การใช้งานคอมพิวเตอร์ของเราให้มีอายุยืนนานไม่ใช่เรื่องยาก เป็นเรื่องง่ายๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องตั้งโตีะ (หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า PC) หรือเครื่องแบบพกพา (Notebook or Portable Device) วันนี้ก็เลยขอนำเสนอ เทคนิควิธีการดูแลเอาใจใส่เครื่องมือคู่กายกันสักเล็กน้อย เท่าที่เราจะสามารถทำได้ด้วยตนเอง หรือยังไม่กล้าก็ขอให้รู้วิธีการให้คนอื่นช่วยทำให้ก็ได้ครับ ลองดูไม่ยากหรอก
ดูกันที่กายภาพภายนอกกันก่อน อุปกรณ์ที่เราต้องสัมผัสกันบ่อยๆ ก็คือ แป้นพิมพ์ (Keyboard) และอุปกรณ์ตัวชี้ (Mouse) ที่มักจะเต็มไปด้วยคราบสกปรกมากที่สุด โดยเฉพาะคนที่ชอบทำงานไป หยิบของขบเคี้ยวเข้าปากไป จะเห็นว่าบนแป้นตัวอักษร จะมีคราบเหนียว เลอะเทอะ เปรอะเปื้อนอยู่จำนวนมาก ภายใต้ปุ่มกดตัวอักษรก็จะมีฝุ่นผง เส้นผมที่ร่วงหล่นลงไปอยู่จำนวนมาก เมื่อสะสมนานวันเข้าก็จะเกิดอาการกดปุ่มแล้วไม่ทำงาน หรือทำงานก็แบบซ้ำๆ มาเป็นแถวๆ และในทึ่สุดก็กลับบ้านเก่าใช้งานไม่ได้อีกต่อไป
ส่วนอุปกรณ์ตัวชี้ที่เรียกกันว่า เมาส์ ก็มักจะไม่เคลื่อนไปตามทิศทางที่เราขยับ หรือไปอย่างช้าๆ หรือสะบัดหายวับออกนอกจอ กว่าจะลากคืนมาก็ลำบาก ในเมาส์แบบเดิมที่ใช้ลูกกลิ้งกลมๆ จะเป็นบ่อย แต่พอมายุคใหม่ใช้ แสงอินฟาเรดช่วย ก็ใช่จะหมดปัญหา เพราะถ้าฝุ่นผงเยอะๆ ไปจับตามผิวหน้าเลนส์แสงสีแดงนั้น ก็จะมีอาการเช่นเดียวกัน วิธีการทำความสะอาดก็ไม่ยากเลย ก่อนจะทำความสะอาดปิดเครื่องก่อนนะครับ
ภายนอกที่ควรได้รับการทำความสะอาดคือ จอภาพ และตัวเครื่อง สำหรับจอภาพให้ปิดเครื่องก่อนนะครับ รวมทั้งปิด สวิตช์จ่ายกระแสไฟฟ้าให้จอด้วย เพราะบริเวณจอภาพ จะมีกระแสไฟฟ้าสถิตย์อยู่ ซึ่งเป็นสาเหตุของการที่ฝุ่นผง ถูกดูดเข้าไปติดที่หน้าจอ ให้ใช้ผ้าใยไฟเบอร์เช็ดถูให้สะอาด เพราะผ้าใยไฟเบอร์จะช่วยดูดเก็บเอาฝุ่นผงออกมาได้ดีครับ หากมีน้ำยาทำความสะอาดจอก็ใช้ร่วมด้วยก็ได้ครับ
ตัวเครื่องภายนอก ก็ควรทำความสะอาดเช่นเดียวกัน แต่ที่มีปัญหาที่สุดคือ ระบบระบายอากาศภายในเครื่อง ซึ่งจะมีพัดลมอยู่หลายตัวดังภาพ ที่เราจะต้องดูแลเรื่องฝุ่นละอองที่สะสม ทั้งในใบพัดลม และตามซอกหลืบอุปกรณ์ภายในเครื่อง ด้วยการใช้เครื่องเป่าเอาละอองฝุ่นออกให้หมด เพราะนอกจากจะบังทิศทางและกระแสลม ไม่ให้ระบายความร้อนออกนอกเครื่อง และทำให้พัดลมฝืดไม่หมุนในรอบที่เหมาะสมแล้ว ในช่วงที่มีอากาศชื้นในฤดูฝนก็ยังอาจเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรได้อีกด้วย บางคนเช็ดแต่ภายนอกสะอาดสวยงามเชียว แต่พอเปิดฝาข้างออกมามักจะเป็นดังภาพข้างล่างนี้ แม้จะใช้เครื่องในห้องแอร์ก็ตามที
เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานได้ดีเป็นปกติ แต่อยู่ๆ ก็เปิดไม่ติดได้ยินเสียงปี๊บๆๆ เป็นระยะ ปัญหาก็อาจมาจากอุปกรณ์ต่อพ่วงที่อยู่ภายในสล็อต เช่น RAM, VGA Card, Network Card สกปรกมีฝุ่นผงเกาะติดตามหน้าผิวสัมผัสต่างๆ ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วย การกำจัดฝุ่นตามวิธีการข้างต้น ปัดฝุ่นผงภายในช่องเสียบ (Slot) ออกให้หมด และใช้ยางลบทำความสะอาด ที่ผิวสัมผัสบริเวณทองแดงของแรม และแผงเสียบให้สะอาดเงางาม เช็ดด้วยผ้าไมโครไฟเบอร์อีกที เสียบกลับลงที่เดิม ก็จะแก้ไขอาการดังกล่าวได้ ลองดูนะครับ แต่อย่าใช้วิธีการอย่างภาพข้างล่างนี้เด็ดขาด (ล้างให้สะเด็ดน้ำ ทำไปได้)
สำหรับคนที่มีโน้ตบุ๊กก็อยากจะถนอมการใช้งาน ให้เครื่องมีอายุการใช้งานยาวนานที่สุด จึงพยายามสรรหาวิธีการรใช้งานมาต่างๆ นานา สารพัดวิธี ทั้งที่ได้ฟังบอกต่อกันมา และคิดเอาเองว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น ซึ่งถ้าเป็นวิธีการที่ถูกต้อง ก็จะทำให้โน้ตบุ๊กมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้นจริง แต่ถ้าดูแลผิดวิธีแทนที่จะถนอมอายุ กลับเป็นการลดทอนอายุการใช้งานให้สั้นลงไป ซึ่งความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการถนอมการใช้งานโน้ตบุ๊กที่ทุกคนอาจจะเชื่อมานานนั้น ที่จริงแล้วเป็นอย่างไร? ถูกต้องหรือไม่? มาดูกัน
เริ่มที่ตัวเครื่องภายนอกกันก่อน ปกติตัวเครื่องจะถูกออกแบบมาให้มีช่องทางระบายความร้อนออกจากตัวเครื่อง หรือแม้แต่ฝาครอบเครื่องบางยี่ห้อที่เป็นโลหะ ก็ถูกออกแบบให้ช่วยในการระบายความร้อน แต่บางคนกลัวเครื่องจะเก่า เลยไม่ยอมลอกพลาสติกที่ปิดไว้ในระหว่างการขนส่งออก หรือที่หนักไปกว่านั้น ยังไปเลือกหาเคสสีสันต่างๆ มาครอบเสียอีกแนะ เท่แต่กินไม่ได้นะครับ
เมื่อซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ใหม่สักเครื่อง หนึ่งในบรรดาของแถมหลายสิบรายการที่เราได้มา เมื่อซื้อโน้ตบุ๊กนั้น จะมีแผ่นซิลิโคนปิดหน้าคีย์บอร์ดรวมอยู่ในนั้นด้วย ซึ่งหลายๆ คนเองก็หวังว่า แผ่นซิลิโคนจะป้องกันฝุ่นเข้าสู่เครื่องได้ แต่หารู้ไม่ว่าแผ่นซิลิโคนนั้นก่อผลเสียมากกว่าผลดี ซึ่งหลายๆ คนอาจจะแย้งว่ามันป้องกันฝุ่นเข้าเครื่องผ่านทางช่องว่างของคีย์บอร์ดได้ แต่หารู้ไม่ว่าฝุ่นนั้นไม่ได้เข้าทางร่องคีย์บอร์ดอย่างเดียว ขอแค่มีช่องว่างเท่านั้น (ช่องเสียบหูฟัง พอร์ตเชื่อมต่อ USB และอื่นๆ) ฝุ่นก็สามารถเข้าสู่เครื่องในช่องทางนั้นๆ ได้แล้ว
ส่วนข้อเสียของการเลือกใช้แผ่นซิลิโคนปิดคีย์บอร์ดมีอะไรบ้าง? หลายๆ คนอาจจะนึกไม่ถึงกันเสียด้วยซ้ำ จึงได้รวบรวมมาให้พิจารณากันดังนี้
และอีกหนึ่งของแถมที่มักจะได้มา หรือมีการนำเสนอขายพร้อมคำโฆษณาว่า ช่วยระบายความร้อนได้ดีคือ แท่นวางโน้ตบุ๊ค รูปแบบต่างๆ ทั้งที่มีพัดลมติดอยู่ด้วยทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ หลายแบบ โดยใช้กระแสไฟฟ้ามาจากช่อง USB Port ซึ่งในตอนทำงานนอกจากจะมีลมจากพัดลมมาเป่าใต้เครื่องแล้ว ยังมีแสงสีสุดจ๊าบจากหลอด LED ที่ฝังอยู่ในพัดลมนั้นด้วย ตัวแท่นวางนี่มีประโยชน์ในแง่ที่ทำให้มีมุมเงยพอเหมาะ ในการพิมพ์บนแป้นแบบสัมผัส แต่ข้อเสียร้ายแรงที่แฝงอยู่คือ กินพลังงานจากแบตเตอรี่มากมาย และที่สำคัญถ้าพัดลมนั้นราคาถูกๆ (ส่วนใหญ่ก็เป็นเช่นนั้น) ก็มักจะดึงกระแสอย่างมากมายจากพอร์ต USB และอาจถึงขั้นทำให้เมนบอร์ดไหม้พังได้ในที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทผู้จำหน่ายโน้ตบุ๊ค จะไม่ยอมรับเคลมเมนบอร์ดให้ เพราะเป็นการใช้งานที่ผิดปกติวิสัยทั่วไป และยังอยู่นอกเหนือเงื่อนไขการออกแบบเครื่องอีกด้วย
หลายๆ คนอาจจะกลัวโน้ตบุ๊กของตัวเองมีรอยขีดข่วน แล้วเครื่องโทรม ดูเก่าเร็ว เลยหาผ้ามารองใต้โน้ตบุ๊ก เพื่อลดโอกาสเกิดรอยขีดข่วนขึ้นมาได้ แต่หารู้ไม่ว่า นี่ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่จะทำให้โน้ตบุ๊กเกิดควาเสียหายได้ง่ายขึ้นอีก ความร้อนที่สะสมจากการใช้งานอีกกรณีหนึ่งคือ การใช้งานบนที่นอน หรือบนโต๊ะประชุม สัมมนาที่ปูด้วยผ้า เพราะบริเวณด้านล่างของเครื่องโน้ตบุ๊คส่วนใหญ่ จะเจาะเป็นช่อง สำหรับให้พัดลมดูดอากาศจากด้านล่าง ผ่านท่อ ครีบระบบระบายความร้อนภายใน แล้วระบายออกทางด้านช้างของเครื่อง หรือ ผ่านทางช่องว่างระหว่างคีย์บอร์ด เมื่อนำไปวางบนพื้นผิวที่เป็นผ้า ผ้าก็จะถูกดูดเข้าไปปิด หรือ ขวาง ช่องลมใต้เครื่อง ทำให้เกิดการสะสมความร้อนภายในเครื่อง มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้อายุการใช้งานของอุปกรณ์ต่างๆ ภายใน สั้นลงเรื่อยๆ ควรหลีกเลี่ยงด้วยการหาวัสดุวางเพื่อยกเครื่องให้สูงขึ้น หรือโต๊ะวางตามภาพ
การทำความสะอาดระบบระบายอากาศของโน้ตบุ๊ค คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ที่จะถอดออกมาทำความสะอาดด้วยตนเองแบบเครื่องพีซี แต่ก็ใช่จะไม่มีทางเสียทีเดียว หากท่านมีเครื่องเป่าลม (หรือจะอาศัยลมจากร้านปะยางรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ก็ได้นะครับ) ให้เป่าเข้าทางช่องดูดอากาศใต้เครื่อง ช่องระบายอากาศด้านข้าง และบนแป้นคีย์บอร์ดก็ได้ผลเช่นเดียวกัน แต่ไม่อาจจะรับรองได้ว่าสะอาดหมดจดหรือไม่ แต่จะได้เห็นฝุ่นกระจายออกมาแบบไม่คาดคิดเลยทีเดียว
แหล่งพลังงานหลักของโน้ตบุ๊ก เมื่อไม่ได้เชื่อมต่ออะแดปเตอร์นั้น หนีไม่พ้นแบตเตอรี่ที่ติดตั้งมาให้ ซึ่งมีความจุหลายเซลภายในตัวแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นตัวแปรที่ทำให้ระยะเวลาใช้งานแบตเตอรี่แตกต่างกัน และหลายๆ คนเองก็คงจะมีคนรู้จักใกล้ตัวมาบอกว่า ถ้าอยากให้แบตเตอรี่โน้ตบุ๊กยังไม่เสื่อมสภาพ และใช้งานได้นานยิ่งขึ้น เวลาเชื่อมต่ออะแดปเตอร์เข้ากับโน้ตบุ๊กแล้วให้ถอดแบตเตอรี่ออก
อันที่จริงความเชื่อนี้ก็ไม่ผิดนักหากว่า โน้ตบุ๊กยังใช้แบตเตอรี่แบบนิเกิล-แคดเมียม (Ni-Cd) อยู่ โดยแบตเตอรี่แบบนี้จะต้องถนอมการใช้งานอย่างที่ว่าจริงๆ เพราะการเชื่อมต่อแบตเตอรี่เอาไว้นานๆ โดยไม่ถอดออกให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านเป็นระยะเวลานานๆ นั้นจะทำให้แบตเตอรี่เกิดการเสื่อมสภาพ และใช้งานได้ไม่นานเท่าเดิม ซึ่งปัจจุบันนี้แบตเตอรี่ชนิดนิเกิล-แคดเมียมนั้น ถูกรณรงค์ให้ลด/เลิกการใช้งาน เพราะผลิตจากโลหะหนัก แต่ยังอนุโลมให้ใช้งานได้ในอุปกรณ์ทางการแพทย์บางชนิดได้
ปัจจุบันนี้ แบตเตอรี่แบบลิเธียม-ไอออน (Li-ion) ได้เข้ามาเป็นตัวแทนของนิเกิล-แคดเมี่ยม และได้รับความนิยมจากผู้ผลิตโน้ตบุ๊กหลากหลายค่าย เลือกนำไปติดตั้งเป็นแหล่งพลังงานของโน้ตบุ๊กในปัจจุบัน ทำให้วิธีการถนอมการใช้งานแบตเตอรี่นั้นเปลี่ยนไปจากอดีต เราไม่จำเป็นต้องถอดแบตเตอรี่ออกจากเครื่อง เพื่อถนอมการใช้งานต่อไป เพราะแบตเตอรี่ประเภทนี้ ถ้ามีการชาร์จไฟฟ้าเพื่อรักษาประจุภายในแบตเตอรี่เอาไว้ให้คงที่ จะทำให้อายุการใช้งานยาวนานยิ่งขึ้น และการถอดแบตเตอรี่ออกจากโน้ตบุ๊กนั้น จะเหมือนกับคอมพิวเตอร์ที่ไม่มีระบบสำรองไฟฟ้า พออะแดปเตอร์หลุดออกจากเครื่อง หรือกระแสไฟฟ้าดับ แล้วไม่มีแบตเตอรี่เสริมเอาไว้ก็จะทำให้งาน ที่ทำเอาไว้หายไปอีกด้วย บันทึกงานไม่ทันไปอีก
และกรณีที่ท่านใช้เครื่องพวก Macbook, Macbook Pro รุ่นเดิม ที่สามารถถอดแบตเตอรี่ออกได้ง่ายๆ นั้น ได้มีการพิสูจน์แล้วว่า ถ้าถอดแบตเตอรี่ออกจากเครื่องขณะใช้งานผ่าน Magsafe Power Adapter ระบบปฏิบัติการจะลดความเร็วของ CPU ลงจนสังเกตุได้ (รุ่นใหม่ๆ ถอดยากมาก ต้องใช้เครื่องมือพิเศษเฉพาะ เลยไม่พบปัญหานี้) จึงมีการแนะนำไม่ให้ถอดแบตเตอรี่ออก
ในปัจจุบันมีการพัฒนาแบตเตอรี่แบบ ลิเธียม-โพลิเมอร์ (Li-Polymer) ขึ้นมาใช้งานทดแทนแบตเตอรี่แบบ ลิเธียม-ไอออน ซึ่งจะปล่อยพลังงานไฟฟ้าออกมาได้ทรงประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ถ้าเปรียบเทียบกันระหว่างแบตเตอรี่แบบ ลิเธียม-ไอออน และลิเธียม-โพลิเมอร์ ที่มีความจุเท่ากันแล้ว แบตเตอรี่แบบลิเธียม-โพลิเมอร์จะมีระยะเวลาในการใช้งานที่ยาวนานกว่า
ดูแลกันสักนิดเพื่อยืดอายุเครื่องคอมพิวเตอร์สุดรักของคุณให้ยืนยาว ลองทำดูครับ...
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)