Wing of Change.
Wing of Change!
ไม่ได้จั่วหัวข้อผิดพลาดนะครับ มีคนสงสัยทักมาว่า Wind of Change หรือเปล่า? นั่นมันเพลงของวง Scorpions เขา ส่วน Wing of Change! ในที่นี้คือลมเปลี่ยนทิศที่ปลายปีกเครื่องบินครับ ขนาด Google ยังจะเปลี่ยนให้เลยฮือๆ ไม่เปลี่ยนนะ
สถานการณ์ COVID-19 กำลังทำลายล้าง (หรือเป็นระเบิดลูกใหญ่) ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถึงกับพังยับเยิน หลายสายการบินซวนเซจะไปไม่รอด ที่ประกาศตัวขอเข้าสู่กระบวนการล้มละลายอย่าง Virgin Australia, Flybe ของอังกฤษ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมามีข่าวลือแพร่สะพัดว่าสายการบิน Aegean Airlines ของกรีซ กำลังจะยื่นเรื่องขอล้มละลายถ้ารัฐบาลไม่อุ้ม (เหมือนการบินไทยของเรานี่แหละ)
ในขณะเดียวกัน ข่าวแผนการช่วยเหลือของภาครัฐต่อการอุ้ม การบินไทย (TG) ที่ว่าเป็นสายการบินแห่งชาตินั้น ไม่เพียงแต่เสียงคัดค้านจากประชาชนผู้เสียภาษี แต่ยังมาจากการคัดค้านของสหภาพแรงงานของสายการบินด้วย ที่กลัวการล้มครืนลงสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ด้วยการถอนหุ้นของกระทรวงการคลังออกไป ปลดการเป็น “รัฐวิสาหกิจ” สู่สถานะ สายการบิน “บริษัทเอกชน” เต็มรูปแบบ
เรามาดูสถานการณ์ของ 6 สายการบินที่คนไทยเรามักจะคุ้นเคยกันดี และบางคนอาจจะได้เคยใช้บริการกันมาแล้ว เพื่อดูว่า พวกเขารับมือกับสถานการณ์ที่ท้องฟ้าทั่วโลกไม่เป็นมิตรเสียแล้วกันได้อย่างไร
Qatar Airways (QR)
Qatar Airways สายการบินที่ใช้สถานีฐานอยู่ที่ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ได้ประกาศเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า อาจจะมีการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก โดย Akbar Al Baker ซีอีโอของบริษัท เขียนบันทึกภายในแจ้งว่า พนักงานที่ได้รับผลกระทบจะได้รับเงินชดเชยตามสัญญาจ้าง รวมถึงพนักงานที่ไม่สามารถกลับบ้านได้ เนื่องจากข้อจำกัดในการเดินทาง ก็จะได้รับเงินสงเคราะห์ และที่พักอาศัยจนกว่าจะสามารถเดินทางกลับได้
แม้ว่าทางสายการบินจะได้ทำการบินอย่างต่อเนื่อง ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ไปยังจุดหมายปลายทางที่สำคัญหลายๆ แห่ง รวมถึงกรุงเทพฯ ด้วย นับเป็นสิ่งที่ Qatar ภูมิใจในตัวเองว่า เป็นสายการบินที่ได้พาผู้คนจากทั่วโลกกลับบ้านในช่วงวิกฤตครั้งนี้ และได้ทำการบินรับส่งสินค้าอาหาร และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์เป็นจำนวนมาก
Qatar Airways มีแผนจะทำการบินตามปกติต่อไปอีก (ในจำนวนครึ่งหนึ่งของเที่ยวบินที่เคยปฏิบัติการปกติ) ภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเทศปลายทางด้วยว่า “เปิดน่านฟ้า” ให้บินเข้าไปได้มากน้อยเพียงใด ในปัจจุบันเที่ยวบินที่ออกจากออสเตรเลียมีเพียง Qatar ที่รับทรัพย์อยู่เป็นหลัก เพราะ Qantas ของออสเตรเลียนั้นหยุดบินทุกเส้นทางไปนานแล้ว
Singapore Airlines (SQ)
บริษัทนี้มีสถานะเช่นเดียวกันกับการบินไทย Singapore Airlines เป็นของรัฐบาลสิงคโปร์ โดยมีหุ้นส่วนใหญ่ผ่าน Temasek Holdings ซึ่งเป็นหนึ่งในสองกองทุนความมั่งคั่งของสิงคโปร์ แต่ก็แตกต่างจากรัฐบาลไทยตรงที่ รัฐบาลสิงคโปร์ไม่ได้เข้าแทรกแซงกิจการภายในของสายการบิน และไม่มีนายพล/ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คนใดเข้าไปนั่งอยู่ในคณะกรรมการบริหารบริษัท ปล่อยให้ดำเนินการโดยอิสระจากทีมบริหารมืออาชีพ
เมื่อพิจารณาว่า Singapore Airlines ประสบความสำเร็จได้อย่างไร รัฐบาลสามารถสนับสนุนให้ดำเนินการอย่างอิสระ และแค่คอยรับเงินปันผลจากสายการบินได้เท่านั้น ไม่มีอำนาจยับยั้ง สั่งการ ในการจัดหาเครื่องบิน เครื่องยนต์ หรือกำหนดทิศทางการบริหารแต่อย่างใดทั้งสิ้น
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา หุ้นของ Singapore Airlines พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 3 ทศวรรษ เนื่องจากการคาดการณ์ของเหล่านักลงทุนที่มองว่า Singapore Airlines จะกลับมาอีกครั้ง หลังจากที่เศรษฐกิจทั่วโลกกลับมาโลดแล่นได้อีกครั้ง และมีการระดมทุนเพิ่มเติมผ่านหุ้นกู้แปลงสภาพ และเงินกู้ใหม่
ANA : All Nippon Airways (NH)
ANA Holdings บริษัท แม่ของ ANA ประกาศว่า จะระงับกิจกรรมการสรรหาทั้งหมด (กัปตัน ลูกเรือ และพนักงานอื่นๆ) จนถึงเดือนมีนาคม 2565 หลังจากขอให้รัฐบาลญี่ปุ่นค้ำประกันเงินกู้ในต้นเดือนเมษายน และนั่นก็ทำให้มีเงินกู้ 288 พันล้านบาทกับสินเชื่อในประเทศ จากสถาบันการเงินต่างๆ เข้ามาทันที
ที่ผ่านมา กว่า 90% ของพนักงานทั้งหมด จะได้รับอนุญาตให้มีวันลาหยุด 3-5 วันต่อเดือน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการลดต้นทุน ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน ANA ได้ลดเที่ยวบินระหว่างประเทศลงถึง 90% แต่สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศยังคงทำการบินเป็นปกติอยู่ โดยเป็นความตั้งใจของรัฐบาลญี่ปุ่นเอง ที่จะสนับสนุนให้โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งยังคงเป็นไปตามปกติ
สายการบิน ANA ยังคงทำการบินปกติต่อไปภายในประเทศ แม้จะมีจำนวนผู้โดยสารน้อยกว่า 10 คนบนเที่ยวบินนั้นๆ ก็ตาม
Cathay Pacific Airways (CX)
ทุกอย่างดูน่ากลัวไปหมดสำหรับ สายการบินคาเธย์ แปซิฟิก มีมาตั้งแต่การประท้วงที่หนักหน่วง ต่อเนื่องยาวนานในฮ่องกง ซึ่งรุนแรงขึ้นนานกว่า 6 เดือน ก่อนจะมีการระบาดของโควิด-19 เสียอีก ซึ่งสายการบินคาเธย์ แปซิฟิก นับเป็นหนึ่งในสายการบินแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ Covid-19 เนื่องจากมีเส้นทางบินเชื่อมต่อกับจุดหมายปลายทางกับจีนแผ่นดินใหญ่ถูกระงับ (สายการบินคาเธย์ แปซิฟิก เองยังมีบริษัทลูกสายการบินต้นทุนต่ำคือ Hongkong Airlines ที่มีเที่ยวบินจากฮ่องกงไปจีนแผ่นดินใหญ่มากที่สุดด้วย) ดังนั้นอย่าคาดหวังว่า การฟื้นตัวจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ หรือเร็วกว่าสายการบินอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย
สายการบินคาเธย์ แปซิฟิก ได้รับประโยชน์จากแนวทางที่เป็นเอกลักษณ์ (และยุติธรรม) ของรัฐบาลฮ่องกง ในการให้ความช่วยเหลือกับสายการบิน เนื่องจากรัฐบาลเลือกที่จะอุดหนุนสายการบินที่จดทะเบียนในประเทศทั้งหมด บนพื้นฐาน “ให้ต่อจำนวนเครื่องบิน” ที่มี ความช่วยเหลือครั้งเดียว คือ 4.2 ล้านบาท สำหรับเครื่องบินขนาดใหญ่แต่ละลำ และ 840,000 บาท สำหรับเครื่องบินขนาดเล็กแต่ละลำ นอกจากนี้ยังได้รับการชำระค่าตั๋วล่วงหน้าขั้นสูง เป็นมูลค่าอีกกว่า 10,000 ล้านบาท จากการท่าอากาศยานฮ่องกง เพื่อชดเชยการสูญเสียรายได้จากผู้โดยสารในวิกฤตที่ผ่านมา
จนถึงตอนนี้ สายการบินคาเธย์ แปซิฟิก ได้ปลดพนักงานที่ประจำการในสถานีฐานที่ สหรัฐอเมริกา เกือบ 300 คน และนักบินอีกเกือบ 200 คน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศออสเตรเลียและอังกฤษ ส่วนพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่อยู่ในฮ่องกง สิงคโปร์ กรุงเทพฯ และลอนดอน ยังคงเป็นลูกจ้างของสายการบินอยู่
Emirates Airlines (EK)
Emirates สายการบินที่เป็นของเจ้าผู้ครองนครรัฐดูไบ (Sheikh Ahmed bin Saeed Al Maktoum) ได้ประกาศผ่านทาง Tweeter ว่า
The Emirates Group has announced its 32nd consecutive year of profit, despite challenges. The Group is taking all necessary measures to safeguard its business against the impact of the COVID-19 pandemic, while planning for business resumption as soon as circumstances allow.
Emirates Group ได้ประกาศผลประกอบการมีกำไรติดต่อกันเป็นปีที่ 32 แม้จะมีความท้าทายในวิกฤต ทาง บริษัท จะใช้มาตรการที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อปกป้องธุรกิจของเราจากผลกระทบของการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ในขณะเดียวกันก็วางแผนสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ทันทีที่สถานการณ์เอื้ออำนวย”
ปัจจุบัน Emirates กำลังยื่นมือขอความช่วยเหลือจากธนาคารทั้งในและต่างประเทศ เพื่อหาเงินทุนสนับสนุน ที่นอกเหนือไปจากความช่วยเหลือทางการเงินที่ยังไม่เปิดเผยจาก รัฐดูไบ ซึ่ง Sir Tim Clark ที่เป็นประธานสายการบิน Emirates กล่าวว่า อุปสงค์ในอุตสาหกรรมการบินจะไม่กลับมาเป็นปกติ จนกว่าจะถึงปี 2023
การระบาดใหญ่ของ Covid-19 อาจเป็นจุดจบของ “เครื่องบินโดยสารที่ใหญ่ที่สุด” ของอุตสาหกรรมการบิน 2 รุ่น ตามที่ Clark กล่าวไว้ “เรารู้ว่า Airbus A380 หมดยุคไปแล้ว (ทันทีที่ Emirates งดการสั่งซื้อ และ 3 ลำสุดท้ายที่ Airbus ผลิตก็ได้ส่งมอบให้ ANA แล้ว) ส่วน Boeing 747 นั้นจบลงนานแล้ว ตอนนี้เหลือแต่ Airbus A350 และ Boeing 787 เท่านั้น ที่จะมีอนาคตในตลาดการบินโลก”
เครื่องบินเจ็ทซูเปอร์จัมโบ้ Airbus A380 เป็นดังเช่นกระดูกสันหลังของสายการบิน Emirates เนื่องจากปัจจุบันในสายการบินมีเครื่องรุ่นนี้ที่ยังใช้ทำการบินรับส่งผู้โดยสารอยู่ถึง 115 ลำ โดยมีอีก 8 ลำที่อาจดัดแปลงไปให้บริการในด้านขนส่งพัสดุภัณฑ์ (Cargo) จากความต้องการในการเดินทางที่ลดลง อาจบังคับให้สายการบินต้องยกเลิก Airbus A380 เร็วกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากสายการบินจะต้องเผชิญกับความยากลำบากในการจัดหาผู้โดยสารให้เต็มจำนวน 615 ที่นั่ง สำหรับเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่เช่นนี้
เชื่อหรือไม่ว่า Emirates ใช้เครื่องบินโดยสารลำใหญ่ยักษ์ ฺAirbus A380 นี้ในเส้นทางบินที่สั้นที่สุด ในเส้นทางจาก ดูไบ – มัสกัต เมืองหลวงของประเทศโอมาน กับระยะทาง 340 กิโลเมตร (สั้นกว่ากรุงเทพ-ขอนแก่นด้วยซ้ำ) ใช้เวลาเดินทางเพียง 1 ชั่วโมง 15 นาทีเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลให้เป็นเที่ยวบินโดย Airbus A380 ที่สั้นที่สุดในโลก โดยให้บริการทั้งหมด 519 ที่นั่งใน 3 ชั้นโดยสาร ได้แก่ ชั้นประหยัด 429 ที่นั่ง ชั้นธุรกิจแบบนอนราบ 76 ที่นั่ง และชั้นหนึ่งแบบห้องสวีทส่วนตัวบนชั้น 2 ของเครื่องบินอีก 14 ที่นั่ง
Sheikh Majid Al Mualla รองประธานอาวุโส ฝ่ายปฏิบัติการการบินเชิงพาณิชย์ของ Emirates กล่าวว่า “การให้บริการ A380 ไปยังมัสกัต หมายถึงการเปิดโอกาสให้ผู้โดยสารของเราได้สัมผัสประสบการณ์การบินระดับโลก จากผู้นำด้านการบินอย่าง Emirates รวมถึงเป็นการเพิ่มทางเลือกและความต้องการให้กับพวกเขาด้วย”
ความจริงมีสถิติล่าสุดของการบินโดยสารระยะสั้นที่สุดของ Emirates Airbus A380 เกิดขึ้นคือ การบินจาก DXB to DWC (Dubai International Airports to Dubai World Central for the Dubai Airshow ก็จากสนามบินหลักท่าอากาศยานนานาชาติดูไบ ไปอีกฝั่งที่จัดงานดูไบแอร์โชว์ นั่นเองแหละ ไกลม๊าก มากๆๆๆ)
Thai Airways (TG)
การบินไทย จะได้รับการค้ำประกันสินเชื่อภาครัฐมูลค่า 50,000 ล้านบาท พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศว่า “นี่จะเป็นโอกาสสุดท้ายของสายการบินในการเปลี่ยนธุรกิจให้เป็นผลกำไร”
แม้ว่าจะไม่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีรายงานว่า ข้อเสนอการฟื้นฟูกิจการของสายการบินในครั้งนี้จะรวมถึง บริษัท การบินไทย จะต้องแยกตัวออกเป็น 5 บริษัทธุรกิจ และเปลี่ยนสถานะจาก “รัฐวิสาหกิจ” เป็น “บริษัทเอกชน” ที่ไม่ได้อยู่ในการควบคุมของรัฐ เช่นเดียวกับสายการบิน Singapore Airlines
ก่อนหน้านี้ มีตัวแทนของ สหภาพรัฐวิสาหกิจการบินไทย (TG Union) ได้ยื่นจดหมายถึง สำนักนายกรัฐมนตรี แสดงความยินดีที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือ และจะให้ความร่วมมือกับแผนการลดขนาดบริษัท
อย่างไรก็ตาม สหภาพแรงงานก็ยังคัดค้านแผนการที่จะยกเลิกการเป็น “รัฐวิสาหกิจ” และไม่เห็นด้วยกับความคิดที่จะแยกบริษัทออกเป็น 5 ธุรกิจ เพราะ “TG คือ หนึ่งบริษัท และเป็น “สายการบินแห่งชาติ” ของประเทศไทย”
สิ่งที่สหภาพการบินไทยกลัวมากที่สุดคือ การยกเลิกเป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นการถอนการถือหุ้นของรัฐ (โดยกระทรวงการคลัง) ออกไป แล้วแยกเป็นบริษัทย่อยๆ เช่น บริษัทการบินไทย บริษัทไทยสมายล์ บริษัทครัวการบินไทย บริษัทซ่อมบำรุงอากาศยาน และบริษัทไทยขนส่งทางอากาศ นั่นคือการ “ล้มครืน” ลงของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจในทันที คงต้องมาดูกันว่า TG Union จะตอบสนองอย่างไร ถ้าแผนดำเนินปฏิรูปการบินไทยจะยังคงดำเนินการต่อไป การนัดหยุดงานประท้วงอาจเกิดขึ้น และนั่นยิ่งจะทำให้ การปิดตัวลงของสายการบินสายนี้ เร็วขึ้นหรือไม่?
การบินไทย และไทยสมายล์ วางแผนที่จะเปิดดำเนินการบินตามปกติในวันที่ 1 มิถุนายน 2563 นี้
[ อยากให้อ่านเป็นความรู้เรื่อง การฟื้นฟูสายการบิน JAL | อักษรย่อชื่อสายการบิน ]
เก็บเอามาเล่าสู่กันฟังครับ รอดูว่า ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 เป็นต้นไป อุตสาหกรรมการบินจะกลับมาได้มากน้อยแค่ไหน อาจจะยังไม่เหมือนเดิม แต่ก็อยากให้กลับมาได้เยอะๆ เพราะนั่นหมายถึง การมีงานทำของคนอีกนับหมื่นนับแสน ที่อยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการทั่วโลก ทั้งธุรกิจทัวร์ ภัตตาคาร ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ต การขนส่งทั้งทางบก ทางเรือ ทางอากาศ และแน่นอนเราอยากท่องเที่ยวพักผ่อนบ้าง ไม่อยากจับเจ่าแต่อยู่ในบ้านอย่างทุกวันนี้ เด็กๆ อยากไปโรงเรียน ครูอยากสอน และอื่นๆ อีกมากมายบอกไม่หมด จริงไหมครับ…