TG_3

ฝึกงานกับการบินไทย (2)

รู้เรื่องคร่าวๆ ของกอง K3 นี้ไปบ้างแล้วนะครับ วันนี้จะมาเล่าต่อว่า ผมนั้นได้รับประสบการณ์ที่น่าประทับใจในช่วงที่ฝึกงานมีอะไรกันบ้าง

เนื่องจากเพื่อนๆ ที่ฝึกงานด้วยกัน เรียนมาทางด้านนี้กันทั้งนั้น ดังนั้น เพื่อนๆ ก็จะทราบว่าวิธีการอ่านออกเสียงตัวอักษร ในทางการบินเค้าพูดกันว่ายังไง ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่จะสะกดชื่อผู้โดยสารผ่านทางวิทยุสื่อสาร ถ้าออกเสียง B กับ C ก็จะฟังคล้ายๆ กัน ทำให้ความหมายในการสื่อสารผิดพลาดไปได้

ดังนั้น จึงมีการกำหนดวิธีการออกเสียง การสะกดคำ มาเป็นมาตรฐานครับ ซึ่งเราก็ไม่รู้มาก่อนว่าเค้าสะกดกันแบบนี้ งานนี้เลยต้องขอยืมหนังสือของเพื่อนๆ มาฝึกจำกันบ้างครับ เวลาได้ใช้วิทยุสื่อสารจริงๆ แล้วจะได้ดูเป็นมืออาชีพกันหน่อย งั้นมาดูกันครับว่าวิธีการออกเสียงแบบที่พูดถึงนี้เป็นยังไง

A ออกเสียงเป็น ALFA

B ออกเสียงเป็น BRAVO

C ออกเสียงเป็น CHALIE

D ออกเสียงเป็น DELTA

ดังนั้นถ้าจะสะกดคำว่า BAD ก็จะได้เป็น BRAVO – ALFA – DELTA เป็นต้นครับ หรือคำว่า EMIRATES ก็จะเป็น ECHO – MIKE – INDIA – ROMEO – ALFA – TANGO – ECHO – SIERRA แบบนี้ครับ

นอกเหนือจากงาน ที่ต้องลงมือปฏิบัติแล้ว “งานสำนักงาน” ก็มีความสำคัญมากนะครับ เพราะเราจำเป็นจะต้องใช้คอมพิวเตอร์เช็ครายชื่อผู้โดยสาร ซึ่งการทำงานของระบบนี่ก็ไม่ง่ายเลยครับ คือจะต้องอาศัยการคีย์คำสั่งลงไปในระบบ แล้วก็มีตัวย่อมากมาย ซึ่งพี่ๆ ที่กอง ก็ช่วยสอนมาเยอะแยะ แต่สุดท้ายก็จำไม่ได้หรอกครับ แต่ก็พอจะคีย์คำสั่งง่ายๆ อย่าง เช็คเวลาเที่ยวบินลง Gate ที่ใช้ แบบนี้พอได้ครับ

ส่วนประสบการณ์ที่ต้องมาดูแลผู้โดยสาร ในไฟลท์ที่ล่าช้านี้ก็มีสองสามเหตุการณ์ที่จำได้นะครับ อย่างแรกคือ เที่ยวบินที่จะออกเดินทางไปเชียงใหม่ ล่าช้าเพราะว่าเครื่องเสียครับ พี่ๆ ที่กองพอทราบ ก็จะโทรไปบอกทางครัวการบินไทย ให้เตรียมของว่าง และเครื่องดื่ม เพื่อที่พวกเราจะได้นำมารับรองท่านผู้โดยสารครับ สำหรับท่านผู้โดยสารชั้นหนึ่ง กับชั้นธุรกิจ และสมาชิกบัตรทอง ก็จะมีเจ้าหน้าที่อีกกองหนึ่ง พาไปรับรองที่ห้องรับรองสายการบินนะครับ

ส่วนพวกเราที่ดูแลผู้โดยสารชั้นประหยัด ก็รับรองผู้โดยสารที่เกทนั่นแหละครับ ซักพักพอของว่างมาถึง เด็กๆ ฝึกงานอย่างเราก็มีหน้าที่ดูแลเรื่องของว่างนี่แหละครับ คือ ดูแลให้ผู้โดยสารได้รับของว่างท่านละหนึ่งชุด ก็จะมีน้ำเปล่า แซนด์วิชแล้วก็น้ำอัดลมครับ ระหว่างนั้นก็คอยตอบคำถาม และให้ข้อมูลเป็นระยะๆ เกี่ยวกับตารางเวลาที่เครื่องจะออกเดินทาง และอำนวยความสะดวกอื่นๆ เท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าเหนือกว่าที่เราได้รับข้อมูลมา อันนี้ก็ต้องส่งต่อให้พี่ๆ เค้าหล่ะครับ

ส่วนเที่ยวบินระหว่างประเทศนี่ เหตุการณ์จะยาก แล้วก็ซับซ้อนเพิ่มไปอีกมากเลยครับ ถ้ากรณีต่อเที่ยวบินระหว่างประเทศด้วยกัน ก็จะต้องรีบพาผู้โดยสาร ไปผ่านจุดตรวจค้นในสนามบินให้เร็วที่สุด ง่ายๆ คือ ขออนุญาตพาเข้าช่องตรวจค้นพิเศษครับ ส่วนถ้าต่อเครื่องจากเที่ยวบินระหว่างประเทศ มาเที่ยวบินภายในประเทศ จะซับซ้อนไปสองเท่า

เพราะนอกจากจะต้องพาผู้โดยสารผ่านจุดตรวจค้นแล้ว ยังต้องผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองอีกหนึ่งรอบ ซึ่งก็ในช่วงเช้าๆ ถึงสายๆ ผู้โดยสารจะเยอะมากทีเดียวครับ ทำให้เราต้องไปติดต่อเจ้าหน้าที่ตรวจหนังสือเดินทาง ให้เปิดช่องพิเศษสำหรับผู้โดยสารไฟลท์นั้นโดยเฉพาะ กรณีที่มีผู้โดยสารต่อเที่ยวบินจำนวนมาก อย่าง เส้นทางภูเก็ต หรือเชียงใหม่ครับ

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่สนุก แล้วก็ได้ลงมือทำเยอะกว่าครั้งไหนๆ ก็คือ เที่ยวบินจากกรุงเทพฯ ไปยังโตเกียว/นาริตะ เนื่องจากว่ามีเครื่องบินขนส่งสินค้า ประสบอุบัติเหตุที่ สนามบินนาริตะ ทำให้รันเวย์ต้องปิดเป็นเวลานาน ช่วงแรกทางสายการบิน ยังไม่ตัดสินใจยกเลิกเที่ยวบิน เนื่องจากยังไม่ทราบข้อมูลที่แน่ชัดจากทางญี่ปุ่นว่า จะต้องปิดรันเวย์นานขนาดไหน กองของเราก็ต้องเริ่มทำหน้าที่รับรองผู้โดยสารไปก่อนครับ น่าจะประมาณสามถึงสี่ชั่วโมงต่อมา ก็ตัดสินใจยกเลิกเที่ยวบิน

ซึ่งปัญหาใหญ่ก็ตามมาครับ คือ จะต้องจัดหาที่พักให้ผู้โดยสาร เพื่อจะได้เดินทางในวันรุ่งขึ้น เราก็ต้องพาผู้โดยสารเดินทางออกจากสนามบิน ไปขึ้นรถบัส เพื่อไปส่งที่โรงแรมครับ ก็วุ่นวายเล็กน้อย เนื่องจากผู้โดยสารส่วนมากเป็นชาวญี่ปุ่น และพวกเราก็ไม่มีใครสามารถสื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้ งานนี้เลยต้องพึ่งท่านผู้โดยสาร ที่สื่อสารภาษาอังกฤษ กับภาษาญี่ปุ่นได้มาช่วยเราครับ

นอกจากนี้ เวลาที่เราพาผู้โดยสารไปต่อเครื่อง บางท่านก็มีน้ำใจให้ทิป หรือว่าของเป็นการตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ ก็มีนะครับ อย่างเพื่อนๆ บางคนก็ได้มาซักห้าดอลล่าร์บ้าง สิบดอลล่าร์บ้าง

พอถึงช่วงเวลาสุดท้าย ของการฝึกงานพี่ๆ ที่กองก็มีเลี้ยงส่งกันเล็กน้อย ส่วนพวกเรานักศึกษาฝึกงาน ก็ยังต้องมีภารกิจที่จะต้องทำรายงานผลการฝึกงาน แนบไปพร้อมแบบประเมินผล เพื่อส่งให้ทางมหาวิทยาลัยนะครับ

ในความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ บางทีการฝึกงาน เพื่อจะมาทำอาชีพนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นทางสายธุรกิจการบินอย่างเดียวก็ได้นะครับ งานบริการ พบปะลูกค้าอื่นๆ ก็ช่วยสร้างประสบการณ์ให้เราได้มาก เพียงแต่ว่าถ้ามีโอกาสได้ลองทำ ลองฝึกในส่ิงที่เราไม่เคยเรียน ไม่เคยรู้มาก่อน ก็น่าสนใจไม่ใช่เหรอครับ

ยินดีต้อนรับสู่อาชีพในฝันกันทุกคนนะคะ

Loading

About Post Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)