บทที่ 4 > 4.2 หน่วยรับเข้า > 4.2.6 อุปกรณ์รับเข้าแบบจดจำเสียง
4/17
   
  4.2.6 อุปกรณ์รับเข้าแบบจดจำเสียง

       การใช้งานคอมพิวเตอร์ในยุคใหม่นี้ มีความพยายามทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถรับคำสั่งหรือข้อมูลที่เป็นเสียงพูดได้ ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการสั่งงานคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์รับเข้าที่ได้รับการพัฒนามาเพื่อประโยชน์ดังกล่าวเรียกว่า อุปกรณ์วิเคราะห์เสียงพูด (speech recognition device) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างนักคอมพิวเตอร์และนักภาษาศาสตร์ การใช้อุปกรณ์ชนิดนี้ต้องมีซอฟต์แวร์ที่เก็บฐานข้อมูลของคำศัพท์และความหมายของคำ นอกจากนี้ยังต้องจดจำน้ำเสียงและสำเนียงของผู้ที่จะใช้งานด้วย เนื่องจากการพูดของคนแต่ละคนมีความแตกต่างกันในแง่ของน้ำเสียงและสำเนียง ดังนั้นก่อนการใช้งานอุปกรณ์ชิ้นนี้ ต้องทำให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้และจดจำน้ำเสียง สำเนียงของผู้ใช้งานระยะหนึ่งก่อนจึงใช้เริ่มงานจริงได้ ส่วนการทำงานของอุปกรณ์ชิ้นนี้จะรับข้อมูลเข้าทางไมโครโฟน (microphone) แล้วแปลงข้อมูลเสียงให้เป็นข้อมูลแบบดิจิทัล หลังจากนั้นนำข้อมูลที่แปลงได้ไปเปรียบเทียบกับคำศัพท์ในฐานข้อมูล หาความหมายของคำนั้นซึ่งอาจเป็นคำสั่ง เมื่อได้ความหมายก็สั่งให้คอมพิวเตอร์กระทำการตามความหมายของคำสั่งดังกล่าว
       ถึงแม้อุปกรณ์ชิ้นนี้จะสามารถการรับเข้าข้อมูลสะดวกสบายขึ้น อีกทั้งสามารถช่วยคนตาบอดที่ไม่สามารถสั่งงานเครื่องคอมพิวเตอร์ผ่านแผงแป้นอักขระหรือเมาส์ได้ แต่ก็ยังมีข้อเสียที่ต้องได้รับการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ เช่น ปัญหาในเรื่องของน้ำเสียงและสำเนียง เนื่องจากผู้สั่งการถึงแม้จะเป็นคนเดียวกัน แต่หากสั่งการในสภาวะอารมณ์ที่แตกต่างกัน ็มีผลให้น้ำเสียงแตกต่างจากเดิม มีผลให้การทำงานของอุปกรณ์อาจผิดพลาดไปได้ และปัญหาในเรื่องความสามารถในการจดจำคำศัพท์ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของหน่วยความจำ ทำให้จำนวนคำศัพท์ที่จำได้มีจำกัด และไม่สามารถแยกแยะคำศัพท์ที่ที่พ้องเสียงกัน เช่น คำศัพท์ภาษาอังกฤษ to too และ two
 
ก่อนหน้า
ถัดไป