ไม่ได้แสดงความคิดเห็นเรื่องการศึกษาไทยไปนาน วันนี้อ่านข่าวคราวย้อนหลังไป... อือม์ หลายเดือน เพราะช่วงนี้นอกจากข่าวเศร้าที่พวกเรารวมใจเป็นหนึ่งเดียวแล้ว ก็จะมีข่าวการเมืองและความวุ่นวายของฅนอีกจำนวนหนึ่ง ที่ยึดหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ ไปเสียสิ้น อ่านแล้วก็เครียด หลายคนทะเลาะกัน (แม้ในครอบครัวเดียวกัน) ในเรื่องไม่เกี่ยวกับตน (หรือจะเกี่ยวแต่ก็ห่างไกลวงจรชีวิต) จะไปไหนมาไหน จะพูดจะจาก็ต้องระมัดระวัง แม้แต่จะสวมใส่เสื้อสักตัวก็ต้องระวังเรื่องสี ทั้งๆ ที่มันไม่น่าจะเกี่ยวกันสักหน่อย วันนี้ก็เลยขออนุญาตแสดงความคิดเห็นในเรื่องการศึกษาไทยเสียหน่อย ตามประสาครูที่มีผลกระทบในทางหน้าที่การงานพอสมควร
เรื่องแรก คือเรื่องการรับนักเรียนใหม่ในปีการศึกษา 2552 ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันทำไมต้องมาประกาศใหม่กันทุกๆ ปี การประกาศก็ดูเหมือนจะสำทับเรื่องนั้นเรื่องนี้ ทำท่าทางขึงขัง จริงจัง เหมือนโยนก้อนหินถามทาง ก็ทำไมไม่ประกาศให้เป็นกฎหมายปิดช่องว่างช่องโหว่ไปให้มันเรียบร้อยไปเลย รับนักเรียนต่อห้องระดับประถมศึกษาไม่เกิน 35 คนต่อห้อง มัธยมศึกษาไม่เกิน 40 คนต่อห้อง โรงเรียนไหนรับเกินผู้บริหารมีความผิดตามกฎหมาย ดูซิว่าหน้าไหนจะมากล้ารับรับเงินแป๊ะเจี๊ยะ ขนาดของโรงเรียนก็กำหนดไปเลย จำนวนครูต่อนักเรียนให้ชัดเจนแยกระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษากันชัดๆ ถ้าโรงเรียนมีเฉพาะระดับประถมศึกษา (ป. 1 - ป. 6) จะให้มีจำนวนนักเรียนไม่เกินกี่ห้อง มัธยมศึกษาตอนต้นมีได้กี่ห้อง มัธยมศึกษาตอนปลายรับได้กี่ห้อง บัญญัติในกฎหมายไปเลย
แค่นี้เองก็ไม่ต้องมาออกข่าว "ดีเอสไอ ลุยสอบ ร.ร.รับเงินแป๊ะเจี๊ยะ" ทำยังกับว่านี่คืออาชญากรรมยิ่งใหญ่ มีฆาตกรลึกลับ ซ่อนเงื่อน ที่ต้องใช้หน่วยตรวจสอบพิเศษเข้าทำคดีในโรงเรียนก็ไม่ปาน อ่านข่าวแล้วก็อดที่จะหัวเราะไม่ได้ ชาวบ้าน แม่ค้า จบ ป. 4 ก็รู้ว่าเขาทำอย่างไร? ใครให้ใครรับ แต่งานนี้ไม่มีใบเสร็จ เหมือนซื้อผักกาดหอม ผักชีในตลาดข้างบ้านนั่นแหละ ถามว่า ใครที่เป็นคนเสนอให้และหาช่องทางเหล่านี้เล่า ถ้าไม่ใช่นักการเมือง (ทั้งระดับชาติ ท้องถิ่น) บันทึกฝากนักเรียนกว่า 90% ก็มาจากท่านผู้ทรงเกียรติเหล่านี้ทั้งสิ้น อย่าตอบเชียวว่า "ผมไม่รู้เรื่อง" ก็ลูกน้องท่านทั้งหลายนั่นแหละ ตั้งแต่เลขาฯ หัวคะแนน ยันคนขับรถของท่าน ได้แอบกระทำการเยี่ยงนี้มานานนับสิบปี ด้วยกลวิธีง่ายๆ นามบัตรที่ท่านชอบเขียนลายเซ็นใส่ให้เป็นที่ระลึกนั่นแหละ ข้อความก็ไปเติมเอง หรือบางคนบางสำนักงานถ่ายเอกสารไว้เป็นปึ้ง เซ็นชื่อไว้ ปล่อยช่องว่างให้ไปเติมเอาเอง ที่ดีหน่อย (ทั้งๆ ที่ไม่ควร) ก็ระบุมีความประสงค์จะสนับสนุนกิจการของโรงเรียน เท่าไหร่ก็ว่ากันไป ใส่ตัวเลขเยอะๆ แต่มันหล่นลงกระเป๋าใครก่อนถึงโรงเรียนนี่ไม่ทราบได้ อยากแก้ไม่ยาก กลับไปอ่านย่อหน้าบนอีกครั้ง...
นอกจากการกำหนดจำนวน นักเรียนและครูให้เหมาะสม การสอบคัดเลือกเข้าเรียนในทุกระดับ ไม่มีการจับสลาก (หรือข้ามากับดวง) จะช่วยให้ผู้ปกครองยอมรับ ในโอกาสเข้าเรียนของลูกด้วยความสามารถแล้ว ยังช่วยในการพัฒนาการศึกษา ครูมีจำนวนพอเพียง กับนักเรียนในแต่ละโรงเรียน โรงเรียนเล็กๆ รอบๆ โรงเรียนใหญ่มีจำนวนนักเรียนเพียงพอเหมาะสม ไม่ใช่แคระแกรนยิ่งขึ้นทุกๆ ปีในปัจจุบัน ณ เวลานี้ เราควรจะพูดด้วยความภาคภูมิใจว่า "ผลผลิตจากเรานั้นมีคุณภาพ" มากกว่าจะมาคุยข่มว่า "โรงเรียนฉันมีจำนวนนักเรียนมากกว่า" (มันดีตรงไหน?)
บทเรียนอันเจ็บปวดหนึ่งจากปีที่แล้ว (ซึ่งคนอื่นอาจจะมองไม่เห็นก็อาจจะเป็นได้) ได้แก่ การรับนักเรียนใหม่ของโรงเรียนคู่พัฒนา ที่ใช้วิธีการสมัครพร้อมกันด้วยใบสมัครใบเดียวกัน สอบที่เดียวกัน โรงเรียนที่ได้เปรียบคือโรงเรียนพี่ (โรงเรียนดัง) เพราะจะมีนักเรียนหรือผู้ปกครองคนใด จะเลือกโรงเรียนน้องเป็นอันดับหนึ่ง ยังไงก็เลือกโรงเรียนพี่เป็นอันดับหนึ่ง ถ้าสอบไม่ได้ก็ไหลไปโรงเรียนน้องอยู่ดี ผลที่ได้คือหัวกะทิทั้งหลายกระจุกตัวที่โรงเรียนพี่ นักเรียนเดิมที่หัวขี้เลื่อยในโรงเรียนพี่ก็ถูกผลักไปโรงเรียนน้อง และทันทีที่ทราบผล กระบวนการวิ่งเต้นก็เกิดขึ้นทันที ด้วยเหตุผลที่ใครๆ ก็นึกออก (มีตัวเลือกให้ นักเรียนเคยเรียนที่นี่ใน ม.ต้น, มีเพื่อนอยู่นี่, บ้านอยู่ใกล้ที่นี่, พ่อ แม่ พี่น้อง ญาติๆ ล้วนจบจากที่นี่, และอื่นๆ อีกมากมาย...) แล้วปีนี้โรงเรียนคู่พัฒนาจะปรับตัวทันไหม?
คำว่า "คู่พัฒนา" หมายถึงช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ในการพัฒนาการศึกษา ซึ่งไม่ได้หมายความว่า จะต้องมารับนักเรียนพร้อมเพรียงกัน การช่วยเหลือนี้น่าจะเป็นในทางการพัฒนาทางวิชาการ เช่น การพัฒนาหลักสูตร พัฒนาครูร่วมกัน จัดค่ายพัฒนาทางวิชาการให้กับนักเรียน เชิญครูที่เชี่ยวชาญเป็นวิทยากรช่วยสอนร่วมในบางเนื้อหาวิชา ผมเชื่อว่า ทั้งโรงเรียนพี่โรงเรียนน้องต่างก็มีคนมีฝีมือในด้านต่างๆ แตกต่างกัน น่าจะช่วยกันได้ในเรื่องเหล่านี้ อย่างไรก็ตามจะต้องมีวิธีบริหารจัดการให้เหมาะสม อาจมีการจัดค่าตอบแทนให้กับวิทยากร ตามระเบียบวิธีการราชการ ยังไงก็ไม่มากนัก และได้ประโยชน์มากกว่าการพิมพ์แผ่นพับ และแผ่นไวนิลไปติดหราหน้าโรงเรียนที่ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ เลยแน่นอน (เสียดายงบประมาณเป็นแสน หรือว่า... มันมีรั่วไหลตรงนี้ ต้องให้ดีเอสไอ ตรวจสอบไหม?)
เรื่องที่สอง การพัฒนาคุณภาพครู (อือม์ ผมอาจจะโดนด่าได้ในเรื่องนี้ เพราะถ้าย้อนไปอ่านหรือค้นดูในโครงการในระดับกระทรวง กรม เขตพื้นที่ หรือโรงเรียน ล้วนมีโครงการหรูหราพวกนี้มากมาย) แต่ผมยอมถูกด่าดีกว่า เพราะในความเป็นจริงแล้ว ครูเรายังขาดการพัฒนาที่เป็นระบบ มีรูปธรรม และประสบผลสำเร็จน้อยมาก ทั้งๆ ที่ใช้งบประมาณไปมหาศาลในแต่ละปี ประเทศไทยเราได้ชื่อว่า ประเทศที่มีโครงการเพื่อเสนอของบประมาณที่อ่านดูแล้วต้องเชื่อว่า ประเทศจะพัฒนาไปในทางศิวิไลซ์ยิ่งขึ้น แต่โครงการส่วนใหญ่จะมีรายงานเพียงว่า ได้ดำเนินการไปแล้ว ใช้เงินไปหมดแล้ว มีจำนวนกลุ่มเป้าหมายเท่านั้นเท่านี้ แต่ไม่เห็นมีรายงานโครงการใดเลย ที่มีการติดตามผลการดำเนินงานออกมาว่า เกิดอะไรขึ้นกับกลุ่มเป้าหมายเหล่านั้น (อาจจะมี แต่ขอบอกว่า มีเพียวเสี้ยวหนึ่งของจำนวนโครงการมหาศาลนั้น)
การพัฒนาคุณภาพคน โดยการกำหนดให้เป็นไปตามที่ฝ่ายบริหารนึกคิดนั้น น่าจะเกิดผลในทางสร้างสรรค์น้อยมาก เพราะวิธีการทางราชการมันไม่ค่อยโปร่งใสยุติธรรมสักเท่าใด คนที่ยังแอบตามข้างฝา บังเสากินก็ยังอยู่ได้ กินดีเพราะไม่มีใครสังเกต (ความชั่วไม่มี ความดีไม่ปรากฎ เอาไปขั้นครึ่ง) คนที่ทำดี ทำเด่น อาจจะเป็นเหตุให้ได้รับผลจากการทำงานพลาด (ก็คนไม่ทำอะไรเลยมันจะพลาดได้ยังไง?) นอกจากจะพลาดแล้วยังโดนซ้ำเติม เหยียบย่ำเข้าให้อีก พูดง่ายๆ ตรงๆ สไตล์ผมก็ต้องบอกว่า การทำราชการนั้นอย่าหวังว่าผู้บังคับบัญชาที่รับผิดชอบงานนั้นๆ จะโอบอุ้มค้ำชู แอ่นอกออกรับแทน ถ้าเอ็งพลาด นี่จึงเป็นเหตุให้ไม่มีการพัฒนาใดๆ ถ้าไม่จวนตัว เหลือแต่การทำงานตามสั่งที่เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น (ไม่ต้องสร้างสรรค์ และใช้หัวคิด) ไม่ต้องแส่หาเรื่อง...
จำนวนครูที่ได้รับการพัฒนาความรู้ ทักษะ วิธีการสอน ที่สามารถนำไปใช้ปฏิบัติงานจริงในโรงเรียนมีน้อยมาก บางคนไม่อยากไปเข้ารับการอบรมเพราะกลัวว่าตัวเองจะเชย ไม่ทันเขา (อยู่กับที่ไม่ไปยิ่งเชยหนัก) บางคนไปเพราะเข้าใจผิด ครั้นไปเจอว่าไม่ใช่ที่ตัวเองคิดก็ท้อ เหงา ปิดสมองไม่รับการพัฒนา ผมยกตัวอย่างได้นะเพราะเจอทุกปี ปกติในช่วงปลายเดือนมีนาคมไปถึงต้นพฤษภาคม ผมจะได้รับมอบหมายให้จัดอบรมพัฒนาครูด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (บางคนใช้คำว่าอบรมคอมพิวเตอร์) ผู้ที่เข้ามาอบรม หรือผู้ที่สั่งให้ครูมาอบรมก็มักจะคิดว่า จะมาอบรมการใช้งานคอมพิวเตอร์ ใช้โปรแกรมต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เลย ผมจัดอบรมเพื่อพัฒนาครูผู้สอนให้ไปสอนนักเรียนในรายวิชาคอมพิวเตอร์ ดังนั้น ผู้ที่มาอบรมบางคนเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการ บางคนเป็นรองผู้อำนวยการ ไม่ได้สอนสักวิชา เมื่อมาถึงผมให้เป็นนักเรียนทำกิจกรรมตามที่ผมสั่ง เพื่อเอาวิธีการกลับไปสอน จึงผิดหวังมากๆ อย่างที่บอก (ก็เพราะเข้าใจผิดๆ นี่แหละ)
ในการประชุมสัมมนาเพื่อการพัฒนาครูหลายๆ ครั้ง ผมเคยเสนอต่อที่ประชุมเสมอว่า ครูเราส่วนใหญ่เกือบ 80% ยังด้อยในโลกไอที ยังขลาดกลัวต่อการใช้งานคอมพิวเตอร์ ยังเป็นเพียงผู้ใช้งานเบื้องต้น (User Error) ที่ไม่อาจแม้แต่การแก้ไขปัญหาพื้นๆ เปิดเครื่องไม่ติดเพราะไม่ได้เสียบปลั๊ก พิมพ์ไม่ออกเพราะไม่เปิดเครื่องพิมพ์ ไม่อยากใกล้เครื่องคอมพิวเตอร์เพราะกลัวคนอื่นจะดูถูกว่าใช้ไม่เป็น ไม่กล้าถามคนอื่น บางคนที่รู้งูๆ ปลาๆ ก็ทำท่าทางยังกับเทพ ไม่อธิบายความรู้เหล่านี้ต่อเพื่อนฝูง เรียกว่าหวงวิชาที่มีเพียงกระผีกเท่านั้น
โลกของไอที คอมพิวเตอร์ นั้น ถ้ากล้าที่จะเรียนรู้มัน ศึกษามันอย่างจริงจัง สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับครูคือการพัฒนาโลกทรรศน์ให้กว้างไกล ตื่นจากหลับใหล ก้าวเดินออกจากกะลาครอบได้ เพราะความรู้ทั้งหลายนั้นสามารถติดตามสืบค้น นำมาช่วยในการจัดการเรียนการสอนได้มากมายจริงๆ ครูบางคนถึงกับอึ้งเมื่อสั่งให้นักเรียนทำรายงาน แล้วเจอรายงานที่เต็มไปด้วยขุมพลังความรู้ พร้อมภาพประกอบอีกมากมายที่ไม่ได้มีในหนังสือเรียน ที่ครูใช้จนกระดาษเหลืองกรอบ ครูไม่รู้ว่านักเรียนไปเอามาจากไหนกัน...
สิ่งที่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการใช้งานและเรียนรู้ในโลกไอทีคือ ภาษาอังกฤษ ผมขอเน้นแค่ภาษาเดียว เพราะครูต้องเจอแน่ในการสืบค้นข้อมูล การที่ครูเราอ่อนด้อยด้านการใช้ภาษา (อ่าน-เขียน ได้ก็ยังดี) ทำให้ปิดกั้นการเรียนรู้ หรือศึกษาองค์ความรู้ ที่มีมากมายมหาศาลในโลกไอที แม้แต่การใช้งานคอมพิวเตอร์นี่ก็เถอะ ผมอยากให้ทุกคนใช้โปรแกรมที่เมนูเป็นภาษาอังกฤษ จะได้เคยชิน บางคนไปใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์พิมพ์เอกสารจากโปรแกรมเวิร์ด ที่มีเมนูภาษาอังกฤษ ถึงกับใบ้กินเลยก็มี ทั้งๆ ที่ศัพท์ก็ไม่ยากเย็นอะไร เมนูภาษาไทยเสียอีกที่ยากกว่า ไม่เชื่อลองคลิกที่เมนูต่างๆ ดู คุณจะเจอศัพท์ภาษาไทยอย่างยาก (เพราะไม่เคยใช้งาน ไม่ใช่ภาษาคนธรรมดาใช้กันเข้า แล้วจะเกาหัวแกรกๆ ขอบอก) แล้วทำไมต้องแปลจากไทยอย่างยาก มาเป็นไทยธรรมดา ต่อมาเป็นภาษาชาวบ้านเข้าใจให้ยุ่งยากด้วยหนอ?
เหลียวไปมองประเทศ เพื่อนบ้านของเราหลายๆ ประเทศ เขาพัฒนาครูของเขาไปไกลมากแล้ว หลักสูตรของเขานั้นสร้างคนให้ทันต่อโลก ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาศาสตร์เขาไปไกลมาก ผมอ่านเจอข่าวหนึ่งคือการที่ เลขาธิการสภาการศึกษา (รศ.ธงทอง จันทรางศุ) พูดถึงการที่ประเทศมาเลเซีย จัดหลักสูตรการจัดการเรียนการสอน วิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษ นำไปสู่การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน และครูผู้สอนมีการพัฒนาทักษะการสอน และทักษะด้านภาษาต่างประเทศอย่างเห็นได้ชัด จะเป็นแนวทางที่ไทยสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ต่อไป เพื่อให้ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนสามารถแข่งกับประเทศอื่นได้ อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มาเลเซียประสบความสำเร็จในการพัฒนาการเรียนการสอน คือ การพัฒนาครูอย่างจริงจัง โดยมาเลเซียใช้วิธีเพิ่มค่าตอบแทนให้สูงขึ้น เพื่อจูงใจให้คนเก่งเข้ามาเป็นครูรุ่นใหม่ พร้อมพัฒนาศักยภาพครูเก่าให้มีคุณภาพมากขึ้น ทำให้คุณภาพการเรียนการสอนดีขึ้น
นี่ล่ะใช่เลย ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง (ท่านอาจจะกลับไปอ่านเรื่องราวที่ผมไป ร่วมประชุมทางวิชาการที่ประเทศมาเลเซีย ตอนต้นปีได้) ทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ ล้วนแต่ให้ความสำคัญต่อการจัดการศึกษาเป็นอันดับต้นๆ เวียตนาม เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีความก้าวหน้า และกำลังแซงประเทศไทยไปอีกแล้ว
วันนี้นอกจากจะทุ่มงบประมาณให้กับการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ และเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ให้เข้าถึงได้ในทุกโรงเรียนแล้ว สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป หรือทำก่อนจะดีกว่า คือ การสร้างครู พัฒนาครูให้สามารถหยิบเอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้ ได้ และสร้างสื่อการเรียนรู้ที่เป็นภาษาไทยให้กับนักเรียนไทยให้มากขึ้น องค์ความรู้ที่ดีๆ ยอดเยี่ยมแต่เป็นภาษาอื่น รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ จะต้องติดต่อขอความร่วมมือหรือจัดซื้อนำมาแปลเป็นภาษาไทยให้มากขึ้น
เพราะการทุ่มงบประมาณลงไปกับฮาร์ดแวร์อย่าง มากมายมหาศาล ไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะเกิดประโยชน์ได้อย่างที่คิด ถ้าในขณะที่ส่วนของการพัฒนาซอฟท์แวร์ สื่ออันเป็นตัวเชื่อมโยงองค์ความรู้ และพัฒนาผู้ใช้งานให้สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มร้อยยังไม่เกิดขึ้น จึงไม่น่าจะเกิดผลใดๆ ในการพัฒนาการศึกษาเลย ก็ได้แต่หวังว่า ความฝันเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อทุกคนตื่นลืมตามาพบโลกความจริง และพร้อมใจกันก้าวเดินออกจากกะลาเสียที...
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)