counter_TG

ฝึกงานกับการบินไทย (1)

พูดถึงเรื่องการเป็น “แอร์-สจ๊วต” แล้วเนี่ยนะครับ ผมว่าหลายๆ คนก็อยากจะร่วมงานกับ สายการบินแห่งชาติของเรากันทั้งนั้น เพราะใครๆ ก็คงอยากอยู่บ้าน ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว เพื่อน แฟน ไม่ต้องห่างบ้านไปอยู่ต่างประเทศ เหมือนที่ลูกเรือสายการบินต่างชาติต้องทำ ดังนั้น จุดเริ่มต้นที่เราจะได้ลองเข้าไปเห็นว่า “ธุรกิจการบิน” เป็นอย่างไร ก็ต้องเริ่มจากการฝึกงาน ที่สายการบินซักแห่งดีกว่าครับ

เนื่องจากว่า ผมเองเรียนมาทางด้านรัฐศาสตร์ ในความรู้ด้านการบิน ณ จุดนั้น มีน้อยเท่าหางอึ่ง รู้แต่ว่า ขึ้นเครื่องบินเป็นยังไง ไปเช็คอิน นั่งเครื่องบิน ถึงปลายทางแล้วก็รับกระเป๋า แต่ความจริงแล้ว กระบวนการในการดูแล จัดการ ด้านการโดยสารของสายการบิน ยังประกอบด้วยหลายๆ ส่วนที่เรายังไม่รู้ครับ วันนี้ก็เลยมาเล่าเรื่อง การฝึกงาน กับ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กันครับ

เคยเขียนไปแล้วว่า ประสบการณ์สัมภาษณ์การเข้าฝึกงาน ที่โดนดุเรื่องการแต่งกายมาแล้ว หลังจากนั้น ก็ต้องเข้าไปรายงานตัวกัน ณ สถานที่ปฏิบัติงานจริง นั่นก็คือ ศูนย์ปฏิบัติการของบริษัทการบินไทย เรียกกันว่า OPC กองที่เราไปสังกัดอยู่ก็คือ กองการโดยสาร จำได้ว่าวันแรกที่ไปถึง ทุกคนมีเสื้อสูทกันทุกคน เนื่องจากเพื่อนๆ แต่ละคนกำลังเรียนด้านการท่องเที่ยว การโรงแรม หรือธุรกิจการบิน อะไรแบบนี้กันมาหมดนะครับ ก็มีแค่เราเองที่มาจากสายอื่นที่เรียกว่า ไม่เกี่ยวข้องอย่างสิ้นเชิงเลย

หลังจากนั่งตัวตรง ฟังการปฐมนิเทศแล้ว ทุกคนก็โดนแบ่งฝ่ายที่จะไปสังกัดกันครับ ปรากฏว่า ผมและเพื่อนๆ อีกสามคน โดนให้ประจำที่สำนักงานใน OPC ไม่ได้เข้าไปปฏิบัติงานในตัวอาคารเหมือนเพื่อนๆ คนอื่นๆ แบบนี้ก็แย่สิครับ เพราะสิ่งที่เราอยากได้จากการมาฝึกงานคือ การได้ลงมือปฏิบัติ และเห็นกระบวนการต่างๆ ในการดูแลผู้โดยสาร ไม่ใช่การนั่งในสำนักงาน ชงกาแฟ หรือถ่ายเอกสารแบบนี้นะครับ ก็เลยขออนุญาตพี่ ที่เป็นหัวหน้าผู้ควบคุมการฝึกงานของนักศึกษาฝึกงานว่า ขอให้ได้เข้าไปสังกัดฝ่ายที่จะได้อยู่ในอาคารผู้โดยสาร ได้ดูแลจัดการผู้โดยสารบ้าง สุดท้ายผลก็เป็นว่า ได้มาสังกัดกอง K3 ดูแลเรื่อง Irregular Flight Delay ครับ

กองนี้มีหน้าที่หลักคือ “การดูแลผู้โดยสารที่กำลังจะตกเครื่อง” ในระหว่างการต่อเครื่องที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิครับ หรือดูแลในกรณีที่มีเหตุการล่าช้าของเครื่องบินผิดปกติ ที่อาจส่งผลให้ผู้โดยสารไม่สามารถไปต่อเที่ยวบินอื่น ได้ทันเวลาที่ควรจะเป็น นั่นคือ ภายใน 60 นาที พูดกันง่ายๆ สำหรับกองนี้คือ พาผู้โดยสารวิ่งไปต่อเครื่องให้ทันนั่นเองครับ^^

แต่ก่อนที่จะเข้ามาฝึกงาน ในส่วนอาคารผู้โดยสารได้ ก็ต้องไปทำบัตรอนุญาต ผ่านเข้า-ออกพื้นที่ต่างๆ ที่สำนักงานการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พอได้บัตรแล้วก็จะต้องติดบัตรนี้ไว้ตลอดเวลา หายไม่ได้ แล้วเราก็จะได้รับเข็มกลัดของการบินไทย ที่แสดงว่าเราเป็น “นักศึกษาฝึกงาน” ครับ

ตอนนั้น สำนักงานของกองนี้ อยู่บริเวณแถวเชคอินชั้นหนึ่ง และชั้นธุรกิจของการบินไทยครับ เป็นออฟฟิซขนาดเล็กมาก มีพี่ๆ ประจำกองอยู่ประมาณกะละ ห้าถึงหกคน มีคอมพิวเตอร์สี่ตัว โทรทัศน์หนึ่งเครื่อง และกองเอกสารจำนวนมากครับ เมื่อรวมกับพวกเราอีกสี่คน ก็ทำให้ห้องดูเล็กไปถนัดตา หลังจากเยี่ยมชมออฟฟิซนี้แล้ว พี่ๆ ที่กองก็พาเราไป ออนทัวร์ ท่าอาศยานสุวรรณภูมิกันครับ เพราะหน้าที่ของกองเราคือ ต้องพาผู้โดยสารส่งไปยังเกทต่างๆ ให้ทันเวลา ดังนั้น จึงต้องจำให้ได้ว่า เกท E อยู่ตรงไหน จะเจออะไรบ้าง จะผ่านด่านตรวจหนังสือเดินทางตรงไหน ถึงจะเข้าไปยังส่วนผู้โดยสารในประเทศได้ และจากส่วนผู้โดยสารในประเทศ จะออกมายังขาออกต่างประเทศได้ยังไง วันนั้นก็เรียกว่าเดินกันสามสี่กิโลเลยหล่ะครับ

หลังจากนั้นทุกวัน เราก็จะต้องมาถึงที่ออฟฟิซตั้งแต่แปดโมงเช้า ช่วงนั้นยังไม่มีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตสิงค์นะครับ ก็ต้องตื่นตั้งแต่หกโมงเช้า มารอรถตู้ที่อนุสาวรีย์ชัยฯ มาลงที่อาคารผู้โดยสารประตูสอง มาเร็วบ้าง สายบ้าง ตามแต่ความเร็วของการขับของพี่วิน และระยะเวลาการรอรถตู้ออกครับ เพราะบางทีถ้าไปสายนิดนึง คิวรถตู้ยาวมาก เตรียมตัวโทรไปบอกพี่ๆ ที่กองได้เลยครับว่า สาย โชคดีจริงๆ ที่ปัจจุบันนี้มีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์แล้ว การเดินทางสะดวกสบายขึ้นเยอะครับ

ส่วนทางมหาวิทยาลัย ก็จะมีแบบประเมินผลการฝึกงานของเรา ที่เราจะต้องมอบให้พี่ๆ ที่กองคอยประเมินผลให้เราด้วยนะครับ ดังนั้น การขาด ลา มาสาย ก็ต้องพึงระวังให้ดีเช่นกันครับ

จริงๆ งานส่วนใหญ่ของกองนี้ ก็จะเกิดช่วงที่การบินไทยมีไฟลท์ต่อเครื่องเยอะ นั่นคือ ช่วงหลังเที่ยงคืนไปจนถึงเช้ามืดครับ ดังนั้นพวกเราก็ไม่ค่อยจะมีอะไรให้ทำมากนัก ในช่วงเวลาที่เราจะฝึกงานกัน พวกเราถึงขั้นขอฝึกงานช่วงกะดึกก็ได้ แต่เนื่องจากเป็นกฎของการฝึกงานของทางบรฺษัท ที่ไม่อนุญาตให้อยู่หลังเวลาราชการนะครับ ก็เลยทำแบบที่เราอยากทำไม่ได้ ดังนั้น กิจวัตรส่วนมากเมื่อมาถึงที่ออฟฟิซคือ เข้าไปถามว่า วันนี้มีไฟลท์อะไร จะดีเลย์มั้ย ถ้ามีพี่ๆ เค้าจะบอกว่ากี่โมง เจอกันที่ไหน แล้วก็จะให้พวกเราไปทานข้าวเช้ากันก่อนได้ครับ ไฟลท์ที่จะดีเลย์นี่ส่วนมาก จะรู้มาก่อนเป็นชั่วโมงๆ ก่อนเวลาที่เครื่องจะลงจอดจริงอีกครับ ดังนั้นก็จะคำนวณได้แล้ว ก็มีเวลาฟิตซ้อมร่างกาย เตรียมตัววิ่งได้ครับ

ในกรณีที่มีการล่าช้าของเที่ยวบินเกิดขึ้น แล้วมีผู้โดยสารจำนวนหนึ่ง มีเวลาต่อเครื่องน้อยกว่า 60 นาที ก็ถึงเวลาที่พวกเราจะวิ่งกันแล้วหล่ะครับ นั่นคือพี่ๆ ที่กองจะปรินท์ข้อมูลผู้โดยสาร พร้อมรายชื่อผู้โดยสาร แล้วให้พวกเราไปรอที่เกทที่เครื่องจะลง ตามหาผู้โดยสารท่านนั้นให้พบ แล้วพาไปส่งยังเกทที่เที่ยวบินต่อไปของผู้โดยสารท่านนั้น จะเดินทางต่อครับ อย่างเช่น ผู้โดยสารเดินทางจาก โตเกียว-กรุงเทพฯ-สิงค์โปร์ ปรากฎว่าไฟลท์จากโตเกียวล่าช้า เราก็จะเขียนชื่อผู้โดยสารใส่กระดาษ แล้วไปรอผู้โดยสารลงจากเครื่อง พอเจอแล้ว ก็ชี้แจงให้ผู้โดยสารทราบว่า ท่านเหล่านั้นมีเวลาน้อยกว่า ที่วางแผนในการต่อเครื่องที่นี่ พวกเราจะพาไปส่ง แล้วก็เริ่มเดิน กึ่งวิ่ง และวิ่งในท้ายที่สุดครับ เพราะผู้โดยสารไฟลท์ระหว่างประเทศ จะต้องไปผ่านการตรวจค้นความปลอดภัยก่อน ซึ่งบางครั้งคิวยาวใช้เวลานานครับ แล้วก็พาไปส่งต่อที่เกทของไฟลท์จากกรุงเทพฯ ไปสิงค์โปร์ครับ

ถ้าทุกท่านลงจากเครื่องแล้วเห็น พนักงานกราวนด์ชูป้ายที่เขียนชื่อโบกไปโบกมาอยู่หล่ะก็ พวกเค้าคือ กลุ่มคนที่มอบประสบการณ์การฝึกงานที่สนุกและคุ้มค่า ให้กับพวกเราในกอง K3 ครับ แล้วเดี๋ยวมาต่อครับ กองนี้ยังมีเรื่องอีกมากมายให้เราได้เรียนรู้งาน ด้านธุรกิจการบินครับ

Loading

About Post Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)