รูปแบบหนึ่งของการบริการบนเครือข่ายที่มาแรงคือ World Wide Web หรือ WWW เพราะเป็นการปฏิวัติการสื่อสารบนเครือข่าย ที่ในอดีตทำได้เฉพาะตัวอักษร (Text) หรือข้อความล้วนๆ ซึ่งขาดความน่าสนใจ มาสู่การนำเสนอด้วยข้อความ รูปภาพและเสียง มัลติมีเดียไฟล์ชนิดต่างๆ
HTML : อักษรวิเศษของทิม |
Tim Berners-Lee
|
WWW ถูกพัฒนาขึ้นมาครั้งแรกในปี ค.ศ.1989 โดย ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี (Tim Berners-Lee) แห่งศูนย์ปฏิบัติการวิจัยทางอนุภาคฟิสิกส์ของยุโรป (CERN) ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ในครั้งแรก ทิมเพียงคิดอำนวยความสะดวกให้แก่บรรดานักวิทยาศาสตร์ของสถาบัน ให้ค้นหาข้อมูลง่ายขึ้น จึงคิดประดิษฐ์ตัวอักษรที่มีความสามารถในการสื่อสารข้อมูลได้ เรียกว่า "ไฮเปอร์เท็กซ์" (Hypertext)
เมื่อได้ตัวอักษรที่มีคุณสมบัติพิเศษแล้ว สิ่งที่พัฒนาขึ้นต่อจากไฮเปอร์เทกซ์ก็คือ เครื่องมือสำหรับอ่านตัวอักษรที่เขาประดิษฐ์ขึ้น และเรียกเครื่องมือนี้ว่า "บราวเซอร์" (Browser) เพียง 3 ปีหลังจากกำเนิดไฮเปอร์เท็กซ์ขึ้นมา โปรแกรมบราวเซอร์ตัวแรกชื่อ Mosaic ซึ่งทำงานบนระบบ X-Windows ก็สร้างปรากฏการณ์ใหม่ขึ้นมา ในระบบการสื่อสารข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต และยังเป็นแม่แบบของบราวเซอร์ตัวอื่นๆ เช่น Netscape Communicator, Internet Explorer, Mozilla Firefox, Safari, Opera, Google Chrome เป็นต้น และก่อให้เกิดกระแสโลกไร้พรมแดนขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน
|
เมื่อเราเชื่อมต่อเข้าเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และใช้บราวเซอร์ในการสืบค้นข้อมูล สิ่งที่พบในหน้าต่างบราวเซอร์ คือ โฮมเพจ หรือ เว็บเพจ นั่นเอง การสร้างโฮมเพจหรือเว็บเพจนี้จะใช้คำสั่งภาษาของทิมคือ "ไฮเปอร์เทกซ์" แม้ว่าต่อมา จะมีการพัฒนาโปรแกรมที่ทำให้เราสามารถสร้างเว็บเพจได้อย่างง่ายดาย แต่สุดท้ายการจัดเก็บไฟล์ การแก้ไขให้ตรงกับความต้องการของเรามากที่สุด ก็ด้วยการใช้ตัวอักษรของทิม ที่เรียกกันติดปากว่า ภาษา HTML อยู่นั่นเอง
ลักษณะเด่นของการนำเสนอข้อมูลเว็บเพจ HyperText |
ความสามารถในการเชื่อมโยงข้อมูลไปยังจุดอื่นๆ บนหน้าเว็บไซต์ได้อย่างหลากหลาย ตลอดจนความสามารถในการเชื่อมโยงไปเว็บไซต์อื่นๆ ในระบบเครือข่าย อันเป็นที่มาของคำว่า HyperText (ข้อความหลายมิติ) ซึ่งเป้นข้อความที่มีความสามารถมากกว่าปกตินั่นเอง ซึ่งมีผู้ให้คำนิยามของเว็บไว้ดังนี้
- The Web is a Graphical HyperText Information System.
การนำเสนอข้อมูลผ่านเว็บ เป็นการนำเสนอด้วยข้อมูลที่สามารถเรียกหรือโยงไปยังจุดอื่นๆ ในระบบกราฟิก ซึ่งทำให้ข้อมูลนั้นๆ มีจุดดึงดูดให้น่าเรียกดู
- The Web is Cross-Platform
เอกสาร HTML ไม่ยึดติดกับระบบปฏิบัติการ (Operating System : OS) เนื่องจากข้อมูลถูกจัดเก็บเป็น Text File ดังนั้นไม่ว่า ไฟล์จะถูกเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการเป็น UNIX หรือ Windows หรือ Mac OS ก็สามารถเรียกดูได้จากคอมพิวเตอร์ ที่ใช้ระบบปฏิบัติการต่างจากคอมพิวเตอร์ที่เป็นเครื่องบริการเว็บได้
- The Web is distributed.
ข้อมูลในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีปริมาณมากจากทั่วโลก และผู้ใช้จากทุกแห่งหน ที่สามารถเชื่อมต่อเข้าระบบอินเทอร์เน็ตได้ ก็สามารถเรียกดูข้อมูลได้ตลอดเวลา ดังนั้นข้อมูลในระบบอินเทอร์เน็ตจึงสามารถเผยแพร่ได้รวดเร็ว และกว้างไกล
- The Web is interactive.
การทำงานบนเว็บไซต์ เป็นการทำงานแบบโต้ตอบกับผู้ใช้โดยธรรมชาติอยู่แล้ว ดังนั้น เว็บไซต์จึงเป็นระบบโต้ตอบ (Interactive) ในตัวมันเอง เริ่มตั้งแต่ผู้ใช้เปิดโปรแกรมบราวเซอร์ (Browser) พิมพ์ชื่อเรียกเว็บ (URL) เมื่อเอกสารเว็บแสดงผลผ่านบราวเซอร์ ผู้ใช้ก็สามารถคลิกเลือกรายการ หรือข้อมูลที่สนใจ อันเป็นการทำงานแบบโต้ตอบไปในตัวนั่นเอง
Homepage - Webpage - Website : อะไรกันแน่? |
เว็บเพจ เว็บไซต์ และโฮมเพจ คำ 3 คำนี้จะมีความหมายที่แตกต่างกัน แต่มักจะถูกเรียกสลับกันจนสับสน ไม่ทราบว่าคำไหนคืออะไรกันแน่ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ชัดเจน ตรงกัน จึงขอให้ความหมายไว้ดังนี้
- โฮมเพจ หมายถึง หน้าแรก ถ้าเปรียบหนังสือก็จะหมายถึงปกหน้า ซึ่งเป็นส่วนแรกที่ผู้ชมจะพบเห็นก่อนเป็นลำดับแรก การทำโฮมเพจให้สวยงามน่าประทับใจคุณก็มีชัยมากกว่าครึ่งแล้ว
- เว็บเพจ หมายถึง หน้าเว็บทุกๆ หน้า ซึ่งรวมหน้าแรกด้วย เปรียบเหมือนหนังสือหน้าต่างๆ นั่นเอง ซึ่งจะขยายส่วนเนื้อหาต่างๆ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
- เว็บไซต์ หมายถึง กลุ่มของหน้าเว็บเพจที่รวมกันและถูกอ้างถึงว่าตั้งอยู่ที่ใด เปรียบเหมือนที่วางหนังสือเล่มนั้นๆ ว่าอยู่ที่ชั้นใด หิ้งใด เราจะพบว่าการบอกตำแหน่งนั้นจะระบุเป็นชื่อ URL (Uniform Resource Locator) ซึ่งเราจะพิมพ์ลงไปในช่อง Address ของบราวเซอร์ เช่น http://www.krumontree.com
HTML : ภาษาหลักของการสร้างเว็บเพจ |
ภาษา HTML เป็นภาษาหลักของการสร้างเว็บเพจ ซึ่งย่อมาจากคำว่า "Hyper Text Markup Language" ถูกพัฒนามาจากอักษรวิเศษของทิมนั่นเอง
HTML เป็นภาษาที่ง่ายต่อการเรียนรู้ มีประโยชน์สูง ภายในเว็บเพจหน้าหนึ่งๆ จะประกอบไปด้วยคำสั่ง HTML ต่างๆ มากมาย โครงสร้างของภาษา HTML ถูกควบคุมและกำหนดโดยองค์กรที่เรียกว่า W3C (World Wide Web Consortium) เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทำให้บราวเซอร์ทุกตัวทุกค่ายอ่านเว็บเพจได้
ภาษา HTML เป็นภาษาที่มีรูปแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน (คล้ายกับภาษาพูดของมนุษย์ในการสื่อสารกันนั่นเอง) ประกอบด้วย คำสั่ง (tag) ที่อยู่ภายในเครื่องหมาย < (น้อยกว่า) และเครื่องหมาย > (มากกว่า) มีรูปแบบดังนี้ <คำสั่ง> ในแต่ละคำสั่งสามารถมีคำสั่งขยายเพิ่มเติมเติมได้ เพื่อช่วยให้เกิดผลในการแสดงผ่านโปรแกรมบราวเซอร์แตกต่างกัน เช่น
ตัวอย่าง 1 : <font color="red">ตัวอักษรสีแดง</font>
ผลลัพธ์ 1 : ตัวอักษรสีแดง
ตัวอย่าง 2 :<font color="red" size="3">ตัวอักษรสีแดงขนาดเท่ากับ 3</font>
ผลลัพธ์ 2 : ตัวอักษรสีแดงขนาดเท่ากับ 3
จากตัวอย่าง จะเห็นได้ว่าคำสั่ง (tag) จะมีอยู่ 2 ส่วนคือ ส่วนเปิด <คำสั่ง> และส่วนปิด </คำสั่ง> เป็นคู่ๆ เสมอ (ส่วนปิดจะมีเครื่องหมาย / (slash) นำหน้า และไม่มีคำสั่งขยายเพิ่ม) แต่ก็มีบางคำสั่งที่ไม่จำเป็นต้องมีคู่ปิดได้ ซึ่งเราจะได้ศึกษารายละเอียดในลำดับต่อไป
โครงสร้างหลักของภาษา HTML |
ในการเขียนภาษา HTML นั้น จะมีรูปแบบโครงสร้างการเขียนแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
<html>
<head>
<title>
ข้อความนี้จะแสดงบนไตเติ้ลบาร์ของบราวเซอร์
</title>
</head>
<body>
ส่วนเนื้อหาของเว็บเพจ ประกอบด้วย
- ข้อความ
- รูปภาพ
- สื่อมัลติมีเดีย
- - - - - - - - - - - - -
- - - - - - - - - - - - -
- - - - - - - - - - - - -
</body>
</html>
|
(1) ส่วนประกาศ
(2)
ส่วนหัว
(2)
(3)
ส่วนเนื้อหา
(3)
(1)
|
- ส่วนประกาศ เป็นส่วนที่กำหนดให้บราวเซอร์ทราบว่า นี่คือภาษาเอชทีเอ็มแอล และจะต้องทำการแปรผลอย่างไรมีคำสั่งคู่เดียวคือ <html> และ </html> ปรากฏที่หัวและท้ายไฟล์
- ส่วนหัวเรื่อง (head) เป็นส่วนที่แสดงผลข้อความบนไตเติ้ลบาร์ของบราวเซอร์ และอาจมีคำสั่งสำหรับกำหนดรายละเอียดด้านเทคนิคอื่นๆ อีก แทรกอยู่ระหว่างคำสั่ง <head> และ </head>
- ส่วนเนื้อหา (body) เป็นส่วนที่มีความซับซ้อนมากที่สุด และสามารถใส่เทคนิคลูกเล่น เพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้ชมได้มาก ความแตกต่างระหว่างเว็บไซต์ต่างๆ แสดงความมีฝีมือของผู้จัดทำ ศิลปะในการออกแบบจะอยู่ในส่วนนี้ทั้งหมด ซึ่งจะแทรกอยู่ระหว่างคำสั่ง <body> และ </body>
|