(ต่ออีกตอน)
วันนี้วันเด็กแห่งชาติ "ความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต" ไม่ได้ออกไปไหนเพราะไม่มีลูกหลานตัวเล็กๆ มาอ้อนให้ไปร่วมงานวันเด็ก วันนี้ก็จะเป็นวันรถติดแห่งชาติอีกวัน เพราะถนนทุกสายต่างก็มุ่งหน้าไปยังสถานที่จัดงานวันเด็กกัน ก็เลยขอบ่นต่อจากครั้งที่แล้วอีกสักนิด ก็แล้วกัน เป็นการย้อนเอาบทความเมื่อสิบปีก่อนมาเขียนใหม่อีกครั้ง เพิ่มเติมบริบทปัจจุบันเข้าไปหน่อย เพื่อยืนยันว่า สิ่งที่ผมบ่นๆ ไปนั้นมันยังคงอยู่ การพัฒนาการศึกษาที่ไม่มองในภาพกว้าง นักการเมืองที่มาเป็นเจ้ากระทรวงแต่ละคน ก็คิดแต่นโยบายหาเสียงเฉพาะหน้า (แฝงด้วยการคอรัปชั่นทางนโยบายกอบโกยกันไป) ข้าราชการ/นักวิชาการสอพลอจำนวนหนึ่ง ก็โดดงับสนองอย่างทันท่วงที ได้ดิบได้ดีบนหอคอยงาช้าง ความล้มเหลวจากโครงการต่างๆ โยนขี้ให้ครูรับกรรมไป โดยเฉพาะครูบ้านนอกไกลปืนเที่ยงเป็นจำเลยที่หนึ่งกันทีเดียว
คณะอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ การศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รวบรวม และกลั่นกรองข้อมูล จนได้ประเด็นในการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน ใน 4 ประเด็น ดังนี้
คุ้นๆ ไหม เหล้าเก่าในขวดใหม่ดีกรีเจือจาง นานมากตั้งแต่ประกาศปฏิรูปการศึกษามาโน่นแหละ ก็มันมีประเด็นอยู่แค่นี้จะไปเพิ่มอีกให้หลายหัวข้อก็สรุปลงที่ 4 หัวข้อนี้แหละ อยากรู้แค่ว่า ท่านจะสั่งให้ครู "กลับหลังหัน หน้าเดิน!" อย่างไรมากกว่า
อ้าว! ทำไมสั่งกลับหลังหันล่ะ? คงมีบางคนแหละที่อยากจะถามผม คำตอบ เราเดินหน้าแบบตาบอดคลำช้างมานานแล้วจนมาถึงขอบเหว ถ้าไม่กลับหลังหันตกเหวตายแน่ครับ กลับหลังหันไปที่จุดตั้งต้น วิเคราะห์ หาสาเหตุแห่งปัญหาที่เราผิดพลาด ระดมสมองเพื่อการแก้ไขปัญหานั้น ดีกว่าจะกอดคอกันเดินลงเหวไงครับ
การปฏิรูปการเรียนรู้
คงจะจำกันได้นะครับกับการเขียนปรัชญาการศึกษาในหลักสูตร กำหนดการสอน แผนการสอน ที่บอกว่า "เพื่อให้ผู้เรียนคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้" ผ่านมาแล้วกี่ปี นักเรียนจบไปแล้วกี่รุ่น มีสักกี่คนที่มีผลสัมฤทธิ์ตามที่เรากำหนด เราจะมีโอกาสทำได้ไหม?
เด็กจะคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้ ไม่สามารถสร้างได้ด้วยกลวิธีการสอนในโรงเรียน ต้องเริ่มจากครอบครัวและการเลี้ยงดู วิธีการอบรมสั่งสอนจากที่บ้านจะต้องประสานในทางเดียวกันกับในโรงเรียน จึงจะสามารถทำให้เด็กมีวิธีการเรียงลำดับความคิด กล้าแสดงออก และมีความมั่นใจในสิ่งที่เขาคิดและนำเสนอออกมา
ลองหลับตานึกดูซิครับ ถ้าในครอบครัวหนึ่งเลี้ยงลูกด้วยการ แผดเสียงตวาด ดุดัน บังคับ ไม่มีการยอมรับฟังความคิด สิ่งที่เด็กได้รับคืออะไร? ในระหว่างรับประทานอาหารถ้าลูกมีคำถามเอ่ยขึ้น แล้วพ่อแม่ไม่ตอบแต่ดุด่าว่าถามไม่เข้าเรื่อง ไม่ใช่เรื่องของเด็ก เขาจะมีความรู้สึกอย่างไร? เรามักจะคิดว่าผู้ใหญ่ถูกต้องเสมอ เรื่องนั้นเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ เรื่องนั้นเด็กไม่ต้องยุ่ง สังคมแบบนี้แหละที่มีและเป็นอยู่จำนวนมาก วิธีการเลี้ยงดูลูกหลานที่ไม่เคยเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้แสดงความเห็นหรือหยุดยั้งได้แม้กระทั่งการคิด
เราจึงได้เห็นการนั่งนิ่งไม่กล้าแม้สบตาครูเมื่ออยู่ในห้องเรียน จะถาม จะกระตุ้นต่อมใดๆ ก็ไร้ความหมาย จนกระทั่งทฤษฎีและแนวคิดสวยหรูที่อุตส่าห์นำมาจากนักวิชาการเมืองนอกเมืองนา สิ้นกระบวนท่าไร้ความหมาย เป็นได้เพียงถ้อยคำสวยหรูที่เขียนไว้ปรากฏในหลักสูตร และแผนการสอนที่ใช้สอนไม่ได้จริงๆ เท่านั้นเอง (เขียนยังไงก็ใช้ได้ไม่ถึงครึ่ง)
จากประสบการณ์ในการสอนมาหลายปี ผมได้พบว่า มีเด็กอยู่กลุ่มหนึ่งที่สามารถทำได้ในเรื่องนี้และทำได้ค่อนข้างดี จนผมอดประหลาดใจไม่ได้ เด็กกลุ่มที่ว่านี้คือ เด็กนักเรียนที่ผมสอนเมื่อสองสามปีก่อน เป็นเด็กในโครงการพิเศษ โรงเรียนสองภาษา ในตอนแรกๆ ก็แปลกใจที่นักเรียนกลุ่มนี้เวลาเรียนด้วยกระบวนการกลุ่มเขาจะกระตือรือล้น รู้จักแบ่งหน้าที่กันทำชัดเจน แสดงความคิดเห็นออกมาจากประสบการณ์ของตนที่พบเห็นมาก่อน ในขณะที่อีกกลุ่มที่เป็นนักเรียนปกติกลับทำไม่ได้ ครูต้องคอยกำกับตลอดเวลา เรียกว่าต้องให้กำลังใจทุกนาทีกว่าจะเคี่ยวเข็ญจนได้คำตอบของกลุ่ม (โดยอิทธิพลการตะล่อมของครู)
ผมลองค้นหาคำตอบของประเด็นปัญหานี้จึงพบว่า นักเรียนในโครงการพิเศษส่วนใหญ่ จะมาจากครอบครัวที่มองเห็นความสำคัญของการศึกษาสำหรับลูกหลานมาก และมาจากครอบครัวของผู้ปกครองที่มีการศึกษาค่อนข้างดีหรือมีโอกาสมากกว่า เช่น ครอบครัวข้าราชการ พ่อค้า คหบดีที่มีบุคคลในครอบครัวมีการศึกษาที่ดีอยู่ด้วย การเลี้ยงดูจึงให้ความสำคัญกับเด็กมาก ไม่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น หรือได้รับการชี้แนะในสิ่งที่ถูกที่ควรแทนการดุด่าว่ากล่าว
ส่วนนักเรียนปกติทั่วๆ ไปที่มาเรียนในโรงเรียนนั้นจะมีที่มาสารพัดตั้งแต่ครอบครัวแม่ค้าในตลาด กรรมกรผู้ใช้แรงงาน รวมทั้งข้าราชการ พ่อค้า คหบดี เรียกว่าแบบรวมมิตรก็แล้วกัน การเลี้ยงดูจึงมีทั้งที่ปิดกั้นความคิด และส่งเสริมให้คิดบ้าง แต่พอมาอยู่รวมกันอิทธิพลด้านปิดกั้นมีสูงกว่า การแสดงออกก็ลดน้อยถอยลง ยิ่งไปเจอกับคุณครูประเภท เอ้อ... จะบอกไงดี เอาเป็นว่า ประเภทหน้าตาขึงขัง (ทะเลาะกับสามี/ภรรยาเก็บกดมาจากบ้านแล้วสามชาติ) น้ำเสียงโกญจนาทดั่งพยัคฆา ตวาดก้อง "เธออย่ามาทำอวดรู้ ครูอาบน้ำร้อนมาก่อนเธอ" นี่แหละปัญหาซ้ำซ้อนที่กดดันการคิดเป็น ทำเป็นของเด็กๆ
แนวทางการแก้ปัญหานี้ไม่ง่ายอย่างที่คิดนะครับ เพราะปัจจัยตัวแปรหลักคือพื้นฐานของครอบครัว ที่อบรมบ่มนิสัยมาก่อนหน้าที่จะเข้าสู่ระบบโรงเรียนเป็นมาอย่างไร ได้มีการเปิดให้แสดงความคิดเห็น มีประชาธิปไตยในครัวเรือนมากน้อยเพียงใด หรือได้ปิดกั้นสร้างปมในใจของพวกเขาจนไม่กล้าที่จะแสดงออกอะไรได้อีก
ยิ่งสภาพสังคมและเศรษฐกิจในภาวะปัจจุบันอยู่ในภาวะบีบรัดมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ผู้ปกครองต้องสาละวนกับการทำมาหากิน จนขาดเวลาที่จะอบรมสั่งสอนบุตรหลาน ขณะที่ตัวบุตรหลานเองก็เจริญวัยมากับสื่อและสิ่งยั่วยุรอบข้าง ที่ขาดการกรองหรืออยู่ในสายตา ขาดการชี้แนะจากผู้ใหญ่ ความไม่เข้าใจกัน การขาดความสัมพันธ์ทางใจทำให้การปิดกั้น และไม่รับฟังความคิดเห็นของเด็กมีมากขึ้นตามไปด้วย จนนำไปสู่ความล้มเหลวในการปฏิบัติตามกรอบแนวคิดของการคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้ ดังที่ยกมานั่นเอง
การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา
เรื่องนี้เราทำกันมาค่อนข้างมากครับเรียกว่า ครูไม่มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์และปิดเทอมกันทีเดียว เมื่อก่อนครูเราส่วนใหญ่ยังกลัวเทคโนโลยี ไม่กล้าเปิด ไม่กล้าสัมผัสเครื่องคอมพิวเตอร์ เรียกว่าเป็นโรคกลัวแป้นสัมผัสกันเลยทีเดียว ณ วันนี้ครูเราทันสมัยรู้เท่าทันสื่อและเทคโนโลยีมากขึ้น (สังเกตจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น เพื่อนๆ ที่ไม่เคยเจอกันนานนับปีก็ได้เจอจากการเป็นเพื่อนทั้งใน Facebook, Line, Twitter แสดงว่า ครูทันสมัยขึ้นกว่าแต่ก่อน) แม้จะยังไม่ครบร้อยเปอร์เซนต์แต่ก็ใกล้เคียงละ
เพียงแต่การจัดอบรมนั้นจะต้องเลือกเอาหลักสูตรและวิธีการที่เหมาะสมมาใช้ อบรมให้ตรงกับความต้องการของครู อย่าเหมารวมคิดเอาเองจากส่วนกลาง ในการอบรมสัมมนาที่วิทยากรเล่าถึงประสบการณ์ และอ้างอิงทฤษฎีนั้น ผู้เข้ารับการอบรมอาจจะเข้าใจได้สัก 85% แต่มีทักษะเพิ่มขึ้นอย่างมากก็เพียง 15% ถ้าพูดถึงการนำไปใช้จริงในการจัดการเรียนการสอนยิ่งน้อยลงไปอีกเพียง 5-10%
ถ้าเป็นการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ (อย่างการอบรมคอมพิวเตอร์) ความรู้ที่ได้อาจจะมากถึง 85% ทักษะในการปฏิบัติได้มากถึง 80% แต่การนำเอาไปใช้ในห้องเรียนอาจมีเพียง 10-15% เท่านั้น แต่ถ้าเป็นการใช้วิธีการเพื่อนแนะเพื่อน การทำงานเป็นทีมในรูปแบบของ Coach ความรู้และทักษะที่ได้จะมีมากถึง 90% และการนำความรู้ลงไปสู่ผู้เรียนจะมีมากขึ้นถึง 80-90% เลยทีเดียว
กระบวนการ Peer Coaching ไม่ใช่เรื่องใหม่ในเมืองไทย เรามักจะได้ยินคำว่า กัลยาณมิตรนิเทศ ซึ่งน่าจะมีความหมายและการดำเนินการที่คล้ายคลึงกัน เพียงแต่ Peer Coaching จะเน้นที่การนำเอา ICT เข้าไปสู่การจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
เน้นที่การปรึกษาหารือ สรุปประเด็นปัญหา การแสวงหาวิธีการแก้ปัญหาและแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน ไม่เน้นที่ปริมาณของผู้เข้าร่วมโครงการ แต่จะเน้นที่ผลสัมฤทธิ์ที่ได้จากการนำเอา ICT ไปใช้จัดการเรียนการสอน หลายๆ ท่านเป็นห่วงว่าจะเป็นการนำเอาภาระงานพิเศษไปให้เพื่อนครูหรือไม่? คงไม่เป็นเช่นนั้นเพราะนี่คือการนำสิ่งดีๆ ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเพื่อนต่อเพื่อนภายในโรงเรียนหรือองค์กรเดียวกัน
ผมอยากให้ศึกษานิเทศก์ร่วมกับบรรดาครูแกนนำ ครูดีเด่น ครูผู้นำในโครงการต่างๆ สำรวจ วิเคราะห์ความต้องการของครูในเขตพื้นที่ของตน แล้วจัดอบรมขึ้น ส่วนกลางควรสนับสนุนด้านงบประมาณตามสมควร ให้มีหลายหลักสูตรแล้วเปิดให้คุณครูสมัครเข้ารับการอบรมตามต้องการ ก็จะบรรลุผลได้ ไม่ใช่แห่แข่งขันเอาแต่ตัวเลขสมัครเข้ารับการอบรมหลักสูตรออนไลน์ (แบบเชิงบังคับ)ของครูในเขตมาอ้างอิงกัน จะเรียนจะอบรมจริงๆ หรือเปล่าก็ไม่รู้
การเพิ่ม-กระจายโอกาสและคุณภาพอย่างทั่วถึง
นี่คือปัญหาใหญ่ของประเทศเลยทีเดียว การจัดหาและจัดสรรงบประมาณให้กับสถานศึกษาในชุมชน ขณะนี้ที่เราได้ยินกันเต็มสองหูมาว่า มีการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นจัดการศึกษากันเอง แต่ก็ยังมีผู้หลักผู้ใหญ่หลายๆ คนในกระทรวงโบราณนั่นออกมาพูดอยู่เสมอว่า ห้ามการรับบริจาค ใครจะให้ก็ไม่รับ ถ้าขืนรับจะเอาให้ตายเข้าไปโน่นแนะ กรรมของเวรจริงๆ ลองถามย้อนกลับไปว่า เงินรายหัวที่น้อยนิด (ที่ส่วนกลางอุตส่าห์จัดหาให้) นั่นจะเอาไปบริหารการศึกษให้ก้าวหน้าทันสมัยได้อย่างไร? ในเมื่อชุมชนเขาพร้อมที่จะเสียสละเพื่อสถานศึกษาในท้องถิ่นของเขา กระจายอำนาจให้พวกเขาแล้ว (จริงหรือ?) กระทรวงศึกษาธิการ ควรคลายกฎระเบียบให้โรงเรียนสามารถระดมทุนได้โดยมีใบเสร็จและไม่เป็นการบังคับผู้ปกครอง พวกท่านที่อยู่ข้างบนลงมานอนขวางคลองอยู่ทำไมมิทราบ? ตอบผมได้ไหมเอ่ย?
เรื่องของภาษีการศึกษานี่ผมเคยบ่นไว้ครั้งหนึ่งแล้วว่า จะเป็นการจัดสรรทรัพยากรของท้องถิ่นให้กับคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง ภาษีการศึกษาจะมีผลต่อการจัดการศึกษาของท้องถิ่นอย่างไร?
การปฏิรูประบบการบริหารจัดการ
เมื่อพวกเราคิดจะพัฒนาการศึกษาไทย แล้วใครควรเริ่มก่อน? คงจะต้องเริ่มจากระบบบริหารรัฐมาก่อน ความจริงเราก็เริ่มมาบางส่วนแล้วมีความพยายามไปลอกเลียนรูปแบบของประเทศที่ เขาประสบผลสำเร็จมาประยุกต์ใช้ แต่เรายังทำไม่หมด ไม่ครบถ้วน ลอกมาแบบครึ่งๆ กลางๆ ครับ และที่เรายังไม่เอามาใช้ก็เป็นกลจักรสำคัญในการหมุนฟันเฟืองการศึกษาเสียด้วย
ถ้ามองจากฐานความคิดนี้จะเห็นได้ว่า ชุมชน ต้องชำระภาษีการศึกษา เลือก คณะกรรมการการศึกษา ที่มีวิสัยทัศน์และมองประโยชน์ทางการศึกษาที่จะมีผลต่อชุมชนของตน จัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาการศึกษาโดยจ้าง ผู้บริหารการศึกษามืออาชีพ ที่มีวิสัยทัศน์และแนวนโยบายพัฒนาการศึกษาเพื่อท้องถิ่น เสนอให้ คณะกรรมการการศึกษา จัดหา ครูมืออาชีพ ที่มีการรับรองจาก องค์กรวิชาชีพครู มาทำหน้าที่ในการสั่งสอนบุตรหลาน
การปฏิรูปการศึกษาวันนี้ สำเร็จหรือล้มเหลว หรือเป็นเพียงการสลับสับย้ายตำแหน่ง และการบริหารงบประมาณ ด้วยโครงการอภิมหาเมกกะโปรเจกต์ที่อุดมสมบูรณ์ และล้มลุกคลุกคลานมาตลอดในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา
ผลสะท้อนทั้งหลายที่เกิดขึ้นในวันนี้ ไม่เฉพาะแค่ผู้ที่อยู่ในวงการศึกษาเท่านั้นที่รู้สึกว่าล้มเหลว (แต่อย่าถามไปที่หอคอยงาช้างเชียวนะ รู้แล้วคำตอบว่าสำเร็จดียิ่ง ถ้าเทียบกับการใช้เงินงบประมาณได้หมดทุกบาททุกสตางค์) แม้แต่พ่อ-แม่ผู้ปกครองก็รู้สึกเช่นนั้นจริงๆ เราจะวัดความสำเร็จการปฏิรูปการศึกษาที่จุดไหนดีกัน?
ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ลองทดสอบเด็กที่อยู่ใกล้เคียงท่านหน่อยเป็นไรว่า การอ่านออก-เขียนได้ด้านภาษาไทยของพวกเขาเป็นอย่างไร? ไม่ต้องถามภาษาอังกฤษหรอก ถ้าไม่ใช่โรงเรียนในเขตเมืองใหญ่ๆ บอกได้เลยว่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานมากๆ แค่ให้เขียนตัวอักษรพิมพ์ใหญ่พิมพ์เล็กก็ได้ไม่ครบแล้ว
เราวัดความสำเร็จของการบริหารงานกันที่ใด? นักเรียนพ้นรั้วโรงเรียนออกไปได้ 100% โดยไม่ตกซ้ำชั้น (ไม่สนใจจะอ่านออกเขียนได้ หรือมีความรู้เพียงใด ขึ้นอยู่กับปลายปากกา) รั้ว-ป้ายโรงเรียนขนาดใหญ่บดบังหญ้าที่รกอยู่ข้างใน (ทั้งหญ้าจริงๆ และหญ้าในหัวใจที่ยุ่งเหยิงกับการหาเงินมาบริหาร?) เคยได้ประชุมพูดคุยกับครูในโรงเรียนเพื่อวางแนวทางในการพัฒนามันสมองของชาติ อย่างจริงจังกันหรือไม่? จบช่วงชั้นที่ 1 เด็กเราจะต้องทำอะไรได้บ้าง จบช่วงชั้นที่ 2 และ 3 เด็กควรจะทำอะไรได้เป็นอย่างน้อยจึงจะจบออกไป
ในส่วนของครูก็ต้องคุยกันอย่างเปิดใจว่า สาระวิชานี้ในช่วงชั้นไหนจะสอนอะไรถึงไหนจึงจะถือว่าผ่าน เพื่อส่งต่อไปยังช่วงชั้นต่อไป (อย่าคิดว่าธุระไม่ใช่? มันไม่ได้ ช่วงชั้นต่อไปก็ต้องไปสอนกันเอาเอง เพราะถ้าทำอย่างนั้น ในช่วงชั้นอื่นๆ ก็ไม่มีเวลามากพอที่จะสอนในบทบาทของตนเองเพราะต้องมาย้อนเรื่องเก่าๆ ที่ไม่ผ่านมาก่อนนี่แหละ) เราคงต้องสร้างความร่วมมือกันในทุกระดับ ในหลักสูตรก็ระบุว่า สามารถหาวิทยากรภายนอกในท้องถิ่นมาช่วยเหลือได้ แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะไม่ทำกันอาจจะเป็นเพราะกลัวว่าคนข้างนอกจะรู้ว่าภายใน รั้วโรงเรียนเราเป็นอย่างไรล่ะหรือ? คิดใหม่กันดีกว่านะครับ ความรู้มีไว้แบ่งปันกันดีกว่า
ครูมนตรี
บันทึกไว้เมื่อวันเด็กแห่งชาติ 10 มกราคม 2558
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)