|
|||
ในปัจจุบันมีการคิดค้นดีแรมขึ้นใช้งานอยู่หลายชนิด เทคโนโลยีในการพัฒนาหน่วยความจำประเภทแรมเป็นความพยายามลดเวลาในส่วนที่สองของการอ่านข้อมูล นั่นก็คือช่วงวงรอบการทำงาน นักเรียนอาจเคยได้ยินชื่อเรียกแรมมาหลายประเภท ดังนี้ (ก) เอฟพีเอ็มดีแรม (Fast Page Mode Dynamic RAM : FPM DRAM) เป็นแรมที่พัฒนาหลังจากไดนามิกแรมธรรมดาในยุคแรกๆ ที่ใช้ในเครื่องระดับ 80286 และ 80386 เอฟพีเอ็มดีแรมเป็นแรมชนิดที่เก่าที่สุดที่ยังคงมีขายอยู่ในตลาดคอมพิวเตอร์ เป็นแรมที่พัฒนาขึ้นใช้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ระดับ 80486 ปัจจุบันยังคงมีการผลิตมาจำหน่ายแต่น้อยมาก ทำให้เป็นแรมชนิดที่มีราคาแพง หลักการทำงานของแรมชนิดนี้พัฒนามาจากการทำงานของไดนามิกแรมธรรมดา คือ อ่านข้อมูลทีละ 4 ไบต์เหมือนกัน แต่ใช้หลักการที่ให้ข้อมูลเหล่านั้นอยู่ในแถวเดียวกันแต่คนละสดมภ์ การส่งสัญญาณระบุตำแหน่งของไบต์ที่ 2 ถึง 4 ระบุเฉพาะส่วนที่เป็นตำแหน่งของสดมภ์ ส่วนการระบุแถวจะส่งไปในครั้งแรกเพียงครั้งเดียว ทำให้เวลาในการเข้าถึงข้อมูลไบต์ที่ 2- 4 ลดลงเหลือเพียงส่วนที่สองเท่านั้น เป็นผลให้การทำงานของเอฟพีเอ็มดีแรมเร็วกว่าแรมธรรมดาประมาณร้อยละ 30 และมีอัตราการส่งถ่ายข้อมูลในช่วง 100 –200 เมกะไบต์ต่อวินาที (ข) อีดีโอแรม (Extended Data Output RAM : EDO RAM) เป็นแรมที่พัฒนาขึ้นหลังจากเอฟพีเอ็มดีแรม พัฒนาขึ้นในปี พ.ศ.2538 โดยบริษัทไมครอนในประเทศสหรัฐอเมริกา ใช้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ระดับเพนเทียมเอ็มเอ็มเอ็กซ์ เพนเทียมโปร ซึ่งไม่เป็นที่นิยมแล้วในปัจจุบัน หลักการทำงานของแรมชนิดนี้เหมือนกับเอฟพีเอ็มดีแรม แต่ใช้เวลาในการอ่าข้อมูลแต่ละไบต์เร็วกว่า โดยสามารถส่งสัญญาณระบุตำแหน่งส่วนที่เป็นสดมภ์ของไบต์ถัดไปได้เลยโดยไม่ต้องรอให้การอ่านข้อมูลปัจจุบันเสร็จสิ้นก่อน ทำให้เข้าถึงข้อมูลได้เร็วกว่าเอฟพีเอ็มดีแรมร้อยละ 5-10 แรมชนิดนี้ทำงานได้เร็วในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ความถี่ 66 เมกะเฮิร์ต และส่งถ่ายข้อมูลด้วยความเร็ว 800 เมกะไบต์ต่อวินาที |
|||