จากการใช้เวลาปฏิรูปการศึกษามาแล้วกว่า 10 ปี ผลสำเร็จที่ต้องการเห็นเด็กไทยเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ก็ยังเป็นแค่ความฝันอยู่ ยิ่งเมื่อดูถึงคุณภาพชีวิตของเด็ก วัยรุ่นไทย ในยุคปัจจุบันหลายด้านกลับลดต่ำลงด้วยซ้ำไป ซึ่งจะเห็นได้จากผลการประเมินอย่างเป็นทางการของ สมศ. ผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (O-Net) และการสอบประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (NT) หรือแม้แต่พฤติกรรมการแสดงออกของเด็กและเยาวชน ที่เห็นๆ กันอยู่ทั่วไป จากปัญหาคุณภาพการศึกษาของประเทศที่ก้าวเดินไปได้อย่างเชื่องช้านี้ คงจะไปโทษอยู่แค่ว่า การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาล้มเหลว เพราะมัวไปยุ่งอยู่กับการปรับโครงสร้าง และตำแหน่งของหน่วยงาน และข้าราชการก็คงไม่ถูกต้องไปทั้งหมด เพราะสิ่งที่หลายคนมักกล่าวอ้างกันนั้น ก็ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยเข้าที่ไปนานแล้ว ที่สำคัญโรงเรียนเองก็ไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างที่ว่านี้ มากมายอะไรนัก แต่คุณภาพการศึกษาก็ยังมีปัญหาอยู่เช่นเดิม
มีความเห็นแย้งมาว่า จากข่าวสารด้านการศึกษาที่เราได้รับทราบ เด็กไทยก็เก่ง พัฒนาไปได้ในระดับโลก ดูผลจากการเข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันในระดับนานาชาติ เราก็อยู่ในขั้นเหรียญทอง รับรางวัลระดับโลกกันมาแล้ว จะไม่ปฏิรูปได้อย่างไร?
ถ้าดูจากผลสำเร็จตรงนี้ผมว่า มันเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของการศึกษาของชาติ เราต้องมองในภาพกว้างของเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ ที่ยังคงจมปลักอยู่ในวังวนเก่าๆ ไม่ได้รับองค์ความรู้ที่จะออกไปดำรงชีวิตในสังคมนี้ได้เลย ยังคงมีผลผลิตจำนวนมากที่จบการศึกษาภาคบังคับมา แบบอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เอาไปใช้ประโยชน์ในสัมมาอาชีพได้ และที่ซ้ำร้ายกลับทำให้เขากลายเป็นคนหยิบโหย่งทำอะไรไม่เป็น แค่การประกอบอาชีพสืบต่อจากบุพการีก็ยากเย็ญแสนเข็ญแล้ว
ลูกหลานจบ ป.6 ไม่เรียนต่อ ออกมาช่วยพ่อแม่ทำนา ทำไร่ เป็นเกษตรกรได้ค่อนข้างสมบูรณ์ แต่พอส่งไปเรียนต่อระดับมัธยมศึกษา แม้จะเป็นโรงเรียนขยายโอกาสใกล้บ้านก็เถอะ ทำไมถึงมาช่วยพ่อแม่ไม่ได้ หรือเป็นที่พ่อแม่บางคน ไม่อยากให้ลูกมันลำบาก ให้เรียนอย่างเดียว ครั้นเรียนไม่ประสบผลสำเร็จก็เลยพลอยทำให้กลับมาช่วยงานพ่อแม่ไม่สำเร็จไป ได้ก็ไม่ทราบ... (ใครรู้... ช่วยตอบทีนะ)
ปัญหาคุณภาพการศึกษาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ ปัจจัยหลักน่าจะมาจากตัว "ครู" มากกว่า ซึ่งในที่นี้ก็ไม่ได้หมายความว่า ครูไทย ไม่เก่ง ไม่ดี ไม่มีความรู้ ความสามารถแต่อย่างใด แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวครูในขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพการ ศึกษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรามาไล่กันดูทีละประเด็น
ปัญหาด้านคุณภาพครูขาดการพัฒนา เป็นการพัฒนาที่จะทำให้ครูก้าวได้ทันกับวิวัฒนาการของโลกยุคใหม่ ซึ่งเรื่องนี้ต้องยอมรับกันว่า ในปัจจุบันยังมีครูอีกจำนวนไม่น้อยที่ขาดการพัฒนา หรือไม่ยอมพัฒนาตนเองให้ ก้าวทันองค์ความรู้ และปัจจัยภายนอกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) หรือภาษาต่างประเทศที่เข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตประจำวัน และเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นของเด็ก ซึ่งปัจจัยภายนอกหลายอย่างโดยเฉพาะด้าน IT ที่เด็กบางส่วนเข้าถึง แต่ครูบางคนกลับไม่มีทักษะเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง การใช้งานของเด็ก จึงเป็นไปในลักษณะเรียนรู้ด้วยตนเอง ทำให้สื่อทันสมัยเหล่านั้นแทนที่จะเกิดประโยชน์ก็กลับกลายเป็นโทษ เป็นการสร้างปัญหาให้แก่เด็กและสังคมเข้ามาแทนที่
ครูหลายคนเมื่อไม่สามารถพัฒนาและเข้าถึงได้ ก็เลยโทษเทคโนโลยีที่สร้างความยุ่งยากให้กับการศึกษา สร้างปัญหาให้กับเด็ก แทนที่จะทำความเข้าใจกลับกลายเป็นสร้างกำแพงปิดกั้นตนเองไปเสีย ผลกระทบไม่ได้เกิดกับเด็กฝ่ายเดียวหรอก เกิดกับครูด้วยและสร้างความเจ็บปวดรวดร้าวให้ตอนที่สอบเยียวยาออนไลน์นั่นไง จำได้ไหม? นี่แหละเทคโนโลยีที่มายืนอยู่ต่อหน้าท่านแล้ว
ปัญหาด้านเจตคติที่มีต่อการสอนของครูในยุคปฏิรูปการศึกษา ที่ผ่านมาครูเราไม่สามารถปรับเปลี่ยนแนวคิด วิธีการสอน ให้เป็นไปตามหลักการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ในทิศทางเดียวกันได้ ทั้งนี้อาจจะเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งการขาดแคลนครู ขาดแคลนสื่อ ความไม่พร้อมของเด็กในด้านต่างๆ รวมถึงตัวครูส่วนหนึ่งไม่สนใจ และไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการสอนด้วย เหตุผลที่ว่า การสอนแบบเดิมก็สามารถทำให้เด็กเข้าเรียนต่อในระดับสูงขึ้นได้ทุกรุ่น หรือไม่ก็สอนตามใจลูกค้า คือผู้ปกครองส่วนมากที่ยังต้องการให้ลูกหลานเข้าเรียนต่อในสถานศึกษา และมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในอนาคตได้ การสอนของครูจึงมุ่งเน้นวิชาที่จะใช้กับการสอบเข้าเรียนต่อ หรือไม่ก็สอนตามประสบการณ์ของตนเองที่เคยสอนมา รวมไปถึงสอนตามเนื้อหาจากตำรา ที่สำนักพิมพ์ทั้งหลายจัดพิมพ์จำหน่าย โดยไม่สนใจถึงคุณลักษณะ จุดประสงค์ มาตรฐานการศึกษา เป้าหมายคุณภาพของเด็กที่ประเทศชาติต้องการ
หลายคนบอกผมว่า ครูไทยเราพัฒนาการจัดการสอนมากมาย ดูได้จากผลงานทางวิชาการที่จัดทำขึ้นเพื่อเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งให้สูง ขึ้น มีการเผยแพร่บทคัดย่อในบอร์ด ในกระดานข่าวของเว็บไซต์ เยอะแยะ ยุบยับ ได้เลื่อนขั้นมากมายเกือบจะทุกคนในโรงเรียน บางโรงครู 7 คน (ในจำนวนนี้มี ค.ศ.3 ตั้ง 5 คน) นักเรียน 68 คน แต่ผลผลิตที่ได้อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ มันกำลังฟ้องมาตรฐานอะไรอยู่
ในผลงานการพัฒนาที่ว่านั้น มันส่งผลต่อนักเรียนในโรงเรียนมากน้อยเพียงใด ไม่ต้องถึงขนาดว่า งานวิจัยทางวิชาการนี้จะส่งผลต่อนักเรียนโรงเรียนอื่นๆ หรอก เอาแคบๆ แค่ในห้องที่ท่านสอนนั้นได้รับมรรคผลจากผลงานนี้สักคนบ้างไหม?
ปัญหาเรื่องภาระงานอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมายนอกเหนือจากงานสอน ภาระอันหนักอึ้งของครูที่ถูกยัดเยียดมาให้ดำเนินการอย่างมากมาย ก็ถือว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประสิทธิภาพ และเวลาที่จะทำการสอนของครูลดลง ซึ่งงานอื่นๆ ที่ว่านี้ปัจจุบันนับวันจะมีเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากการคิดและสั่งการของหน่วยงานต้นสังกัดโดยตรง (เรียกกันง่ายๆ ว่างานโชว์วิสัยทัศน์ นโยบาย แบบฝันๆ) และงานฝากจากกระทรวง กรม และหน่วยงานนอกสังกัดอื่นๆ ที่ส่งมาให้ร่วมทดลอง นำร่อง ร่วมรณรงค์ สารพัดรูปแบบ พร้อมกับการให้เข้าร่วมอบรม สัมมนา เพื่อให้มีความรู้ เข้าใจกับวิธีการดำเนินงานในโครงการหรือกิจกรรมนั้นๆ และที่สำคัญสุดคือ ทุกงานจะต้องมีการเก็บข้อมูล ให้รายงานผลสำเร็จของการดำเนินการ ซึ่งภาระงานเหล่านี้ครู และผู้บริหารสถานศึกษา ไม่สามารถที่จะปฏิเสธได้เลย ด้วยถือเป็นนโยบายและเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาเด็ก (จริงหรือเปล่าไม่ทราบ)
แต่ด้วยข้อจำกัดด้านบุคลากรทางการศึกษาของ แต่ละโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่นอกจากจะไม่มีบุคลากรอื่นๆ ช่วยเหลืองานดังกล่าวแล้ว แม้แต่ครูที่จะใช้สอนเด็กก็ยังขาดแคลนอยู่ก่อนแล้ว เมื่อภาระงานอื่นๆ เพิ่มเข้ามาด้วยจำนวนครูที่มีอยู่อย่างจำกัด ก็จะต้องเสียเวลากับการทำงานอื่นๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งว่ากันตามความจริงแล้วภาระงานอื่นๆ หลายกิจกรรมและโครงการประโยชน์ที่จะตกกับเด็กจริงๆ ก็ไม่มากนัก เพราะจากข้อจำกัดดังกล่าว แค่การไปรับความรู้ การจัดทำรายงานข้อมูล การประเมินผล ในแต่ละกิจกรรมที่ถูกส่งเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ก็แทบไม่ทันกับเวลาที่กำหนดไว้แล้ว ส่วนนี้ได้ส่งผลให้การจัดการเรียนการสอน ซึ่งเป็นภาระงานหลักขาดประสิทธิภาพไปด้วย การที่จะจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพได้ครูจะต้องมีเวลาศึกษา เตรียมความพร้อม ก่อนการสอนตามหลักการและทฤษฎีที่ว่ากันไว้ ดังนั้นหากจะให้ครูได้มีเวลาพัฒนาคุณภาพเด็กอย่างจริงจังครูจะต้องทำการสอน เป็นงานหลักๆ ส่วนงานฝากอื่น ๆ ควรจะต้องลดน้อยลงหรือจัดหาบุคลากรอื่นๆ มาดำเนินการแทน
ปัญหาด้านจำนวนของอัตราส่วนเด็กต่อครูของแต่ละโรงเรียนหรือแต่ละห้องเรียน อัตราส่วนที่ไม่สมดุลกับการพัฒนาการศึกษา ปัญหาดังกล่าวนี้เกิดขึ้นกับโรงเรียนทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก โดยโรงเรียนขนาดใหญ่จะประสบปัญหาจำนวนนักเรียนที่มีมากจนล้น แต่ขาดอาคารสถานที่ และจำนวนครู ในแต่ละห้องเรียนจึงอัดเด็กเข้าไป 50-60 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่เกินกว่ากำลังครูจะรับไหว ทั้งด้านการสอนและการจัดกิจกรรม เรื่องที่จะดูแลเด็กเป็นรายบุคคลนั้น ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กแม้จะมีเด็กน้อย แต่ด้วยจำนวนครูขาดแคลนไม่พอสอนครบชั้น ทำให้การสอนของบางโรงเรียนต้องรวมหลายชั้นจัดการเรียนการสอนร่วมกัน ส่งผลให้การเรียนรู้ของเด็กไม่เป็นไปตามศักยภาพที่มีอยู่กับการเรียนรู้ใน แต่ละระดับชั้น
ปัญหาด้านขวัญกำลังใจ ครูในปัจจุบันนี้โดยเฉพาะกลุ่มครูที่รับราชการมานาน (อย่างผมนี่แหละ) ดูเหมือนจะตกต่ำลงค่อนข้างมาก ทั้งนี้นอกจากจะเกิดจากอุปสรรคปัญหาต่างๆ ในการปฏิบัติงานที่ได้กล่าวมาเบื้องต้นแล้ว เรื่องของความก้าวหน้าในอาชีพ ก็ถือเป็นที่ส่งผลต่อความกระตือรือร้นในการปฏิบัติหน้าที่อย่างยิ่ง ทั้งนี้ด้วยความเจริญก้าวหน้าของครูในปัจจุบัน ยังใช้วิธีการประเมินผลงานด้านวิชาการเป็นหลัก ซึ่งงานที่ว่านี้ครูส่วนใหญ่ไม่ค่อยถนัดเหมือนอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่อยู่ใกล้แหล่งข้อมูลวิชาการ แต่สำหรับครูทั่วไปทักษะ ประสบการณ์ที่มีอยู่ก็ คือ การสอนเด็ก แต่ต้องมาทำผลงานวิชาการที่ไม่มีความถนัด จึงนับเป็นการสร้างความทุกข์กาย ทุกข์ใจอย่างมาก และยิ่งผลงานไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินด้วยแล้ว ขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานก็พลอยหมดไป ซึ่งจะเห็นได้จากเมื่อมีโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดเกิดขึ้นครั้งใด ข้าราชการครูนับเป็นกลุ่มที่มีผู้สมัครขอเข้าร่วมโครงการจนเกินโควตาที่ได้รับมาทุกครั้งไป
ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ เหมือนเหล้าเก่าในขวดใหม่ พูดกันมาไม่รู้ว่ากี่ครั้ง กี่เวทีของงานสัมมนาทางวิชาการ แต่ก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข อันเนื่องมาจากนโยบายของฝ่ายการเมืองที่ปรับเปลี่ยนทุกครั้งที่เปลี่ยน ตำแหน่งรัฐมนตรี และเมื่อการเมืองก้าวล่วงเข้าไปในวงการศึกษามากๆ ก็เกิดผลเสียติดตามมา ตั้งแต่การเป็นคนของใคร ได้ประโยชน์ตรงไหน? การโยกย้ายแต่งตั้งที่ไม่เป็นไปตามความรู้ความสามารถ ความเหมาะสมในการทำงาน แต่เป็นการลากตั้งไปตามกระแสอิทธิพลของนักการเมืองเพื่อเข้าไปแย่งชิงฐาน เสียง ผลประโยชน์ ไม่ต้องดูไกล เอาแค่การเลือกตั้งในระดับตัวแทนครูในจังหวัดก็มีการหาเสียงลงทุนมีของแลก แจกแถมกันเหมือนการเมืองท้องถิ่น การเมืองระดับชาติ อย่าได้ออกมาบอกเลยว่า เป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม เพราะสุดท้าย ก็ไปทำนาบนหลังครู "พวกเอ็งเลือกข้ามาเพราะข้าแจก ตอนนี้ข้าต้องถอนทุนคืนจะย้าย จะสับเปลี่ยน ต้องคิดตามระยะทางเป็นกิโลเมตรละ..."
จากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับครูทั้งหลายที่ได้นำมายกตัวอย่างในที่นี้ ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วเขตแคว้นแดนสยาม เมื่อครูซึ่งมีหน้าที่หลักกับการพัฒนาคุณภาพเด็กยังประสบปัญหามากมายก่ายกอง ขนาดนี้ หากผู้มีอำนาจในการกำกับนโยบายไม่รีบแก้ไข ให้ครูมีความพร้อมกับการทำหน้าที่การจัดการเรียนการสอนอย่างเต็มที่ เต็มใจ และเต็มกำลังความสามารถแล้ว แม้จะมีการปฏิรูปการศึกษากันอีกสักกี่ครั้ง กี่หน หรือมีการกำหนดหลักการ ยุทธศาสตร์สวยหรูขนาดไหน หากครูไม่นำไปสู่ตัวเด็ก ทุกอย่างที่ฝันไว้ก็จบอยู่แค่ตัวหนังสือบนกระดาษเท่านั้นเองแหละครับ
ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ของเรา ที่นี่ใช้คุกกี้ (Cookies) เก็บข้อมูล เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)