|
|||
5.2.2 ประเภทของระบบปฏิบัติการ เนื่องจากระบบปฏิบัติการเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานได้ แต่ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันมีสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกัน เช่น เครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานทั่วไปจะมีคุณสมบัติและการทำงานที่แตกต่างจากคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ เช่น มินิคอมพิวเตอร์ ที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องให้บริการที่ต้องคอยให้บริการและดูแลเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เป็นบริวารจำนวนมาก ระบบปฏิบัติการที่ใช้งานกับคอมพิวเตอร์ประเภทนี้จึงต้องมีความซับซ้อนกว่าระบบปฏิบัติการที่ใช้ในเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ และเราสามารถแบ่งประเภทของระบบปฏิบัติการตามลักษณะการทำงานได้เป็น 3 ประเภทดังนี้ (1) ประเภทใช้งานเดียว (single-tasking) ระบบปฏิบัติการประเภทนี้จะกำหนดให้คอมพิวเตอร์ใช้งานได้ครั้งละหนึ่งงานเท่านั้น ใช้ในเครื่องขนาดเล็กอย่างไมโครคอมพิวเตอร์ เช่น ระบบปฏิบัติการดอส (2) ประเภทใช้หลายงาน (multitasking) ระบบปฏิบัติการสามารถควบคุมการทำงานพร้อมกันหลายงานในขณะเดียวกัน ผู้ใช้สามารถทำงานกับซอฟต์แวร์ประยุกต์ได้หลายชนิดในเวลาเดียวกัน โดยระบบปฏิบัติการจัดสรรทั้งเวลาและเนื้อที่ที่ต้องใช้ในการประมวลผลคำสั่งของซอฟต์แวร์แต่ละชนิด เช่น แบ่งปันเวลาในการประมวลผลของซีพียู และการแบ่งเนื้อที่ในหน่วยความจำสำหรับเก็บข้อมูลและคำสั่งของซอฟต์แวร์ที่ใช้งาน เช่น ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 95 และ 98 (3) ประเภทใช้งานหลายคน (multiuser) ในหน่วยงานบางแห่งอาจใช้คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่ประมวลผล ทำให้ในขณะใดขณะหนึ่งมีผู้ใช้คอมพิวเตอร์พร้อมกันหลายคน แต่ละคนจะมีสถานีงานของตนเองเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ จึงต้องใช้ระบบปฏิบัติการที่มีความสามารถในการจัดการสูง เพื่อให้ผู้ใช้ทุกคนสามารถทำงานเสร็จได้ในเวลา ระบบปฏิบัติการในกลุ่มนี้ เช่น ระบบปฏิบัติการวินโดวส์เอ็นที
|
|||
|