การระบาดของไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ไม่ได้มีผลเฉพาะด้านสุขภาพของประชาชน การล่มสลายของเศรษฐกิจทั่วโลกเท่านั้น การศึกษาของประเทศไทยเราก็โดนผลกระทบเช่นเดียวกัน ไม่มีข้อยกเว้น ตั้งแต่การสั่งปิดสถานศึกษา (ก่อนกำหนด) งดการจัดการเรียนการสอนปกติ งดการจัดกิจกรรมการสอบ การรับเอกสารสำคัญในการจบการศึกษา เลื่อนการรับนักเรียนใหม่ออกไป (ยังไม่มีกำหนด) ให้จัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ในสถานศึกษาทุกระดับ ซึ่งบรรดาครู-อาจารย์ส่วนใหญ่ก็ขานรับ และกำลังเตรียมการกันในช่วงประกาศหยุดเรียนเป็นกรณีพิเศษไปถึง 30 มิถุนายน 2563
แต่ก็มีความอึดอัดใจมากที่ได้เห็นข่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ) มีความคิดจะแจกแท็ปเล็ตให้กับนักเรียนอีกครั้ง พร้อมย้ำว่า "อย่าเอาความเชื่อเรื่องเดิมในรัฐบาลก่อนมาเป็นประเด็น ย้ำ การแจกแท็ปเล็ตจะไม่ทำให้เกิดปัญหาเหมือนที่ผ่านมา" ตามข่าวว่าจะแจกให้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ไม่ใช่กลุ่มเด็กเล็ก พอข่าวนี้ออกมาก็มีเสียงกระหึ่ม "ค้าน" จากครูและนักการศึกษาส่วนใหญ่ของประเทศทันที เพราะอะไร?
ผมก็หนึ่งในจำนวนนั้นที่คัดค้าน และก็ค้านมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลก่อนๆ ที่แจก "เครื่องน้ำตาแทบเล็ด" ด้วยครับ ชื่อมัน "แท็ปเล็ต" แต่ด้วยคุณภาพที่สมราคามากไปหน่อย เอามือกด นิ้วไถแรง จิ้มแล้วจิ้มอีก จนน้ำตาแทบเล็ดมันก็ไม่ค่อยไป (ตอนนี้เห็นหลายโรงเรียนกองไว้ในห้องพัสดุโรงเรียนให้ฝุ่นจับ ซ่อมไม่ได้ ชาร์จไฟไม่เข้า แบตเตอรี่บวม ศูนย์ซ่อมห้องแถวที่โทรไปไม่รับสาย และสูญหายไปจากโลกนี้แล้ว) ไม่ว่าท่านจะจัดการอย่างไร ไม่มีทุจริตคอรัปชั่นเลยก็ตาม ผมก็ยังคงค้านอยู่ดี ไม่ใช่ว่า "เป็นจระเข้ขวางคลอง มือไม่พายเอาตีนราน้ำ" แต่เพราะผมมีเหตุผลตอบทุกท่านแน่นอนดังต่อไปนี้
ถ้าเราเข้าใจคำว่า "เทคโนโลยีทางการศึกษา" และ "การจัดการเรียนการสอนอนไลน์" ได้แจ่มชัดจริงๆ แล้ว การจัดการศึกษาประเทศไทยเราจะก้าวไกลไปกว่านี้มาก
เทคโนโลยีทางการศึกษา เป็นกรอบใหญ่ภาพรวมของการจัดการศึกษาของครู โดยการนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีมาช่วยในการถ่ายทอด ส่งต่อความรู้จากแหล่งความรู้สหวิชา จากครูผู้สอนไปยังผู้เรียน ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้ภายในระยะใกล้ (ในห้องเรียน) และในระยะไกล (นอกห้องเรียน) ในอดีตเครื่องมือต่างๆ ก็พวกแผนภูมิ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เช่น แผ่นชาร์ท แผ่นภาพโปร่งใส ของจริง สไลด์ ภาพยนต์ ซึ่งผมผ่านประสบการณ์พวกนี้มาจากสมัยเรียนที่ มศว. ประสานมิตร เป็นลูกศิษย์อาจารย์ชม ภูมิภาค อาจารย์เปรื่อง กุมุท และท่านอื่นๆ รวมทั้งเรียนที่ มสธ. กับ อาจารย์ไชยยงค์ พรหมวงศ์ ที่ท่านเรียกผมว่า "หัวหน้าลาวอีสาน" (ถามท่านได้ความว่า คนที่มีนามสกุลขึ้นต้นด้วย "โคตร" นี่มาจากอีสานแน่ๆ อย่าเขียนผิดเป็น "โครต" นะมันไม่มีความหมาย "โคตร" แปลว่า "เชื้อสาย กลุ่มใหญ่" มาจากซุมใหญ่ หรือโคตรเหง้าศักราชกลุมใหญ่ และนามสกุลที่ขึ้นต้นด้วย "พรหม" นี่กะลาวอีสานนำกัน เหอๆ ซุมเดียวกันท่านว่าอย่างนั้น เพราะท่านก็คนเมืองเกินร้อย)
ในยุคต่อมาเทคโนโลยีเริ่มพัฒนาขึ้น เราก็มีรายการวิทยุ โทรทัศน์ มีสื่อวีดิโอ แผ่นบลูเรย์ เมื่อเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ก้าวหน้าขึ้น เครือข่ายคอมพิวเตอร์เริ่มมีความเร็วสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงมีการสตรีมมิ่งทั้งภาพและเสียงมาเป็น Youtube, Podcast, Spotify etc. สื่อที่เคยอยู่บนจอผืนผ้าสี่เหลี่ยม ก็มาอยู่ในจอแก้ว จอแอลซีดีแบนๆ ใหญ่ๆ ติดผนังได้ และมีราคาที่ถูกลงทุกวัน ย่อให้เล็กลงจนมาอยู่ในมือถือ และแท็ปเล็ต ดังเช่นปัจจุบัน นั่นจึงทำให้มีการคิดและพัฒนาการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ขึ้น
การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ เป็นส่วนย่อยหนึ่งของเทคโนโลยีทางการศึกษา ซึ่งผนวกเอาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้ามาใช้ในการจัดการศึกษาให้สามารถกระจายไปยังผู้เรียนที่มีความพร้อมในการใช้เครื่องมือเทคโนโลยี อยู่ห่างไกลจากสถานที่เรียนปกติ หรือเป็นช่องทางการเรียนเสริมในส่วนที่เรียนไม่ทัน สอนซ่อมเสริม หรือเปิดโอกาสให้ผู้เรียนที่ติดภาระการงานไม่ได้มาเรียนในห้องเรียนได้ศึกษาทันเพื่อน การจัดการศึกษาที่ได้ผลดีที่สุดยังคงเป็น "การเรียนกับผู้สอนต่อหน้า หรือฝึกปฏิบัติกับผู้รู้จริงในสถานที่ฝึกฝน" มากกว่า กระบวนการเรียนทางออนไลน์แน่นอน ยกตัวอย่างให้เห็นเช่น เรียนการทำอาหารกับเชพโดยตรงในครัว ย่อมมีความอร่อยกว่าที่เรียนจากยอดเชฟสอนใน Youtube จริงไหมครับ (เพราะที่ผ่านการชิมของผมนั้น แม่บ้านฝึกทำจาก Youtube ไม่จืดก็เค็มทุกที) เช่นเดียวกับเรียนดนตรีกับ Youtube ก็ไม่เหมือนกับเรียนกับครูดนตรีโดยตรง
ครู-อาจารย์ในระบบการศึกษาบ้านเราเป็นจำนวนมากโขอยู่ ที่ใช้ระบบการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ แต่ก็ใช้เป็นสื่อเสริมเสียเป็นส่วนใหญ่ ใช้ร่วมกับการเรียนการสอนปกติ เมื่อทางรัฐบาลประกาศให้นำระบบการจัดการเรียนการสอนออนไลน์มาใช้ ในภาวะฉุกเฉินนี้ก็มีการตื่นตัว ตระเตรียมเพิ่มเติมกันคึกคักไม่น้อย พยายามหาวิธีที่เหมาะสมกับบริบทของนักเรียน ของโรงเรียนของตน ซึ่งก็มีหลากหลายวิธีการทีเดียว โรงเรียนใหญ่ๆ มีกำลังทรัพยากรครบทุกด้านก็ไม่น่าห่วงเท่าไหร่ แต่โรงเรียนที่อยู่ห่างไกล อยู่ในชนบทที่มีบริบทที่แตกต่างกันก็ย่อมจะใช้วิธีการที่ต่างกันไป เอาใจช่วยนะครับ
มาถึงเรื่อง "การแจกแท็ปเล็ต" กันหน่อย ที่ว่าผมไม่เห็นด้วยที่จะแจกเพราะอะไร?
ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดๆ ก็ตาม ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา จะเกิดก็ต่อเมื่อ "ผู้เรียน" มีความตั้งใจในการเล่าเรียน หาความรู้ เพื่ออนาคตของตนในวันข้างหน้า การฝึกฝนปฏิบัติจริงให้มีทักษะตรงกับที่ผู้ว่าจ้างงานต้องการ ไม่ใช่เกรดดีๆ ปริญญาเกียรติยม อย่างในอดีต โลกของอาชีพหลังการระบาดของไวรัสโควิดจะเปลี่ยนไปจากปัจจุบันนี้อย่างสิ้นเชิง งานที่ยังมีให้ทำจะเป็นของคนมีทักษะเข้าทำงานได้ทันที โดยไม่ต้องไปสอนงานกันใหม่อีก (ก่อนไวรัสระบาดเป็นแบบนี้จริงๆ จบมาแล้วก็ทำงานทันทีไม่ได้ เรียนมาไม่ตรงกับงาน หรือถึงจะตรงก็ขาดทักษะ ต้อมาฝึกฝนใหม่ เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ เหมือนคนมีใบขับขี่ขับรถยนต์แต่ขับไม่เป็น ไม่รู้กฎจราจร ต้องมาเรียนรู้ใหม่ ต่อไปนี้ คนแบบนี้จบปริญญาอะไรมาก็ตกงานแน่ ไม่เชื่อก็รอดูครับ)
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)