โดย ดร.สุกรี เจริญสุข
การปฏิรูปการศึกษาของไทย เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานานมาก สำหรับสถาบันการศึกษาไทย ไม่ว่าจะมองในมิติใด ก็กลายเป็นเรื่องที่ล้มเหลว และเหลวไหลในทุกๆ มิติ มองเห็นว่าเป็นเรื่องที่ล้าหลัง เป็นเรื่องของความด้อยพัฒนา เป็นเรื่องของการให้เสมียนบริหารการศึกษา เพราะว่า มีเสมียนเป็นใหญ่ พยายามที่จะทำให้นักวิชาการกลายเป็นเสมียน ความเหลวไหลนำการศึกษาไปผูกกับประเพณีและพิธีกรรม การศึกษาไทยมีรสนิยมต่ำ มิติของการศึกษาที่สร้างคนให้เป็นขอทาน มิติของการวิ่งตามโลก "ตามเขาว่าเก่ง ทำเองว่าโง่" สรุปรวมๆ แล้วเห็นว่าการปฏิรูปศึกษาไทยเป็นเรื่องที่เหลวไหลและเลื่อนลอย
สิ่งสำคัญก็คือ ผู้บริหารการศึกษาไม่รู้จักการศึกษาที่มีคุณภาพ ไม่รู้ว่าคุณภาพที่ดีนั้น จริงๆ แล้วเป็นอย่างไร เมื่อพูดถึงการปฏิรูปการศึกษา คนที่มีอำนาจกลับเป็นบุคคลที่ล้าหลัง อยู่ในโลกอดีต เชย ไม่มีรสนิยม ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาไทย จึงเป็นการสร้างปัญหา สร้างระเบียบมากกว่า เป็นการสร้างภาระต่อทุกคน และเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลง พูดอีกกี่ครั้ง พูดอีกกี่ปี ก็ไม่สามารถปฏิรูปได้สำเร็จ
ความล้าหลังของกระทรวงศึกษาธิการ มีตั้งแต่ความล้าหลังของคนทำงานที่อยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ ความล้าหลังของโครงสร้างกระทรวง ความล้าหลังของประเพณีและพิธีกรรม ความล้าหลังเรื่องวิถีชีวิตของคนในกระทรวง ความล้าหลังของความรู้เทคโนโลยีในกระทรวง ความล้าหลังของสิ่งแวดล้อมทั้งในและรอบๆ กระทรวง และความล้าหลังของขั้นตอนในการทำงานของคนในกระทรวง เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปการศึกษาทั้งสิ้น
เมื่อเวลาผ่านไป การปฏิรูปการศึกษาก็กลายเป็นเรื่องที่เหลวไหลและเลื่อนลอย ไม่น่าเชื่อถือและไม่มีใครฟังอีกต่อไป
การศึกษาไทยเป็นเมืองขึ้นตะวันตก เป้าหมายของการศึกษาไทยคือเพื่อความสำเร็จ ความสำเร็จคือให้ได้กำไร "เรียนเพื่อให้รวย" ความร่ำรวยก็คือกำไร และกำไรก็คือเงิน คนมีเงินได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จ คนมีเงินทำอะไรก็ไม่น่าเกลียด ความจริงของการศึกษาไทย ศึกษาเพื่อหาความร่ำรวย แม้ทำโดยการเอาเปรียบคนอื่นก็ทำ ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงิน เมื่อมีเงินแล้วก็จะแสวงหาเกียรติ เมื่อได้เกียรติแล้วก็จะแสวงหาอำนาจ เมื่อคนได้เงิน ได้เกียรติ และได้อำนาจแล้ว ก็ถือว่าเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต แม้ว่าคนที่มีอำนาจจะนั่งตายบนอำนาจก็ตาม
เมื่ออยากรวยเร็ว ก็ต้องจัดการศึกษาที่จะประสบความสำเร็จได้เร็วที่สุด ก็คือ "การซื้อความสำเร็จ" นำความสำเร็จมาใช้ ซื้อทั้งความรู้ ซื้อทั้งระบบ บางครั้งการศึกษาก็ไม่เหลือตัวตนอีกต่อไป
การศึกษาไทยจึงต้องปีนป่ายเพื่อไปอยู่ในที่สูงๆ ให้ได้ เพื่อให้อยู่เหนือคนอื่นๆ ซึ่งเป็นโอกาสที่จะฉกฉวยโอกาสได้มาก ฉกฉวยทุกอย่างในชีวิต ทั้งเงิน เกียรติ และอำนาจ การใช้เงินซื้ออำนาจ ซื้อความรู้ ซื้อเกียรติ วิธีการที่นิยมใช้มากคือการซื้อความรู้ ไทยจึงตกเป็นเมืองขึ้นทางการศึกษา แม้แต่ความฝันก็ยังฝันเป็นเมืองขึ้น
ปรัชญาการศึกษาไทย "ตามเขาว่าเก่ง ทำเองว่าโง่" เนื่องจากการจัดการศึกษาเป็นเรื่องของโอกาส "มือใครยาว สาวได้สาวเอา" คนที่มีโอกาสก็จะทำอะไรได้ง่ายกว่าและมากกว่า เมื่อคนที่มีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างดีจากประเทศมหาอำนาจ คนที่มีโอกาสเหล่านั้นก็จะนำโอกาสน้อยๆ มาให้กับเด็กไทยทั่วไป เด็กไทยได้รับการศึกษาแบบอาณานิคม โดยมีความรู้สึกที่อยู่เหนือกว่าผู้อื่นโดยธรรมชาติ คนที่ได้รับการศึกษาที่สูงส่งเหล่านั้นก็พยายามที่จะรักษาสภาพความเหนือกว่า จึงต้องชื่นชมการศึกษาของมหาอำนาจ ชื่นชมรสนิยมมหาอำนาจ ทำให้การศึกษาไทยตกเป็นเมืองขึ้น ตกเป็นอาณานิคมทางการศึกษา ตกเป็นอาณานิคมทางวัฒนธรรม และตกเป็นอาณานิคมวิถีชีวิต รู้สึกภาคภูมิใจเมื่อได้เลียนแบบ รังเกียจตัวเองแต่กลับชื่นชมความเป็นอื่น
การจัดการศึกษาไทยสร้างคนให้เป็นขอทาน เมื่อการศึกษาถูกตัดรากเหง้าของการเรียนรู้ ก็ต้องรอคอยความรู้ รอคอยทุกอย่างให้คนอื่นมาช่วยเหลือ คอยหนังสือแจก คอยนมแจก คอยดินสอแจก คอยคอมพิวเตอร์แจก คอยเสื้อผ้าแจก คอยอาหารกลางวันแจก คอยความรู้ทางไกลแจก ฯลฯ ครูไม่สามารถช่วยตัวเองได้ นักเรียนก็ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ครูอ่านหนังสือไม่ออก นักเรียนก็อ่านหนังสือไม่ออก ต้องคอยเครื่องมือที่จะช่วยให้อ่านออก ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาอย่างยถากรรม สร้างให้เด็กไทยเป็นขอทานคอยของแจก เมื่อไม่มีใครแจกก็จะร้องเรียกสิทธิ โดยไม่คิดที่จะช่วยตัวเอง สร้างให้เด็กไทยงอมือและงอเท้า
การจัดการศึกษาเพื่อให้คนออกไปหางานทำ เด็กจึงตกงาน แต่การศึกษาไม่ได้สร้างคนที่ฝีมือ เพื่อให้คนช่วยตัวเองได้ สร้างคนออกไปหางาน ซึ่งจะต้องมีฝีมือ มีความคิดสร้างสรรค์ ขยันเรียนรู้ เอาใจใส่และตั้งใจทำงาน
การศึกษาไทยสอนให้คน "ชั่วจนโง่" การศึกษาของเด็กที่โรงเรียน พบว่า เด็กเรียนแล้วเป็นคนดีน้อยลง เห็นแก่ตัวมากขึ้น ชั่วมากขึ้น ทั้งๆ ที่เด็กทุกคนเกิดมาเป็นเด็กที่บริสุทธิ์สดใส เมื่อไปโรงเรียนแล้วเด็กติดเชื้อความชั่วมาจากโรงเรียน ทั้งๆ ที่พ่อแม่จะต้องใช้เงินซื้อการศึกษาให้กับลูก เมื่อส่งลูกให้ได้รับการศึกษาแล้ว พ่อแม่มีฐานะยากจนลง ไปโรงเรียนมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น เด็กมีแต่ค่าใช้จ่าย เด็กไม่สามารถสร้างงานเพื่อเป็นรายได้ให้กับครอบครัวได้ ครอบครัวกลับยากจนลง และเด็กไม่สามารถเรียนรู้อะไรที่จะช่วยให้ชีวิตดีขึ้น กลับเอาตัวไม่รอด ช่วยชีวิตตัวเองไม่ได้ มีแต่จะโง่มากขึ้น
ในขณะที่ผู้บริหารการศึกษากลับมีฐานะดีขึ้น มีตำแหน่งสูงขึ้น มีเงินเดือนมากขึ้น มีความสะดวกสบายขึ้น มีอำนาจมากขึ้น ได้สิ่งตอบแทน ได้เรียนต่อสูงขึ้น อยู่ห่างไกลจากชาวบ้านมากขึ้น ส่วนการศึกษาของเด็กส่วนใหญ่กลับแย่ลง ครูที่สอนเด็กก็มีความรู้น้อย รายได้น้อย ไม่มีแม้แต่ตำแหน่ง ไม่มีหลักประกัน
นโยบายการศึกษาไทย โง่อย่างมีหลักการ ทำให้การศึกษาล้มเหลวอย่างเป็นระบบ กระบวนการจัดการศึกษาของไทยเป็นเรื่องของคำสั่งและอำนาจจากข้างบนลงข้างล่าง ในขณะที่ธรรมชาติของการศึกษาเป็นเรื่องของความเจริญงอกงาม เกิดจากข้างล่างขึ้นไปข้างบน ค่อยๆ โตขึ้นๆ เมื่อกระบวนการสวนทางกับธรรมชาติ ก็ทำให้การศึกษาชุลมุนชนกัน สูงขึ้นก็ไม่ถึงยอด ต่ำลงก็ไม่ถึงดิน ชนกันหน้าเยินอยู่ตรงกลาง ผู้มีอำนาจก็มีผู้นำอยู่คนเดียว ที่เหลือเป็นหน้าที่ของเสมียนที่จะต้องทำตามคำสั่ง
หากผู้นำการศึกษาเป็นผู้รู้ "ผู้รู้เป็นผู้ชี้" รับรองได้ว่าการศึกษาไทยต้องเจริญ แต่ผู้นำการศึกษาไทยส่วนใหญ่แล้วไม่รู้ คือ "ไม่รู้ไม่ชี้" และ "ไม่รู้แล้วชี้" ซึ่งเป็นอันตรายต่อการศึกษาชาติอย่างรุนแรง เพราะโง่อย่างเรื้อรัง จึงไม่มีโอกาสที่จะพัฒนาให้การศึกษาชาติก้าวไปข้างหน้าได้
เด็กที่มีพ่อแม่แข็งแรงก็จะก้าวไปได้ตามกำลังของพ่อแม่โดยไม่ต้องง้อหน่วยงานการศึกษาของรัฐ ส่วนเด็กที่เป็นชนชั้นล่าง ก็ต้องอาศัยการศึกษาของรัฐ ซึ่งก็จะได้รับการศึกษาที่พัฒนาไปอย่างยถากรรม เพราะต้องขึ้นกับนโยบายรัฐ การศึกษาไร้ความแน่นอน เชื่อถือไม่ได้ คาดเดาไม่ได้ การศึกษาไทยจะเป็นอย่างไร จะไปทางไหน เรียนจบแล้วจะออกไปทำอะไรไม่รู้ บอกได้แต่เพียงว่าเด็กได้ไปโรงเรียนแล้ว เรียนรู้อะไรบ้างก็ไม่รู้ จบออกไปทำมาหากินอะไรก็ไม่รู้
หากผู้นำการศึกษาไทยใจกว้างพอ ยอมปล่อยให้แต่ละชุมชนจัดการศึกษาตามอัธยาศัย ตามความจำเป็นและความต้องการของชุมชนและท้องถิ่น โดยรัฐให้การสนับสนุนเรื่องงบประมาณ แน่นอนว่าการศึกษาจะเติบโตในอัตราที่แตกต่างกันและไม่เหมือนกัน ในที่สุดการศึกษาทุกท้องถิ่นก็จะเจริญตามความต้องการของชุมชน ผู้บริหารการศึกษามีหน้าที่เพียงให้การสนับสนุนให้เจริญเท่านั้น
หากขาดเงินในการปฏิรูป เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ขอเสนอให้ยุบกระทรวงศึกษาธิการให้เล็กลง จาก 6,000 คน ให้เหลือ 600 คน เอาไว้เฉพาะฝ่ายนโยบายและเสมียน ที่เหลือส่งให้ไปสอนหนังสือเด็กให้หมด ต่อมาก็ยุบสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ยกให้สภามหาวิทยาลัยต่างๆ ทำงานแทน ยุบสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ปล่อยให้โรงเรียนและชุมชนจัดการเรื่องคุณภาพการศึกษา ยุบสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) โดยมอบให้ทุกโรงเรียนและชุมชนทำหน้าที่ประกันและประเมินแทน
และสุดท้ายขอให้ยุบสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาเสีย เพราะไม่มีงานทำมานานแล้ว หากทำได้เช่นนี้ กระทรวงศึกษาธิการจะมีงบประมาณเหลือให้กับโรงเรียนอีกจำนวนมาก
ที่มา : มติชนรายวัน 20 มีนาคม 2558
บันทึกปิดท้าย : ผมเห็นด้วยกับอาจารย์สุกรีมากครับ ดูนโยบายรายวันที่ออกมาจากเหล่าเสนาบดีก็ได้ ถ้า รมต. เปล่งวาจาใดมา ต้องมีไอ้ห้อยไอ้โหนโดดงับ เสนอนโยบายรายวัน โดยไม่เคยพิจารณาว่า เฮ้ยเมื่อวานตรูทำอะไร พูดอะไรไว้ วันนี้ทำไมตรูจึงเป็นกิ่งก่าเปลี่ยนสีได้อย่างนี้ เปลี่ยนกันได้ทุกวัน แล้วครูที่โรงเรียนล่ะต้องรับผิดชอบร้อยแปดพันเก้า ต้องคอยเปลี่ยนสีตามเพื่อให้เจ้านายเอาตัวรอดหรือ? พอล้มเหลวทำไม่ได้เพราะมันอยู่ในจินตนาการก็โยนความผิดให้ครูอีก... เฮ้อ กรรมของเวร จริงๆ
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)