มารยาทในการเดินทาง

สิ่งที่ควรทำ และสิ่งที่ห้ามในการเดินทาง

มีเรื่องเล่ามากมายจากการเดินทางไปในที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการโดยสารรถยนต์ เรือ หรือเครื่องบิน ที่เราจะต้องพบกับผู้คนมากมายบนยานพาหนะที่ร่วมโดยสาร แต่ที่มากที่สุดน่าจะเป็นเครื่องบินที่มีผู้โดยสารนับร้อย หรือหลายร้อยคนบนเครื่อง และมีหลายสัญชาติ หลายภาษา หลายวัฒนธรรม พอสัญญาณรัดเข็มขัดติดที่นั่งดับลง ท่านอาจจะเห็นมหกรรมบางอย่างเกิดขึ้น ต่างกรรมต่างวาระ ตามธรรมชาติของผู้โดยสารชาตินั้นๆ เช่น ชาวอินเดียที่เดินทางเป็นกรุ๊ป ก็จะเดินทักทายชาวบ้านรอบเครื่อง ประหนึ่งไม่ได้เจอกันมานานแรมปี ชาวจีนก็จะพากันรำพัด (เล่นไพ่) ฝรั่งแบ็กแพ๊คเกอร์ก็อาจจะเดินหาที่นั่งว่าง เพื่อจะนอนเหยียดยาว ส่วนคนไทยก็อาจจะเม้ามอยกันสนั่นลั่นเครื่อง กับเรื่องราวในทริปที่ผ่านมา

วันนี้ก็เลยอยากจะเล่าถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา ให้ได้ทราบกันและนำไปเล่าบอกต่อให้เพื่อนๆ ได้ทราบเผื่อจะได้เดินทางโดยเครื่องบินไปในที่ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ว่ามีมารยาทที่ควรทำ ควรละเว้น เพื่อความสุขของผู้โดยสารทุกคนบนเครื่อง จะได้ไม่มีใครเอาเรื่อง(ที่ไม่ค่อยดี)ของเราไปพูดต่อครับ เราอาจจะรำคาญผู้โดยสารคนอื่นๆ ที่กระทำในบางสิ่งบางอย่าง และบางทีผู้โดยสารอื่นก็อาจจะรำคาญเราที่เผลอกระทำได้เช่นกัน มาดูกันว่า มารยาทที่ดีในการโดยสารเครื่องบินมีอะไรบ้าง?

  1. กระเป๋าสัมภาระขึ้นเครื่องอย่าให้มันใหญ่เว่อวังอลังการนัก ตามกฎของสายการบินพาณิชย์ทั่วไปแล้ว มักจะกำหนดกฎเกณฑ์ของกระเป๋าที่ถือขึ้นเครื่องได้แบบ 1+1 ครับ นั่นคือ กระเป๋าส่วนตัว 1 ใบ (เช่น กระเป๋าถือผู้หญิง กระเป๋าสะพายเฉียงๆ ใบไม่ใหญ่มาก หรือกระเป๋าโน้ตบุ๊ค) บวกกับสัมภาระอีก 1 ใบ (เช่น กระเป๋าลาก, เป้สะพายหลัง, กระเป๋าใบใหญ่) ต้องมีขนาดไม่เกิน 56 ซม. x 36 ซม. x 23 ซม. เมื่อรวมกับด้ามจับ ล้อ และกระเป๋าด้านข้างแล้ว ทั้งนี้ กระเป๋าสัมภาระต้องสามารถนำขึ้นเก็บไว้ในช่องเก็บของเหนือศีรษะได้ โดยทั้งสองใบต้องมีขนาดไม่เกินตามที่สายการบินกำหนด และมีน้ำหนักรวมกันไม่เกิน 7 กิโลกรัม

    ทำไมต้องกำหนดเช่นนั้น ก็เพื่อให้มีที่ว่างในช่องเก็บของเหนือศรีษะเพียงพอกับทุกๆ คน (บางช่องก็สงวนไว้ให้ลูกเรือเก็บอุปกรณ์บริการ) ไม่หนักเกินไป จนอาจจะก่อให้เกิดอันตรายร่วงหล่นลงมาใส่ผู้โดยสารคนอื่นๆ ได้
  2. ยกกระเป๋าขึ้นบนชั้นวางเหนือศรีษะด้วยตัวเอง พึงระลึกไว้เลย การยกกระเป๋าส่วนตัวของเราขึ้นไปเก็บบนช่องเก็บเหนือศีรษะเป็นหน้าที่ของเราครับ ไม่ใช่ของพนักงาน (แอร์โฮสเตส สจ๊วต) โดยเฉพาะผู้ชายแข็งแรงดีหลายๆ คน ถือกระเป๋าจากในเมืองมาถึงสนามบิน ลากมาขึ้นเครื่องได้ไม่มีปัญหา พอมาถึงที่นั่งเกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรง ง่อยล้าซะงั้น ไปสั่งหรือไปใช้งานให้พนักงานยกกระเป๋าไปเก็บให้อีก คือ มันไม่ใช่หน้าที่เค้าเลยครับ มันเป็นหน้าที่คุณ
    แอร์และสจ๊วตมีไม่ถึง 30 คนต่อผู้โดยสารลำใหญ่ๆ กว่า 500 คน คงจะช่วยท่านไม่ไหวครับ กระดูกสันหลังคงพังไปก่อนได้บริการอาหารและเครื่องดื่ม ส่วนท่านที่เกิดมาตัวล่ำเตี้ย เอื้อมไม่ถึงก็อาจขอร้องให้ผู้โดยสารอื่นช่วยได้ ซึ่งก็ไม่เคยพบการปฏิเสธนะ ถ้าคิดว่าหนักยกไม่ไหวก็โหลดใต้ท้องเครื่องนะครับ
  3. มองด้านหลังสักนิด ก่อนเก็บกระเป๋าบนหิ้งเหนือศรีษะ ตอนขึ้นเครื่องนี่แหละครับ ที่เป็นจังหวะที่เราต้องยกกระเป๋าขึ้นไปเก็บ เมื่อเดินมาถึงแถวที่นั่งของตัวเอง แต่ก่อนยก แนะนำให้ชำเลืองมองด้านหลังเราสักหน่อยครับ ว่ามีผู้โดยสารจะเดินเลยแถวเราไปบ้างไหม ถ้ามีก็เปิดทางให้เขาเดินไปก่อนเถอะ อย่าให้การยกของไปเก็บของเรานั้นขวางทางเดิน จนกระทบต่อแถว boarding ผู้โดยสารข้างหลังครับ คุณอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เครื่อง delay โดยไม่รู้ตัวก็ได้นะ (แล้วคุณก็จะมาด่าสายการบินทีหลัง ว่าทำไมเครื่องถึง delay เช่นนี้)
  4. อย่ารีบเอนเบาะนอนทันที เป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้ง่ายมากครับ เพราะเมื่อเครื่องขึ้นไปแล้วเราก็มักจะปรับเอนเบาะเพื่อให้นั่งสบาย จากนั้นเมื่อถึงเวลาเสิร์ฟอาหาร เราก็มักจะลืมไปว่าเบาะที่เราปรับเอนไปนั้น ทำให้ผู้โดยสารแถวหลังเรารับประทานอาหารไม่สะดวก จะก้มลงมากิน หัวก็ชนเบาะเรา ดังนั้น ปรับเบาะขึ้นทุกครั้งเมื่อมีการเสิร์ฟอาหารนะครับ

    ง่วงมาจากไหนเห็นใจคนอื่นบ้างนะครับ
  5. อย่าวางถาดอาหารบนพื้น ก็เข้าใจได้นะ ถาดอาหารนี่เป็นของที่เกะกะมาก เมื่อเรากินเสร็จแล้ว แอร์ฯ ก็ไม่มาเก็บซะที จะลุกไปห้องน้ำก็ไม่ถนัด จะขยับตัวก็ติดโต๊ะไปหมด แอร์โฮสเตสเองก็ไม่ได้อยากให้มันเกะกะเรานานหรอกครับ เขาก็อยากเก็บอยากเคลียร์ให้เร็วไม่แพ้กัน แต่ด้วยจำนวนพนักงานต่อผู้โดยสารที่ไม่สมดุล (อย่างชั้นประหยัด (Economy) มีพนักงานประมาณ 12-15 คนต่อผู้โดยสาร 250-350 คน) แต่สิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควรคือการวางถาดอาหารบนพื้นเครื่องบินครับ นอกจากมันจะกีดขวางทางเดิน (และทางออกฉุกเฉิน) แล้ว แอร์ฯ ที่มาเก็บถาดจะไม่รื่นรมย์กับการต้องก้มไปดมรองเท้า เพื่อเก็บถาดอาหารบนพื้นอย่างแน่นอน ใจเขาใจเรานะครับ รอนิดหนึ่ง

    และจะน่ารักมากๆ เลยหากผู้โดยสารช่วยเก็บอุปกรณ์ กล่อง แก้วน้ำ ช้อนส้อม พลาสติกหีบห่อทั้งหมดลงในถาด ให้เหมือน หรือใกล้เคียงตอนที่พนักงานเอามาเสิร์ฟให้เรา เพราะพื้นที่เก็บของในรถเข็นถาดอาหารก็มีที่จำกัดมากนั่นเอง
  6. คาดเข็มขัดทุกครั้งที่นั่ง จริงๆ นี่ไม่เกี่ยวกับมารยาทหรอกครับ แต่เกี่ยวกับความปลอดภัยของคุณเอง อยากให้ทำเป็นนิสัยครับว่า นั่งแล้วให้คาดเข็มขัดทันที เรามักจะเห็นข่าวเครื่องบินตกหลุมอากาศแรงๆ จนตัวผู้โดยสารลอยขึ้นไปกระแทกแผงด้านบน จนแตกทั้งแผงและหัวคนก็แตกด้วย ที่ถึงแม้โอกาสจะน้อย แต่เราก็คงไม่อยากเห็นหนึ่งในนั้นแหละเนอะ (ดังภาพข้างล่างนี้ สายการบินไทยเที่ยวบินจากฮ่องกงมากรุงเทพฯ ตกหลุมอากาศ)
    ภาพจากอุบัติเหตุการบินไทยตกหลุมอากาศเมื่อบินกลับจากฮ่องกง

    อย่ารำคาญเลยถ้าตอนเครื่องขึ้นและลง ลูกเรือจะคอยมาตรวจดู แนะนำ (และจับผิด) ว่าผู้โดยสารคนไหนไม่ได้คาดเข็มขัดรึเปล่า เค้าไม่ได้ทำเพื่อเค้านะครับ เค้าทำเพื่อความปลอดภัยของคุณ

  7. ห้องน้ำมีน้อย อย่าใช้นาน ห้องน้ำบนเครื่องบิน ในชั้น Economy โดยเฉลี่ยแล้วจะมี 1 ห้องต่อผู้โดยสารประมาณ 28-30 คนครับ ดังนั้น อย่าใช้นานราวกับอยู่บ้าน เผื่อให้คนอื่นได้ใช้บ้าง รักษาความสะอาด และที่สำคัญคืออย่าทิ้งขยะลงไปในส้วม เพราะถ้ามันตันเนี่ย ห้องน้ำห้องนั้นต้องถูกปิดไปตลอดไฟลต์ครับ
  8. อย่าถีบเบาะ! จากผลสำรวจผู้โดยสารเครื่องบินในสหรัฐฯ “การถีบเบาะ” ครองแชมป์พฤติกรรมน่ารำคาญบนเครื่องบินมาโดยตลอดครับ อย่าถีบ อย่าเตะเบาะ รวมถึงอีกหนึ่งกรณีที่หลายคนไม่รู้ตัว คือการเล่นเกมบนหน้าจอสัมผัสที่อยู่ติดหลังเก้าอี้ ถ้าระดมกดด้วยความรุนแรง ก็สร้างความรำคาญให้คนข้างหน้าไม่น้อยเลยล่ะครับ

    รวมทั้งการถอดรองเท้า (ที่อาจจะส่งกลิ่นตลบอบอวล รบกวนผู้โดยสารท่านอื่น) สอดเท้าไปบนพนักพิงด้านหน้า หรือพาดบนที่เท้าแขนจนเกะกะทางเดิน
  9. อย่าเปิดหน้าต่างอยู่คนเดียว หลายเที่ยวบินที่ต้องเดินทางผ่านเขตเวลาที่แตกต่างกัน โดยด้านนอกอาจจะสว่างจ้า แต่ในเครื่องบินถูกปรับสภาพแสงไว้ เพื่อให้ผู้โดยสารนอนพักผ่อน ปิดไฟมืดสนิท หน้าต่างปิดสนิททุกบาน อย่านะครับ อย่าเปิดหน้าต่างอยู่ช่องเดียวของเครื่องบิน เพราะคุณจะทำให้ผู้โดยสารอีกนับร้อยคนเกลียดมากครับ ผมเคยเจอมาแล้ว ไฟลต์ขากลับจากยุโรป ในขณะที่เคบินกำลังมืดดี ทุกคนกำลังหลับสบาย มนุษย์ป้า (คนไทยเสียด้วย) นอนไม่หลับแล้วเกิดอยากมองท้องฟ้ามั้งครับ เปิดช่องเดียวสว่างทั้งลำ น่าสรรเสริญมากครับ

    แต่เมื่อเครื่องจะบินขึ้น (Take off) หรือร่อนลง (Landing) สนามบินจะต้องปรับเบาะนั่งตั้งตรง และเปิดหน้าต่างทุกช่องนะครับ มันเป็นกฎนิรภัยการบิน
  10. อย่าเปลี่ยนที่นั่งด้วยตัวเอง เที่ยวบินโล่งๆ บางทีเราก็อยากไปนั่งคนเดียวของแถว แล้วเหยียดตัวนอนบนเก้าอี้ 3 ตัวรวดใช่มั้ยครับ … สามารถทำได้นะครับ แต่ควรบอกลูกเรือเสียก่อน ว่าเราจะย้ายที่นั่งครับ (โดยทั่วไปลูกเรือก็จะอนุญาตแหละครับ ถ้าไม่ได้มีการย้ายข้ามโซนไกลๆ เช่น จากกลางลำ ไปท้ายลำ) รู้หรือไม่ว่า ทุกเที่ยวบินนักบินต้องดูเรื่องของการกระจายน้ำหนักผู้โดยสารบนเครื่องบิน เพื่อให้เครื่องบินเกิดความสมดุลด้วย การย้ายที่นั่งด้วยตัวเอง (ตั้งแต่ยังไม่เริมบิน) เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง

    ผมยังคงแนะนำว่า ก่อนเดินทางควรเลือกที่นั่งของเราให้เรียบร้อยครับ เพื่อให้มั่นใจว่าเราได้นั่งที่เราอยากนั่งจริงๆ และยังได้ที่นั่งที่ดีบนเครื่องบินแบบนั้นๆ อีกด้วย
  11. ขอบคุณ และ ขอโทษ นี่มันเป็นมารยาททางสังคมครับ ไม่ใช่แค่บนเครื่องบินเท่านั้น แต่ที่ต้องพูดถึง เพราะการโดยสารด้วยเครื่องบิน เรามักจะใช้พื้นที่ร่วมกับคนอื่นๆ อย่างใกล้ชิดกว่าปกติ ทั้งการนั่งติดกันแบบไม่รู้จักกันมาก่อน เป็นเวลานานๆ หรือการรับการบริการต่างๆ ตลอดหลายชั่วโมง แค่คำพูดขอบคุณ หรือขอโทษเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกดีอย่างไม่น่าเชื่อนะ
  12. ใช้หูฟังทุกครั้งที่ดูหนัง/ฟังเพลง ใช้หูฟังทุกครั้งที่ดูหนัง ฟังเพลงผ่านอุปกรณ์ส่วนตัวครับ ไม่ว่าจะเป็น iPod iPhone iPad แท็บเล็ตดูหนัง ดูซีรีย์ต่างๆ ไม่ต้องเผื่อแผ่คนอื่น บางทีเราอาจจะคิดว่าเราได้ยินอยู่คนเดียว ซึ่งไม่จริงเลยครับ ใช้หูฟังเถอะ จะได้ไม่รบกวนคนอื่นนะ

    รวมถึงอย่าพูดคุยกันเสียงดังจนรบกวนคนอื่นๆ ครับ เครื่องบินก็เหมือนห้องใหญ่ๆ ห้องหนึ่งนี่เอง อยู่ร่วมกันหลายคน บางคนก็อยากพักผ่อน บางคนก็ไม่ได้อยากรู้เรื่องส่วนตัวของคุณนะครับ
  13. อย่ารีบลุกตอนเครื่องยังไม่จอดสนิท หลายคนรีบครับ พอถึงที่หมาย เครื่องบินเข้ามาเทียบอาคารยังไม่ทันจอดสนิท ไฟรัดเข็มขัดยังไม่ทันดับ ก็รีบปลดเข็มขัดลุกขึ้นมาหยิบของกันแล้ว อย่าทำเลยครับ มันไม่ได้ช่วยให้คุณลงจากเครื่องเร็วขึ้นเลยแม้แต่นิดเดียว (แถมยังดูเป็นตัวตลกอีกด้วย) บางคนก็รีบเปิดช่องเก็บของลุกลี้้ลุกรน จนสิ่งของหล่นลงมาถูกหัวคนอื่นอีก

    แต่ที่สำคัญคือ มันอาจจะเป็นอันตราย เพราะตอนที่เครื่องบินยังจอดไม่สนิท เมื่อกัปตันเบรกเพื่อจอด คุณอาจจะเป็นคนเดียวในเครื่องที่ล้มหัวทิ่ม ทีนี้ก็จะไม่มีใครสงสารเลยนะ
  14. อย่าหยิบของนิตยสาร หนังสือพิมพ์ที่แจก ไว้คนเดียวเยอะเกินไป แน่นอนครับว่าใครๆ ก็อยากอ่าน เพราะสายการบินคงไม่ได้เตรียมไว้ สำหรับคนทุกคนบนเครื่อง เพียงแต่เป็นการช่วยให้ท่านได้อ่านแก้เบื่อ เท่านั้นเอง ดังนั้นหยิบเพียงฉบับเดียวก็พอครับ

Loading

About Post Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)