การสร้างเว็บเพจให้ดูดี สวยงาม ผู้ออกแบบจัดทำ หรือที่เรียกกันตามสมัยนิยมว่า เว็บมาสเตอร์ (Webmaster) จะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจในหลักการและเทคนิคพื้นฐานที่ควรปฏิบัติดังนี้
Design : การออกแบบโครงสร้างเว็บไซต์ |
การเริ่มต้นของการสร้างบ้านทั้งบ้านที่เราอาศัยอยู่จริง และบ้านบนอินเทอร์เน็ต ต่างก็มีหลักการคล้ายคลึงกัน หลังจากที่มีที่ดิน (พื้นที่เก็บเว็บเพจบนเครือข่าย) เราก็ต้องทำตัวเป็นสถาปนิกออกแบบบ้าน โดยร่างความคิด ความฝัน ลงบนกระดาษ มีเว็บไซต์มากมายที่เริ่มต้นด้วยการทำแบบเรื่อยเปื่อย จากหน้าแรกแล้วเติมโน่นเติมนี่ไปแบบไร้ทิศทาง ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อเว็บไซต์คุณขยายตัวใหญ่ขึ้นด้วยเหตุที่มีคนชมมากขึ้น คุณมีไฟมีพลังที่จะสร้างสรรค์งานมากขึ้น คุณจะเริ่มงงเสียเองว่า "หน้านี้เราจะเอาไว้ไหน? เชื่อมโยงกับหน้าใดบ้าง? บางทีก็ลิงก์ผิดที่ มั่วไปหมด" เพราะขาดการวางแผนที่ดีนั่นเอง
จะเป็นการดี ถ้าคุณจะเริ่มต้นวางโครงร่างของเว็บไซต์คุณ เหมือนการสร้างบ้านจริงๆ ที่เราจะกำหนดว่า ห้องนอนอยู่ที่ตำแหน่งใด ห้องนั่งเล่นพักผ่อน ห้องรับแขก ห้องครัว ห้องน้ำ อยู่ที่ไหน จะเชื่อมโยง (มีทางเดิน) อย่างไรจึงจะสะดวกแก่ผู้มาเยี่ยมเยือน และผู้อยู่อาศัยเอง จะทำอะไรได้สะดวก เว็บไซต์ก็เหมือนบ้าน เมื่อผู้มาเยือนได้รับความสะดวก หาอะไรได้ง่ายๆ ใช้บริการได้ทันใจไม่หลงทาง ความประทับใจต่อเว็บไซต์ของคุณก็จะมีมากขึ้น แน่นอนคุณก็จะได้รับการโปรโมตจากปากต่อปากได้โดยไม่ยาก ลองวางแผนโครงร่างบนกระดาษ เหมือนตัวอย่างข้างล่างนี้ดูซิครับ แล้วคุณจะเห็นว่า การสร้างและบริหารเว็บไซต์ทำได้ง่ายดาย
พยายามกำหนดการเชื่อมโยงของหน้าเว็บเพจต่างๆ ให้สามารถคลิกกลับไปมาจากหน้าต่างๆ ได้สะดวก เพื่อให้ผู้ชมสามารถคลิกเข้าไปเยี่ยมชมเนื้อหาที่สนใจได้สะดวก โดยไม่ต้องกลับไปเริ่มต้นที่หน้าแรกทุกครั้ง
หน้าตาและสีสันของเว็บไซต์ |
คงต้องจินตนาการหรือหลับตาวาดฝันถึง หน้าตาและสีสันของเว็บไซต์ของเราว่า ควรจะออกมาในรูปแบบใด สีสันอย่างไรจึงจะเหมาะสม เอกลักษณ์ที่ต้องการบ่งบอกเป็นการเฉพาะขององค์กร หรือหน่วยงาน ซึ่งจะสัมพันธ์กับเนื้อหาที่นำเสนอด้วย โดยทั่วๆ ไปเว็บไซต์ส่วนใหญ่ จะมีโครงสร้างที่ยอมรับว่าเป็นมาตรฐานอยู่ 3 แบบ คือ
- แบบที่ 1 จะประกอบด้วยพื้นที่ส่วนหัวของหน้าด้านบน (สีฟ้า) เมนูทางซ้ายมือ (สีเขียว) และส่วนแสดงเนื้อหา (สีเหลือง) ในด้านขวามือ
- แบบที่ 2 จะคล้ายกับแบบที่ 1 แต่จะเพิ่มผังรายละเอียดด้านขวามือขึ้นมา โดยมีส่วนเนื้อหาอยู่ตรงกลางหน้า (เว็บสำเร็จรูปหลายแบบนิยมใช้ เหมาะกับการทำหน้าแรกที่ต้องการเสนอประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ สามารถคลิกไปดูรายละเอียดในหน้าถัดไปได้)
- แบบที่ 3 จะตัดส่วนเมนูซ้ายขวาออก นำเอาเมนูไปแทรกไว้ที่ส่วนหัวเรื่อง และในส่วนท้ายหน้าแทน (รูปแบบนี้เหมาะกับเว็บไซต์เล็กๆ ที่ต้องการแสดงความสวยงามในการออกแบบภาพกราฟฟิก มากกว่าเนื้อหาภายใน)
โครงสร้างทั้ง 3 แบบจะมีส่วนประกอบหลักอยู่ 3 ส่วน คือ
- ส่วนหัวเรื่อง เป็นส่วนที่จะบรรจุตรา/เครื่องหมาย/สัญลักษณ์ของเว็บไซต์นั้น (หน่วยงานหรือองค์กร) ซึ่งมีความนิยมวางไว้ที่ตำแหน่งมุมซ้ายบนจะเหมาะสมที่สุด (ในวงกลม) (ผลจากการวิจัย ตำแหน่งที่ได้รับความนิยมในการวางโลโก้คือ ซ้าย 74% กลาง 20% ขวา 6%) ด้านขวามืออาจวางแบนเนอร์โฆษณากิจกรรมต่างๆ ได้
- ส่วนเมนู เป็นส่วนที่จะนำพาผู้ชมเข้าไปยังหมวดหมู่เนื้อหาที่จัดไว้ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ทำหน้าที่เหมือนกับถนนหรือแผนผังเส้นทางเดิน หรือหน้าสารบัญในหนังสือ อาจวางไว้ในตำแหน่งบนสุดใต้ส่วนหัวเรื่อง หรือแทรกในส่วนหัวเรื่องก็ได้ และทำเมนูปลีกย่อยไว้ในส่วนซ้ายของหน้า หรือส่วนล่างของหน้า
- ส่วนเนื้อหา เป็นส่วนที่จะแสดงรายละเอียดของเนื้อหาแต่ละเรื่อง สัมพันธ์กับเมนู ประกอบไปด้วยข้อความ ภาพประกอบ ตารางแสดงข้อมูลต่างๆ ซึ่งจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์มักจะวางไว้ในส่วนกลางหน้า
ในการออกแบบอาจมีการผสมผสานทั้ง 3 รูปแบบเข้าด้วยกันได้ตามความเหมาะสมในแต่ละเนื้อหา ตามจินตนาการของผู้จัดทำ นอกจากรูปแบบหน้าตาของเว็บไซต์แล้ว ยังต้องคิดต่อไปว่า การแสดงผลของเว็บจะใช้วิธีการแบบเปิดหน้าใหม่ทุกครั้งที่คลิกบนจุดเชื่อมโยง หรือแสดงผลแทนที่หน้าเดิม หรือแสดงผลแบบเฟรม ซึ่งจะกล่าวถึงในรายละเอียดต่อไป
เพื่อให้งานสำเร็จทีมพัฒนาเว็บจะต้องเป็นนักท่องเว็บ เพื่อศึกษาเว็บไซต์หลายๆ ประเภท ทั้งของหน่วยงานภาครัฐบาล องค์กร บริษัทเอกชนที่มีชื่อเสียง สถาบันการศึกษา เว็บให้บริการค้นหา เว็บด้านบันเทิง เพื่อศึกษาข้อดี ข้อเสีย ลักษณะจุดเด่นของแต่ละเว็บไซต์ แล้วนำมาวิเคราะห์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำหนดเป้าหมาย และพัฒนาเว็บไซต์ของเราให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
|