บทเรียนนี้จะเข้าไปในรายละเอียดของส่วนเนื้อหาที่อยู่ระหว่างคำสั่ง <body> ... </body> กันเลย ในตัวคำสั่ง body เองสามารถระบุส่วนขยายที่เป็นสี/ภาพพื้นหลัง และเทคนิคการเชื่อมโยงได้
BODY : เทคนิคการนำเสนอในส่วนเนื้อหา
โดยปกติเมื่อไม่มีการกำหนดอะไรเป็นพิเศษในคำสั่ง body บราวเซอร์จะแสดงผลหน้าเว็บเพจเป็นพื้นหลังสีขาว ตัวอักษรสีดำเสมอ ในคำสั่ง body เราสามารถระบุค่าสีของพื้นหลัง ตัวอักษร และจุดเชื่อมโยงได้ตามต้องการ ดังนี้
<body bgcolor=" #000099" text=" #FFFFFF" link=" #00FFFF" alink=" #00FF00" vlink=" #FF99FF" >
bgcolor = การกำหนดสีพื้นหลัง
link = การกำหนดสีของจุดเชื่อมโยง (link)
background = การกำหนดรูปภาพพื้นหลัง (ใช้ภาพสกุล .jpg, .gif)
alink = การกำหนดสีของจุดเชื่อมโยงขณะนำเมาท์ไปชี้ (active link)
text = การกำหนดสีตัวอักษรในหน้าเว็บเพจทั้งหมด (ยกเว้นส่วนที่กำหนดพิเศษ)
vlink = การกำหนดสีของจุดเชื่อมโยงเมื่อคลิกไปเยี่ยมชมมาแล้ว (visited link)
การกำหนดค่าสีนั้น สามารถกำหนดโดยระบุชื่อสีโดยตรง เช่น black, white, blue, green,... เป็นต้น แต่การกำหนดแบบนี้ จะไม่สามารถระบุความเข้มแบบไล่เฉดสีอ่อนแก่ได้ จึงได้ใช้ค่าสีเป็นตัวเลขฐานสิบหก (hexadecimal format) โดยกำหนดเป็นค่าสีของแสง RGB แต่ละสีประกอบด้วยเลข 2 หลัก
ในแต่ละสีจะมีค่าของสีจากมืดไปสว่างดังนี้ 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9 A B C D E F เลข 2 หลักของแต่ละสีจึงมีค่าได้ตั้งแต่ 00 – FF หรือแปลงค่าเป็นตัวเลขได้ตั้งแต่ 0 – 255 ดังนั้นเมื่อเรากำหนดค่าสีเป็น 00FF00 (red=0, green=255, blue=0) ดังนั้นผลลัพธ์ที่ได้คือ สีเขียวสด
ไฟล์ตัวอย่าง
แสดงการกำหนดสีพื้นหลัง ตัวอักษร และการเชื่อมโยงในหน้าเว็บเพจ ในตัวอย่างนี้ได้เพิ่มเติมการใช้ภาพเป็นพื้นหลัง ด้วยคำสั่ง Background และระบุชื่อรูปภาพที่ใช้นั้นชื่อ bgimage.gif
<!doctype html>
<html>
<head>
<title>
Example of Body : ไฟล์ตัวอย่างคำสั่ง BODY
</title>
</head>
<body background="bgimage.gif" bgcolor="#ffffff" text="#000099" link="#ff0000" vlink="#990099" alink="#009900">
ข้อความที่แสดงในส่วนเนื้อหา
</body>
</html>
Text Formatting : การกำหนดรูปแบบตัวอักษร
การกำหนดรูปแบบตัวอักษรให้มีความแตกต่าง เพื่อการเน้นข้อความสำคัญ สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการใช้คำสั่งกำกับข้อความ หรือคำที่ต้องการได้ดังนี้
<b>ตัวอักษรตัวหนา</b> สำหรับการกำกับคำหรือข้อความที่ต้องการให้เป็นตัวหนา ทึบ
<i>ตัวอักษรตัวเอียง</i> สำหรับการกำกับคำหรือข้อความที่ต้องการให้เป็นตัวเอียง
<u>ตัวอักษรตัวขีดเส้นใต้</u> สำหรับการกำกับคำหรือข้อความที่ต้องการให้เป็นตัวขีดเส้นใต้
และยังสามารถใช้คำสั่งทั้งสามนี้ผสมกัน เพื่อให้รูปแบบตัวอักษรมีทั้งสอง หรือสามรูปแบบ
Font [size | color | face] : การกำหนดขนาด/สี/แบบตัวอักษร
เพื่อให้การจัดวางรูปแบบของหน้าเว็บเพจดูน่าสนใจ เราสามารถกำหนดขนาด สี และแบบของตัวอักษรได้ในทุกๆ ตำแหน่งที่ต้องการ ด้วยการระบุคำสั่งลงไปกำกับคำ หรือข้อความนั้น
การกำหนดหัวเรื่อง
หัวเรื่อง (Heading) ของเว็บเพจสามารถกำหนดได้ ด้วยการใช้คำสั่ง <Hx> ... </Hx> เมื่อ x คือค่าตัวเลขตั้งแต่ 1 - 7 ซึ่งจะกำหนดให้ตัวอักษรที่อยู่ภายในคำสั่งนี้มีขนาดใหญ่ไปจนถึงเล็ก เรียงตามลำดับ จากตัวเลข 1 มีขนาดใหญ่สุด และ ตัวเลข 7 จะมีขนาดเล็กที่สุด (คำสั่งนี้จะทำให้คำ หรือข้อความนี้เป็นตัวหนา และตัดคำขึ้นบรรทัดใหม่เสมอ) ดังตัวอย่าง
<H1>ขนาดหัวเรื่อง 1</H1>
<H2>ขนาดหัวเรื่อง 2</H2>
<H3>ขนาดหัวเรื่อง 3</H3>
<H4>ขนาดหัวเรื่อง 4</H4>
<H5>ขนาดหัวเรื่อง 5</H5>
<H6>ขนาดหัวเรื่อง 6</H6>
<H7>ขนาดหัวเรื่อง 7</H7>
ขนาดหัวเรื่อง 1
ขนาดหัวเรื่อง 2
ขนาดหัวเรื่อง 3
ขนาดหัวเรื่อง 4
ขนาดหัวเรื่อง 5
ขนาดหัวเรื่อง 6
ขนาดหัวเรื่อง 7
การกำหนดขนาดตัวอักษร
การใช้คำสั่งกำหนดขนาดแบบหัวเรื่องนั้น มีข้อเสียคือ ไม่สามารถจะนำอักษรต่างขนาดกัน มาวางไว้บนบรรทัดเดียวกันได้ เราสามารถกำหนดขนาดฟอนต์ด้วยคำสั่ง <FONT SIZE="n"> ...</FONT> เมื่อ n เป็นค่าตัวเลขตั้งแต่ 1 - 7 เช่นเดียวกันกับหัวเรื่อง แต่การแสดงผลจะเป็นตรงกันข้ามคือ ตัวเลข 7 จะขนาดใหญ่สุด และตัวเลข 1 มีขนาดเล็กที่สุด ดังตัวอย่าง
<font size="1">ตัวอักษรขนาด 1</font>
<font size="2">ตัวอักษรขนาด 2</font>
<font size="3">ตัวอักษรขนาด 3</font>
<font size="4">ตัวอักษรขนาด 4</font>
<font size="5">ตัวอักษรขนาด 5</font>
<font size="6">ตัวอักษรขนาด 6</font>
<font size="7">ตัวอักษรขนาด 7</font>
ตัวอักษรขนาด 1
ตัวอักษรขนาด 2
ตัวอักษรขนาด 3
ตัวอักษรขนาด 4
ตัวอักษรขนาด 5
ตัวอักษรขนาด 6
ตัวอักษรขนาด 7
การกำหนดสี/แบบตัวอักษร
การกำหนดสี แบบตัวอักษรจะใช้คำสั่งฟอนต์เช่นเดียวกัน แต่จะใช้คุณสมบัติขยายของฟอนต์เป็น COLOR="color name" และ FACE="font name" และยังสามารถผสมผสานกับคำสั่งขนาดเดิมได้ เพื่อให้คำสั่งสั้นลง ดังตัวอย่าง
<font size="4" color="#006600" face="LilyUPC">ฟอนต์แบบ LilyUPC </font>
คุณสามารถจะระบุฟอนต์พิเศษใดๆ ก็ได้ แต่ต้องระวังว่า หากผู้ชมเว็บของคุณไม่ได้ติดตั้งฟอนต์เหล่านั้น ในระบบปฏิบัติการที่เขาใช้ เขาก็จะไม่มีโอกาสได้เห็นฟอนต์ที่สุดสวยของคุณ ตามที่ระบุไว้ จะเป็นการดีที่เราจะระบุฟอนต์ที่คาดว่า ผู้ชมจะมีในเครื่องของเขา ด้วยการระบุฟอนต์มาตรฐานหลายๆ แบบลงไป เพื่อให้การแสดงผลทำได้ถูกต้อง โดยเฉพาะเว็บเพจภาษาไทย ต่อไปนี้คือฟอนต์มาตรฐานที่ควรใช้กับเว็บเพจภาษาไทย โดยกำหนดไว้ในบรรทัดต่อจากคำสั่ง <body>
<font face="MS Sans Serif, Tahoma, Thonburi, CordiaUPC, AngsanaUPC, FixedDB ThaiText New, DB ThaiTextFixed">
เพราะคำสั่ง Font Face นี้ จะสามารถทำให้ผู้เข้าชมเว็บเพจของเรา อ่านภาษาไทยได้ โดยการเรียกเอา Font ในเครื่องของผู้ใช้ ที่เข้ามาชมเว็บไซต์ของเราออกมาใช้ จะค้นหา Font เรียงตามลำดับที่เราเขียนไว้ ถ้าไม่พบก็จะไปใช้ฟอนต์ตามคำสั่งของผู้ชมที่กำหนดไว้ในบราวเซอร์ใน ส่วนของ View > Encoding > User define ต่อไป
ในปัจจุบันนี้มีฟอนต์ภาษาไทยสวยๆ จากเว็บไซต์ของ Google ที่เราสามารถนำมาใช้ให้แสดงผลในเว็บไซต์เรา ด้วยการเข้าไปเลือกแบบตัวอักษรได้จากเว็บไซต์ Google Fonts แล้วเลือกค้นหาอักษรภาษาไทย (ตำแหน่งลูกศรชี้ในภาพ) ซึ่งมีหลายตัวดังนี้
เมื่อเลือกฟอนต์ตามที่ต้องการแล้ว ก็สามารถคลิกที่วงกลมเครื่องหมายบวก เพื่อเข้าไปนำโค้ดฟอนต์ดังกล่าวมาใช้งานในหน้าเว็บของเราได้เลย ดังภาพเลือกฟอนต์ชื่อ Chonburi จะปรากฏกล่องสีดำด้านล่างว่า เราเลือกฟอนต์นี้แล้ว
เมื่อคลิกที่กล่องดำจะขยายออกให้เห็นคำสั่งต่างๆ ที่เราจะนำฟอนต์ดังกล่าวมาใช้ได้
การนำไปใช้ในหน้าเว็บไซต์ HTML หน้าใดๆ ก็เพียงแต่นำคำสั่งด้านล่างนี้ไปไว้ในระหว่างส่วน <head> ... </head> ของหน้านั้นเช่นในหน้านี้ ดังตัวอย่าง
<link href="https://fonts.googleapis.com/css?family=Chonburi " rel="stylesheet ">
แล้วเรียกใช้โดยกำหนด Font face ใบรรทัดที่ต้องการใช้งาน ดังนี้
<h1><font color="#0000FF" face="Chonburi">การเลือกใช้ฟอนต์ Chonburi</font></h1>
ผลของการเรียกใช้ดังด้านล่างนี้
การเลือกใช้ฟอนต์ Chonburi
หากต้องการนำไปใช้แสดงผลในทุกๆ หน้า เราจะใช้การกำหนดคำสั่งใน Stylesheet ซึ่งจะได้ศึกษาในหัวข้อถัดไป (บทที่ 6)
Tips & Tricks : เทคนิคเพิ่มเติม
บทนี้มีเทคนิคค่อนข้างมาก และมีส่วนสำคัญในการทำให้หน้าเว็บเพจของเราน่าสนใจขึ้น อ่านง่าย เอาชนะข้อจำกัดต่างๆ ได้มากขึ้น ถึงตอนนี้คุณก็สามารถจะเพิ่มเติมข้อความใดๆ ลงในหน้าเว็บเพจของคุณได้แล้ว
ไม่มีวิธีการใดที่จะช่วยให้คุณจดจำคำสั่งที่หลากหลายเหล่านี้ได้ นอกจากจะใช้งานมันบ่อยๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก คำสั่งในภาษา HTML นั้นจะเขียนด้วยตัวอักษรตัวใหญ่ หรือตัวเล็ก หรือผสมกันก็ได้ มีเงื่อนไขที่ต้องระวังคือ
หลังเครื่องหมาย < กับอักษรตัวแรกของคำสั่ง ต้องไม่มีช่องว่างโดยเด็ดขาด
ระหว่างค่าคุณสมบัติแต่ละค่าต้องเว้นวรรคเสมอ
การพิมพ์เครื่องหมายระหว่าง =" จะต้องติดกันไม่มีช่องว่าง และการพิมพ์ " (Double quotes) ต้องกดแป้นเพียงครั้งเดียว ไม่ใช่พิมพ์ ' (Single quote) 2 ครั้ง
การพิมพ์โค๊ดคำสั่งเองนั้น อาจมีการผิดพลาดได้ง่ายจึงต้องระมัดระวัง ช่างสังเกตให้มาก เมื่อทดสอบแล้วการแสดงผลผิดพลาด จะต้องใจเย็นในการตรวจสอบโค๊ด ซึ่งจะช่วยให้เราจดจำคำสั่งต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้นด้วย
END : สรุปคำสั่งที่ใช้ในตอนนี้
TAGS
รายละเอียด
<body> ... </body>
คำสั่งกำหนดการแสดงผลในส่วนเนื้อหาของเว็บเพจ
<b> ... </b>, <i> ... </i>, <u> ... </u>
การกำหนดรูปแบบตัวอักษรเป็นตัวหนา ตัวเอียง และขีดเส้นใต้
<Hx> ... </Hx>
การกำหนดขนาดตัวอักษรหัวเรื่อง เมื่อ x คือ ตัวเลข 1-7 เป็นขนาดเรียงลำดับจากใหญ่สุดไปเล็กสุด
<font size="n">
การกำหนดขนาดตัวอักษร เมื่อ n คือ ตัวเลข 1-7 เป็นขนาดเรียงลำดับจากเล็กสุดไปใหญ่สุด
<font face="name">
การกำหนดชื่อแบบตัวอักษรให้แตกต่างจากข้อความส่วนอื่น
<font color="name">
การกำหนดสีของตัวอักษรให้แตกต่างจากข้อความส่วนอื่น ใช้ได้ทั้งแบบระบุชื่อสี หรือกำหนดค่าตัวเลขฐาน 16 (Hexadecimal)