บทที่ 4 > 4.5 หน่วยความจำรอง > 4.5.1 ฮาร์ดดิสก์
4/37
   
         ฮาร์ดดิสทั่วไปจะประกอบด้วยแผ่นบันทึกมากกว่าหนึ่งแผ่นมาประกบซ้อนทับกัน แล้วบรรจุในกล่องปิดมิดชิด หน่วยขับฮาร์ดดิสก์จะต้องมีจำนวนหัวอ่านบันทึกเท่ากับจำนวนผิวหน้าของแผ่นบันทึก หัวอ่านบันทึกทุกตัวจะเชื่อมต่อกันในลักษณะที่ให้ทุกตัวเคลื่อนย้ายในเวลาเดียวกันได้ ฮาร์ดดิสก์จะมีหน่วยอ้างอิงตำแหน่งเป็นไซลินเดอร์ (cylinder) แทนการเรียกเป็นแทร็กเหมือนแผ่นบันทึกข้อมูล เพราะฮาร์ดดิสก์ประกอบด้วยแผ่นบันทึกหลาย ๆ แผ่นซ้อนกันเป็นทรงกระบอก จึงมีตำแหน่งแทร็กตรงกันหลายแผ่น หลังจากนั้นจะมีการบอกข้อมูลที่ต้องการว่าอยู่หน้าใด หรือตรงหัวอ่านบันทึกตัวใด จำนวนไซลินเดอร์ของฮาร์ดดิสก์แปรเปลี่ยนไปตามรุ่นหัวอ่านบันทึกของหน่วยขับแผ่นบันทึก และหน่วยขับฮาร์ดดิสก์จะแตกต่างกัน โดยหัวอ่านบันทึกของหน่วยขับบันทึกจะสัมผัสโดยตรงกับผิวจานแม่เหล็ก จึงมีวิธีการอ่านและบันทึกข้อมูลคล้ายกับวีดิทัศน์หรือเครื่องเล่นเกม ส่วนหัวอ่านบันทึกของหน่วยขับฮาร์ดดิสก์จะลอยสูงจากผิวจานแม่เหล็ก ขณะที่จานหมุนด้วยความเร็วสูงหลายพันรอบต่อวินาที การลอยสูงขึ้นนี้จะอยู่ในระยะประมาณ 4 ไมครอน (เส้นผมมนุษย์จะหนาราว 80 ไมครอน) ซึ่งถือว่าเกือบสัมผัสเลยทีเดียว ดังนั้นควรระมัดระวังหลีกเลี่ยงการกระทบกระแทกกับเครื่องขณะที่กำลังมีการใช้งานอยู่ เพราะหัวอ่านบันทึกอาจมีโอกาสกระทบผิวจานแม่เหล็กจนทำให้ผิวและสารเหล็กออกไซด์ที่เคลือบอยู่เสียหาย และเรียกคืนมาดังเดิมไม่ได้ การซ่อมแซมฮาร์ดดิสก์จะทำได้ยากกว่า เพราะจะต้องเปิดภาชนะบรรจุฮาร์ดดิสก์ในห้องพิเศษเฉพาะที่มีเพียงในบริษัทผู้ผลิตหรือผู้ซ่อมแซมเครื่องเท่านั้น   
       เนื่องจากฮาร์ดดิสก์ไม่สามารถทำงานเก็บข้อมูลเองได้ จำเป็นต้องมีแผงวงจรควบคุมมาทำงานประกอบ ตามปกติแผงวงจรนี้จะใช้เสียบเข้าช่องติดตั้งแผงวงจร เพื่อแปลงสัญญาณที่จะเข้าหรือออกจากฮาร์ดดิสก์ แผงวงจรควบคุมแต่ละชุดจะมีรหัสเฉพาะสำหรับติดต่อกับหน่วยขับฮาร์ดดิสก์ ไม่สามารถนำแผงวงจรควบคุมอื่น ๆ ที่ใช้รหัสต่างกันมาอ่านบันทึกข้อมูลได้ จะต้องนำฮาร์ดดิสก์นั้นมาฟอร์แมตใหม่ให้สามารถใช้กับแผงวงจรควบคุมนั้น แผงวงจรควบคุมส่วนใหญ่ที่ใช้งาน สามารถจำแนกตามตัวต่อประสาน (Interface) ได้เป็น 4 ระบบ คือ ระบบ ST-506/412 ระบบ ESDI (Enhanced Small Device Interface) ระ บบ SCSI (Small Computer System Interface) และระบบ IDE (Integrated Drive Electronics) แต่สองชนิดแรกนั้นไม่มีใช้ในปัจจุบันแล้ว จึงจะขอกล่าวถึงเฉพาะสองชนิดสุดท้ายดังนี้
   
 
ก่อนหน้า
ถัดไป