กฎพื้นฐานสำหรับการสร้างเว็บเพจ ที่เว็บมาสเตอร์ควรใส่ใจมีอยู่ 10 ประการ เลยตั้งชื่อให้ดูขลังขึ้นว่า บัญญัติ 10 ประการ ซึ่งเป็นบทสรุปที่ได้จากการเป็นนักท่องเว็บไซต์มาหลายปี ผ่านการลองผิดลองถูกมาหลายครั้ง จากการสร้างเว็บไซต์หลายแห่ง ลองเอาไปปรับใช้กันดู
ใช้แบ็กกราวด์สะอาด เรียบง่าย |
ฟังดูเป็นเรื่องง่าย แต่ลองทบทวนความจำของคุณดูซิว่า คุณได้พบเห็นเว็บไซต์มากมายเท่าไหร่ ที่ใช้แบ็กกราวด์ที่ทำให้คุณต้องเพ่งสายตา ปรับความสว่างของจอภาพ ฯลฯ เพื่อให้เห็นตัวอักษรที่ซุกซ่อนอยู่ข้างใน ปัญหาของแบ็กกราวด์ หรือพื้นหลัง คืออะไร?
- ขนาดที่ไม่เหมาะสม มีวิธีการมากมายในการสร้างแบ็กกราวด์แบบไร้รอยต่อ การใช้ภาพมาเป็นแบ็กกราวด์ มักจะมีปัญหาเรื่องรอยต่อของภาพที่ไม่เหมาะสม การใช้ภาพขนาดเล็กเกินไปมาเรียงต่อกัน คุณก็จะได้ฉากหลังที่วุ่นวาย ลายตา อ่านข้อความได้ยาก และยังใช้เวลาในการแสดงผลนานขึ้น (เพราะเสียเวลาในการสร้างภาพเรียงต่อกัน)
อีกปัญหาหนึ่งก็คือ การแสดงผลของผู้สร้างเว็บเพจกับผู้ชมตั้งไว้ไม่เหมือนกัน เช่น คุณสร้างงานเพื่อแสดงผลบนจอขนาด 640 x 480 pixels ภาพแบ็กกราวด์ของคุณดูพอดีในเครื่อง แต่ผู้ชมที่เซ็ทความละเอียดไว้ที่ขนาด 800 x 600 pixels จะเห็นภาพขนาดเล็กๆ หลายภาพเรียงต่อกัน แต่ถ้าคุณสร้างงานที่ความละเอียด 1024 x 768 pixels ผู้ชมที่ดูด้วยความละเอียดต่ำกว่านี้ ก็จะเห็นภาพของคุณเพียงบางส่วน
- หลีกเลี่ยงการใช้ลวดลาย ฟังดูง่ายแต่คุณคงเห็นจากเว็บไซต์ต่างๆ แล้วว่า ลวดลายที่พบเหล่านั้น ทำให้คุณต้องเพ่งสายตาอย่างมาก เพื่อจะอ่านมันให้เข้าใจ
- เลือกสีที่เหมาะสม ลองคิดถึง "ตัวอักษรสีน้ำเงินบนพื้นสีน้ำเงิน" ฟังดูแปลกๆ แต่ก็มีผู้ทำแบบนี้กันมาก อาจด้วยความพลั้งเผลอก็ได้ โดยเฉพาะสีที่เปลี่ยนไปหลังจากการคลิกจุดเชื่อมโยง (Links) พยายามใช้สีที่ดูดี สบายตา พื้นหลังและตัวอักษรมีสีตัดกันไม่รุนแรงนัก หลีกเลี่ยงพื้นสีแดง อักษรสีเขียว พื้นสีส้ม อักษรสีน้ำเงิน การใช้สีพื้นธรรมดาแทนรูปภาพ จะทำให้ผู้ชมดูเว็บของคุณได้เร็วกว่าการใช้ภาพเป็นฉากหลังมากครับ
คิดก่อนใช้เอฟเฟคท์ต่างๆ |
มีเทคนิคพิเศษมากมายสำหรับการสร้างภาพ แต่อย่าพยายามใช้มันมากนักในทุกๆ ตำแหน่ง เพราะว่า บางทีผู้ชมอาจคิดว่า กำลังมาดูเว็บไซต์สยองขวัญได้ การให้แสงและเงาแก่ภาพและตัวอักษรควรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ขัดแย้งกัน การใช้เอฟเฟทค์อื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ควรใช้แต่น้อยเพื่อเสริมให้เกิดความเด่น แต่ไม่แย่งความสำคัญของเนื้อหาไป เพราะบางเอฟเฟคท์ ก็มีผลต่อความเร็วในการโหลดเว็บเพจของคุณเช่นเดียวกัน เช่น การใช้ JAVA กำหนดตัวอักษรให้เคลื่อนที่ การใส่แบคกราวด์เสียงดนตรี การสร้างตัวอักษรหรือภาพขนาดใหญ่เป็นแบบสามมิติ มีการเคลื่อนที่ประกอบด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ใช้เวลาในการดึงข้อมูลจากเซิร์ฟเวอร์ทั้งสิ้น
ใช้ตัวอักษรที่คมชัด |
ฟอนต์หรือตัวอักษร ที่มีขอบขรุขระเป็นรอยหยักขั้นบันได เมื่อใช้ในโปรแกรมสร้างภาพ เช่น Photoshop สามารถแก้ไขได้โดยการเลือกออปชัน Anti-Aliasing การเลือกฟอนต์ที่แสดงในเว็บเพจ ควรเลือกตัวที่มีรูปแบบครบทั้งตัวปกติ ตัวหนา ตัวเอียง ตัวขีดเส้นใต้ จึงจะสามารถสร้างความกลมกลืนในหน้าเว็บเพจได้ดี ปัญหาของคนไทยคือ ฟอนต์ภาษาไทย เราไม่ได้เป็นฟอนต์มาตรฐานของโปรแกรม ดังนั้นจึงมีปัญหาค่อนข้างมากในการแสดงผล ควรระมัดระวังในการใช้งาน
ออกแบบกราฟิกให้มีขนาดไฟล์เล็กๆ |
ภาพกราฟิกที่จะนำมาใช้ในเว็บเพจ ทั้งที่ได้จากการสแกนและสร้างขึ้นเอง ควรจะมีขนาดเล็กที่สุดและตรงตามจุดประสงค์ที่สุด ให้คุณจดจำกฎสองข้อนี้ไว้ในใจ
- ข้อแรก ทุกๆ ครั้งที่คุณออกแบบ และสร้างกราฟิกสำหรับใช้นำไปยังเนื้อหาส่วนอื่นๆ อย่าลืมว่า ในบางกรณีผู้ชมหรือตัวคุณเอง ก็คลิกบนภาพโดยไม่รอจนภาพแสดงอย่างสมบูรณ์ ดังนั้น อย่าใช้ภาพกราฟิกที่ซับซ้อนสำหรับทำเป็นอิมเมจแม็พ จำไว้เสมอว่าทุกๆ ครั้งที่คุณสร้างภาพกราฟิกสำหรับนำไปยังส่วนอื่นๆ หน้าที่ของภาพคือ "การนำทาง" ดังนั้น ภาพควรจะทำความเข้าใจได้ง่ายไม่ซับซ้อน
- ข้อสอง สำหรับนักออกแบบเว็บเพจบางคน ขนาดของไฟล์อาจไม่ใช่สิ่งสำคัญมากนัก เพราะเทคโนโลยีมีการพัฒนาขึ้นเสมอ ความเร็วในการส่งผ่านข้อมูลทำได้เร็วขึ้น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า การส่งผ่านไฟล์ขนาดใหญ่เป็นเรื่องปกติ คุณควรปรับปรุงขนาดไฟล์ภาพของคุณ ให้สามารถส่งผ่านโมเด็มที่ใช้งานกันโดยทั่วไปได้อย่างราบรื่น (บางคนยังใช้โมเด็ม 14.4 หรือ 28.8 อยู่ แต่น่าจะหมดไปใน พ.ศ. 2561 แล้วล่ะ) โดยไม่ทำให้คุณภาพของภาพเสียไป และขนาดของไฟล์ที่เล็กลง ก็ทำให้คุณบริหารหรือจัดการกับไฟล์ต่างๆ ได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วขึ้นอีกด้วย
ควบคุมขนาดของเพจให้ดี |
เว็บเพจของคุณมีขนาดกว้าง x ยาวเท่าไร (มีหน่วยเป็นพิกเซล (pixels)) และคุณได้เคยทดสอบดูการแสดงผล บนเว็บบราวเซอร์ที่ต่างค่ายกันหรือไม่ (Internet Explorer, Firefox, Chrme, Safari etc.) ต่างขนาดจอกับ้างหรือไม่ ดังนั้นคุณควรจะ...
- เรียนรู้ข้อจำกัดของผู้ชม อย่าลืมว่าผู้เข้าชมเว็บไซต์ของคุณนั้น อยู่กันทั่วไปทุกมุมโลก แต่ละคนมีอิสระในการกำหนดความละเอียดในการแสดงผล เลือกใช้เว็บบราวเซอร์ที่เขาชอบและประทับใจ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดนี้คุณอาจระบุว่า เว็บเพจของคุณ จะดูได้สวยงามด้วยบราวเซอร์ใด รุ่นใด ที่ขนาดจอเท่าไหร่ ความละเอียดของสี และขนาดของฟอนต์ เช่น
This website is best view in Internet Explorer 5.5 or above with 800 x 600 high color and medium font.
- วางรูปแบบโครงร่างที่เหมาะสม การวางโครงร่างของเนื้อหาด้วยขนาดที่ใหญ่เกินไป ไม่เพียงแต่ผู้ชมจะเบื่อหน่ายต่อการเลื่อนแถบเลื่อนไปมา (Scroll bar) แต่อาจจะพลาดข้อมูลสำคัญ ที่คุณต้องการนำเสนอไปอย่างน่าเสียดาย เพราะอยู่ในตำแหน่งขอบที่ล้นจอของผู้ชมออกไป
- ออกแบบ "เฟรมที่ยืดหยุ่น" ซึ่งสอดคล้องกับการรับชม เมื่อคุณใช้เฟรมหรือตารางในเว็บเพจของคุณ ควรกำหนดขนาดด้วยค่าเปอร์เซนต์แทนตัวเลขค่าคงที่ เพื่อให้ยืดหยุ่นเหมาะสมกับการแสดงผลของแต่ละคน
วางแผนและออกแบบก่อนลงมือสร้าง |
เมื่อคุณคิดจะออกแบบสร้างเว็บเพจ อย่าวางแผนสร้างเฉพาะหน้าแรก แต่ให้วางแผนตลอดทั้งไซต์ เพื่อให้มีความผสมกลมกลืนกัน นอกจากนี้การเพิ่มแผนที่ของไซต์ (Site Map) ในกรณีที่เว็บเพจของคุณมีความซับซ้อน ทั้งจำนวนไฟล์ HTML, ภาพ, โปรแกรม หรือสิ่งอื่นๆ เพื่อให้ผู้ชมสามารถทำความเข้าใจกับโครงสร้างเว็บเพจของคุณ และในทางกลับกัน คุณก็จะบริหารและจัดการกับไซต์ของคุณได้ง่ายดายขึ้นด้วย
ชี้นำผู้ชมด้วยวิธีการง่ายๆ |
สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญและคุณไม่ควรลืม นั่นคือ อย่าลืมจุดประสงค์ในการสร้างเว็บไซต์ของคุณ และดำเนินการตามจุดประสงค์นั้น เพื่อไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ เช่น การเลือกและวางรูปแบบเนื้อหา การออกแบบกราฟิกสำหรับนำทางด้วยวิธีการง่ายๆ และสอดคล้องกับจุดประสงค์ สิ่งเหล่านี้จะสร้างความประทับใจให้กับผู้ชมได้โดยง่าย อย่าทำให้เป็นไซต์แบบรวมมิตรเลยครับ (ซึ่งก็มักจะเป็นแบบนั้นเสียด้วย) มีสารพัดสิ่งตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ เพราะคนที่หลงเข้าไปจะไม่มีวันหวนกลับมาอีก
อย่าพยายามทำตัวล้ำหน้าเกินไป |
ผมไม่ได้ตั้งหัวข้อผิดนะครับ เทคโนโลยีอาจเป็นเพื่อนที่ดีของคุณ แต่ในขณะเดียวกันมันก็หวนมาทิ่มแทงคุณได้ การออกแบบเว็บไซต์จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงข้อจำกัดของผู้ชมด้วย
- อย่าสร้างเว็บไซต์ด้วยเทคโนโลยีล้ำยุค ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่ไม่อาจสัมผัสได้ การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นเรื่องที่ดี แต่นั่นไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณต้องทำ คุณต้องนึกถึงคนส่วนใหญ่ที่ยังมีเครื่องรุ่นเก่า เว็บบราวเซอร์ที่ไม่สามารถแสดงเทคโนโลยีล้ำยุคได้ เพราะจุดหมายของคุณคือ ผู้ชมจำนวนมากไม่ใช่หรือ? ทางที่ดีควรเดินสายกลาง ฝึกปฏิบัติและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อจะได้พร้อมที่จะเสนอเมื่อทุกอย่างลงตัว (เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตพัฒนาเร็วมาก การวิ่งตามสิ่งที่เกิดขึ้นและยังไม่เป็นที่ยอมรับ อาจทำให้คุณเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์)
- จากมันสมองและสองมือของคุณ การก๊อบปี้ภาพหรือเอกสารรูปแบบ HTML ของคนอื่นๆ มาใช้ทั้งดุ้นนั้น แม้คนอื่นอาจจะไม่รู้และเจ้าของเดิมก็อาจจะไม่ถือสาหาความ แต่แท้ที่จริงแล้ววิธีการนี้ไม่ถูกต้อง เพราะคุณจะขาดความเข้าใจ และไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ในอินเทอร์เน็ตก็มีแหล่งของฟรีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นไฟล์ตัวอย่าง HTML ภาพกราฟิก แอพเพล็ต ฯลฯ วิธีนี้ง่ายสบายใจ และไม่ผิดอีกด้วยครับ และที่สำคัญสิ่งที่คุณเลือกมานั้น มักจะมีคำอธิบายประกอบและใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ด้วย อีกทั้งเว็บไซต์บางแห่งยังให้คำปรึกษาแก่คุณอีกด้วย
- ดำเนินตามมาตรฐานสากล พยายามใช้เทคโนโลยีที่เป็นมาตรฐานสากลที่ผู้คนทั่วไปใช้และปฏิบัติกันอยู่ โดยเฉพาะจุดกึ่งกลางระหว่างเว็บบราวเซอร์ค่ายต่างๆ ที่ยังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน (อย่าคิดทำหลายๆ เวอร์ชั่นให้ผู้ชมเลือกชม เพราะคุณจะประสาทกินตอนที่ต้องปรับปรุงข้อมูล)
ง่ายๆ แต่จริงใจ |
เว็บไซต์บางคนเรียกโฮมเพจ (Homepage) ดังนั้นมันจึงเหมือนกับเป็นบ้านของคุณ การที่ผู้ชมเข้ามาในเว็บไซต์หน้าแรกแล้วเกิดความประทับใจ คุณก็มีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว สร้างความเชื่อถือ เชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในใจของผู้ชม เหมือนกับคุณปฏิบัติต่อแขกที่มาเยี่ยมบ้าน นั่นคือ นำเสนอข้อมูลที่ยืดหยุ่น ตรงไปตรงมาและเป็นกันเอง จำไว้ว่า ของดีๆ ไม่จำเป็นต้องยากเสมอไป อย่ากลัวที่จะเพิ่มสิ่งใหม่ๆ ลงในไซต์ของคุณเป็นช่วงๆ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจกับผู้ชม
อย่าลืมปรับปรุงความสดใส |
การนำเสนอสิ่งที่น่าสนใจ ทั้งเนื้อหา และเรื่องราว จะเป็นการชักชวนให้ผู้ชมแวะเวียนกลับมาอีก ครั้งแล้วครั้งเล่า การแสดงวันที่ หรือจำนวนครั้งที่ปรับปรุงหน้าเว็บไซต์ ก็มีส่วนช่วยให้ผู้ชมกลับมาเยี่ยมคุณอีก ลองดูเทคนิคในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงง่ายๆ ต่อไปนี้ดูซิครับ อาจมีประโยชน์กับคุณ
- จัดสลับลำดับเนื้อหาที่มีอยู่ เสริมเนื้อหาใหม่ๆ สลับกับเนื้อหาเดิมที่มีอยู่ การเพิ่มเนื้อหา และหัวข้อใหม่ๆ จะช่วยเพิ่มความสดใสและน่าสนใจยิ่งขึ้น
- อย่าละเลยผลตอบรับของผู้ชม สิ่งที่ผู้ชมติติงข้อผิดพลาดควรจะรีบแก้ไขในทันที เพราะนั่นคือมีคนคอยสนใจและตรวจสอบให้แล้ว แน่นอนเขาย่อมกลับมาเยี่ยมชมคุณอีกแน่นอน อย่าลืมอีเมล์ตอบกลับและขอบคุณทันทีถ้าทำได้
- ใส่ตัวเลขนับจำนวนผู้ชมและตัววัดสถิติเข้าไปด้วย เพื่อบอกให้ผู้ชมทราบว่า เว็บไซต์ของคุณยอดนิยมแค่ไหน และคุณยังสามารถประเมินเนื้อหาได้ว่า เรื่องใดที่ผู้ชมสนใจมากที่สุด โดยสังเกตจำนวนที่เพิ่มขึ้นเมื่อคุณเปลี่ยนแปลงเนื้อหาใหม่
|