| หมวด ก และ ข | หมวด ค และ ง | หมวด จ, ช, ซและ ฐ | หมวด , ด, ต, ท, น และ, บ |
หมวด ป, ผ, พ, ฟ, ภ, ม และ ย | หมวด ร และ ล | หมวด ว, ส และ ห | หมวด อ และ ฮ |
หมวด ป ผ พ ฟ ภ และ ม
 
ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligent : AI)
วิทยาการด้านคอมพิวเตอร์ศาสตร์ที่พยายามทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ และโปรแกรมคอมพิวเตอร์สามารถกระทำสิ่งต่างๆ ได้เหมือนมนุษย์ เช่น การเรียนรู้ การพัฒนาปรับปรุง การคิดหาเหตุผล ฯลฯ เพื่อให้สามารถทำงานแทนมนุษย์ได้มากกว่าที่เป็นอยู่
   
ปากกาแสง (light pen)
      เป็นอุปกรณ์ที่ไวต่อแสงที่นอกจากจะให้ในการวาดรูปสำหรับงานกราฟิกแล้ว ยังสามารถทำหน้าที่เเหมือนเมาส์ในการชี้ตำแหน่งบนจอภาพ หรือเลือกรายการเลือกและไอคอน เพื่อสั่งงานเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยที่ปลายข้างหนึ่งของปากกาชนิดนี้จะมีสายเชื่อมที่สามารถต่อเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ เมื่อมีการแตะปากกาที่จอภาพข้อมูลจะถูกส่งผ่านสายนี้ไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ทำให้สามารถรับรู้ตำแหน่งที่ชี้ และกระทำตามคำสั่งได้ นอกจากนี้ เมื่อมีการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ชนิดพกพาหรือปาล์มท็อปกันแพร่หลาย ก็มีนำปากกาชนิดนี้มาใช้ในการรับข้อมูลที่เป็นลายมือบนเครื่องคอมพิวเตอร์ชนิดนี้ด้วย
   
ปาล์มท็อปคอมพิวเตอร์ (palmtop computer)
เป็นไมโครคอมพิวเตอร์แบบพกพาที่มีขนาดเล็ก สามารถใส่กระเป๋าเสื้อได้ ใช้สำหรับทำงานเฉพาะอย่าง เช่น เป็นพจนานุกรม เป็นสมุดจดบันทึกประจำวัน บันทึกการนัดหมายและการเก็บข้อมูลเฉพาะบางอย่างที่สามารถพกติดตัวไปมาได้สะดวก
   
โปรแกรมค้นหา (search engine)
          เป็นโปรแกรมที่สร้างขึ้นเพื่อช่วยในการค้นหาเอกสาร หรือบทความที่เกี่ยวข้อกับเรื่องที่ผู้ใช้สนใจ โดยใช้คำสำคัญ (keyword) ที่ผู้ใช้ป้อนเข้าสู่ระบบ และระบบจะนำคำสำคัญไปเปรียบเทียบกับคำในเอกสารต่างๆ ที่เผยแพร่บนอินเตอร์เน็ต และแสดงผลการค้นหาแก่ผู้ใช้
   
โปรแกรมต้นฉบับ (source program)
        โปรแกรมที่เขียนด้วยภาษาระดับสูง โดยนักเขียนโปรแกรมจะต้องเขียนก่อนที่โปรแกรมจะถูกแปลไปเป็นคำสั่งภาษาเครื่องที่คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจได้
   
โปรแกรมแบบโครงสร้าง (structured programming)
          วิธีการเขียนโปรแกรมที่แบ่งออกเป็นโปรแกรมย่อยๆ หรือโมดูลเล็กๆ เพื่ออ่านและเข้าใจได้ง่าย การเขียนโปรแกรมเป็นโครงสร้างนี้เน้นในเรื่องที่ว่า ต้องเขียนโปรแกรมโดยใช้ประโยคคำสั่ง 3 ชนิด ได้แก่ ประโยคเรียงตามลำดับ ประโยคเงื่อนไข และประโยควนรอบ คำสั่งโปรแกรมที่เรียงตามลำดับคือคำสั่งต่อคำสั่ง ประโยคเงื่อนไขคือประโยค IF-THEN หรือ CASE ส่วนประโยควนรอบคือ ประโยค WHILE-DO, DO-WHILE, FOR-DO และ REPEAT-UNTIL
   
โปรแกรมแบบจินตภาพ (visual programming)  
          การเขียนโปรแกรมแบบจินตภาพ คือการพัฒนาโปรแกรมที่ผู้เขียนโปรแกรมสามารถมองเห็นผลลัพธ์ของงานเมื่อมีการกระทำการโปรแกรมได้ตั้งแต่ขณะพัฒนาโปรแกรม โดยไม่จำเป็นต้องรอให้การพัฒนาเสร็จสมบูรณ์ โดยตัวแปลภาษาได้เตรียมสิ่งแวดล้อมในการทำงาน (development environment) และเครื่องมือหรือชิ้นส่วนที่ผู้พัฒนาต้องใช้ในการสร้างงานไว้ให้สามารถเรียกใช้งานได้โดยที่ไม่ต้องลงมือสร้างเอง เครื่องมือหรือชิ้นส่วนที่ระบบเตรียมไว้ให้นี้เรียกว่า คอมโพเนนต์ (component) ซึ่งอาจเป็นปุ่ม (button) ข้อความ (label) ช่องสำหรับกรอกข้อความ (edit box) รูปภาพ (image) ผู้พัฒนาเพียงกำหนด คุณลักษณะเฉพาะและการกระทำของวัตถุแต่ละชิ้นเพื่อนำมาสร้างเป็นซอฟต์แวร์ประยุกต์ ที่สามารถทำงานตามที่เราต้องการ โดยการประกอบชิ้นส่วนเหล่านั้นทำได้โดยการนำชิ้นส่วน มาวางบนฟอร์มที่มีลักษณะคล้ายหน้าต่างหรือวินโดวส์ (windows) ผู้พัฒนาโปรแกรมสามารถกำหนดคุณสมบัติเพิ่มเติมให้กับคอมโพเนนต์ได้ เช่น การกำหนดขนาด กำหนดตำแหน่ง กำหนดชื่อคอมโพเนนต์นั้นผ่านระบบติดต่อที่ตัวภาษาเตรียมไว้ให้โดยไม่ต้องเขียนรหัสคำสั่งเอง ผู้ใช้จะเกี่ยวข้องภาษาเพียงการกำหนดตัวแปรที่ใช้งานเพิ่มเติม และการเขียนคำสั่งภายในการกระทำหรือโปรแกรมย่อยของคอมโพเนนต์เท่านั้น
   
โปรแกรมภาษาเครื่อง (object program)
          คำสั่งในการเขียนโปรแกรมที่เครื่องสามารถอ่านได้ที่สร้างขึ้นโดยตัวแปลโปรแกรมหรือตัวแปลคำสั่งจากโปรแกรมต้นฉบับ
   
ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (electronic mail : e-mail)
          การใช้ข่ายงานในการรับส่งข้อความโดยไม่ต้องสิ้นเปลือแสตมป์ โดยที่ข้อความนั้นจะถึงผู้รับในทันทีไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นระบบที่บุคคลส่งและรับข้อความระหว่างกัน โดยผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ โมเด็ม และข่ายงานที่เชื่อมโยงถึงกัน ข้อมูลที่ส่งจะเป็นได้ทั้งตัวอักษร ภาพถ่าย ภาพกราฟิก และเสียง ผู้ส่งสามารถส่งข่าวสารไปยังผู้รับคนเดียวหรือหลายคนพร้อมกันได้ โดยข่าวสารที่ส่งนั้นจะถูกเก็บไว้ในตู้ไปรษณีย์ (mail box) ที่กำหนดไว้สำหรับผู้ใช้งานในข่ายงาน ผู้รับสามารถเปิดอ่านข่าวสารเมื่อใดก็ได้ตามความสะดวก เมื่ออ่านแล้วสามารถพิมพ์ลงกระดาษหรือจะลบทิ้งไปก็ได้ นอกจากการส่งไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ในระบบข่ายงานธรรมดาแล้ว ยังสามารถส่งทางอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นระบบของการเชื่อมโยงข่ายงานคอมพิวเตอร์ที่กว้างขวางทั่วโลก ช่วยให้การส่งและรับข้อความทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นไปได้ด้วยความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
   
ผังงาน (flowchart)
          จำลอง ขั้นตอนวิธีการแก้ปัญหาในรูปของสัญลักษณ์ รหัสลำลอง (pseudo code) ซึ่งเป็นการจำลอง ขั้นตอนวิธีการแก้ปัญหาในรูปของคำบรรยาย การใช้เครื่องมือช่วยออกแบบดังกล่าวนอกจากแสดงกระบวนการที่ชัดเจนแล้ว ยังช่วยให้ผู้แก้ปัญหาสามารถหาข้อผิดพลาดของวิธีการที่ใช้ได้ง่ายและแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว
   
แผ่นรองสัมผัส (touch pad)
          เป็นแผ่นพลาสติกที่ไวต่อการสัมผัสอยู่ตรงหน้า แผงแป้นอักขระของเครื่องคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค เป็นอุปกรณ์ที่นิยมติดตั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์แบบโน๊ตบุ๊คในปัจจุบันเนื่องจากใช้งานง่ายผู้ใช้สามารถใช้อุปกรณ์ชนิดนี้ควบคุมการเคลื่อนที่ของตัวชี้บนจอภาพโดยการแตะสัมผัสไปแผ่นรองสัมผัสและสามารถคลิกหรือดับเบิ้ลคลิกเพื่อเลือกรายการเลือกหรือไอคอนได้
   
แผ่นระนาบกราฟิก (graphic tablet)
          หรือ เครื่องอ่านพิกัด (digitizing tablet) เป็นอุปกรณ์รับเข้าที่มีส่วนประกอบ 2 ชิ้น ได้แก่กระดานแบบสี่เหลี่ยมที่มีเส้นแบ่งเป็นตาราง (grid) ของเส้นลวดที่ไวต่อสัมผัสสูง และปากกาที่ทำหน้าที่เป็นตัวชี้ตำแหน่งหรือวาดรูปบนกระดาษข้างต้น คอมพิวเตอร์สามารถรับรู้ตำแหน่งของกระดานที่มีการสัมผัสหรือวาดเส้นที่วาดและแสดงบนจอภาพได้ อุปกรณ์ชิ้นนี้มักใช้ในการออกแบบรถยนต์หรือหุ่นยนต์
   
พจนานุกรมข้อมูล (data dictionary)
          รายการของแฟ้มข้อมูลทั้งหมดในโปรแกรมการจัดการฐานข้อมูล โดยรวมดัชนีและแฟ้มอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ฐานข้อมูลไว้ด้วย
   
 
พาริตีคู่ (even parity)
          ซึ่งเป็นการทำให้จำนวนของเลข 1 เป็นจำนวนคู่  เมื่อต้องการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ให้พิจารณาจำนวนของเลข 1 ที่ปรากฏในรหัสแทนข้อมูลนั้นร่วมกับบิตพาริตี ถ้ามีเป็นจำนวนคู่แสดงว่าข้อมูลถูกต้อง แต่ถ้าได้เป็นจำนวนคี่แสดงว่าข้อมูลไม่ถูกต้อง
   
เพนเทียม (pentium)
          ไมโครโพรเซสเซอร์ที่มีความเร็วในการทำงานสูงที่สุดในปัจจุบันที่ใช้ในคอมพิวเตอร์ระบบไอบีเอ็ม พีซี และคอมพิวเตอร์แบบเดียวกับไอบีเอ็ม พีซี เพนเทียมจะมีความเร็วนาฬิกาตั้งแต่ 60, 66, 90, 100, 120, 133 จนปัจจุบัน 3800 เมกะเฮิรตซ์ (MHz)
   
โพรโทคอล (protocol)
          คือข้อกำหนดหรือข้อตกลงที่ใช้ควบคุมการสื่อสารข้อมูลในเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารข้อมูลระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์หรือระหว่างคอมพิวเตอร์กับอุปกรณ์อื่นๆ เครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์เครือข่ายที่ใช้โพรโทคอลชนิดเดียวกันเท่านั้น จึงจะสามารถติดต่อและส่งข้อมูลระหว่างกันได้ โพรโทคอลจึงมีลักษณะเช่นเดียวกับภาษาที่ใช้ในการสื่อสารของมนุษย์ที่ต้องใช้ภาษาเดียวกันจึงจะสามารถสื่อสารกันได้เข้าใจ
   
แฟ้มข้อมูล (file)
          หมายถึงกลุ่มของระเบียนข้อมูลแบบเดียวกัน ซึ่งประกอบด้วยระเบียนข้อมูลตั้งแต่หนึ่งระเบียนขึ้นไป
   
ภาษาเครื่อง (machine language)
          มีลักษณะเป็นรหัสเลขฐานสอง คอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งมีคำสั่งที่ใช้ได้หลายร้อยคำสั่ง แต่ละคำสั่งจะมีความหมายเฉพาะ เช่น คำสั่งนำข้อมูลที่มีค่าเป็น 3 จาก หน่วยความจำตำแหน่งที่ 8000 มาบวกกับข้อมูลที่มีค่าเป็น 5 ในตำแหน่งที่ 8001 ผลลัพธ์ที่ได้ให้เก็บไว้ในหน่วยความจำตำแหน่งที่ 8002 เมื่อเขียนคำสั่งเป็นภาษาเครื่องจะมีลักษณะเป็น เลขฐานสองเรียงต่อกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งเข้าใจได้ยาก จึงมักใช้ตัวอักษรแทนรหัสภาษาเครื่องเหล่านี้
   
ภาษาโคบอล (COmmon Business Orient Language : COBOL)
          ภาษาระดับสูงภาษาหนึ่งที่เหมาะสำหรับการใช้งานด้านธุรกิจ เป็นภาษาสากลที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมีลักษณะคล้ายภาษาอังกฤษธรรมดา มีความสามารถในการค้นคืน จัดเก็บ และประมวลผลทางด้านบัญชี รวมถึงการทำงานด้านการควบคุมคลังสินค้า การทำบิล และรายรับ - รายจ่ายต่างๆ ได้โดยอัตโนมัติ
   
ภาษาฟอร์แทรน (FORmular TRaNslation : FORTRAN)
          ภาษาคอมพิวเตอร์ระดับสูงภาษาหนึ่ง เป็นภาษาที่ช่วยให้นักเขียนโปรแกรมอธิบายและพิสูจน์การคำนวณทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนได้ง่ายขึ้น ภาษานี้เป็นที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางในงานด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ รวมถึงวิศวกรรมศาสตร์ด้วย
   
ภาษาระดับต่ำ (low - level language)
          เนื่องจากภาษาเครื่องเป็นภาษาที่มีความยุ่งยากในการเขียนดังได้กล่าวมาแล้วจึงไม่มีผู้นิยมและมีการใช้น้อย ดังนั้นได้มีการพัฒนาภาษาคอมพิวเตอร์ขึ้นอีกระดับหนึ่ง โดยการใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษเป็นรหัสแทนการทำงานและใช้การตั้งชื่อตัวแปรแทนตำแหน่งที่ใช้เก็บจำนวนต่าง ๆ ซึ่งเป็นค่าของตัวแปรนั้น ๆ การใช้สัญลักษณ์ช่วยในการเขียนโปรแกรม ภาษาระดับต่ำเป็นภาษาที่มีความใกล้เคียงกับภาษาเครื่องมาก ดังนั้นบางครั้งจึงเรียกภาษานี้ว่า ภาษาอิงเครื่อง (machine – oriented language) ตัวอย่างของภาษาระดับต่ำได้แก่ ภาษาแอสแซมบลี (assembly language) เป็นภาษาที่ใช้คำในอักษรภาษาอังกฤษเป็นคำสั่งให้เครื่องทำงาน เช่น ADD หมายถึง บวก SUB หมายถึง ลบ เป็นต้น การใช้คำเหล่านี้ช่วยให้การเขียนโปรแกรมง่ายขึ้นกว่าการใช้ภาษาเครื่องซึ่งเป็นตัวเลขล้วน
   
ภาษาระดับสูง(high - level language)
          เป็นภาษาที่สร้างขึ้นเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการเขียนโปรแกรม กล่าวคือ ลักษณะของคำสั่งจะประกอบด้วยคำต่าง ๆ ในภาษาอังกฤษซึ่งผู้อ่านสามารถเข้าใจความหมายได้ทันที ผู้เขียนโปรแกรมจึงเขียนโปรแกรมด้วยภาษาระดับสูงได้ง่ายกว่าเขียนด้วยภาษาแอสแซมบลีหรือภาษาเครื่อง ภาษาระดับสูงมีมากมายหลายภาษา อาทิเช่น ภาษาฟอร์แทรน (FORTRAN) ภาษาโคบอล (COBOL) ภาษาปาสคาล (Pascal) ภาษาเบสิก (BASIC) ภาษาวิชวลเบสิก (Visual Basic) ภาษาซี (C) และภาษาจาวา (Java) เป็นต้น โปรแกรมที่เขียนด้วยภาษาระดับสูงแต่ละภาษาจะต้องมีโปรแกรมที่ทำหน้าที่แปลภาษาระดับสูงให้เป็นภาษาเครื่อง เช่น โปรแกรมแปลภาษาฟอร์แทรนเป็นภาษาเครื่อง โปรแกรมแปลภาษาปาสคาลเป็นภาษาเครื่อง คำสั่งหนึ่งคำสั่งในภาษาระดับสูงจะถูกแปลเป็นภาษาเครื่องหลายคำสั่ง
   
ภาษาแอสเซมบลี (assembly language)
         ภาษาคอมพิวเตอร์ระดับต่ำแต่ยังสูงกว่าภาษาเครื่อง 1 ระดับ เป็นภาษาที่ใช้รหัสช่วยจำแทนคำสั่งภาษาครื่องซึ่งใช้ตัวเลขและเป็นภาษาที่ยาวและอ่านยากกว่าโปรแกรมที่เขียนด้วยภาษาซี หรือภาษาเบสิก แต่ภาษาแอสเซมบลีจะทำงานได้เร็วกว่าและใช้เนื้อที่น้อยกว่าโปรแกรมที่เขียนด้วยภาษาอื่นๆ
   
มาตรฐานการจัดระบบการเชื่อมต่อสื่อสารระหว่างระบบเปิด (Open System Interconnection : OSI)
          ระบบดังกล่าวแบ่งชั้นการทำงานของเครือข่ายออกเป็น 7 ชั้น ซึ่งเป็นต้นแบบแนวคิดในการสร้างเครือข่ายเพื่อจัดแบ่งการดำเนินงานพื้นฐานของเครือข่ายออกเป็นงานย่อย ทำให้ การออกแบบและใช้งานเครือข่าย รวมทั้งการติดต่อเชื่อมโยงเป็นไปด้วยความสะดวก มีวิธีปฏิบัติในกรอบเดียวกัน การสื่อสารข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์จะประกอบด้วยฝ่ายผู้ส่งและผู้รับ และจะเริ่มด้วยฝ่ายผู้ส่งต้องการส่งข้อมูลข่าวสารโดยผ่านชั้นมาตรฐาน 7 ชั้น เมื่อข้อมูลผ่านขั้นตอนทั้ง 7 แล้วจะถูกนำไปเก็บไว้ในส่วนที่ทำหน้าที่ดูแลการจราจรบนเครือข่าย เพื่อส่งไปยังเครื่องผู้รับซึ่งต้องผ่านชั้นมาตรฐานทั้ง 7 เช่นกันแต่จะเป็นไปใน ทางตรงข้าม
   
มินิคอมพิวเตอร์ (minicomputer)
          คอมพิวเตอร์สำหรับระบบหลายผู้ใช้ที่ออกแบบมาสนองความต้องการของบริษัทหรือหน่วยงานขนาดเล็ก มินิคอมพิวเตอร์จะมีสมรรถนะสูงกว่าไมโครคอมพิวเตอร์แต่จะน้อยกว่าเมนเฟรมคอมพิวเตอร์ ปกติแล้วจะมีผู้ใช้มินิคอมพิวเตอร์ได้ตั้งแต่ 4-100 คนในเวลาเดียวกัน
   
เมนเฟรมคอมพิวเตอร์ (mainframe computer)
          คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพการทำงานสูง ออกแบบมาสำหรับระบบหลายผู้ใช้ (multiuser system) จึงเหมาะสำหรับใช้ในหน่วยงานขนาดใหญ่ แต่เดิมนั้นคำว่า mainframe หมายถึงตู้เหล็กสำหรับใส่หน่วยประมวลผลกลางของคอมพิวเตอร์รุ่นแรกๆ คำนี้ถูกนำมาใช้โดยทั่วไปหมายถึงคอมพิวเตอร์ศูนย์กลางขนาดใหญ่ที่พัฒนาในปลายทศวรรษ 1950s มาจนถึงทศวรรษ 1960s เพื่อใช้สนองความต้องการในการทำบัญชีและการจัดการสารสนเทศขององค์การขนาดใหญ่ คอมพิวเตอร์เมนเฟรมขนาดใหญ่ที่สุดจะสามารถทำงานร่วมกับเครื่อง dumb terminal ได้เป็นพันๆ เครื่อง และใช้หน่วยเก็บรองเป็นจำนวนหลายล้านล้านไบต์ (terabytes) เครื่องเมนเฟรมได้รับความนิยมใช้กันมากในระยะทศวรรษ 1970s - 1980s ในขณะที่ไมโครคอมพิวเตอร์ยังมีราคาสูงอยู่มาก แต่ภายหลังจากที่ไมโครคอมพิวเตอร์มีราคาลดต่ำลง ความนิยมใช้ในเครื่องเมนเฟรมจึงลดน้อยลงตามลำดับ เนื่องจากบริษัทและบุคคลทั่วไปหันมานิยมใช้ไมโครคอมพิวเตอร์และระบบข่ายงานกันมากขึ้น
   
ไมโครคอมพิวเตอร์ (microcomputer)
          เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดเล็ก บางคนเห็นว่าเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานส่วนบุคคล หรือเรียกว่า พีซี (Personal Computer : PC) สามารถใช้เป็นเครื่องต่อเชื่อมในเครือข่าย หรือใช้เป็นเครื่องปลายทาง (terminal) ซึ่งอาจจะทำหน้าที่เป็นเพียงอุปกรณ์รับและแสดงผลสำหรับป้อนข้อมูลและดูผลลัพธ์ โดยดำเนินการประมวลผลบนเครื่องอื่นในเครือข่าย อาจจะกล่าวได้ว่าไมโครคอมพิวเตอร์ คือเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีหน่วยประมวลผล กลางเป็นไมโครโพรเซสเซอร์ ใช้งานง่าย ทำงานในลักษณะส่วนบุคคล
   
ไมโครชิป (microchip)
          คำที่เรียกวงจรรวม (integrated circuit) อย่างไม่เป็นทางการ