เนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ 80 พรรษา สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนยานนาเวศวิทยาคมและโรงเรียนยานนาเวศวิทยาคม ได้จัดการประกวดเรียงความ เรื่อง “ครูปูชนียบุคคล พลังของแผ่นดิน” ขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งทรงเป็น “ครูของแผ่นดิน” และเพื่อให้ทุกคนในชาติได้ตระหนักถึงความสำคัญของครู ผู้มีบทบาทและภาระหน้าที่โดยตรง ในการอบรมสั่งสอนเยาวชนให้เป็นคนดี มีความรู้ ความสามารถเป็นอนาคตของชาติที่เข้มแข็ง และมีคุณค่า ครูจึงเป็นพลังของแผ่นดินที่สำคัญยิ่ง โดยแบ่งเป็น 4 ประเภท คือ ประเภทประชาชน นิสิตนักศึกษา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
ที่กล่าวถึงนี่ข่าวเก่านะครับ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา แต่ผลที่ออกมาเรียงความในระดับนิสิตนักศึกษานี่ ต้องกล่าวถึงสักหน่อย เพราะผู้เขียนเรียงความ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศคว้าถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล ๑๐,๐๐๐ บาท นี่เป็นลูกชายผมเอง นายปรเมศวร์ โคตรคันทา นิสิตชั้นปีที่ ๓ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
ก็เป็นความภาคภูมิใจของพ่อ-แม่ที่เป็นครู ที่มีลูกเขียนเรียงความถึงอาชีพของพ่อแม่ มีถ้อยคำสำนวนจนได้รับรางวัลชนะเลิศ อ่านดูหน่อยไหมครับ?
“พระคุณที่สามงดงามแจ่มใส แต่ว่าใครหนอใคร เปรียบเปรยครูไว้ว่าเป็นเรือจ้าง”
ช่างน่าแปลกนัก ที่ใครต่างก็ขนานนาม ครู ว่าเป็น “เรือจ้าง” โดยให้ความหมายว่า เรือที่คอยรับจ้างส่งผู้โดยสารให้ไปถึงฝั่ง ซึ่งคือครูที่คอยเคี่ยวเข็นและพาลูกศิษย์ไปถึงจุดหมายปลายทาง ที่พวกเขาต้องการ แต่ใครจะรู้บ้างว่า พระคุณที่สาม ผู้ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในชั่วชีวิตของบุคคลอีกคนหนึ่ง เป็นผู้ที่หล่อหลอม สร้างเสริม ชี้แนะ และสร้างคนให้เป็นคนอย่างแท้จริงนั้น คือบุคคลที่ควรค่าแก่การเคารพ สรรเสริญและยกย่องให้เป็น “ปูชนียบุคคล” และมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความเจริญให้กับประเทศชาติของเรา
การศึกษา นับเป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ กำหนดให้รัฐจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงและมี ประสิทธิภาพ โดยถือว่าการศึกษาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของชีวิตที่จะช่วยพัฒนาประชากรให้มีคุณภาพ และการได้รับการศึกษาที่ดีของประชาชนอย่างทั่วถึงทุกคน จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติบ้านเมือง และรัฐก็มีหน้าที่ที่สำคัญในการจัดการศึกษาภาคบังคับ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อพัฒนาคน สร้างบุคลากรผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ และเป็นผลให้เกิดการพัฒนาของชาติ กลไกหนึ่งที่สำคัญในกระบวนการสร้างชาติ และเป็นกลไกในฟันเฟืองระบบการศึกษา นั่นคือ ครู ผู้มีหน้าที่และภาระอันหนักยิ่ง
นับตั้งแต่การศึกษาระดับปฐมวัย จนถึงระดับอุดมศึกษา บุคคลที่มีบทบาทในการสร้างคน ให้เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษา และเป็นคนดีของสังคมนั้น คือครู โรงเรียนเป็นสถานที่แห่งการบ่มเพาะความรู้ โดยมีครูทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอด ตั้งแต่วัยเยาว์ครูเป็นผู้สอนวิธีในการเรียนรู้เรื่องพื้นฐานต่างๆในชีวิต สืบเนื่องมาจนถึงการศึกษาขั้นสูง ที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ครูก็ยังคงเป็นผู้ที่สำคัญที่สุดในระบบการศึกษาอยู่เช่นเคย และด้วยความที่เด็กและเยาวชนใช้เวลาส่วนใหญ่ที่บ้านและโรงเรียนหรือสถาน ศึกษา ครูจึงเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่คลุกคลี ใกล้ชิดและมีโอกาสในการช่วยขัดเกลาทางสังคมให้กับเด็กและเยาวชนเหล่านั้นให้ เป็นคนดีได้
>> อ่านต่อจากฉบับจริงได้ที่นี่ครับ <<
ก็ขอฝากเรียงความนี้มายังเพื่อนครูทุกท่าน เพื่อคารวะเนื่องในโอกาสวันครูที่จะมาถึง และสำหรับเพื่อนครูที่สอนวิชาภาษาไทย สามารถนำไปเป็นตัวอย่างสำหรับนักเรียนในการเขียนเรียงความ เพื่อการประกวดแข่งขันได้ครับ
ได้กล่าวถึงครูจากเรียงความแล้วก็ขอนำบทความเก่าที่เกี่ยวกับครู มาไว้ด้วยกันด้วยเลย (เขียนไว้เมื่อวันครู 16 มกราคม 2552) แม้จะนานมาแล้วแต่บริบททางสังคมก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก และถูกกล่าวถึงปัญหานี้มาต่อเนื่องยาวนาน (แก้ไม่ได้ ถ้าครูไม่แก้ที่ตัวเอง)
วันที่ 16 มกราคมของทุกปี เป็นวันครู วันที่ลูกศิษย์จะได้หวนรำลึกถึงพระคุณครู ผู้ได้อุทิศตนสั่งสอนศิษย์ จนเติบใหญ่มีวิชาหาเลี้ยงชีพ เป็นวันที่มีเสียงกล่าวสดุดี กล่าวถึงในสิ่งดีๆ ถึงอาชีพครู และวันที่ครูอาวุโสหลายๆ ท่านได้ปลาบปลื้มกับความสำเร็จของลูกศิษย์ ที่วันนี้มากราบคารวะอีกครั้งหนึ่ง
วันนี้เพื่อนครูหลายท่านก็คงจะได้รับยาหอม และกำลังใจมากมาย แต่พอผ่านวันนี้ไปแล้วจะมีใครกล่าวถึงอีกบ้างหนอ ผมอยากให้อาชีพครูเป็นอาชีพในฝันของเด็กๆ ในสมัยนี้จังเลย อยากให้คนเก่งๆ อยากเรียนสายอาชีพครู อยากเป็นครู อยากเป็นผู้ให้ ก่อนที่จะคิดถึงอาชีพอื่น เพราะการได้คนเก่งมาเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้สู่คนอื่นๆ ย่อมเป็นผลดีกับประเทศชาติมากมาย เบ้าหลอมที่ดีย่อมทำให้ผลิตผลออกมาดี ไม่อยากให้อาชีพนี้เป็นทางเลือกสุดท้ายเมื่อสอบแข่งขันไม่ได้แพทย์ วิศวะ สถาปัตย์ และอื่นๆ แล้ว
ผมไม่อยากได้ยินประโยคเหล่านี้ทุกครั้ง ที่มีการเปลี่ยนรัฐบาล หรือในฤดูหาเสียง "ต้องแก้ปัญหาหนี้สินครู ทำให้ครูมีความมั่นคง เสริมรายได้" ไม่ใช่ไม่ยอมรับความจริงว่าครูส่วนใหญ่ของประเทศนี้ "จน" ชักหน้าไม่ถึงหลัง (รวมถึงตัวผมด้วย) มีปัญหาด้านเศรษฐกิจจริงๆ แต่ปัญหามาจากสาเหตุใดบ้าง เราน่าจะมาวิเคราะห์กันเล่นๆ ในวันครูนี้ดูสักหน่อย (เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวนะครับ อย่าโกรธผมก่อนที่จะอ่านจบ นี่เพียงกระจกเงาบานน้อยๆ เท่านั้นเอง อาจจะมีบานใหญ่กว่านี้ แต่เขาไม่กล้าสะท้อนเงาหาพวกเรา นี่อันตรายกว่า) ลองดูครับ...
เพราะภาษีสังคม มากกว่ารายรับ
ความคาดหวังของชุมชนและสังคมต่ออาชีพนี้ผมว่ามีค่อนข้างสูงนะครับ ท่านที่อยู่ในเขตเมืองอาจจะไม่ทราบลึกซึ้งเท่าไหร่ แต่สำหรับครูบ้านนอกอย่างผมนี่ต้องบอกว่า แรงเคารพศรัทธาของชาวบ้านต่ออาชีพนี้มีมาก จะแต่งงานลูก จะบวช จะทำบุญจิปาถะ ชาวบ้านมักจะนึกถึงครูเป็นอันดับต้นๆ ครูเราส่วนใหญ่จึงได้รับซองบัตรเชิญร่วมการงานบุญมากจริงๆ ครั้นได้มาแล้วจะทำตัวนิ่งเฉยเสียก็จะเกิดอาการมลายศรัทธาเกิดขึ้น บางเดือนได้มาสักสิบซอง ถ้าไม่สนิทชิดเชื้อเท่าไหร่อย่างน้อยต้องซองละร้อย ถ้าสนิทคุ้นเคยได้อาศัยไหว้วานก็ต้องใส่มากน้อยอาจ 3-5 ร้อย นี่ก็หมดไปหลายพันแล้วในแต่ละเดือน
ไหนจะค่าการศึกษาบุตรที่อยู่ในวัยเรียนที่คอยกด ATM ผ่านทางโทรศัพท์มือถือชนิดที่คว้ามารับสายไม่ทัน นี่ว่ากันตั้งแต่หลัก 3-5 พัน บางคราวหลักหมื่น ค่าใช้จ่ายในครอบครัวกินอยู่ ค่าน้ำมันรถในการเดินทางอีก อะโห... ต้องจ่ายทั้งนั้น รายรับจากเงินเดือนอย่างเดียวไม่พอแน่ๆ ครับ นี่ยังไม่ได้นับรวมกับค่าผ่อนส่งอื่นๆ อีกนะ สำหรับคนที่ผ่อนรถ ผ่อนบ้านก็อานไปตามระเบียบ ภาวะเหล่านี้แหละครับที่น่าเห็นใจมากทีเดียว
เลยเป็นเหตุให้ไม่เกิดแรงจูงใจในการเข้าสู่อาชีพนี้ของเด็กยุคใหม่ ไม่กล่าวถึงอื่นไกลเลย ลูกผมเองก็ไม่มีใครอยากประกอบอาชีพนี้ ทั้งๆ ที่เขามีความสามารถในการถ่ายทอดประสบการณ์ ทำหน้าที่เป็นครูในฐานะนักกิจกรรมเพื่อสังคมขณะเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย จัดค่ายภาษาอังกฤษภาคฤดูร้อนให้กับเด็กๆ แต่จะให้ยึดอาชีพเป็นครูเหมือนพ่อ-แม่คงจะไม่เอา
ถ้าเปรียบเทียบเงินเดือนครูของประเทศไทยกับประเทศที่พัฒนาแล้วหรือกำลัง พัฒนาอื่นๆ จะพบว่าเงินเดือนครูไทยยังต่ำกว่าเงินเดือนครูในประเทศอื่นค่อนข้างมาก แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นเพราะว่าประเทศเหล่านั้นมีรายได้และค่าครองชีพสูงกว่า ของไทย แต่ถึงนำปัจจัยเหล่านั้นมาคิดแล้ว ก็ยังสะท้อนว่าเงินเดือนครูไทยค่อนข้างต่ำอยู่ดี ที่น่าสังเกตคือครูในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมมีรายได้สูงกว่ารายได้ถัวเฉลี่ย ต่อหัวของประชากร แต่ครูในประเทศกำลังพัฒนามีรายได้ต่ำกว่ารายได้ถัวเฉลี่ยต่อหัวของประชากร ทั้งประเทศ ไม่ต้องเอาอื่นไกลเงินเดือนครูไทยเราเริ่มบรรจุ (7,600 บาท (ข้อมูลเมื่อปี 2552)) ก็น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียครึ่งหนึ่ง และน้อยกว่าฟิลิปปินส์เกินครึ่งทีเดียว
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)