ตั้งใจว่าจะเล่าเรื่อง ตอนที่ 2 ที่ไปศึกษาดูงานออสเตรเลียมา แต่ขอลัดคิวเล่างานวิจัยก่อนแล้วค่อยต่อ เพราะไปอ่านเจองานวิจัยของ รศ.ดร.สุทธนู ศรีไสย์ คณะครุศาสตร์จุฬาฯ และคณะ เรื่อง "การประเมินประสิทธิภาพการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ICT) และคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน" ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ผ่านศูนย์บริการวิชาการ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า
ประสิทธิภาพการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในภาพรวมของประเทศอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับตัวชี้วัดและเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ด้านที่ต้องมีการปรับปรุงเร่งด่วน 2 อันดับแรก คือ ด้านบุคลากร และด้านการบริหารจัดการ ส่วนในภาคต่างๆ พบว่า สถานศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร เขตภาคเหนือ และเขตภาคกลาง มีประสิทธิภาพการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อการศึกษาโดดเด่นกว่าสถานศึกษาในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเขตภาคใต้ สถานศึกษาในแต่ละภาคมีสิ่งที่ต้องปรับปรุงอย่างเร่งด่วนดังนี้
จากสภาพของการขาดแคลนในภาคต่างๆ ปัญหาหนักอกหนักใจมากน่าจะอยู่ที่ บุคลากร มากกว่าด้านอื่นๆ เพราะไม่ว่าจะมองไปในภาคใดเราจะเห็นว่า ครูส่วนใหญ่ (ไม่ได้เหมารวมทั้งหมด) วันๆ ก็ก้มหน้าก้มตาสอนในสิ่งที่วางไว้เป็นลำดับขั้นตอน (ตามแผนการสอนที่เขียนไว้เพื่อการตรวจคุณภาพ (ของใคร?) เท่านั้น) เวียนวนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่รู้จักประยุกต์หรือพลิกแพลงนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์แต่อย่างใด ครูหลายๆ คนขลาดกลัวต่อคอมพิวเตอร์เสียด้วยซ้ำ ไม่กล้าเข้าใกล้ กลัวมันเสีย (เสียหน้าเพราะใช้งานไม่เป็นซะมากกว่า) แต่ไม่กลัวเชย ส ส ส์....
คอมพิวเตอร์สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับการเรียนการสอนได้ทุกวิชา แม้แต่ "ภาษาไทย" ก็ไม่เว้นนะครับ จากผลการวิจัยพบว่า รายวิชาที่นักเรียนได้ใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์มากที่สุด 5 อันดับแรกคือ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ศิลปะ และสังคมศึกษา กิจกรรมที่ใช้มากที่สุด 3 อันดับแรกคือ พิมพ์รายงาน 66.08% เล่นเกม 52.60% และวาดภาพ 34.60%
สิ่งที่จะกระตุ้นให้ครูได้ให้ความสำคัญในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ด้วยการนำ ICT มาใช้งานนั้น คงจะต้องเริ่มด้วยการสนับสนุนให้ครูเลิกกลัวการใช้งานเจ้าคอมพิวเตอร์เสียก่อน เริ่มที่ผู้บริหารเองจะต้องใช้งานเป็นอย่างน้อยๆ ก็เปิดปิดเครื่องเองได้ ใช้งานอินเทอร์เน็ตและรับ-ส่งอีเมล์เป็น (ขอย้ำว่า ไม่มีใครแก่เกินเรียน) อย่างน้อยๆ ผู้บริหารจะได้มีวิสัยทัศน์ จะพูดจะบรรยาย เป็นประธานที่ประชุมก็จะมีความเชื่อมั่นในตนเอง พูดได้ สั่งการได้ไม่เคอะเขิน และยังส่งผลไปยังความเชื่อมั่นของครูผู้เป็นลูกน้องด้วย
ปัญหาหนึ่งที่ผมพบ ในฐานะเป็นวิทยากร ให้การอบรมการใช้งานคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และโปรแกรมอื่นๆ มาหลายปีก็คือ ผู้ที่มาอบรมหวังอยากได้กระดาษ (ประกาศนียบัตรผ่านการอบรม) มากกว่าการอยากได้ความรู้ในการนำไปใช้งานจริง หลักสูตรเบื้องต้น หลักสูตรขั้นสูงฉันก็ไปอบรม แต่ทุกทีฉันก็ยังจับเมาส์ไม่เป็น หาแป้นคีย์บอร์ดไม่เจอ ไม่เคยตามวิทยากรที่ไหนๆ ทันเลย สอบถามได้ความว่า หลังการอบรมไปแล้วก็ไม่เคยได้สัมผัสเครื่องอีกเลย ที่บ้านก็ไม่มี ที่โรงเรียนมีแต่ไม่กล้าเข้าใกล้ เพราะมีเจ้าของเขาห้ามจับ และยังใส่พาสเวิร์ดกั้นไว้อีกแนะ
เราคงจะต้องแก้ปัญหาของตัวเองกันก่อน ด้วยการแสวงหาเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้ ให้เป็นเครื่องใช้ประจำบ้านกันเสียก่อน ริจะเป็นนักเล่นอินเทอร์เน็ต ใช้อีเมล์ แล้วจะสอนด้วย e-Lerning ก็น่าจะเริ่มด้วยการเป็นสมาชิกของอีซะเลย (ทั้งอีซี่บาย อิออน เฟิร์ชช้อย อะไรก็เลือกเอาเหอะ) เพื่อหาทางแบ่งเบารายจ่ายระยะยาวออกไปหน่อย ประโยชน์ที่ได้ไม่ใช่แต่เรานะครับ ลูกๆ จะได้ประสบการณ์ด้วย ได้ใช้งานในการเรียน พ่อแม่ก็จะได้เรียนรู้จากลูกนี่แหละ เพราะลูกๆ เขาจะรับรู้ใช้งานได้เร็วกว่า
อีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยเพื่อนครูเรานั้นคือ รัฐหาทางสนับสนุนให้ครูได้มีเครื่องคอมพิวเตอร์ไว้ใช้งาน ด้วยการยัดเยียดขายตรงให้เลยดีไหม แล้วผ่อนส่งเอาแบบคุณภาพดีราคาถูก ปลอดดอกเบี้ย (นี่ผมก็ยังผ่อนไม่หมดอยู่นะ เดลล์ 500 ไงครับ) เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ เราก็จะสอบคอมพิวเตอร์ครูทุกครึ่งปี ใครสอบได้ไม่ถึง 60% ก็ไม่สมควรพิจารณาขั้นเดินเดือนในรอบนั้นๆ เพราะถ้าครูยังไม่ประสีประสาคอมพิวเตอร์ แล้วจะไปบอกให้เด็กไปค้นคว้าหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต จะบอก URL เด็กได้ไหมเนี่ย
อย่างในโรงเรียนของออสเตรเลีย ที่ผมไปดูมาเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์นั้น การใช้งานคอมพิวเตอร์พื้นฐาน (การใช้คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต อีเมล์และโปรแกรมสำนักงาน) จะไม่ปรากฏในหลักสูตร สอบถามได้ความว่า เครื่องคอมพิวเตอร์ก็เป็นเหมือนเครื่องใช้ในบ้าน อย่างโทรทัศน์ที่เด็กๆ ทุกคนได้สัมผัสกันมาเป็นปกติวิสัยอยู่แล้ว คนที่ยังไม่ชำนาญ ก็จะจัดกลุ่มสนใจให้ได้รับการแนะนำและศึกษากัน เมื่อมาอยู่ในโรงเรียนจึงเป็นการง่ายที่จะเรียนรู้และศึกษาหาความรู้ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
ความวิตกกังวลของครูส่วนใหญ่ในปัจจุบันคือ กลัวการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ เพราะข่าวคราวที่ออกมาค่อนข้างจะเป็นไปในทางลบ โดยไม่เคยมีใครพูดถึงส่วนดีของเกมคอมพิวเตอร์กันเลย ในความเป็นจริงทุกสิ่งย่อมมีสองด้านเสมอ ส่วนร้ายจะไม่ขอพูดถึงนะครับคงทราบกันมากพอแล้ว ส่วนดีข้อหนึ่ง คือ ทำให้เด็กสนใจเรียนภาษาโดยเฉพาะภาษาที่มีในเกม เพราะเขาอยากรู้ว่าบนจอขณะที่เล่นอยู่นั้นมันมีความหมายอย่างไร? ถ้าเรา (พ่อแม่) ได้ร่วมสนุกดูแลเขา สอบถามเขาบ้างในระหว่างที่เขาเล่น แนะนำเกมที่ส่งเสริมความคิด สร้างสรรค์ ก็จะช่วยลดปัญหาร้ายๆ ลงไปได้
ในออสเตรเลียเด็กๆ เขาเรียนคอมพิวเตอร์เรื่องอะไรบ้าง? ได้สอบถามคุณครูผู้สอนทั้งสองโรงเรียนที่ไปดูมาก็พบว่า เหมือนๆ กันคือ คนที่สนใจการโปรแกรมก็เรียนโปรแกรมภาษาต่างๆ (ที่เห็นคือ ภาษา C++, C# กับ Java) กลุ่มที่สนใจเรื่องงานภาพกราฟิกก็แยกไปศึกษาพวก PhotoShop, Illustrator กลุ่มที่สนใจงานเอกสารสิ่งพิมพ์ก็เรียน PageMaker (ที่น่าสนใจคือเขาใช้เครื่อง MacIntosh กับสองกลุ่มนี้) ส่วนเครื่องที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตและโปรแกรมสำนักงานใช้เครื่องพีซีธรรมดา จำนวนเครื่องในห้องเรียนก็ไม่มาก เพราะเด็กของเขาสนใจไม่เหมือนกัน เรียนคอมพิวเตอร์ก็จะเป็นกลุ่มเล็กๆ 5-10 คน ที่เหลืออาจสนใจการละคร ดนตรี งานช่างไม้ ช่างโลหะก็แยกกันไปเรียน
ที่น่าสนใจคือการบูรณาการกลุ่มสาระวิชาเข้าด้วยกัน เช่น มีนักเรียนกลุ่มหนึ่งสนใจเรื่อง การบิน คุณครูในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ ภาษาและอาชีพ ก็มานั่งปรึกษากันแล้ว "กำหนดการเรียนเรื่องการบิน" ขึ้น เริ่มตั้งแต่ครูคอมพิวเตอร์ให้นักเรียนไปศึกษาค้นคว้าในอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับเรื่อง เครื่องบิน ประวัติการบิน วิชาวิทยาศาสตร์และคณิตสาสตร์ได้ทำการทดลองเรื่องแรงยก ลักษณะของปีกเครื่องบินแบบต่างๆ ครูกลุ่มภาษาและอาชีพก็จะให้นักเรียนศึกษาด้านการบริการบนเครื่องบิน ภาษาที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารของนักบินและลูกเรือ หลังจากได้ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นแล้วก็ถึงเวลาสำคัญ คือ การติดต่อไปยัง "บริษัทการบิน" เพื่อนำนักเรียนไปทัศนศึกษา พูดคุยกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นับตั้งแต่การบริการภาคพื้นดิน วิทยุการบิน การจำหน่ายตั๋วโดยสาร การเช็คอิน ตรวจเอกสารต่างๆ จนถึงบนเครื่องบิน
ที่ประเทศของเรายังทำไม่ได้ครับ ที่โรงเรียนผมก็พยายามจะทำแต่ไม่ได้ผล เพราะอัตตาของครูเรามากไป ไม่ค่อยยอมรับวิธีการใหม่ๆ (กลัวจะต้องเป็นผู้ตาม กลัวจะไม่ได้ทำตามแผนเพื่อตรวจ (ที่ยังไงก็ใช้สอนไม่ได้) หรือกลัวอะไรไม่ทราบได้)
ถ้าให้ผมฟันธงลงไปก็คือ พวกเรากลัวไม่ครบตามหลักสูตร (ที่ตนเองคิดขึ้นมาเนี่ย) ทะเลาะกันแทบตายอยากได้ชั่วโมงเยอะๆ เพื่อจะได้ไปพล่ามหน้าชั้นเรียนให้นักเรียนนั่งหาวฟังไปหลับไป เราน่าจะปรับตัวกันได้แล้วครับ ความรู้ในโลกนี้ยังมีอีกมากที่ยังไม่ได้ศึกษาเรียนรู้กันเลย
และความรู้นั้น ก็อยู่โดยรอบพวกเขามากกว่าอยู่ในหัวของครู ที่น่าจะเก็บเข้าพิพิธภัณฑ์ได้เกินครึ่งแล้ว ทำไมเราไม่ให้พวกเขาได้คิด ได้เลือกในสิ่งที่พวกเขาสนใจจะศึกษาเพิ่มเติมบ้างหนอ? ไม่แน่นะ... สิ่งเหล่านั้นครูก็ไม่รู้ และอยากจะรู้อยู่เหมือนกันก็ได้ อย่างรายการโทรทัศน์ "กบนอกกะลา" ทางช่อง 9 โมเดิร์นไนน์นั่นไง ที่ทำให้ผมได้พบว่า สิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราแท้ๆ อย่างก้อนทองที่เราถ่ายทุกข์ออกทุกวันนี้ จะมีที่มาที่ไปสุดพิสดารปานนั้น หรืออย่างเรื่องของปูเค็มที่ชอบนักเมื่อสั่งส้มตำมาจากไหน? ข้าวหลามหนองมนมีที่มาอย่างไร รวมทั้งเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย
ถ้าเรารู้จักคิดนอกกรอบดั้งเดิมบ้าง ไม่แน่ครับ... คุณครูอาจจะค้นพบนวัตกรรมการสอนแบบใหม่ กลายเป็นศาสตร์ที่ครูทั้งโลกเอาแบบอย่างก็ได้นะ ใครจะไปรู้ได้...
ครูมนตรี โคตรคันทา
บันทึกไว้เมื่อ : 24 กุมภาพันธ์ 2548
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)