บทที่ 8 > 8.5 ความปลอดภัยของข้อมูล | 8/29 | ||||||
เมื่อข้อมูลที่วิ่งไปมาตามช่องสื่อสารหรือนำมาเก็บไว้ในฐานข้อมูลในรูปสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โอกาสของการถูกดักฟัง หรือการเปลี่ยนแปลงแก้ไขในช่องสื่อสารจึงเป็นไปได้ง่าย ระบบฐานข้อมูลที่อยู่ในจานแม่เหล็ก ในระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ได้จากหลายคนหลายแห่ง ก็มีโอกาสที่ผู้ไม่หวังดีจะเข้าสู่ระบบโดยตรงได้ ถึงแม้ระบบจะมีวิธีการป้องกันที่ดีแล้ว ผู้รู้เรื่องทางเทคโนโลยีระดับสูงก็อาจหาวิธีเข้าถึงข้อมูลได้ ดังนั้นจึงมีการแปลงรหัสข้อมูล เป็นรหัสที่ผู้อื่นไม่ทราบ ถ้าการแปลรหัสไม่ตรงกัน ทำให้รู้ได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลเกิดขึ้นแล้ว ระบบอาจตรวจสอบได้ แม้กระทั่งว่าข้อมูลได้เปลี่ยนแปลงไปจากที่ใด ระบบการตรวจสอบข้อมูลมีเทคนิคพิเศษหลายประการ เช่น ข้อมูลทั้งหมดจะมีการประมวลผลทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง มีการเก็บประวัติการเปลี่ยนแปลง โดยเก็บทั้งผู้เปลี่ยนแปลงและตัวข้อมูล ตำแหน่งข้อมูล การเปลี่ยนแปลงข้อมูลเหล่านี้จะมีระบบตรวจสอบ การดักฟังข้อมูลอาจทำได้ แต่ข้อมูลที่ได้ไปจะไม่มีความหมายใด เพราะแปลข้อมูลไม่ได้ ข้อมูลที่ส่งจากตู้เอทีเอ็มผ่านเครือข่ายสายโทรศัพท์เข้าสู่คอมพิวเตอร์กลางมีการแปลงรหัสข้อมูล การถอดรหัสข้อมูลเหล่านี้ ปลายทางจะรู้เท่านั้น สูตรการเปลี่ยนแปลงรหัสข้อมูลจะถูกเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ผู้ดักฟังหรือผู้ที่พยายามจะอ่านข้อมูลจากฐานข้อมูลโดยตรงจึงไม่สามารถแปลข้อมูลได้ การแก้ไขข้อมูลจึงทำได้ยากขึ้น การใช้งานข้อมูลในยุคนี้ จึงต้องต่อสู้กับวิธีการที่ผู้ไม่ประสงค์ดีจะนำมาใช้ อาชญากรรมทางด้านข้อมูลหรือการโจรกรรมข้อมูล ซึ่งในยุคต่อไปจะมีมากขึ้น ข้อมูลที่ส่งไปมาผ่านเครือข่ายโทรคมนาคมสาธารณะที่หลายคนนึกว่าปลอดภัย แต่ความเป็นจริงแล้วโอกาสของการดักฟังมีได้เสมอ ผู้ที่ใช้วิทยุโทรศัพท์มือถือพูดกันนั้น คลื่นแพร่กระจายเป็นคลื่นวิทยุ สามารถดักฟังได้โดยง่าย ผู้ที่ใช้เครือข่ายทางสายก็มีผู้แอบอัดเทปและนำมาเปิดเผยให้เห็นกันแล้ว ข้อมูลในระบบจึงต้องพัฒนาใช้เทคนิคหลาย ๆ อย่างพร้อมกันเพื่อความปลอดภัยของข้อมูล
|
|||||||