เห็นข่าวนี้แล้ว เพื่อนๆ ในวงการไอทีถึงกับกลั้นหัวเราะกันไม่อยู่เลยทีเดียว นี่หน่วยงานราชการไทยช่างล้าหลังเสียเหลือเกินนะ ก็มีนโยบายให้ทุกหน่วยราชการทุกหน่วยปรับตัวเป็น "รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์" มานานนับ 10 ปีแล้วไม่ใช่หรือ? เพราะฉะนั้นทุกท่านไม่ต้องแปลกใจหรอกที่เวลาหน่วยงานราชการมีอะไรที่ผิดพลาด ก็จะโยนขี้ (ความผิด) หรือโบ้ยไปให้ระบบ (คอมพิวเตอร์) ผิดพลาดมาโดยตลอด (คนป้อนข้อมูลให้ ไม่ใช่หรือ?) อย่างรายชื่อฉีดวัคซีนแนวหน้าที่ซ้ำกันเมื่อสัปดาห์ก่อน ก็มีการแถ-ลงว่า Google from ผิดพลาด จะหัวเราะหรือว่าร้องไห้กันดีครับ ยกข่าวมาให้ทราบก่อนสำหรับคนที่ไม่ค่อยได้ติดตาม เพราะมัวแต่สอนออนไลน์ หรือฟังข่าวโควิดจนมึนไปแล้ว
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกฎหมาย สนับสนุน "รัฐบาลดิจิทัล" ภาคธุรกิจสามารถทำธุรกรรม และติดต่อกับภาครัฐผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้มากขึ้น โดยในการจัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยงานสารบรรณ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2564 (ระเบียบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์) ระบุ หน่วยงานของรัฐต้องใช้อีเมลในการสื่อสารเป็นหลัก มีผลตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป เพื่อต่อยอดไปใช้ในการจัดทำระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้
นอกจากนี้ ในที่ประชุม ครม. ยังรับทราบการพัฒนากฎหมายเพื่อเร่งรัดให้เกิด รัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) เช่น
ว่าที่เรื่อง อีเมล (e-Mail) กันก่อนครับ การใช้อีเมลมีมานานแล้วครับ แรกๆ ก็ไม่ค่อยแพร่หลายอะไรนัก แต่มาในยุคสื่อสังคมออนไลน์โด่งดังเข้ามามีบทบาทกับชีวิตผู้คนมากมาย ก็จำเป็นต้องมีการใช้อีเมล หรือสมัครใช้อีเมล เพื่อทำการสมัครใช้บริการสื่อสังคมออนไลน์เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Line, Twitter และแม้แต่การช็อปปิ้งออนไลน์ทั้งหลายก็จำเป็นต้องใช้ แม้ว่าแรกๆ จะสมัครใช้ได้ด้วยหมายเลขโทรศัพท์เท่านั้น แต่หลังๆ ก็ถูกบังคับให้ใช้อีเมลในการสมัครยืนยันในการใช้งานด้วย
และนี่คือสาเหตุหนึ่งที่ Facebook, Line, Twitter โดนแฮ็คจากผู้ไม่หวังดีแล้วไม่สามารถกู้คืนได้ เพราะการใช้อีเมลไม่เป็นหนึ่ง ให้คนอื่นสมัครให้แล้วก็จำรหัสผ่านไม่ได้อีกหนึ่ง มีแล้วต้องจำบัญชีใช้งาน รหัสผ่านให้ได้ เมื่อใช้บ่อยๆ ก็จะเคยชินและคล่องแคล่วเอง
เห็นภาพข้างบนนี้แล้ว ผมคิดว่า หลายคนคงจะตีโพยตีภายกันใหญ่ว่า คนแก่ คนเฒ่า คนที่ไม่เก่งด้านไอทีจะให้ทำอย่างไร? อย่าเพิ่งตีโพยตีพายเลยครับ (มันจะแสดงความเขลาว่า เราอยู่แต่ในกะลา) มันไม่ต่างจากการที่พวกเราแชร์มั่วๆ สวัสดีตอนเช้าในไลน์นักหรอก นี่มันเป็นทางการ เป็นเอกสารรับรองที่ได้มีการยอมรับในระดับโลกแล้ว ยิ่งในสภาวะการล็อคดาวน์จากโรคระบาดเช่นนี้ การเดินทางไปติดต่อราชการก็ไม่สะดวก หน่วยงานราชการก็ WFH ทำงานนอกที่ตั้งกันมากขึ้น การจะติดต่อราชการจึงไม่สะดวกเหมือนเดิม หากเราสามารถส่งเอกสารแบบฟอร์ม คำขอต่างๆ ลงลายมือชื่อผ่านระบบดิจิทัลได้ จะช่วยให้งานนั้นสะดวกรวดเร็วกว่าการเดินทางไปติดต่อด้วยตนเองมาก แรกๆ ก็คงกลัวโน่นกลัวนี่กันอยู่นั่นแหละ แต่สักพักพอมันสะดวก เคยชินก็ใช้กันพรึบอย่างไม่กลัวกันเลย อย่างการโอนเงินผ่านแอป ผ่านพร้อมเพย์นั่นไง ช็อปเพลินเลยใช่ไหม?
สำหรับคนทั่วไปจะใช้อีเมลของเจ้าไหนก็ว่าไป จะ Hotmail, Gmail, Yahoo ก็ได้ทั้งนั้น แต่สำหรับหน่วยงานราชการนั้นควรมีชื่อโดเมน (Domain name) ของหน่วยงานเช่น name.go.th หรือถ้าเป็นโรงเรียนก็ school.ac.th จะได้รับการเชื่อถือมากที่สุด ประสบการณ์เมื่อครั้งยังทำงานอยู่ในโรงเรียน มีเพื่อนครูในโรงเรียนสมัครขอทุนไปศึกษาดูงานที่ต่างประเทศ แต่ใช้อีเมล์ส่วนตัวของ hotmail มั๊งไปขอทุน แต่ระบุว่าทำงานที่โรงเรียน ทางโน้นเลยอีเมลมาขอคำรับรองกับผมซึ่งทำหน้าที่ดูแลโดเมนอยู่ว่า บุคคลที่ขอชื่อนี้ นามสกุลนี้ ทำงานที่โรงเรียนนี้ เป็นบุคลากรในโรงเรียนท่านหรือไม่ ผมต้องยืนยันให้และแนะนำให้เขาใช้อีเมลที่เป็นโดเมนโรงเรียนในการติดต่อในครั้งถัดไป
ดังนั้น โรงเรียน ซึ่งเป็นสถานศึกษาของรัฐ ถ้ามีเว็บไซต์ควรจดชื่อโดเมนเป็นสกุล school.ac.th จะได้มีอีเมล์เป็นชื่อ school.ac.th ได้ ด้วยการขอใช้บริการผ่านผู้ให้เช่าโฮสท์ หรือใช้ Gsuite หรือ Office365 ก็ได้อยู่แล้วนะครับ
จากข่าวยังมีเรื่องการปลดล็อกให้ บริษัท มหาชน จำกัด และคณะกรรมการบริษัท มหาชน จำกัด สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ประเด็นนี้ ในอดีตการประชุมใหญ่คณะกรรมการบริษัทมหาชนต้องประชุมในสถานที่ที่กำหนดไว้เท่านั้น จะประชุมผ่านระบบออนไลน์ด้วยอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้ พอช่วงภาวะโรคระบาดโควิดจึงจัดประชุมไม่ได้ ก็ทำให้การทำบัญชีรับรองงบดุลบริษัททำไม่ได้ นั่นก็ส่งผลกระทบให้กับผู้ถือหุ้นที่จะไม่ทราบสถานการณ์การดำเนินงาน และงบกำไร-ขาดทุน รวมทั้งเงินปันผลก็จ่ายไม่ได้ด้วย (มีใน พรบ.ตลาดหลักทรัพย์ด้วย ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักตาม)
ส่วนมติข้ออื่นๆ ก็เป็นการเปิดช่องให้การพัฒนางานบริการภาครัฐให้กับประชาชนนั้นทำได้สะดวก โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยงาน ซึ่งจะทำให้ภาครัฐมีฐานข้อมูลในการดำเนินงานได้สะดวกทุกเรื่อง เวลามีปัญหาสามารถใช้ข้อมูลมาบริหารจัดการได้เลย ตั้งแต่การจัดสรรงบประมาณ การให้ความช่วยเหลือในภาวะวิกฤต ไม่ต้องมาแย่งชิงกันลงทะเบียนตอนเที่ยงคืนดึกดื่น ลงไม่ได้ก็ทะเลาะเบาะแว้งกันอีกต่อไป
แต่ที่อยากให้รัฐบาลตระหนักและเร่งรีบทำก็คือ Application Government มีแอพเดียวใช้ได้ครอบคลุม ไม่ใช่ใครอยากอวดเก่งก็ทำมาให้ดาวน์โหลด เอาง่ายๆ แค่แอพที่เกี่ยวกับโควิดนี่มีตัวเดียวได้ไหม ไปสถานที่เสี่ยงทีต้องเช็คแอพมากมายจนงง (บ้านผมมีทั้งหมอชนะ อุบลชนะ ฯลฯ) ตอนนี้ถ้าจะเดินทางข้ามจังหวัดนี่สงสัยจะมี 'แอพหมอชนะ' รวมกับอีก '71 จังหวัดชนะ' แน่เลย ชาวบ้านจะบ้าตาย จะพร้อม หรือ จะชนะ ขอตัวเดียวก็พอนะ และบัตรประชาชน (อิเล็กทรอนิกส์ใหม่) ตอนร่าง TOR ก็ออกแบบมีพื้นที่เก็บข้อมูลเผื่อไว้ตั้งเยอนะ แต่ตอนนี้ใช้อยู่ไม่ถึง 20% มั๊ง เอามาใส่ข้อมูลใบอนุญาตขับขี่ บัตรประจำตัวโรงพยาบาล บัตรข้าราชการ เลยก็ได้ ทำเหอะครับ 🙏🙏🙏 ตอนนี้ผมเป๋าตุงมาก ไม่ใช่รวยมีเงินเยอะแยะ แต่เป็นการพกบัตรเยอะจนเป๋าตุงต่างหากเล่า
มาถึงคำถามที่ผมโปรยไว้ข้างบนว่า 'มาเดากันไหมว่า ใครจะเดือดร้อนที่สุด?' ตอบได้เลยครับ "หัวหน้าหน่วยงานใหญ่ๆ" นั่นแหละ ร้อยละ 90 ที่ใช้ไอทีกันไม่เป็นหรอก บางคนถึงกับสั่งเลขาหน้าห้องว่า "พิมพ์อีเมล์ออกมาให้ผมอ่านด้วยนะ" เป็นงั้นไป มาดูรายงานสถานะปัจจุบันกันดีกว่าตอนนี้ ประเทศไทยของเราอยู่ในอันดับที่เท่าไหร่กัน
ที่มา : e-government global ranking
รู้นะ! ว่าแอบภูมิใจที่ไทยยังไม่รั้งท้ายอาเซียน แต่พอดูระดับโลกแล้วเราช่างห่างชั้นมากนัก จึงไม่แปลกใจที่การลงทุนในธุรกิจต่างๆ ของประเทศไทยไม่มากเพราะขั้นตอนราชการที่วุ่นวายนั่นเอง คิดดูว่าจะตั้งโรงงานธุรกิจอะไรสักอย่าง บริษัทนั้นต้องติดต่อราชการตั้งแต่ อบต. จังหวัด กระทรวงที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย ถ้าทุกอย่างมีศูนย์บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (None Stop Services) จะทำให้การดำเนินงานง่ายดายในจุดเดียว ระดับประชาชนเอาแค่จะสร้างบ้านทั้งหลังก็ปวดหัวแล้ว ต้องขออนุญาตผ่านท้องถิ่นเพื่อก่อสร้าง มีบ้านเลขที่ เพื่อไปขอไฟฟ้า ประปา ถ้าขอที่เดียวได้จะสะดวกขนาดไหน
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)