| หมวด ก และ ข | หมวด ค และ ง | หมวด จ, ช, ซและ ฐ | หมวด , ด, ต, ท, น และ, บ |
หมวด ป, ผ, พ, ฟ, ภ, ม และ ย | หมวด ร และ ล | หมวด ว, ส และ ห | หมวด อ และ ฮ |
หมวด จ ช ซ และ ฐ
 
จอภาพแบบซีอาร์ที (Cathode Ray Tube :CRT)  
จอภาพแบบนี้ตะใช้กับเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ทั่วไป เป็นจอภาพที่ทำงานโดยใช้เทคโนโลยีหลอดรังสีอิเล็กตรอน คือการยิงแสงอิเล็กตรอนไปยังผิวด้านในของจอภาพ ผิวของจอภาพดังกล่าวจะฉาบด้วยสารฟอสฟอรัส ทำให้ตำแหน่งที่มีอิเล็กตรอนวิ่งมาชนเกิดแสงสว่างขึ้น แสงสว่างที่แต่ละจุดทำให้เห็นเป็นภาพ
   
จอภาพแบบแอลซีดี (Liquid Crystal Display : LCD)
 
เป็นเทคโนโลยีที่เริ่มการพัฒนามาใช้กับนาฬิกาและเครื่องคิดเลข เป็นจอภาพแสดงผลตัวเลขขนาดเล็ก ใช้หลักการปรับเปลี่ยนโมเลกุลของผลึกเหลว เพื่อปิดกั้นแสงเมื่อมีสนามไฟฟ้าเหนี่ยวนำ แอลซีดีจึงใช้กำลังไฟฟ้าต่ำ เหมาะกับภาคแสดงผลที่ใช้กับแบตเตอรี่หรือถ่านไฟฉายก้อนเล็กๆ
แอลซีดีในยุคแรกตอบสนองต่อสัญญาณไฟฟ้าช้า จึงเหมาะกับงานแสดงผลตัวเลข ยังไม่เหมาะที่จะนำมาทำเป็นจอภาพ เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น ผู้ผลิตแอลซีดีสามารถผลิตแผงแสดงผลที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จนสามารถเป็นจอแสดงผลของคอมพิวเตอร์ประเภทโน้ตบุ๊ค และยังสามารถทำให้แสดงผลเป็นสี อย่างไรก็ตามจอภาพแอลซีดียังเป็นจอภาพที่มีขนาดเล็กแต่มีแนวโน้มที่จะพัฒนาให้มีขนาดใหญ่ขึ้น
   
จอสัมผัส (touch screen)
เป็นจอภาพแบบพิเศษที่สามาถรับรู้ได้ว่ามีการสัมผัสที่ตำแหน่งใดบนจอภาพ หลังจากเลือกตำแหน่งที่เลือกจะถูกแปลงเป็นสัญญาณไฟฟ้าส่งไปยังซอฟต์แวร์ที่ทำงานเพื่อแปลเป็นคำสั่งให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงาน โดยซอฟต์แวร์ที่ใช้งานมักเป็นซอฟต์แวร์ที่เขียนขึ้นเฉพาะ การใช้จอสัมผัสเหมาะกับการใช้งานหรือซอฟต์แวร์ที่ต้องมีการเลือกคำสั่งในรายการเลือกหรือไอคอน โดยต้องออกแบบส่งนติดต่อผู้ใช้ให้มีไอคอนที่มีขนาดใหญ่เพื่อสะดวกในการเลือกและลดความผิดพลาด
   
จานแสง (optical disk)
 
สื่อที่สามารถบันทึกข้อมูลจำนวนมากสำหรับคอมพิวเตอร์โดยที่สารสนเทศที่บันทึกนั้นจะอยู่ในลักษณะความหนาแน่นสูง (high density) ในรูแแบบของหลุมเล็กจิ๋วมากมาย ในการอ่านข้อมูลจะใช้แสงเลเซอร์ในการอ่านหลุมเหล่านี้ ตัวอย่างของจานแสงได้แก่ ซีดี-รอม และจานวีดิทัศน์
   
จียูไอ (Graphical User Interface : GUI)
การออกแบบส่วนของโปรแกรมให้มีการโต้ตอบกับผู้ใช้โดยการใช้สัญรูป (icon) เพื่อแทนลักษณะต่างๆ ของโปรแกรม แทนที่จะให้ผู้ใช้พิมพ์คำสั่งต่างๆ ในการทำงาน จียูไอจะมีหน้าต่างรายกเลือก และสัญรูปเพื่อใช้แทนคำสั่งเหล่านั้น
   
จุดภาพ (pixel)
ส่วนที่เล็กที่สุดที่อุปกรณ์สามารถแสดงผลออกมาได้ จุดภาพนี้รู้จักกันว่าเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดหรือจุด(dots) ที่ประกอบกันเป็นภาพ เรียกว่า picture element หรือเรียกสั้นๆ ว่า pel หรือกล่าวอย่างง่ายๆ ก็คือ จอภาพคอมพิวเตอร์นี้เป็นตารางที่ประกอบด้วยจุดเล็กจิ๋วหลานพันจุด เรียกว่า จุดภาพ (pixels) เมื่อใดก็ตามที่เราพิมพ์อักขระหรือวาดเส้นลงบนจอภาพ คอมพิวเตอร์จะแปลงจุดเหล่านี้ให้เป็นรูปแบบเพื่อแสดงสิ่งที่เราพิมพ์หรือวาดให้ปรากฏขึ้นมาให้เห็น
   
ช่วงเวลาเข้าถึงข้อมูล (access time)
ช่วงเวลาตั้งแต่ขอข้อมูลจากอุปกรณ์เก็บข้อมูล เช่น ดิสก์ หรือหน่วยความจำ จนกระทั่งมีข้อมูลมาถึงตัวอุปกรณ์ที่ขอ ได้แก่ เวลาในการดึงข้อมูลจากหน่วยความจำ คือช่วงเวลาที่ใช้ส่งตัวอักขระไปมากับโปรเซสเซอร์ โดยใช้เวลาในการดึงข้อมูลจากฮาร์ดดิสก์ก็คือ ช่วงเวลาที่วางหัวอ่าน/เขียนลงบนข้อมูลที่ต้องการ โดยใช้เวลาในการดึงข้อมูลจากฮาร์ดดิสก์ไม่เกิน 15 มิลลิวินาที
   
ชั้นกายภาพ (physical layer)
เลเยอร์แรกและอยู่ล่างสุดใน 7 เลเยอร์ใน ISO/OSI model ทำหน้าที่กำหนดกระบวนการทางกายภาพ ทางอิเล็กทรอนิกส์ ทางกลไก และทางฟังก์ชันเพื่อใช้เชื่อมต่ออุปกรณ์ แปลงข้อมูลในรูปของสัญญาณดิจิทัลให้ผ่านตัวกลางแต่ละชนิดได้
   
ชั้นการนำเสนอ (presentation layer)
เลเยอร์ที่ 6 จาก 7 เลเยอร์ของ ISO/OSI model ซึ่งจะแปลงข้อมูลที่ส่งมาให้อยู่ใน รูปแบบที่โปรแกรมของเครื่องผู้รับเข้าใจ รวมทั้งการจัดรูปแบบและนำเสนอข้อมูลโดยกำหนดรูปแบบภาษา ชนิด และวิธีการเข้าถึงข้อมูลของเครื่องผู้ส่งให้เครื่องผู้รับเข้าใจ เช่น การนำเสนอผ่านเว็บ การเข้ารหัสและถอดรหัสข้อมูล
   
ชั้นการประยุกต์ (application layer)
เลเยอร์ที่ 7 ของ ISO/OSI model เป็นส่วนติดต่อระหว่างโปรแกรมประยุกต์ของเครือข่ายกับผู้ใช้ โดยคอมพิวเตอร์จะแปลงข้อมูลที่ได้รับจากผู้ใช้เข้าสู่ระบบ เช่น การเข้า ใช้งานระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในเครือข่าย การถ่ายโอนข้อมูลและไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์
 
ชั้นขนส่ง (transport layer)
เลเยอร์ที่ 4 จาก 7 เลเยอร์ของ ISO/OSI model เป็นชั้นของการตรวจสอบและควบคุมการส่งข้อมูลระหว่างเครื่องต้นทางและเครื่องปลายทางให้ถูกต้อง
 
ชั้นเครือข่าย (network layer)
เลเยอร์ที่ 3 จาก 7 เลเยอร์ของ ISO/OSI model ทำหน้าที่ควบคุมการส่งผ่านข้อมูลระหว่างต้นทางและปลายทางโดยผ่านจุดต่างๆ บนเครือข่ายให้เป็นไปตามเส้นทางที่กำหนด รวบรวมและ แยกแยะข้อมูลเพื่อหาเส้นทางในการส่งข้อมูลที่เหมาะสม
 
ชั้นเชื่อมโยงข้อมูล (data link layer)
เลเยอร์ที่ 2 จาก 7 เลเยอร์ของ ISO/OSI model ทำหน้าที่เหมือนเป็นผู้บริการส่งข้อมูล กล่าวคือ ส่งข้อมูลผ่านทางสายส่งโดยมีกระบวนการตรวจสอบความผิดพลาดของข้อมูล อันเนื่องมาจากสัญญาณรบกวนที่เกิดในสายส่ง รวมทั้งมีการแก้ไขความผิดพลาดดังกล่าวด้วย เป็นชั้นที่ควบคุมความถูกต้องระหว่างการส่งข้อมูลระหว่างจุด (node) 2 จุดที่อยู่ติดกันในเครือข่าย
 
ชั้นส่วนงาน (session layer)
เลเยอร์ที่ 5 จาก 7 เลเยอร์ของ ISO/OSI modelทำหน้าที่สร้างการติดต่อระหว่างเครื่องต้นทางและปลายทาง ตลอดจนดูแลการส่งข้อมูลระหว่างเครื่องทั้งสองให้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพโดยกำหนดขอบเขตการรับ - ส่ง คือกำหนดจุดผู้รับและผู้ส่งโดยจะเพิ่มเติมรูปแบบการรับ - ส่ง ข้อมูลว่าเป็นแบบข้อมูลชุดเดียว หรือหลายชุดพร้อมๆ กัน เช่น โมดูล (module) ของการ นำเสนอผ่านเว็บ
 
ชิป (chip)
เป็นชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งของวงจรรวม (integrated circuit : IC) ชิปเป็นวงจรไฟฟ้าขนาดจิ๋วทำด้วยคริสตัลซิลิคอน (silicon crystal) หรือวัสดุอื่นก็ได้ที่ผลิตออกมาเพื่อการทำงานในลักษณะเดียวกับทรานซิสเตอร์หรือส่วนประกอบทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นเป็นจำนวนหลายแสนหรือหลายล้านตัว ชิปมีขนาดเล็กกว่าปลายเล็บนิ้วมือคนเราก็จริงแต่ด้วยเทคนิคการผลิตในปัจจุบันทำให้สามารถบรรจุส่วนประกอบทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ได้มากถึง 16 ล้านส่วนทีเดียว
ด้วยความสามารถดังกล่าวนี้จึงทำให้มีการผลิตคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กลงเรื่อยๆ เพื่อสามารถพกพาไปทำงานที่ต่างๆ ได้โดยสะดวก ตัวอย่างหนึ่งของชิปคือ เพนเทียม (Pentium) ที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่มีสมรรถนะในการทำงานเทียบเท่าเมนเฟรมคอมพิวเตอร์และมีราคาขายไม่สูงมากนัก
 
ซอฟแวร์กราฟิก (graphic)
          การสร้าง การดัดแปลง และการพิมพ์สิ่งที่เป็นภาพด้วยคอมพิวเตอร์ ภาพกราฟิกที่ผลิตด้วยคอมพิวเตอร์มีอยู่ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ กราฟิกเชิงวัตถุ (object-oriente graphics) หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กราฟิกเส้นสมมติ (vector graphics) และกราฟิกแผนที่บิต (bit-mapped graphics) หรือที่เรียกว่า กราฟิกแรสเตอร์ (raster graphics)
     โปรแกรมกราฟิกเชิงวัตถุจะเป็นโปรแกรมที่เรียกกันทั่วๆ ไปว่า โปรแกรมวาดภาพ (draw programs) จะเก็บภาพกราฟิกไว้ในรูปแบบเชิงคณิตศาสตร์ที่สามารถปรับขนาดขงภาพได้โดยที่ไม่ทำให้เสียสัดส่วนของภาพ โปรแกรมประเภทนี้เหมาะสำหรับงานด้านสถาปัตยกรรม การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการออกแบบ (CAD) การออกแบบและตกแต่ภายใน และการใช้งานอื่นๆ ที่ต้องการสัดส่วนที่แน่นอน
     โปรแกรมกราฟิกแผนที่บิตมักเรียกกันทั่วๆ ไปว่า โปรแกรมระบายสี (paint programs) เป็นโปรแกรมที่เก็บภาพกราฟิกไว้ในรูปแบบของจุดบนจอภาพ (screen pixels) เรียงต่อกัน โปรแกรมระบายสีนี้จะไม่เหมือนกับโปรแกรมวาดภาพเนื่องจากสามารถสร้างระดับสีเพื่อการตกแต่งได้อย่างสวยงาม แต่ก็ไม่สามารถปรับขนาด หรือสัดส่วนของภาพได้มากนัก เพราะจะทำให้ภาพนั้นผิดรูปร่างไป
 
ซอฟต์แวร์ (software)
โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งก็คือลำดับขั้นตอนของคำสั่งที่จะสั่งงานให้ฮาร์ดแวร์ทำงาน เพื่อประมวลผลข้อมูลให้ได้ผลลัพธ์ตามความต้องการของการใช้งาน ในปัจจุบันมีซอฟต์แวร์ควบคุมระบบงาน ซอฟต์แวร์สำเร็จ ทำให้การใช้งานคอมพิวเตอร์ในระดับบุคคลเป็นไปอย่างกว้างขวาง และส่งเสริมการทำงานของกลุ่มมากขึ้น ส่วนงานในระดับองค์การ ส่วนใหญ่มักจะมีการพัฒนาระบบตามความต้องการโดยการว่าจ้างบริษัทที่รับพัฒนาซอฟแวร์ หรือโดยนักคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในฝ่ายคอมพิวเตอร์ขององค์กร เป็นต้น
 
ซอฟแวร์การทำสิ่งพิมพ์ (desktop publishing)
การใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ) ในระบบการผลิตสิ่งพิมพ์ด้วยต้นทุนที่ไม่สูงมากนักเพื่อการเรียงพิมพ์ข้อความและภาพกราฟิก กระบวนการของการจัดพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะจะประกอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ซอฟแวร์ต่างๆ ได้แก่โปรแกรมการจัดหน้า โปรแกรมประมวลคำ และโปรแกรมกราฟิก และเครื่องพิมพ์เลเซอร์ เพื่อผลิตสิ่งพิมพ์ออกมา
 
ซอฟต์แวร์ค้นผ่านเว็บ (web browser)
เป็นซอฟต์แวร์ที่สามารถสืบค้นและแสดงสารสนเทศที่ นำเสนออยู่ในรูปของเว็บเพจ (web page) ได้ โดยที่สารสนเทศดังกล่าวอาจจะเป็นสารสนเทศที่เก็บอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บรรจุซอฟต์แวร์ค้นผ่านเว็บหรืออยู่ที่เครื่องแม่ข่ายที่ให้บริการเว็บ (web server) ที่ให้บริการเผยแพร่สารสนเทศบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต สารสนเทศเหล่านั้นอาจอยู่ในรูปของข้อความ รูปภาพ เสียง หรือภาพเคลื่อนไหว โดยซอฟต์แวร์ค้นผ่านเว็บมีหน้าที่ติดต่อกับระบบเก็บข้อมูลที่เครื่องแม่ข่าย รับคำสั่งจากเครื่องที่ใช้งานอยู่แล้วเรียกดึงข้อมูลที่อยู่ในเครื่องแม่ข่ายมาแสดงผลบนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน และนอกจากนี้ซอฟต์แวร์ชนิดนี้สามารถช่วยให้ผู้ใช้ถ่ายโอนข้อมูลระหว่างเครื่องแม่ข่ายและลูกข่ายได้ ทั้งการส่งข้อมูลที่ต้องการเผยแพร่จากเครื่องลูกข่ายไปยังเครื่องแม่ข่ายที่เรียกว่าการบรรจุขึ้น (upload) และการถ่ายโอนข้อมูลที่ผู้ใช้ต้องการจากเครื่องแม่ข่ายมาไว้ในเครื่องลูกข่ายที่เรียกว่าการบรรจุลง (download) และในปัจจุบันผู้ใช้สามารถรับ-ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางซอฟต์แวร์ชนิดนี้ได้อีกด้วย
 
ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูล (DataBase Management System : DBMS)

ระบบการจัดการฐานข้อมูล คือซอฟแวร์ระบบงานที่ควบคุมข้อมูลในฐานข้อมูล มีความสามารถทางด้านการจัดการแฟ้มข้อมูลมากมาย เช่น การสร้างแฟ้ม การกำหนดความสัมพันธ์ของข้อมูล การประมวลผลข้อมูลหลายๆ แฟ้มรวมเป็นระบบเดียว การจัดระบบข้อมูลให้เป็นระเบียบ การค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้ และการจัดการเนื้อที่ของหน่วยความจำได้
 
ซอฟแวร์ตารางทำงาน (spread sheet)
          ซอฟต์แวร์สำเร็จตารางทำงาน หรือกระดาษอิเล็กทรอนิกส์ เป็นเครื่องมือช่วยเพื่อการวิเคราะห์และคำนวณตัวเลขให้กับผู้ใช้ได้อย่างดี เพราะการใช้งานซอฟต์แวร์นี้ จะเปรียบเหมือนกับการนั่งทำงานอยู่บนโต๊ะทำงาน ที่มีกระดาษแผ่นใหญ่ๆ ประกอบด้วยตารางสี่เหลี่ยมของช่องตามแนวแถวและสดมภ์จำนวนมากมายปรากฏบนจอภาพ โดยแต่ละช่องบนตารางทำงาน
          ภายในซอฟต์แวร์ตารางทำงานจะมีฟังก์ชันต่างๆ จัดมาให้เลือกใช้เรียบร้อยแล้ว เช่น ฟังก์ชันการคำนวณทางคณิตศาสตร์ ฟังก์ชันการคำนวณทางสถิติ ฯลฯ ซึ่งฟังก์ชันเหล่านี้เปรียบได้กับเครื่องคิดเลขที่วางบนโต๊ะทำงาน ผู้ใช้สามารถนำข้อมูลจากช่องต่างๆ บนตารางเป็นตัวแปรของฟังก์ชันหรือสูตรคำนวณ เพื่อคำนวณให้ได้ผลลัพธ์ออกมา และนำไปใช้ในการคำนวณของช่องอื่นๆ ต่อไปได้อีก
 
ซอฟแวร์นำเสนอ (presentation)
          โปรแกรมใช้งานที่ออกแบบมาเพื่อสร้างและเสริมการเสนอแผนภูมิและแผนสถิติเพื่อให้เป็นที่ดึงดูดความสนใจและง่ายต่อการดูของผู้ชม เช่น โปรแกรมโลทัส ฟรีแลนซ์ กราฟิก (Lotus Freelance Graphics) หรือไมโครซอฟต์ เพาเวอร์พอยต์ (Microsoft PowerPoint) ที่รวมสิ่งอำนวยความสะดวกในการสร้างแผนภูมิและแผนสถิติ ผู้ใช้สามารถเติมชื่อเรื่องและหัวข้อต่างๆ รวมถึงการใส่ข้อความเพื่ออธิบายเพิ่มเติมได้อย่างสะดวกง่ายดาย และยังมีภาพต่างๆ (clip art) เพื่อนำไปประกอบในการใช้งานด้วย
 
ซอฟแวร์บริหารโครงงาน (project management)
          ซอฟแวร์ที่ติดตามงานของแต่ละบุคคลเพื่อช่วยให้งานนั้นสำเร็จลุล่วงไปได้ทั้งหมด ทั้งนี้เนื่องจากการทำงานโครงการใหญ่ๆ เช่น การสร้างเรือดำน้ำ หรือการสร้างตึก งานเล็กๆ หลายพันงานจำเป็นต้องเสร็จพร้อมๆ กันเพื่อนำมารวมกันในโครงการใหญ่ เทคนิคการจัดการโครงการจะเป็นสิ่งช่วยให้ผู้จัดการสามารถค้นพบและแก้ปัญหาวิกฤตได้ นั่นคือ งานทุกงานต้องเสร็จทันเวลาถ้าโครงการใหญ่ทั้งหมดจะต้องเสร็จตามกำหนดเวลา โปรแกรมนี้ใช้ได้ง่ายมากโดยเพียงแต่ใส่วันที่เพื่อแสดงถึงวันที่เริ่มต้นโครงการ และระยะเวลาของแต่ละขั้นตอนของกระบวนการเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญคือ ต้องแน่ใจว่าคนงานจะทำงานได้เสร็จตามเวลาหรือไม่เท่านั้น ซึ่งโปรแกรมนี้จะช่วยติดตามการทำงานให้ได้
 
ซอฟต์แวร์ประมวลคำ (word processor)
          เป็นซอฟต์แวร์ในการนำตัวอักษรมาเรียงต่อเป็นคำ ประโยคหรือย่อหน้า คล้ายการใช้เครื่องพิมพ์ดีดพิมพ์ข้อความบนกระดาษ แต่ต่างกันที่ตัวอักษรที่พิมพ์หรือป้อนเข้าทางแผงแป้นอักขระจะเข้าไปเก็บอยู่ในหน่วยความจำของคอมพิวเตอร์ ทำให้สามารถแก้ไขดัดแปลงได้ง่าย ภายใต้ข้อกำหนดของซอฟต์แวร์ผู้ใช้สามารถกำหนดปรับแต่งรูปแบบได้ตามต้องการ เช่นการกำหนดเส้นกั้นหน้าและกั้นหลัง กั้นบนและกั้นล่าง เมื่อมีการแก้ไขจนเป็นที่พอใจแล้ว สามารถสั่งพิมพ์เอกสารออกทางเครื่องพิมพ์ได้หลายชุดตามที่ต้องการ เอกสารที่พิมพ์จากเครื่องพิมพ์ จะมีคุณภาพดีไม่มีรอยเปื้อนจากการแก้ไขดัดแปลง นอกจากนี้ยังสามารถเก็บบันทึกเอกสารนั้นเป็นแฟ้มในสื่อบันทึก เช่นแผ่นบันทึกเพื่อให้พกพาติดตัวไปใช้กับเครื่องอื่น แฟ้มเอกสารที่เก็บไว้แล้วนี้สามารถเรียกมาแสดงผลบนจอภาพเพื่อทำการดัดแปลงใหม่ได้อีกด้วย
 
ซอฟต์แวร์ประยุกต์ (application software)
          คือซอฟต์แวร์ที่เขียนขึ้นเพื่อประยุกต์กับงานที่ผู้ใช้ต้องการ เช่น ซอฟต์แวร์ประมวลคำ ซอฟต์แวร์จัดเก็บภาษี ซอฟต์แวร์สินค้าคงคลัง ซอฟต์แวร์ตารางทำงาน ซอฟต์แวร์กราฟิก ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูล เป็นต้น การทำงานใดๆ โดยใช้ซอฟต์แวร์ประยุกต์จำเป็นต้องทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมของซอฟต์แวร์ระบบด้วย ตัวอย่างเช่น ซอฟต์แวร์ประมวลคำต้องทำงานภายใต้ซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการเอ็มเอสดอสหรือวินโดวส์ เป็นต้น ซอฟต์แวร์ประยุกต์ได้รับความนิยมใช้งานอย่างแพร่หลายในทุกวงการ ความนิยมส่วนหนึ่งมาจากขีดความสามารถของซอฟต์แวร์ประยุกต์นั้นๆ เพราะซอฟต์แวร์ที่ผลิตออกจำหน่าย ต่างพยายามแข่งขันกันหลายๆ ด้าน เช่น เรียนรู้และใช้งานได้ง่าย สนับสนุนให้ใช้กับเครื่องพิมพ์ได้ดี มีคู่มือการใช้ซอฟต์แวร์ที่อ่านเข้าใจง่าย ให้วิธีหรือขั้นตอนที่อธิบายไว้อย่างชัดเจน และมีระบบโอนย้ายข้อมูลเข้าออกกับซอฟต์แวร์อื่นได้ง่าย
 
ซอฟต์แวร์ระบบ (systems software)
          คือซอฟต์แวร์ที่ช่วยในการจัดการระบบคอมพิวเตอร์ จัดการอุปกรณ์รับเข้าและส่งออก การรับข้อมูลจากแผงแป้นอักขระ การแสดงผลบนจอภาพ การนำข้อมูลออกไปพิมพ์ยังเครื่องพิมพ์ การจัดเก็บข้อมูลเป็นแฟ้ม การเรียกค้นข้อมูล การสื่อสารข้อมูล ซอฟต์แวร์ระบบจึงหมายถึงซอฟต์แวร์ที่ดูแลจัดการอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ในระบบ ซอฟต์แวร์ระบบที่รู้จักกันดี คือ ระบบปฏิบัติการ (operating system) เช่น เอ็มเอสดอส ยูนิกซ์ โอเอสทู วินโดวส์ ลีนุกซ์ เป็นต้น คอมพิวเตอร์จะทำงานไม่ได้หากปราศจากระบบปฏิบัติการ ซึ่งทำหน้าที่ประสานงานระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ เราสามารถสั่งงานผ่านระบบปฏิบัติการให้คอมพิวเตอร์คำนวณ ให้แสดงภาพ ให้พิมพ์ข้อความหรือผลลัพธ์ออกมาทางเครื่องพิมพ์ นอกจากนั้นคอมพิวเตอร์ยังทำหน้าที่ประสานงานระหว่างโปรแกรมต่างๆ กับตัวเครื่อง ซอฟต์แวร์ประยุกต์ไม่ว่าประเภทใดล้วนแต่ต้องทำงานบนซอฟต์แวร์ระบบทั้งสิ้น
 
ซิลิกอน (silicon)
วัตถุดิบที่นำมาใช้ทำสารกึ่งตัวนำที่มีใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากมาย ซิลิกอนเป็นธาตุที่พบในหินเกือบจะทุกประเภทและทรายตามชายหาด และนำมาผ่านกระบวนการทางเคมีแล้วจะได้สารกึ่งตัวนำขึ้นมา ก้อนของซิลิกอนจะตัดออกเป็นชิ้นเล็กๆ และนำมาเข้าแบบพิมพ์เป็นแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์เล็กๆ เพื่อทำเป็นชิปซิลิกอนต่อไป
 
ซีดีรอม (Compact Disk Read Only Memory : CD-ROM)
เป็นเทคโนโลยีที่ใช้จานแสงกับเครื่องเสียงสเตอริโอ การใช้ซีดีรอมในระบบคอมพิวเตอร์มีจุดมุ่งหมายเพื่อเก็บข้อมูลจำนวนมาก และสามารถเก็บข้อมูล ในรูปข้อความ ข่าวสาร รูปภาพ เสียงรวมทั้งภาพวิดีโอไว้ในแผ่นซึ่งพร้อมที่จะนำมาใช้ได้ทันที แผ่นซีดีรอมหนึ่งแผ่นสามารถเก็บข้อมูลได้ถึงสามแสนหน้าหรือเทียบได้กับหนังสือ 150 เล่ม
 
ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ (supercomputer)
คอมพิวเตอร์ราคาแพงที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อทำงานคำนวณที่ซับซ้อนด้วยความเร็วสูงสุดเท่าที่เทคโนโลยีระดับสูงจะทำได้ ซูเปอร์คอมพิวเตอร์จะใช้สำหรับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแบบจำลองที่ซับซ้อน หรือใช้ระบบพลวัต เช่น สภาพอากาศของโลก เศรษฐกิจของประเทศ เหล่านี้เป็นต้น
 
ไซเบอร์สเปซ (cyberspace)
จักรวาลหรือที่ว่างเสมือน (virtual space) ที่สร้างขึ้นโดยระบบคอมพิวเตอร์ ผู้ใช้คอมพิวเตอร์สามารถเข้าไปในไซเบอร์สเปซโดยการใช้โมเด็มและติดต่อพูดคุยกับผู้ใช้อื่นๆได้ ไซเบอร์สเปซจะอยู่ในรูปแบบของโลกเสมือนจริง (virtual reality world) หรือความสัมพันธ์ที่เห็นได้ง่ายๆ คือ ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ได้พิสูจน์แล้วถึงความสามารถในการติดต่อกันระหว่างผู้ใช้ในที่ต่างๆ ทั่วโลก
 
ฐานข้อมูล (database)
แหล่งที่ใช้สำหรับเก็บรวบรวมข้อมูลซึ่งอยู่ในรูปแฟ้มข้อมูลมารวมไว้ที่เดียวกัน รวมทั้งต้องมีส่วนของพจนานุกรมข้อมูล (data dictionary) เก็บคำอธิบายเกี่ยวกับโครงสร้างของฐานข้อมูล และเนื่องจากข้อมูลที่จัดเก็บนั้นต้องมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันทำให้สามารถสืบค้น (retrieval) แก้ไข (modified) ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ข้อมูล (update) และจัดเรียง (sort) ได้สะดวกขึ้นโดยในการกระทำการดังที่กล่าวมาแล้ว ต้องอาศัยซอฟต์แวร์ประยุกต์สำหรับจัดการฐานข้อมูล