"ครู" จำเลยของสังคม
วันพรุ่งนี้ (29 กรกฎาคม) จะเป็นวันสำคัญของไทยอีกวันหนึ่งคือ "วันภาษาไทยแห่งชาติ" ตามพื้นที่ข่าวต่างๆ ทั้งจาก หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์-วิทยุ จึงมีการกล่าวถึงความสำคัญของภาษาไทยกันมาก และในเนื้อข่าวทั้งหลายเหล่านั้น จำเลยของสังคมที่ถูกกล่าวขานก็หนีไม่พ้น "ครู" เรานี่แหละ เพราะอาชีพของเราคือ การสอน สอนเด็กๆ ให้รู้ในเนื้อหาวิชาที่จำเป็นต่อการครองตน การประกอบอาชีพ และการอยู่ร่วมกันกับสังคมรอบข้าง วิชาที่จำเป็นต้องสอนหนึ่งในจำนวนนั้นคือ ภาษาไทย มีความเห็นหลากหลายว่าพวกเราสอนเขาไม่พอ จริงหรือ???
ก่อนจะกล่าวถึงเหตุและผลกัน ก็มารู้จุดกำเนิดของวันภาษาไทยแห่งชาติกันหน่อย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธาน และทรงอภิปรายเรื่อง ปัญหาการใช้คำไทย ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งความว่า "...เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้..."
ด้วยตระหนักในความสำคัญเรื่องภาษา รัฐบาลในขณะนั้นจึงประกาศให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ตั้งแต่ พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา
เป็นที่น่าตกใจเป็นอย่างมากที่น้อยคนจะรู้จักว่า มีวันภาษาไทยแห่งชาติ ด้วยหรือ? แต่นั่นยังไม่เท่ากับจำนวนของคนไทย ที่ไม่รู้จักตัวอักษรภาษาไทยว่ามีกี่ตัว สระมีอยู่กี่ตัว วรรณยุกต์คืออะไร ร้อยกรองแตกต่างจากร้อยแก้วอย่างไร และไม่รู้จักการใช้พยัญชนะบางตัว เช่น ฎ ฎ ฑ ฐ ณ ฒ ว่าจะใช้ในคำใดบ้าง การออกเสียงที่เลียนแบบดารา นักร้อง ที่ไม่เข้าท่าอีกมากมาย
มีการสำรวจโดยเอแบคโพล พบว่า กลุ่มบุคคลที่มีส่วนทำให้เกิดปัญหาในการใช้ภาษาไทย ร้อยละ 80.6 ระบุคือ กลุ่มวัยรุ่น รองลงมา ร้อยละ 46.0 ระบุเป็น กลุ่มนักร้อง ร้อยละ 44.8 ระบุเป็น กลุ่มดารานักแสดง ร้อยละ 18.1 ระบุ ผู้ดำเนินรายการวิทยุ ร้อยละ 17.2 ระบุเป็น นักการเมือง ร้อยละ 17.2 ระบุเป็น พิธีกรรายการโทรทัศน์ ร้อยละ 15.8 ระบุเป็น ผู้ประกาศข่าว และร้อยละ 8.9 ระบุเป็น ครูอาจารย์ตามลำดับ (ติดกับเขาด้วย)
เด็กวัยรุ่น ดารา สื่อมวลชน อยู่ในสภาวะวิกฤติและน่าเป็นห่วงอย่างมาก โดยเฉพาะวัยรุ่นนิยมใช้คำศัพท์แสลง คำผวน คำแปลกๆ ที่ไม่ถูกกาลเทศะ และคำหยาบคาย ที่สำคัญนำภาษาต่างประเทศมาผสมกับภาษาไทย กลายเป็นคำแปลกที่ไม่มีความหมาย และผิดหลักเกณฑ์ เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องนี้ หากปล่อยไว้ในอนาคตเด็กก็จะแยกไม่ออกว่าคำไหนเป็นคำไทยแท้ คำไหนเป็นคำที่วัยรุ่นบัญญัติขึ้นเอง ขณะที่นักท่องเว็บป่วน ก็โพสต์ศัพท์คอมพิวเตอร์ทั้ง จิ๋วระทวย แปลมาจากคำว่า Microsoft, แท่งหฤหรรษ์ แปลจาก Joystick, พหุบัญชร แปลมาจาก Windows, จุดอิทธิฤทธิ์ แปลจาก PowerPoint และอื่นๆ โดยอ้างราชบัณฑิตเป็นผู้บัญญัติขึ้น.. ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
จากผลสำรวจต่างๆ สะท้อนว่า ปัญหาการใช้ภาษาไทยเป็นปัญหาที่ทุกหน่วยงานที่ต้องแก้ไข เด็กเยาวชนสะกดและออกเสียงภาษาไทยแบบผิดๆ ที่สำคัญที่สุดคือการนำภาษาต่างๆ มาผสมกันจนไม่มีความหมาย และคิดว่าเป็นคำที่ถูกต้อง นำมาใช้แบบผิดๆ และจะติดอยู่ในความทรงจำนำไปใช้ต่อในทางผิดๆ เรื่อยไป
ไปอ่านเจอในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ น่าสนใจเลยขอนำมาบันทึกไว้ตรงนี้ เพื่อที่พวกเราผู้ประกอบอาชีพครูจะได้ช่วยกันแก้ไข...
ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ กวีและนักวิชาการ ผู้ให้ความรู้กับครูภาษาไทย เรื่อง การแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ มองรากเหง้าของปัญหาว่า สาเหตุมาจาก
ส่วน การแก้ไขถ้าจะให้ได้ผล ทำให้ครูภาษาไทยตระหนักเหตุ ปัจจัยที่เป็นปัญหานั้นๆ ตรงกัน ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญ จัดครูสอนภาษาไทยให้ถูกคน ครูต้องออกเสียงชัดเจน ต้องปูพื้นทางภาษาให้ดี เพื่อจะได้พัฒนาได้ง่าย และต้องพัฒนาทุกทักษะ
ส่งเสริมให้ครูรักการ อ่าน มีความคิดแบบองค์รวม คิดต่อองค์รวมเหตุ ปัจจัยการเรียนการสอนให้มากขึ้น ให้ครูมองเห็นทางแก้อย่างครบถ้วน และที่สำคัญ ท่ามกลางวิกฤติทางภาษานี้ "กระทรวงคงต้องมีวาระแห่งชาติสำหรับภาษาไทยแล้วกระมัง"
ทั้งนี้เพื่อ ฟื้นฟูภาษาไทยให้คนไทยรู้และเข้าใจภาษาไทย ส่งเสริมให้เด็กอ่านออกเขียนได้ มีนิสัยรักการอ่าน ให้เกิดกระบวนการคิดจากภาษา เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างแท้จริง
นักวิชาการไทยตามก้นต่างชาติต่างภาษามานานแล้ว เมื่อเห็นความล้มเหลวเช่นนี้ ถึงเวลากำหนดการเรียนรู้อย่าง "ไท" ได้หรือยัง?
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)