเรียนการสอนในห้องประสบความสำเร็จ คงไม่มีเด็กที่ไหนอยากเสียเงินไปเรียนพิเศษเพิ่มหรอกครับ การเรียนพิเศษยังคงจำเป็นอยู่สำหรับ ผู้ต้องการความเข้มข้นทางวิชาการ เช่น ตัวแทนโอลิมปิกเรียนพิเศษกันทุกคนครับ เรียนหนักมากๆ ด้วย (ในชื่อที่ว่า "ค่ายโอลลิมปิกวิชาการ และการสอบแข่งขันวิชาการระดับนานาชาติ" ยังเป็นข้อพิสูจน์ที่ดีสำหรับประโยคที่ว่าคุณภาพการศึกษาเท่ากันทั่วประเทศไม่เป็นความจริง เพราะถ้าเท่ากันจริงต้องไม่มีการสอบคัดเลือกตัวแทนโอลิมปิก ให้เด็กนักเรียนโรงเรียนวัดที่ไหนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการไปสอบก็ได้นะครับ") แล้วคุณอดิศัย เห็นว่าไงครับ?????

คำพูดที่ว่า "ทุกวันนนี้การศึกษาในบ้านเราเป็นกากเดนอารยะธรรมตะวันตก เรียนไปไม่มีประโยช์ เพราะเรียนไปแล้วนำมาใช้งานไม่ได้" ผมได้ยินแล้วเสียใจเป็นอย่างมาก เพราะคำพูดนี้เสียดแทงใจ และแสดงถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทยได้อย่างชัดเจนที่สุดว่า ประเทศเราเป็นเพียงประเทศที่กำลังพัฒนาเท่านั้น โดยส่วนตัวผมคิดว่าไม่เพียงการศึกษาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเทคโนโลยี ระบบการบริหารการจัดการ ระบบเศรษฐกิจกลไกการตลาด และแทบจะทุกๆ อย่างที่เราสัมผัสในชีวิตประจำวัน ล้วนเป็นระบบที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้ตะวันตกใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคม อารยธรรม และประชากรของเขา

ทำไม? การศึกษาของประเทศไทยในทุกวันนี้จึงเป็นแค่กากเดน เพราะเราเรียนไปเพื่อเป็นผู้บริโภคไม่ได้เป็นผู้ผลิต เรามีนักธุรกิจที่ร่ำรวยจากธุรกิจ I.T. แต่เราสร้างชิ้นส่วนสำคัญของสินค้าไม่ได้ เราสร้างชิ้นส่วนสำคัญของคอมพิวเตอร์เองไม่ได้ แม้กระทั่งรถยนต์เรายังไม่สามารถมีบริษัทผลิตรถยนต์ที่มีเครื่องหมายทางการค้าเป็นของคนไทยได้เลยนะครับ เราต้องเป็นตลาดรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ จากตะวันตกเสมอ

ทั้งหมดนี้ล้วนชี้ให้เห็นถึงการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในประเทศไทยว่ายังล้าหลังอยู่มาก เรามีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ มีศักยภาพเพียงพอที่จะเรียนรู้และผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ สินค้าใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ แต่เพราะขาดการส่งเสริมทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี I.T. อย่างจริงจังและต่อเนื่อง การลงทุนในการศึกษาในบ้านเรา จึงถูกคนบางกลุ่มมองว่าเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า ความรู้และตำราต่างๆ ที่เรียนจึงถูกประเมินค่าด้วยว่า เป็นกากเดนอารยธรรม ทั้งที่ความจริงแล้วมันคืออารยธรรมที่มีความหมายสำหรับการพัฒนาประเทศมากๆ

อะไร? คือการพัฒนาชาติ เศรษฐกิจดี ประชาชนมีเงินใช้ ประชาชนมีความสุข เท่านั้นหรือ? เราอยากให้ประเทศเราดำเนินไปในทิศทางไหน? เป็นประเทศพ่อค้าซื้อมาขายไป? อยากเป็นประเทศกสิกรรม อยากเป็นแหล่งอาหารของโลก? อยากเป็นประเทศทรัพยากรและพลังงาน (โดยเฉพาะน้ำมัน เสียดายไม่มีบ่อน้ำมันใหญ่ๆ ในประเทศไทย)? อยากเป็นประเทศที่เป็นมันสมองของโลก เป็นเผ่าพันธุ์แห่งการเรียนรู้? อยากเป็นประเทศที่มีการทหาร กองกำลังอาวุธเทคโนโลยีล้ำสมัย เป็นผู้ควบคุมขั้วอำนาจของโลก (สหรัฐเขาจองไปแล้วครับ)?

อยากเป็นประเทศท่องเที่ยวที่คนทั่วโลกอยากมาพักผ่อน มาผ่อนคลาย (ประเทศท่องเที่ยวที่มีสิ่งเย้ายวนใจ เช่น ธรรมชาติ ประเพณีวัฒนธรรม มีสินค้าราคาถูกที่มีคุณภาพทำด้วยมือของชาวพื้นเมือง การบริการที่ดีดุจลูกค้าเป็นเทวดา เป็นแหล่งกอบโกยผลประโยชน์ของชนต่างชาติ หรือเพศ?)? ประเทศหนูทดลอง? เมื่อเราเลือกแล้ว เราก็จะมีวิธีดำรงสถานะบนเวทีโลก ในบทบาทที่ต่างๆ กันไป อะไรคือจุดมุ่งหมายของการอยู่ร่วมเป็นรัฐประเทศ? เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ไทยไว้ให้ตราบนานเท่านาน? เพื่อดำรงคำว่าประเทศไทยไว้ในนานเท่านาน? หรือเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ไทย และประเทศไทยไว้ให้นานเท่านาน? ประเทศที่เศรษฐกิจดีเป็นประเทศพ่อค้าซื้อมาขายไป หรือ ประเทศทรัพยกรพลังงาน มักพังลงไม่เป็นท่า เมื่อหรือไม่สนองอำนาจกับรัฐบาลที่เป็นผู้มีอำนาจของโลก (เคยมีคนพูดไว้ว่า เบื้องหลังเศรษฐกิจ ทุนนิยมและประชาธิปไตย มีรถถังหนุนหลังอยู่เสมอ)

ประเทศที่เป็นแหล่งธรรมชาติ และอาหารหารของโลก มักไม่โดนทำลายให้ย่อยยับ แต่มักถูกแทรกแซงการเมือง และการปกครองเพื่อผลประโยชน์ของมหาอำนาจเสมอ ประเทศหนูลองยา แน่นอนเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา จะเป็นสถานที่ผู้บริหารประเทศถูกครอบงำ โดยผลประโยชน์จากชาติมหาอำนาจ หรือ ผู้นำตกอยู่ในสภาวะจำยอม และยอมให้ประชาชนของตนเองเป็นหนูทดลอง ในผลิตภัณฑ์ด้านต่างๆ ก่อนนำไปใช้กับประชาชนในประเทศที่เขาพัฒนาแล้ว เป็นแหล่งที่รวมของขยะจากประเทศมหาอำนาจ ประเทศมหาอำนาจคือ ผู้กุมอำนาจของโลกโดยมีกองกำลังทหาร เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และกลุ่มพันธมิตร (ผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน) เป็นฐานที่แข็งแกร่งอยู่เบื้องหลัง นอกจากนี้เบื้องหลังผู้กุมอำนาจโลกก็ยังมี คนอีกเผ่าพันธุ์หนึ่งคอยเป็นมันสมอง ซึ่งก็ไม่ได้เป็นเผ่าพันธุ์ของผู้กุมอำนาจโลกคอยให้การช่วยเหลือด้าน การคิดค้นวิทยาการใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงบางทีครอบงำผู้กุมอำนาจของโลกหรือมีอำนาจต่อรองสูง คล้ายๆ ปรสิต หรือเหาฉลาม (เป็นผู้ล่า ที่ล่าผู้ล่าอีกทีหนึ่ง)

ประเทศไทยเราอยากจะดำรงตนให้อยู่ในสถานะใดในปัจจุบัน ก็สุดแล้วแต่ผู้นำจะพาไป รากฐานยุคต่อไปของประเทศคือเยาวชน เรามองเห็นเยาวชนเป็นอะไร? เป็นอนาคตของชาติ? เป็นสิ่งที่เราหล่อหลอมสร้างเขาขึ้นมา? เป็นลูกหลาน? เป็นตลาดสินค้า? เป็นเหยื่ออารมณ์? เป็นหุ่นยนต์ที่เราสามารถสั่งให้หันซ้ายหันขวา? เป็นผู้รองรับนโยบายของผู้บริหารประเทศ โดยไม่มีสิทธิ์เลือกทางเดิน (การส่งทหารไปอิรัค)? เป็นตุ๊กตาที่สนอง บำบัดความต้องการของผู้ใหญ่?

ลองมองทุกตัวแปรให้เป็นภาพกว้างๆ แล้วผมคิดว่าเราจะพบคำตอบว่า การศึกษาของเด็กไทย ควรจะเป็นไปในทิศทางใด ในกระแสเผ่าพันธุ์มนุยษ์โลกที่เชี่ยวกรากเช่นนี้

นิรนาม

 

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

Our Policy