ขณะที่ผมกำลังเดินทางไปร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ "จัดทำคู่มือการรายงานผลและเครื่องมือติดตามประเมินผล การใช้งบประมาณเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา" ของหน่วยงานสังกัดกรมสามัญศึกษาเดิม (ณ โรงแรมแมกซ์ กรุงเทพมหานคร 7-13 กันยายน 2546)
ก็ได้อ่านวารสารไมโครคอมพิวเตอร์ (Micro Computer Magazine Vol. 21 No. 218 September 2003) หน้า 122-123 แล้วสะท้อนใจลึกๆ ครับ ก็ขออนุญาตท่านผู้เขียนบทความเรื่อง "บทเรียนสอนใจจากการประชุมไอทีและซี (ติเพื่อก่อ)" ของ ดร.ปัญญา เปรมปรีดิ์ นำมาถ่ายทอดที่ตรงนี้ (ได้รับการอนุญาตจากท่านเรียบร้อยครับ) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาไทยครับ อ่านแล้วท่านคิดอย่างไรก็เล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ
"... ผมขอหันมาดูประเด็นปัญหาการใช้ข้อมูล ในระดับที่ลึกลงไปอีกหน่อยจะดีกว่า คือการประชุมครั้งนี้เป็น การประชุมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งน่าจะหมายถึงการมาสอบถามกันว่า จะทำให้เกิดผลงานตามที่ตั้งเป้าหมายกันได้อย่างไร เรื่องนี้ท่านนายกฯ เปิดประเด็นได้ถูกต้อง ท่านบอกว่าท่านไม่ได้มาถามว่า การทำอี-กอฟเวอร์เมนต์นั้นดีหรือไม่ดี ท่านมาถามว่า จะทำได้อย่างไร ใครคิดว่าจะติดปัญหาตรงไหนบ้างก็ให้พูดออกมา แล้วท่านจะแก้ปัญหาให้อีกด้วย อย่างเช่น ใครไม่รู้ไม่เข้าใจเรื่องไอทีแล้วมายืนขวางทางอยู่ ท่านก็จะสั่งย้ายสั่งโอนไปที่อื่นให้ หรือใครบอกว่าติดขัดเรื่องงบประมาณ ท่านก็จะไปจัดหามาให้ ฯลฯ
ครับ แต่ลงท้ายเราก็เข้าอีหรอบเก่า นั่นคือ ผู้อาวุโสก็แสดงความคิดเห็นแบบกว้างๆ (เพื่อแสดงว่าฉันรู้) ออกมาก่อน แล้วทีนี้ต่างคนก็แสดงความคิดเห็นแบบเดียวกันตามลำดับชั้น บางรายออกนอกกรอบไปเลย เช่น กระทรวงศึกษาฯ บอกว่าเห็นโปรแกรมของกรมสรรพากรแล้ว จะขอเอาไปศึกษา โดยมีเป้าหมายว่าอาจจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องข่าวลือที่วุ่นวายอยู่ในกระทรวงศึกษาฯ ได้
ครับ มันบ้าเลือดจริงๆ ก่อนจะเข้ามาประชุมเขาก็มีเอกสารให้ไปแล้ว ชื่อเรื่องการประชุมก็ชัดเจนแล้ว คือท่านนายกฯ อยากจะสร้างอี-กอฟเวอร์เมนต์ ตัวปลัดกระทรวงไอซีทีก็ได้ชี้แจงเป็นการเริ่มต้นแล้วว่า อี-กอฟเวอร์เมนต์คืออะไร มันไม่ได้เกี่ยวกับข่าวลือในกระทรวงศึกษาธิการแม้แต่น้อย และที่แย่ที่สุดคือ โปรแกรมการรับชำระภาษีผ่านระบบอินเทอร์เน็ตนั้น มันจะก๊อบปี้ไปใช้ในงานของกระทรวงศึกษาฯ ได้ยังไง?
คำพูดเหล่านี้ชี้ชัดว่า ผู้บริหารระดับสูงไม่รู้เรื่องคอมพิวเตอร์ ไม่รู้ประโยชน์ของไอที และมองแต่ปัญหาของตัวเองเท่านั้น ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการใช้ไอทีเป็นอย่างยิ่ง การใช้ไอทีต้องมองให้ออกไปยังหน่วยงานข้างเคียง และมีการแชร์ใช้ข้อมูลกัน ไม่ใช่ใช้โปรแกรมที่เป็นคนละเรื่องกัน ..."
ยังมีเนื้อหารายละเอียดมากกว่านี้นะครับ คงต้องไปหาอ่านกันเองจากวารสารฉบับดังกล่าวข้างต้น พอดีผมนำวารสารเล่มดังกล่าวไปให้สมาชิกในที่ประชุมหลายท่านได้อ่านกัน เพราะพวกเรากำลังทำเรื่องประเมินผลการใช้ไอทีกันอยู่ ทุกคนต่างก็อมยิ้มเป็นนัยๆ แต่ไม่ออกความเห็น (เพื่อความปลอดภัยแห่งอาชีพ ยกเว้นแต่ผมนี่แหละ รู้แล้วยังมาบอกต่ออีก (ฮา))
ขอขยายความต่ออีกสักนิดนะครับ เรื่องการปล่อยไก่ของนักบริหารระดับสูง ระดับกลาง (ที่คิดว่าตัวเองรู้มาก) ของเรายังมีอีกมากนะครับ ผมมักจะได้ยินบ่อยๆ ในพิธีเปิดการอบรมสัมมนาของหน่วยงานต่างๆ บางครั้งฟังแล้วก็ขำไม่ออก เพราะผู้พูดยิ้มน้อยยิ้มใหญ่เมื่อผู้ฟังหัวเราะกันครืนๆ นึกว่าตัวเองได้ปล่อยภูมิรู้ที่ประทับใจคนฟังออกไป หารู้ไม่ว่า นั่นนะไก่ตัวเบ้อเริ่ม
เทคโนโลยีมันเปลี่ยนเร็วมาก แค่หนึ่งสัปดาห์ถึงกับพลิกฝ่ามือเลยทีเดียว ก้าวล้ำนำสมัยจนกระทั่งแม้ผู้ติดตามข่าวสารตลอดยังแทบยกธงขาว สิ่งที่ท่านเหล่านั้นพูดจึงเป็น New Technology เมื่อหลายปีก่อนโน้น จนเดี๋ยวนี้แทบไม่มีใครกล่าวถึงเลย ส่วนมากท่านมักจะไม่เคยเตรียมตัวกันมาก่อนที่จะพูด หรือปาฐกถา ไม่ได้สำรวจตรวจสอบว่าคนฟังคือใครบ้าง? มีภูมิรู้เรื่องเทคโนโลยีมากน้อยแค่ไหน?
คราวนี้ก็มาถึงตอนที่ ดร.ปัญญา ท่านสาธยายต่อไปอีกว่า "ผู้บริหารหลายคนชอบพูดว่า การเรียนรู้ทางไอทีนั้นเป็นเรื่องง่าย แม้แต่เด็กอายุไม่ถึง 10 ขวบก็เรียนรู้วิธีทำเว็บไซต์ได้ใน 2-3 วัน กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังเสริมเติมเข้าไปว่า แม้แต่เรื่องทำเกมและแอนิเมชั่นต่างๆ เด็กไทยรับจ้างทำให้ฝรั่งได้ ท่านบอกให้ไปดูที่ซอฟท์แวร์ปาร์คและเนคเทค"
ฟังแล้วก็ได้แต่ปลงครับ เด็กทำเว็บไซต์ได้ไม่ได้หมายความว่า ประเทศไทยเราเป็นเลิศทางด้านไอที เว็บไซต์ที่เด็กทำยังไงก็อยู่ในกรอบความคิดแบบเด็กๆ ที่ยังคงขาดเนื้อหาที่จะพัฒนาสังคมไทย เนื้อหาเพื่อการเรียนรู้ และไม่สามารถทำรายได้อันใดขึ้นมาเลย อีกหน่อยเขาก็เลิกทำเพราะถึงทางตัน สิ่งที่เราต้องการคือเว็บไซต์เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่จะพัฒนาคนในชาติสู่สากล
ประเทศไทยไม่ได้ขาดคนทำเว็บไซต์ เรามีบริษัทรับจ้างทำอยู่ดาษดื่น แต่เราขาดเนื้อหา (Content) เพื่อการเรียนรู้ต่างหาก คราวนี้มาที่ท่านบอกว่าเด็กรับจ้างทำเกมและแอนิเมชั่นนั้น พวกเขาจบปริญญาโท-ปริญญาเอกกันมาทั้งนั้น อายุก็คงราวๆ 30-35 ขวบเข้าแล้ว (ในสังคมผู้ผลิตซอฟท์แวร์พวกนี้แก่พรรษาแล้วครับ ลองดูตัวอย่างในอินเดียหรือสิงคโปร์ดูซิ) เป็นเด็กอมมือเสียที่ไหน
ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าท่านเหล่านั้นพูดออกมาทำไม จงใจจะตำหนิข้าราชการที่ไม่ยอมเรียนรู้คอมพิวเตอร์ หัดใช้ไอที และตำหนินักวิชาการคอมพิวเตอร์ที่พากันทำโปรแกรมอะไรก็ไม่สำเร็จสักที สู้พวกเด็กรับจ้างไม่ได้หรือไร? ถ้าใช่! พวกท่านที่นั่งหัวโด่อยู่นั่น มีสักคนที่รู้เรื่องและส่งเสริมสนับสนุนให้ลูกน้องทำกันบ้างล่ะครับ เห็นดีแต่พูดว่าสนับสนุน สุดท้ายก็หาเงินไปสร้างเสาธงสูงที่สุดในโลก กำแพงและป้ายโรงเรียนใหญ่เบ้อเริ่มที่สุด ไม่เห็นสนับสนุนการสร้างซอฟท์แวร์ไทย สื่อการศึกษาภาษาไทยเพื่อคนไทยกันเอาเสียเลย
วันนี้เราจึงได้มีปัญหาในเรื่องไม่เป็นเรื่อง ห่วงเด็กจะเอาแต่แชท พูดคุยไร้สาระกันไม่สนใจเรียน สนใจแต่เล่นเกมทั้งวัน ห่วงเด็กจะแอบไปดูเว็บอโคจร ก็ทำไมไม่สนับสนุนให้เขาสร้างเนื้อหาดีๆ เกมสนุกๆ ที่ส่งเสริมการเรียนรู้กันเล่า... เจ้านาย!!!
หมายเหตุปิดท้าย
ดร. ปัญญา เปรมปรีดิ์ จบการศึกษาระดับปริญญาเอก PH.D จาก Georgia Institute of Technology
(มหาวิทยาลัยนี้มีนักคอมพิวเตอร์ชื่อดัง อย่าง ศ.ดร. ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการบริหารและประธานผู้บริหาร วิทยาลัยการศึกษาทางไกลอินเทอร์เน็ต มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น "บุรษคอมพิวตอร์แห่งเอเชียและบิดาอีเลิร์นนิ่งไทย" จบจากที่นี่เช่นกัน)
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)